ข้ามไปเนื้อหา

ผ้าไหมแพรวา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แพรวา เป็นผ้าทอมือของชาวผู้ไทในจังหวัดกาฬสินธุ์[1] มีลวดลายสีสันมากมายสวยงาม

ประวัติ

[แก้]
ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์

แพรวา หรือ ผ้าไหมแพรวาเป็นผ้าทอมืออันเป็นเอกลักษณ์ของชาวผู้ไทยหรือภูไท การทอผ้าแพรวามีมาพร้อมกับวัฒนธรรมของชาวภูไท ซึ่งเป็นชนกลุ่มหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดในบริเวณแคว้นสิบสองจุไทย (ดินแดนส่วนเหนือของลาว และ เวียดนาม ซึ่งติดต่อกับดินแดนภาคใต้ของจีน) อพยพเคลื่อนย้ายผ่านเวียดนาม ลาว แล้วข้ามฝั่งแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่แถบเทือกเขาภูพานทางภาคอีสานของไทย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในจังหวัดกาฬสินธุ์ นครพนม มุกดาหาร สกลนคร โดยยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ การแต่งกาย และการทอผ้าไหมที่มีภูมิปัญญาในการทอด้วยการเก็บลายจากการเก็บขิด และการจก ที่มีลวดลายโดดเด่น ที่มีภูมิปัญญาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจาก บรรพบุรุษและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ผ้าแพรวาจึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนที่สืบเชื้อสายมาจาก กลุ่มภูไท

ผ้าแพรวามีความหมายรวมกันว่า ผ้าทอเป็นผืนที่มีขนาดความยาว 1 วา หรือ 1 ช่วงแขน ใช้สำหรับคลุมไหล่หรือห่มสไบเฉียงที่เรียกว่าผ้าเบี่ยงของชาวผู้ไทย ซึ่งใช้ในโอกาสที่มีงานเทศกาลบุญประเพณีหรืองานสำคัญอื่นๆ โดยประเพณีทางวัฒนธรรมของหญิงสาวชาวภูไทจะต้องยึดถือปฏิบัติคือ จะต้องตัดเย็บผ้าทอ 3 อย่างคือ เสื้อดำ ตำแพร (หมายถึงการทอผ้าแพรวา) ซิ่นไหม ผ้าแพรวานิยมทอด้วยไหมทั้งผืน มีสีสัน ลวดลาย ที่หลากหลายนับเป็นผ้าไทยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ได้นับความนิยมสูง ในหมู่ผู้นิยมผ้าไทยทั้งที่อยู่ในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดที่มีการทอผ้าไหมแพรวาที่งดงามและมีชื่อเสียง

ผ้าแพรวาได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพพิเศษในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวอำเภอคำม่วง เมื่อปี พ.ศ. 2520 ได้ทอดพระเนตรเห็นชาวภูไท บ้านโพน แต่งตัวโดยใช้ผ้าแพรวาห่มตามแบบสไบเฉียง หรือเรียกว่า ผ้าเบี่ยง ได้ทรงสนพระทัยมากจึงโปรดให้มีการสนับสนุน และได้มีพระราชดำริให้ขยายหน้าผ้าให้กว้างขึ้น เพื่อที่จะได้นำไปใช้เป็นผ้าผืนสำหรับตัดเสื้อผ้าได้ อีกทั้งพัฒนาลวดลายให้เหมาะสมตามความต้องการของตลาด การพัฒนาการทอผ้าแพรวาเกิดขึ้นเพราะพระบารมีของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นความงาม และคุณค่าแห่งศิลปะชิ้นนี้ในครั้งนั้น[2]

ลวดลายและกรรมวิธีการทอ

[แก้]

ลวดลายผ้าแพรวานับเป็นผ้ามรดกของครอบครัว โดยในแต่ละครัวเรือน จะมี ผ้าแซ่ว ซึ่งเป็นผ้าไหมส่วนใหญ่ทอพื้นสีขาว ขนาดประมาณ 25 x 30 เซนติเมตร มีลวดลายต่าง ๆ เป็นต้นแบบลายดั้งเดิมแต่โบราณที่ทอไว้บนในผืนผ้าเป็นแม่แบบดั้งเดิมที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ บนผ้าแซ่วผืนหนึ่ง ๆ มีอาจลวดลายมากถึงประมาณกว่าร้อยลาย การทอผ้าจะดูลวดลายจากต้นแบบในผ้าแซ่วโดยจะจัดวางลายใดตรงส่วนไหน หรือให้สีใดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ทอ เกิดเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแพรวาจากการวางองค์ประกอบของลวดลายต้นแบบและการให้สีสรรของผู้ทอ

ลวดลายของแพรวามีลักษณะคล้ายคลึงกับลายขิดอีสาน แตกต่างกันอยู่บ้างที่ ความหลากหลายของสีสันในแต่ละลวดลาย แต่มีลักษณะรวมกันคือ ลายหลักมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของลายผ้า ส่วนสีสันบนผ้าแพรวาแต่เดิมนิยมพื้นสีแดงคล้ำย้อมด้วยครั่ง มีลายจกสีเหลือง สีน้ำเงิน สีขาว และสีเขียวเข้มกระจายทั้งผืนผ้าสอดสลับในแต่ละลายแต่ละแถว

ลวดลายที่ปรากฏบนผ้าทอแพรวาที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของผ้าประเภทนี้ จะประกอบด้วยตัวลายทั้งหมด 3 ส่วน ดังนี้

  1. ลายหลัก คือ ลายที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งปรากฏอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของลายผ้าในแนวนอน ลายหลักแต่ละลายมีความกว้างของลายสม่ำเสมอกัน คือกว้างประมาณแถวละ 8-12 เซนติเมตร ใน แพรวาผืนหนึ่งๆจะมีลายหลักประมาณ 13 แถว ลายหลักต่างๆ เช่น ลายนาค สี่แขน ลายพันธุ์มหา ลายดอกสา ฯลฯ ส่วนประกอบสำคัญของลายหลัก คือ ลายนอก ลายใน และ ลายเครือ
    1. ลายนอก คือส่วนที่มีลักษณะเป็นตารางสามเหลี่ยม ประกอบสองข้างของลายใน มีลวดลายครึ่งหนึ่งของลายในตลอดความกว้างของผืนผ้า
    2. ลายใน คือส่วนที่อยู่ตรงกลางของแถวหลัก มีลวดลายเต็มรูปอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูนตลอดความกว้างของผืนผ้าเช่นกัน
    3. ลายเครือ คือส่วนที่อยู่ในกรอบแถวบนของกรอบสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนในแต่ละแนว มีกึ่งกลางของลายหลักเป็นส่วนยอดของลายเครือ
  2. ลายคั่น หรือลายแถบ คือ ลายที่มีขนาดเล็กอยู่ในแนวขวางผืนผ้า ความกว้างของลายประมาณ 4-6 เซนติเมตร ทำหน้าที่เป็นตัวแบ่งลายใหญ่ออกเป็นช่วงสลับกันไป เช่น ลายตาไก่ ลายงูลอย ลายขาเข ฯลฯ
  3. ลายช่อปลายเชิง หรือลายเชิงผ้า คือลายที่ปรากฏอยู่ตรงช่วงปลายของผ้าทั้งสองข้าง ทอติดกับลายคั่น ทำหน้าที่เป็นตัวเริ่มและตัวจบของลายผ้า มีความกว้างประมาณ 4-10 เซนติเมตร เช่น ลายช่อขันหมาก ลายดอกบัวน้อย ลายใบบุ่นน้อย ฯลฯ

ผ้าแพรวาแต่เดิมนิยมพื้นสีแดงคล้ำ มีลายจกสีเหลือง สีดำ สีขาว และสีเขียวเข้ม ประกอบด้วยลาย 3 ส่วน คือ ลายหลัก ลายคั่น และลายช่อเชิงปลาย

ผ้าแพรวา เป็นผ้าทอจากเส้นใยไหม ที่มีลักษณะลวดลายผสมกันระหว่างลายขิดและจกบนผืนผ้า ในกระบวนการขิดจะใช้วิธีเก็บลายขิดบนผ้าพื้นเรียบโดยใช้ไม้เก็บขิด คัดเก็บขิดยกลายโดยต้องนับจำนวนเส้นไหมแล้วใช้ไม้ลายขิดสานเป็นลายเก็บไว้ ในการทอเก็บลายจะแบ่งเป็นช่วง แต่ละช่วงเก็บลายไม่เหมือนกัน ส่วนที่อยู่ตรงปลายต่อกับผ้าเรียบเป็นการเก็บขิดดอกเล็ก ส่วนต่อไปเป็นการเก็บขิดดอกใหญ่ เรียกว่า “ดอกลายผ้า” ใช้ไม้ในการเก็บลายต่างกัน

ส่วนกรรมวิธีการจกซึ่งคือกรรมวิธี ยกเส้นด้ายยืน แล้วสอดเส้นไหมสีซึ่งเป็นเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปในผืนผ้า ทำให้เกิดลวดลายผ้าที่ต้องการนั้น การทอแพรวาแบบผู้ไทแท้นั้นจะไม่ใช้อุปกรณ์อื่นช่วย ไม่ว่าจะเป็นเข็ม ไม้ หรือขนเม่น แต่จะใช้นิ้วก้อยจกเกาะเกี่ยว และสอดเส้นไหมสีซึ่งเป็นเส้นพุ่งพิเศษแล้วผูกเก็บปมเส้นด้ายด้านบนเพื่อให้เกิดลวดลาย โดยใช้การเกาะลายด้วยนิ้วก้อยตลอดจากริมผ้าข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งตลอดทั้งแถว เขาไม้หนึ่งจะเกาะสองครั้งเพื่อให้ลวดลายมีความสวยงาม โดยลวดลายจะอยู่ด้านล่างของผืนผ้าในขณะทอ

กรรมวิธีใช้นิ้วก้อยจกยกเส้นด้ายยืน

จุดเด่นและความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแพรวาคือลวดลายสีสัน และความมีระเบียบ ความเรียบ ความเงางามของผืนผ้า ในผ้าแพรวาผืนหนึ่งจะมีอยู่ประมาณ 10 หรือ 12 ลาย ใช้เส้นไหมในการทอตั้งแต่ 2-9 สี สอดสลับในแต่ละลายแต่ละแถว ลวดลายที่ปรากฏจะประณีตเรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งผืนผ้า

ลักษณะลายผ้าของแพรวาที่ทอในปัจจุบัน แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ผ้าแพรวาลายล่วง ผ้าแพรวาลายจก และผ้าแพรวาลายเกาะ

ผ้าแพรวาลายล่วง หมายถึง ผ้าแพรวาที่มีลวดลายเรียบง่าย มีสองสี สีหนึ่งเป็นสีพื้นส่วนอีกสีเป็นลวดลาย

ผ้าแพรวาลายจก หมายถึง ผ้าแพรวาลายล่วงที่มีการเพิ่มความพิเศษโดยการจกเพิ่มดอกเข้าไปในลายล่วงบนผืนผ้า เพื่อแต้มสีสันให้สวยงามยิ่งขึ้นแต่สีจะไม่หลากหลายสดใสเหมือน แพรวาลายเกาะ

ผ้าแพรวาลายเกาะ หมายถึง ผ้าแพรวาที่มีลวดลายและสีสันหลายสีเกาะเกี่ยวพันกันไป ลวดลายที่ใช้ทอแพรวาลายเกาะส่วนใหญ่เป็นลายดอกใหญ่ซึ่งเป็นลายหลักของการทอผ้าแพรวา อาจจะทอไม่ให้ซ้ำลายกันเลยในแต่ละแนวก็ได้

การทอในปัจจุบัน

[แก้]

การทอผ้าแพรวาปัจจุบันได้รับการส่งเสริมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทำให้มีการสืบทอดศิลปะการทอผ้าแพรวาแพร่หลายมากขึ้น จึงมีความพยายามผลิตผ้าให้ผู้คนได้ซื้อหลากหลายทั้งในด้านลวดลาย สีสัน และยังใช้วิธียกเขา เพื่อความรวดเร็ว แทนที่จะใช้นิ้วยกด้ายสอดเช่นเดิม ความประณีตของลวดลายจึงลดลงไป เนื่องจากการยกเขานั้นเหมือนการทำพิมพ์ที่จะต้องปรากฏลายซ้ำ ๆ เป็นช่วง ๆ

ความสวยงามของผ้านั้นอยู่ที่ความประณีตของการทอ ความสม่ำเสมอของลวดลาย ไม่หลุดตกบกพร่อง หรือขาด หากทอด้วยมือทั้งผืน ความสม่ำเสมอของลวดลายจะน้อยกว่าการใช้เขาเก็บลาย แต่ลวดลายจะมีความอ่อนช้อย แน่น ไม่โปร่ง ด้านหลังของผ้ามีความเป็นระเบียบ ไม่โยงเส้นด้ายยาวเกินไป และใช้สีสันที่หลากหลายกว่า

ปัจจุบันมีการส่งเสริมการทอผ้าแพรวาในโครงการส่งเสริมศิลปาชีพฯ หลายแห่งในภาคอีสาน โดยใช้เส้นไหมจากโรงงาน

แหล่งผลิต

[แก้]

แหล่งผลิตผ้าแพรวาที่สำคัญ คือ ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนั้นยังมีที่ศูนย์ศิลปาชีพกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร และโครงการส่งเสริมศิลปาชีพอื่น ๆ ในแถบจังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย และมุกดาหาร

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. สถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์.พระบรมราชินีนาถ. 2551 .นวัตกรรมลวดลายบนผืนผ้าไหมไทย.โครงการรวบรวมองค์ความรู้ไหมไทย ชุด ไหมไทยสายใยของแผ่นดิน เล่มที่ 3.
  2. ระบบสารสนเทศศูนย์อนุรักษ์ผ้าไหม สำนักอนุรักษ์และตรวจสอบมาตรฐานหม่อนไหม กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ดูเพิ่ม

[แก้]