ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Rakdee

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความรู้ทั่วไปว่าด้วย “โนรา”

โนรา หรือ มโนห์รา (เขียนเป็น มโนรา และ มโนราห์ ก็มี) เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางครั้งเล่นเป็นเรื่องและในบางโอกาสก็เกี่ยวข้องกับพิธีกรรม อาศัยจากหลักฐานตำนานก็ดี จากวรรณกรรมท้องถิ่นก็ดี แม้แต่ในวรรณคดีของภาคกลางที่กล่าวถึงการละเล่นพื้นเมืองชนิดนี้ก็ดี (เช่น บทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ในรัชกาลที่ 2) ปรากฏว่าจนล่วงถึงสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนเรียกการละเล่นชนิดนี้ว่า “ชาตรี” เมื่อชาตรีแพร่หลายสู่ภาคกลาง ชาวภาคกลางเห็นว่ามีลักษณะใกล้ละครจึงเรียกกันว่า “ละครชาตรี” ซึ่งตำนานละครอิเหนาพระนิพนธ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงอ้างถึงโคลงกรมหมื่นศรีสุเรนทร์เรื่องพระบรมศพสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกว่า มีละครชาตรีเล่นในงานมหรสพที่ในกรุงเทพฯพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานถึงพระองค์เจ้าปัทมราชเมื่อ พ.ศ. 2403 กล่าวถึง “ลครชาตรี” ของพระองค์เจ้าปัทมราชจากเมืองนครศรีธรรมราชที่เข้าไปแสดงในงานพระศพกรมสมเด็จพระเดชาดิศร ณ พระเมรุ ท้องสนามหวง ความว่า “แลลครชาตรีของเสด็จนั้น กระหม่อมฉันได้สั่งให้ตั้งโรงให้เล่นในการพระศพนั้นด้วย มีคนมาดูมาก เพราะเป็นของนอกแปลกเข้ามา กระหม่อมฉันได้ให้เงินโรงวันละสามตำลึง ทั้งสี่วัน” [อย่างไรก็ดี ต้องมีการสอบทานเพิ่มเติมอีกมากว่า โนรา กับ ชาตรี ที่ปรากฏหลักฐานพาดพิงถึงกัน จะเกี่ยวข้องกันอย่างไร มากน้อยเพียงใด และเป็นไปในทิศทางใด]โนราคณะหนึ่งๆ มีจำนวนประมาณ 14-20 คน โนราสมัยก่อนมีตัวรำเพียง 3 ตัว คือ ตัวนายโรง/โนราใหญ่หรือที่เรียกว่าตัวยืนเครื่อง 1 ตัว ตัวนางหรือนางรำ 1 และตัวพรานอีก 1 (ถ้าเล่นเป็นเรื่องก็มักตัดตอนของเรื่องที่มีตัวสำคัญไม่เกิน 3 ตัว มาเล่นเฉพาะตอนนั้นๆ โดยใช้ตัวพรานเป็นตัวพระ ตัวนายโรงเป็นตัวนางหรือสลับกัน ถ้ามีตัวตลกด้วยตัวนายโรงเป็นตัวพระ ตัวนางรำเป็นตัวนาง ตัวตลกก็แสดงเป็นบทตลก เป็นต้น) สมัยต่อมาเพิ่มตัวนาง (นางรำ) เป็น 3-5 คน (นางรำจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงก็ได้ แต่เดิมมักเป็นชาย ปัจจุบันมักเป็นหญิงมากกว่า) นอกจากนี้ คณะของโนราจะมีนักดนตรีหรือ “ลูกคู่” ประมาณ 5-7 คน นอกจากนี้จะมีหมอประจำโรง (หมอไสยศาสตร์) บางคณะอาจมีนางรำรุ่นจิ๋วเรียกว่า “หัวจุกโนรา” และอาจมีผู้สูงอายุที่หลงชอบและติดตามไปกับคณะโนราเป็นประจำ เรียกว่า “ตาเสือโนรา” มักทำหน้าที่ช่วยควบคุมดูแลนางรำและข้าวของ หรือบางคนเกิดหลงชอบ “หัวจุกโนรา” จึงติดตามไป ยอมอาสาปรนนิบัติทุกอย่าง เรียกอาการเช่นนี้ว่า “บ้าหัวจุกโนรา” เนื่องจากการแสดงโนราเน้นศิลปะการร่ายรำมากกว่าการแสดงเรื่อง ผู้มาชมโนราส่วนใหญ่จะมุ่งมาชมการร่ายรำของหัวหน้าคณะหรือ “โนราใหญ่” โนราคณะใดจะได้รับความนิยมหรือไม่ก็อยู่ที่ตัวโนราใหญ่นี้เอง โนราใหญ่อาจจะใช้เวลาตั้งแต่เริ่มออกรำจนจบบทประมาณ 1-2 ชั่วโมง และหลังจากโนรากลับเข้าโรงแล้ว โนราอาจเลิกแสดงโดยไม่จับเรื่องต่อก็ได้