ข้ามไปเนื้อหา

พญาญี่บา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก พญายีบา)
พญาญี่บา

พญาญี่บา
พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรหริภุญชัย
รัชสมัยพ.ศ. 1814 – พ.ศ. 1836 (22 ปี)
รัชกาลก่อนหน้าพระยาโยทะ
รัชกาลถัดไปสิ้นสุดราชวงศ์หริภุญชัย
พระราชบุตรพระยาเบิก
พญาญี่บา
ราชวงศ์หริภุญชัย
พระราชบิดาพระยาโยทะ

พญาญี่บา[1] พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งอาณาจักรหริภุญชัย ปกครองในช่วงปี พ.ศ. 1814 – พ.ศ. 1836 รวมระยะเวลาการครองราชย์ 22 ปี

ประวัติ

[แก้]

พญาญี่บา ได้ปกครองอาณาจักรหริภุญชัยต่อจากพระยาโยทะ ซึ่งพระยาโยทะได้ครองอาณาจักรนี้นานถึง 74 ปี เมื่อพระยาโยทะสิ้นพระชนม์ พญาญี่บาจึงได้ปกครองอาณาจักรแห่งนี้ต่อ ก่อนที่จะถูกทำลายโดยพญามังรายแห่งอาณาจักรล้านนา โดยพญาญี่บาเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายในอาณาจักรหริภุญชัย และเป็นการปิดฉากราชวงศ์หริภุญชัยที่ปกครองมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีเป็นพระปฐมกษัตรีย์พระองค์แรก

ในพงศาวดารโยนกของพระยาประชากิจกรจักรระบุว่าพญาโยทราชครอง 10 ปี ราชบุตรของพญาโยทราชครองสืบต่อมาอีก 2 ชั่ววงศ์ (แต่ไม่ระบุพระนาม) แล้วค่อยถึงพญายีบา

การขยายอำนาจของล้านนา

[แก้]

ในปี พ.ศ. 1805 (จ.ศ. 624) พญามังรายได้สร้างเมืองเชียงรายขึ้น และทรงเห็นว่าล้านนาแยกกันเป็นหลายวงศ์ ควรรวมกันเป็นแผ่นดินเดียวกันเสีย ดำริแล้วจึงยกทัพไปตีเมืองมอบไร เชียงคำ เชียงร้าง ฝาง เชียงของ และเชิง ต่อมาจะตีเมืองลำพูน (หริภุญชัย) เพราะเป็นเมืองที่มั่งคั่ง แต่ขุนนางชื่อขุนฟ้าค้านว่าเป็นการยากเพราะกำลังข้าศึกมีมากนัก ควรใช้อุบายยุยงให้แตกแยกกันเสียก่อน ครั้นแล้วพญามังรายจึงทำอุบายเนรเทศขุนฟ้าออกจากเมืองฐานกบฏ ขุนฟ้าจึงได้ไปรับราชการอยู่กับพญาญี่บาเจ้าเมืองลำพูนนานถึง 7 ปี และได้ทำอุบายต่าง ๆ ให้พญาญี่บากดขี่ราษฎร จนชาวเมืองเกลียดชังพญาญี่บา

สิ้นสุดอาณาจักรหริภุญชัย

[แก้]

ด้วยอุบายของขุนฟ้าที่ประจบสอพลอพญาญี่บาทำให้ประชาชนเกลียดชัง พญามังรายได้ยกทัพไปตีเมืองลำพูนได้อย่างง่ายดายในปี พ.ศ. 1824 (จ.ศ. 643) พญาญี่บาเสด็จหนีออกเมืองไปถึงดอยกลางป่าก็คิดนึกได้ที่เสียรู้ขุนฟ้าเป็นไส้ศึกให้พญามังราย ก็เสียใจหลั่งน้ำตาร้องไห้ สถานที่น้ำตาตกนี้จึงมีชื่อว่า “ดอยบาไห้” มาจนทุกวันนี้[2] ต่อมาพญาญี่บาจึงหนีมาอยู่กับพระยาเบิกเจ้าเมืองลำปาง (เขลางค์) ผู้เป็นโอรสและทรงสร้างเมืองเพื่อทำการตั้งรับทัพของพญามังราย ณ ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร เวลาล่วงไป 14 ปี พระยาเบิกทรงช้างชื่อ ปานแสนพล ยกทัพไปหมายจะตีเมืองลำพูนคืนให้พระราชบิดา พญามังรายให้เจ้าขุนสงครามทรงช้างชื่อแก้วไชยมงคลออกรับศึก ทั้งสองได้ทำยุทธหัตถีกันที่บ้านขัวมุงขุนช้าง ใกล้เวียงกุมกาม พระยาเบิกถูกหอกแทงบาดเจ็บ และตีฝ่าวงล้อมออกมาได้ จึงมาตั้งรับอยู่ที่ตำบลแม่ตาล เขตเมืองลำปาง ได้สู้รบกันเป็นสามารถผล ที่สุดทัพลำปางแพ้ยับเยิน เจ้าขุนสงครามจับกุมตัวพระยาเบิกแม่ทัพได้ และปลงพระชนม์เสียที่นี่ ดวงวิญญาณอันกล้าหาญเปี่ยมไปด้วยกตัญญูเวทิคุณนี้ จึงได้รับพระราชทานนามว่า "เจ้าพ่อขุนตาน"[3]

ศาลเจ้าพ่อขุนตานสร้างขึ้นเป็นที่สักการะแด่ดวงวิญญาณการสร้างวีรกรรม และความกตัญญูกตเวทิตาของพระยาเบิก โอรสของพญาญี่บา แต่เดิมสร้างเป็นศาลเล็ก ๆ ต่อมามีการสร้างรูปหล่อเจ้าพ่อขุนตานและศาลขึ้นควบคู่กับศาลเดิม เพื่อให้ประชากรสักการบูชา กราบไหว้[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ประเสริฐ ณ นคร. (2549, กุมภาพันธ์). ประวัติศาสตร์เบ็ดเตล็ด. กรุงเทพฯ: มติชน. ISBN 9743236007. หน้า 268.
  2. วิชาการ.คอม - จามเทวี
  3. พงษาวดารโยนก ฉบับหอสมุดแห่งชาติ
  4. "พระประวัติเจ้าพ่อขุนตาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-07. สืบค้นเมื่อ 2007-06-14.