ผู้ใช้:Sundara Doy
การประเมินอายุพระสมเด็จโดยใช้เทคนิคการทำปฏิกริยากับสารละลายกรด
การประเมินอายุพระสมเด็จโดยใช้เทคนิคการทำปฏิกริยากับสารละลายกรด เป็นการประเมินอายุของพระสมเด็จซึ่งถือเป็นโบราณวัตถุ โดยอาศัยการศึกษาธรรมชาติและกระบวนการของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมีของปูนขาวหรือปูนเปลือกหอยซึ่งเป็นวัสดุหลักในการสร้าง ในรูปของการเกิดและวิวัฒนาการของแคลไซต์ จากนั้นจึงอาศัยการศึกษาคุณลักษณะของการเกิดฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเกิดจากการทำปฏิกริยากับกรดอินทรีย์ ก็จะสามารถประมาณการอายุขององค์พระได้ ซึ่งการใช้วิธีการนี้มีข้อได้เปรียบคือ ไม่ต้องทำลายตัวอย่าง มีต้นทุนในการทดสอบต่ำ ใช้ระยะเวลาในการทดสอบไม่มาก และมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ
ความเป็นมา
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/1/11/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88_22.1.jpg/220px-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88_22.1.jpg)
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/8/88/%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88_21.1.jpg/220px-%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%88_21.1.jpg)
พระสมเด็จและพระสมเด็จวัดระฆังเป็นพระพิมพ์ที่สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) แห่งวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร โดยสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2380 เรื่อยมาจนกระทั่งถึงหลังปี พ.ศ. 2415 โดยมีการสร้างขึ้นหลายคราวและหลายวาระ โดยใช้วัสดุหลักในการสร้างคือปูนขาวซึ่งทำมาจากเปลือกหอย โดยนำมาผสมกับน้ำและวัสดุอื่นๆ[1] ดังนั้นเนื้อพระสมเด็จจึงมีกระบวนการทำปฏิกริยาและวิวัฒนาการเช่นเดียวกันกับการทำปฏิกริยาของปูนโดยทั่วไปซึ่งจะกล่าวถึงรายละเอียดของขั้นตอนการเกิดปฏิกริยาดังต่อไปนี้[2]
ตามทฤษฎีที่ยอมรับกันโดยทั่วไป กระบวนแข็งตัวของคอนกรีตปูนขาวและปูนชนิดอื่นๆ เกิดขึ้นหลายขั้นตอน โดยขั้นตอนแรก ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน มีลักษณะเฉพาะคือการก่อตัวของผลึกแคลเซียมไฮดรอกไซด์ (หรือ ปอร์ตแลนไดต์) ตามปฏิกิริยาดังมีรายละเอียดตามสมการที่ (1)
CaO + H2O = Ca(OH)2 (1)
ซึ่งมีการสะสมของผลึกที่ก่อตัวขึ้นเพิ่มเติม ขั้นตอนที่สองมีลักษณะเฉพาะคือการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของผลึกแคลเซียมไฮดรอกไซด์จากการทำปฏิกิริยากับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในอากาศดังมีรายละเอียดตามสมการที่ (2)
Ca(OH)2 + CO2 + H2O = CaCO3 + 2H2O (2)
ซึ่งในกระบวนการที่เรียกว่าการเกิดคาร์บอเนต (carbonation) นี้ น้ำที่เป็นส่วนประกอบของสารตั้งต้นจะถูกปล่อยออกมาเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นในช่วง 1-2 ปีแรกภายหลังจากการสร้าง เนื้อปูนขาวขององค์พระจึงดูชุ่มชื้นตลอดเวลา (หรือที่เรียกกันว่าเนื้อเปียก) ซึ่งในระหว่างการเกิดปฏิกิริยานี้ ในขั้นตอนแรก แคลเซียมคาร์บอเนต (ในรูปของผลึกแคลไซต์) ซึ่งมีอยู่หนาแน่นในชั้นนอกสุดจะก่อตัวขึ้น ซึ่งทำให้คาร์บอนไดออกไซด์เจาะลึกเข้าไปทำปฏิกริยาในเนื้อพระได้ยาก ซึ่งจะทำให้กระบวนการเกิดปฏิกิริยาช้าลงอย่างมากแต่ยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากเนื้อปูนขาวมีความพรุนสูงพอสมควร โดยเนื้อปูนทั้งหมดจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นแคลไซต์ซึ่งทำให้เนื้อปูนมีเสถียรภาพและความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้น ซึ่งกระบวนการการเกิดคาร์บอเนตเป็นที่รู้จักกันดีและมีการศึกษาอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะการเกิดคาร์บอเนตตามธรรมชาติของคอนกรีตในปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ และการผลิตคอนกรีตซิลิเกตที่มีการเร่งกระบวนการเกิดคาร์บอเนต[3][4][5] โดยที่กระบวนการการก่อตัวของปอร์ตแลนไดต์ และการเกิดคาร์บอเนตในลำดับถัดมาเพื่อตกตะกอนโพลีมอร์ฟของแคลเซียมคาร์บอเนต ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างดีในเอกสารวิจัย[6]
การเกิดคาร์บอเนตของปอร์ตแลนไดต์ (Ca(OH)2) ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านเทคนิคหลายประการ ซึ่งได้แก่ การกระจายตัวของอนุภาคปูนขาว ปริมาณน้ำในปูน ความผันผวนของอุณหภูมิ ความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการมีอยู่ของสารที่มีส่วนทำให้เกิดการเพิ่มความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ภายในมวลสารที่ตกผลึก ตัวอย่างเช่น การใส่วัสดุอินทรีย์บางชนิด เช่น มวลสารที่เป็นสารอินทรีย์ต่างๆ และวัสดุประสาน เช่น น้ำอ้อยเคี่ยว หรือน้ำมันตังอิ๊ว เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาดในขั้นตอนการตกผลึกซ้ำ (recrystallization) ในพระสมเด็จวัดระฆังซึ่งมีส่วนผสมของมวลสารซึ่งเป็นสารอินทรีย์อยู่ในอัตราที่สูง เมื่อพารามิเตอร์ด้านสิ่งแวดล้อมมีค่าค่อนข้างสม่ำเสมอจึงทำให้เราสามารถตัดปัจจัยบางประการออกจากการพิจารณาได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ และความผันผวนของอุณหภูมิตามฤดูกาล เนื่องจากระดับของการประมาณการมีระยะเวลาที่ยาวนานคืออยู่ในช่วงหลายทศวรรษ ซึ่งจะมีเพียงการเพิ่มความชื้นในระยะยาวเท่านั้นที่มีผล ซึ่งจะเพิ่มการแยกตัวของคาร์บอเนตและไบคาร์บอเนตโดยกรดคาร์บอนิก และการกระตุ้นโดยปฏิกิริยาการแลกเปลี่ยนไอออนในสถานะของเหลว[7]
ควบคู่ไปกับกระบวนการเกิดคาร์บอเนต โครงสร้างของปูนสามารถแข็งแรงขึ้นได้จากปฏิกิริยาของแคลเซียมไฮดรอกไซด์กับซิลิกาซึ่งมีอยู่ในหินต่างๆและเซรามิกส์ – ปอยภูเขาไฟ และเถ้าภูเขาไฟ หินโอปอล - คริสโตบาไลต์ซิลิกา หินกรดภูเขาไฟ เซรามิกแบทเทิล และอื่นๆ[8][9] ซึ่งหินและวัสดุเหล่านี้สามารถทำหน้าที่เป็นมวลรวมที่ละเอียดและเป็นส่วนประกอบของสารยึดเกาะ ซึ่งเป็นผลมาจากไฮโดรซิลิเกตของแคลเซียมที่เกิดขึ้นโดยมีปริมาณน้ำที่แปรผันตามปฏิกิริยา
Ca(OH)2 + SiO2 = CaO × SiO2 × nH2O. (3)
ขั้นตอนสุดท้ายซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยาวนานที่สุดของ "ชีวิต" ของปูนขาวคือขั้นตอนที่เรียกว่าขั้นตอนการตกผลึกซ้ำของแคลไซต์ ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเติบโตของผลึกขนาดเล็กของแคลไซต์ และการเพิ่มขึ้นของระดับของการจัดระเบียบโครงสร้างที่เป็นโครงผลึก
นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าหลังจากการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิก รวมถึงอิฐเซรามิก จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีกายภาพ เฟส และแร่วิทยา ที่สามารถช่วยกำหนดอายุของวัสดุได้ แต่สำหรับปูนขาวแล้ว จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีและแร่วิทยาอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้เราสามารถใช้คุณสมบัตินี้ในการกำหนดอายุของวัตถุโบราณโดยทางอ้อมได้[10]
ดังนั้น วัตถุประสงค์ของบทความนี้คือเพื่อนำเสนอการพัฒนาวิธีการในการระบุอายุของพระสมเด็จและวัตถุโบราณอื่นๆ ที่สร้างจากปูนขาวโดยอาศัยระดับของการตกผลึกซ้ำของแคลไซต์ในเนื้อปูนขาว ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับวิธีการที่ได้พัฒนาขึ้น ดังที่จะได้กล่าวถึงในลำดับถัดไป จะทำให้เราสามารถทราบถึงอายุของพระสมเด็จและวัตถุโบราณอื่นๆ ที่สร้างจากปูนขาวซึ่งเป็นวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมโดยประมาณได้
เทคนิคและวิธีการ
[แก้]ที่ผ่านมาการประเมินอายุของพระสมเด็จต้องกระทำโดยผู้เชี่ยวชาญ โดยการพิจารณาจากพิมพ์พระว่าเป็นของยุคใด และการใช้กล้องขยายขนาดกำลังขยายประมาณ 10 เท่าในการตรวจสอบลักษณะทางกายภาพขององค์พระ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพระสมเด็จที่มีอายุเก่าแก่มักจะมีร่องรอยของการหดตัวของเนื้อปูนดังปรากฎเป็นร่องรอยยุบ ย่น ย่อ[11] แต่ด้วยเหตุที่การประเมินอายุของพระสมเด็จจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้เฉพาะทางหลายด้านและการสั่งสมประสบการณ์ในการพิจารณาพระซึ่งต้องอยู่ในระดับผู้เชี่ยวชาญ จึงทำให้ศาสตร์และองค์ความรู้ดังกล่าวจำกัดอยู่ในระดับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่เป็นที่แพร่หลายในระดับสาธารณะ นอกจากนี้ ความหลากหลายในด้านเนื้อหาของพระสมเด็จซึ่งได้แก่พิมพ์ทรงและเนื้อพระซึ่งอยู่นอกเหนือองค์ความรู้และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญก็อาจทำให้การประเมินอายุ ความแท้ และความถูกต้องมีโอกาสคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้ ดังนั้น การพัฒนาเทคนิคและวิธีการใหม่ๆ ในการตรวจสอบและประเมินอายุของพระสมเด็จจึงมีความสำคัญ[12][13]
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นว่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงของแคลเซียมในองค์พระสมเด็จนับตั้งแต่เมื่อเริ่มสร้างประกอบไปด้วย ปอร์ตแลนไดต์ การเกิดคาร์บอเนต และการตกผลึกซ้ำ ดังมีรายละเอียดของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมีและระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงของพระสมเด็จดังปรากฏในตารางที่ 1[14]
กระบวนการ | ระยะเวลาที่ใช้ |
---|---|
ปอร์ตแลนไดต์ | 1 เดือน |
การเกิดคาร์บอเนต | 1 – 2 ปี |
การตกผลึกซ้ำ | มากกว่า 2 ปี |
จากตารางที่ 1 และประวัติการสร้างพระสมเด็จทำให้เราทราบว่าพระสมเด็จซึ่งเป็นของแท้และดั้งเดิมจะมีอายุประมาณ 150 ถึง 170 ปี ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและทางเคมีของพระสมเด็จจะอยู่ในขั้นตอนของการตกผลึกซ้ำเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่ควรปรากฎองค์ประกอบทางเคมีในช่วงของกระบวนการปอร์ตแลนไดต์ และการเกิดคาร์บอเนตในระยะแรกในพระสมเด็จแท้ ในทางตรงกันข้าม พระสมเด็จซึ่งเป็นของดั้งเดิมควรจะประกอบไปด้วยผลึกของแคลเซียมคาร์บอเนตหรือแคลไซต์ซึ่งเป็นโครงสร้างที่เสถียรซึ่งมีขนาดและเสถียรภาพในระดับที่แตกต่างกันปะปนกันอยู่
เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าเมื่อแคลเซียมคาร์บอเนตทำปฏิกริยากับสารละลายกรดจะเกิดเกลือของแคลเซียม ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และน้ำ ดังมีรายละเอียดการทำปฏิกิริยาแสดงในสมการที่ (4)[15]
2CH3COOH (aq) + CaCO3 (s) = Ca(CH3COO) (s) CO2 (g) + H2O (aq) (4)
หรือ CaCO3+ 2 H+ = Ca2++ H2O + CO2 (5)
จากสมการที่ (4) CH3COOH (aq) คือสารละลายกรดอะซีติก CaCO3 (s) คือผลึกแคลไซต์ Ca(CH3COO) (s) คือเกลือแคลเซียมอะซีเตต CO2 (g) คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ H2O (aq) คือน้ำ ซึ่งจากระบบการทำปฏิกริยาดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยสารตั้งต้นและผลิตภัณฑ์ซึ่งมีอยู่ครบทั้ง 3 สถานะคือ ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ โดยในส่วนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั้นจะปรากฏเป็นฟองซึ่งอยู่ในหยดของเหลวที่ใช้ทดสอบ
จากหลักการดังที่ได้กล่าวมาจึงเป็นที่มาของการประเมินอายุพระสมเด็จโดยการใช้สารละลายกรดอินทรีย์เข้าทำปฏิกริยากับผลึกแคลเซียมคาร์บอเนตซึ่งอยู่ในรูปของแคลไซต์ซึ่งปฏิกริยาดังกล่าวก่อให้เกิดฟองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในหยดของของเหลวที่หยดลงบนองค์พระ โดยหยดของสารละลายกรดที่หยดลงบนผิวพระจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 - 2.0 มม. ซึ่งคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากปฏิกิริยานี้จะก่อให้เกิดฟองที่มีลักษณะเฉพาะ[16] ซึ่งฟองก๊าซที่เกิดขึ้นจะมีขนาดและอัตราการเกิดฟองก๊าซที่แตกต่างกันดังมีรายละเอียดของการเกิดฟองก๊าซแสดงในตารางที่ 2
ลักษณะของฟอง | ขนาดของฟองโดยประมาณ (มม.) | เกณฑ์ประเมินอายุ |
---|---|---|
ไม่มีฟอง | --- | พระไม่ได้สร้างด้วยปูน อาจสร้างจากเรซิ่นหรือวัสดุอื่น |
ฟองเล็ก เกาะติดที่ผิวพระ ไม่ขยับ | X ≤ 0.1 | เป็นพระใหม่ |
ฟองเล็ก ลอยขึ้นอย่างรวดเร็ว | X ≤ 0.1 | เป็นพระมีอายุหลายสิบปี |
ฟองเล็กและฟองใหญ่ สลับกันลอยขึ้น | 0.1 ≤ X ≤ 0.5 | เป็นพระมีอายุ อาจเป็นพระสมเด็จยุคปลายหรือยุคกลาง |
ฟองใหญ่ ลอยขึ้นช้า อยู่ในหยดสารละลายนาน | 0.3 ≤ X ≤ 0.5 | เป็นพระเก่ามีอายุ อาจเป็นพระสมเด็จยุคต้นหรือยุคกลาง |
การตั้งสมมุติฐานของธรรมชาติของการเกิดฟองก๊าซ
[แก้]จากข้อมูลที่แสดงในตารางที่ 2 สามารถนำมากำหนดข้อสมมุติฐานได้ดังนี้
1. ไม่มีฟองเกิดขึ้น เนื่องจากวัสดุที่ใช้ในการสร้างพระไม่ใช่ปูน อาจเป็นวัสดุอื่น เช่น เรซิ่น เป็นต้น
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/7/75/Bubble_1.1.jpg/220px-Bubble_1.1.jpg)
2. เกิดฟองขนาดเล็กเกาะติดที่ผิวพระและฟองไม่ขยับ (X ≤ 0.1 มม.) สันนิษฐานได้ว่าผิวพระที่ใช้ทดสอบผ่านกระบวนการการเกิดคาร์บอเนตโดยมีบางส่วนตกผลึกเป็นแคลไซต์ แต่ผลึกมีขนาดเล็กมากและอยู่อย่างกระจัดกระจายเนื่องจากการตกผลึกซ้ำของแคลไซต์ยังเกิดขึ้นไม่มาก ซึ่งตำแหน่งที่เกิดฟองคือตำแหน่งที่ผลึกแคลไซต์ทำปฏิกิริยากับสารละลายกรด เนื่องจากขนาดของผลึก ปริมาณของผลึก และเสถียรภาพของผลึกแคลไซต์มีความสัมพันธ์กับอายุของพระ ดังนั้นการเกิดฟองขนาดเล็กจึงมีความสัมพันธ์กับอายุขององค์พระซึ่งยังไม่มาก
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/4/4c/Bubble_3.2.jpg/220px-Bubble_3.2.jpg)
3. เกิดฟองขนาดเล็กและลอยตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว (X ≤ 0.1 มม.) สันนิษฐานได้ว่าผิวพระที่ใช้ทดสอบผ่านกระบวนการการเกิดคาร์บอเนตโดยมีบางส่วนตกผลึกเป็นแคลไซต์ แต่ผลึกมีขนาดเล็กและกระจายตัวอยู่ทั่วไปในบริเวณผิวพระ ด้วยเหตุที่การตกผลึกซ้ำของแคลไซต์เริ่มเกิดขึ้นบ้างแต่ยังคงเป็นผลึกที่ยังไม่มีเสถียรภาพเพียงพอ ดังนั้นเมื่อทำปฏิกริยากับสารละลายกรดจึงเกิดเป็นฟองก๊าซขนาดเล็กและลอยตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากขนาดของผลึก ปริมาณของผลึก และเสถียรภาพของผลึกแคลไซต์มีความสัมพันธ์กับอายุของพระ ดังนั้นการเกิดฟองขนาดเล็กและลอยตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจึงมีความสัมพันธ์กับอายุขององค์พระซึ่งมีอายุในระดับสิบปีถึงหลายสิบปี
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/0/05/Bubble_2.2.jpg/220px-Bubble_2.2.jpg)
4. เกิดฟองขนาดเล็กและขนาดใหญ่สลับกันลอยขึ้น (0.1 ≤ X ≤ 0.5 มม.) สันนิษฐานได้ว่าผิวพระที่ใช้ทดสอบผ่านกระบวนการการเกิดคาร์บอเนตอย่างสมบูรณ์โดยมีการตกผลึกเป็นแคลไซต์ในผลึกส่วนใหญ่ ซึ่งนอกจากการตกผลึกของแคลไซต์ซึ่งเกิดขึ้นโดยทั่วไปแล้ว ยังเกิดการตกผลึกซ้ำขึ้นโดยทั่วไปอีกด้วย ซึ่งการตกผลึกซ้ำของแคลไซต์จะทำให้ผลึกมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งเมื่อทำปฏิกิริยากับสารละลายกรดจึงทำให้เกิดฟองก๊าซขนาดใหญ่ซึ่งไม่ปรากฏในสมมุติฐานข้อ 2 และ 3 โดยอาจมีอัตราการลอยตัวขึ้นไม่เท่ากันซึ่งแสดงถึงความมีเสถียรภาพของผลึกในระดับต่างๆ ดังนั้นเมื่อทำปฏิกริยากับสารละลายกรดจึงเกิดเป็นฟองก๊าซขนาดเล็กและขนาดใหญ่สลับกันลอยขึ้นในอัตราเร็วที่ต่างกันหรืออาจจะใกล้เคียงกัน ด้วยเหตุที่ขนาดของผลึก ปริมาณของผลึก และเสถียรภาพของผลึกแคลไซต์มีความสัมพันธ์กับอายุของพระ ดังนั้นการเกิดฟองขนาดเล็กและขนาดใหญ่สลับกันลอยขึ้นจึงมีความสัมพันธ์กับอายุขององค์พระซึ่งมีอายุในระดับมากกว่า 100 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเป็นพระสมเด็จที่สร้างขึ้นในยุคกลางหรือยุคปลาย
![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/33/Bubble_5.1.jpg/220px-Bubble_5.1.jpg)
5. เกิดฟองขนาดใหญ่ ลอยตัวขึ้นช้า และอยู่ในหยดของสารละลายกรดได้นาน (0.3 ≤ X ≤ 0.5 มม.) สันนิษฐานได้ว่าผิวของพระที่ใช้ทดสอบผ่านกระบวนการการเกิดคาร์บอเนตอย่างสมบูรณ์โดยมีการตกผลึกซ้ำของแคลไซต์เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการตกผลึกซ้ำของแคลไซต์จะทำให้ผลึกมีขนาดใหญ่ขึ้น การที่ฟองขนาดใหญ่ลอยตัวขึ้นอย่างช้าๆ แสดงถึงความมีเสถียรภาพของผลึกซึ่งสารละลายกรดเข้าไปทำปฏิกริยา ด้วยเหตุที่ขนาดของผลึก ปริมาณของผลึก และเสถียรภาพของผลึกแคลไซต์มีความสัมพันธ์กับอายุของพระ ดังนั้นการเกิดฟองขนาดใหญ่ลอยตัวขึ้นอย่างช้าๆ จึงมีความสัมพันธ์กับอายุขององค์พระซึ่งมีอายุเก่าในระดับมากกว่า 150 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจเป็นพระสมเด็จที่สร้างขึ้นในยุคต้นหรือยุคกลาง
การอภิปรายสมมุติฐาน
[แก้]จากหัวข้อการตั้งสมมุติฐานของธรรมชาติของการเกิดฟองก๊าซดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ฟองก๊าซที่เกิดขึ้นจากการทำปฏิกริยาระหว่างสารละลายกรดอินทรีย์และแคลเซียมคาร์บอเนตในรูปของผลึกแคลไซต์จะมีลักษณะไม่ต่อเนื่อง กล่าวคือ การเกิดขึ้นของฟองก๊าซแต่ละฟองจะมีลักษณะเชิงเดี่ยวและไม่เกี่ยวข้องกันซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถอธิบายได้ว่าหากปริมาณ H+ ในสารละลายกรดมีปริมาณมากพอการเกิดฟองก๊าซแต่ละฟองจะเกิดจากการทำปฏิกริยาระหว่างสารละลายกรดและผลึกแคลไซต์แต่ละผลึกหรือกลุ่มของผลึกซึ่งมีขนาดและเสถียรภาพแตกต่างกัน จึงก่อให้เกิดฟองก๊าซที่มีขนาด ระยะเวลาการเกิด และอัตราเร็วในการลอยตัวที่แตกต่างกัน ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวของการเกิดฟองก๊าซอาจจะบ่งชี้ถึงการกระจายตัวและความไม่ต่อเนื่องของผลึกแคลไซต์ในเนื้อพระสมเด็จ
บทสรุป
[แก้]การประเมินอายุของพระสมเด็จโดยการทำปฏิกริยากับสารละลายกรดเป็นวิธีการที่มีประสิทธิผล โดยมีต้นทุนและระยะเวลาในการดำเนินการต่ำเมื่อเทียบกับการประเมินด้วยวิธีการอื่น เช่น การหาปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนตในเนื้อพระโดยใช้เทคนิค X-Ray Fluorescence Scan (XRF) หรือการตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราด (SEM) นอกจากนี้วิธีการดังกล่าวยังมีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับและให้คำอธิบายซึ่งมีความเป็นรูปธรรมมากกว่าการใช้กล้องกำลังขยายขนาด 10 เท่า และดุลย์พินิจของผู้พิจารณาตรวจสอบองค์พระเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ดีเพื่อเพิ่มความเป็นรูปธรรมและความน่าเชื่อถือของวิธีการนี้ควรมีการประเมินผลการตรวจสอบร่วมกับการใช้วิธีการอื่น เช่น การหาปริมาณแคลเซียมคาร์บอเนตในเนื้อพระโดยใช้เทคนิค X-Ray Fluorescence Scan เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
[แก้]- ↑ [1] ตรียัมปวาย, ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่ม ๑ พระสมเด็จฯ, กรุงเทพฯ : คลังวิทยาบูรพา, 2520.
- ↑ [2] Kotlyar, V.; Pishchulina, V.; Beskopylny, A.N.; Meskhi, B.; Popov, Y. and Efremenko, I. Estimation of the Age of Architectural Heritage Objects by Microstructural Changes of Calcite in Lime Mortars of Ancient Brickwork and Masonry. Buildings 2021, 11, 240. [CrossRef]
- ↑ [3] Lyubomirskiy, N.; Bakhtin, A.; Fic, S.; Szafraniec, M.; Bakhtina, T. Intensive Ways of Producing Carbonate Curing Building Materials Based on Lime Secondary Raw Materials. Materials 2020, 13, 2304. [CrossRef] [PubMed]
- ↑ [4] Nikolaenko, V.; Lyubomirskiy, N.; Bakhtina, T. The Effect of Forced Carbonation on the Change in the Structure of Lime-Containing Systems over Time. IOP Conf. Ser. Mater. Sci. Eng. 2020, 753, 032078. [CrossRef]
- ↑ [5] Lyubomirskiy, N.V.; Bakhtina, T.A.; Bakhtin, A.S.; Fedorkin, S.I. The Carbonate-Hardening Lime Construction Material Properties Formation during their Long-Term Storage and Use under Normal Conditions. Mater. Sci. Forum 2019, 974, 187–194. [CrossRef]
- ↑ [6] Dimes, F.G. Conservation of Building and Decorative Stone. Conserv. Build. Decor. Stone 2007. [CrossRef]
- ↑ [2] Kotlyar, V.; Pishchulina, V.; Beskopylny, A.N.; Meskhi, B.; Popov, Y. and Efremenko, I. Estimation of the Age of Architectural Heritage Objects by Microstructural Changes of Calcite in Lime Mortars of Ancient Brickwork and Masonry. Buildings 2021, 11, 240. [CrossRef]
- ↑ [7] Jivotkov, O.; Kotlyar, V.; Kozlov, G.; Jivotkova, I.; Kozlov, A. Silicate Brick with Reduced Density and Thermal Conductivity. Mater. Sci. Forum 2020, 1011, 37–43. [CrossRef]
- ↑ [8] Kotlyar, V. The Calcite Crystallinity and the Age of Limestone Brick Mortars of Medieval Objects of the North of the Byzantine Oecumene. Mater. Sci. Forum 2019, 974, 83–89. [CrossRef]
- ↑ [2] Kotlyar, V.; Pishchulina, V.; Beskopylny, A.N.; Meskhi, B.; Popov, Y. and Efremenko, I. Estimation of the Age of Architectural Heritage Objects by Microstructural Changes of Calcite in Lime Mortars of Ancient Brickwork and Masonry. Buildings 2021, 11, 240. [CrossRef]
- ↑ [1] ตรียัมปวาย, ปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่องฯ เล่ม ๑ พระสมเด็จฯ, กรุงเทพฯ : คลังวิทยาบูรพา, 2520.
- ↑ [2] Kotlyar, V.; Pishchulina, V.; Beskopylny, A.N.; Meskhi, B.; Popov, Y. and Efremenko, I. Estimation of the Age of Architectural Heritage Objects by Microstructural Changes of Calcite in Lime Mortars of Ancient Brickwork and Masonry. Buildings 2021, 11, 240. [CrossRef]
- ↑ [9] อเนก หุตังคบดี, พระสมเด็จเจ้าคุณกรมท่า, กรุงเทพฯ : เพชรประกาย, 2561.
- ↑ [2] Kotlyar, V.; Pishchulina, V.; Beskopylny, A.N.; Meskhi, B.; Popov, Y. and Efremenko, I. Estimation of the Age of Architectural Heritage Objects by Microstructural Changes of Calcite in Lime Mortars of Ancient Brickwork and Masonry. Buildings 2021, 11, 240. [CrossRef]
- ↑ [10] Chloe Yaan, Y.Y., The Rate of Reaction of Calcium Carbonate Dissolving in Acetic Acid, Magill School, https://www.oliphantscienceawards.com.au/files/4309_0341-016_yew_written_report.pdf, downloaded November 7, 2024.
- ↑ [11] https://www.vedantu.com/question-answer/are-the-products-when-calcium-carbonate-and-class-11-chemistry-cbse-61175d998965da43e2ba30ad, downloaded November 7, 2024.