ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Pantakan7777

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระประวัติ เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช(น้อย)

เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชชัย มไหสุริยาธิบดี เจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเรียกกันเป็นสามัญสั้น ๆว่า เจ้าพระยานครศรีธรรมราชบ้าง เจ้าพระยานคร(น้อย)บ้าง และน้อยคืนเมืองบ้าง แต่ที่เรียกกันอย่างแพร่หลายก็คือเจ้าพระยานคร(น้อย)

เจ้าพระยานคร(น้อย)สมภพเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๓๑๙ ที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งตรงกับสมัยกรุงธนบุรี

พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสมมุตอมรพันธ์ทรงเรียบเรียงประวัติของเจ้าพระยานคร(น้อย)ไว้ในพระนิพนธ์เรื่องตั้งเจ้าพระยากรุงรัตนโกสินทร์ว่าเป็นบุตรเจ้าพระยานคร(พัฒน์)ซึ่งภายหลังเป็นเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี อีกนัยหนึ่งว่าเป็นลูกเธอในพระเจ้ากรุงธนบุรีดังมีข้อความในพระราชวิจารณ์ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสมมุตอมรพันธุ์ทรงอ้างคือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงพระราชวิจารณ์เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ตอนที่ตรัสถึงเจ้าพระยานคร (น้อย) และเจ้าจอมมารดาปรางในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า

"เจ้าจอมมารดาปรางในพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานแก่อุปราชพัฒน์ มีความชอบชนะศึกชายาถึงอนิจกรรม รับสั่งว่าอย่าเสียใจนักเลยจะให้เลี้ยงหลาน ท้าวนางกราบทูลว่า เริ่มตั้งครรภ์ได้ ๒ เดือนแล้ว แต่รับสั่งตรัสแล้วไม่คืนคำ พระราชวิจารณ์รัชกาลที่ ๕ ว่าไม่ทรงทราบหรือเป็นราโชบายให้เชื้อสายไปครองเมืองให้กว้างขวางออกไป แนวเดียวกับให้กรมขุนอินทรพิทักษ์ไปครองเขมร เจ้าพัฒน์รับตั้งไว้เป็นนางเมือง มิได้เป็นภรรยาเป็นเรื่องเล่ากระซิบกันอย่างเปิดเผย บุตรติดครรภ์เป็นชายชื่อ น้อย เป็นเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช มีอำนาจวาสนากว่าเจ้านครทุกคน"


ครั้นเจริญวัยขึ้นเจ้าพระยานคร(พัฒน์)ได้นำเข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และได้เป็นนายสรรพวิไชย มหาดเล็กหุ้มแพร ปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิดเบื้องยุคลบาทจนเป็นที่โปรดปราน พระราชทานบรรดาศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นพระบริรักษ์ภูเบศร์ ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองนครศรีธรรมราช โปรดเกล้าให้กลับไปปฏิบัติราชการ ณ เมืองนครศรีธรรมราชตามพระบรมราโชบายสืบไปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ มีลายพระหัตถเลขาเรียกชื่อเจ้าพระยานคร (น้อย)ตอนนี้ว่า "น้อยคืนเมือง"

ต่อมาได้เลื่อนบรรดาศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่สูงขึ้นเป็นพระยานครศรีธรรมราช และเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชฯ เจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ ได้ทรงให้ความสนิทสนมกับครอบครัวของท่าน โดยทรงเรียกท่านผู้หญิงอินภรรยาของท่านว่า "พี่อิน" เสมอมา

เมืองนครศรีธรรมราชสมัยนั้นเป็นเมืองเอก มีหัวเมืองในปักษ์ใต้ขึ้นอยู่หลายเมือง เจ้าพระยานคร(น้อย)ปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่ด้วยความอุตสาหะ วิริยะ สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่เมืองนครศรีธรรมราชและหัวเมืองที่ขึ้นอยู่ในความปกครองเป็นอย่างดียิ่ง จนปรากฏเกียรติคุณทั้งด้านป้องกันข้าศึกศัตรู และการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์

ผลงานและเกียรติคุณ

เจ้าพระยานคร (น้อย) มีผลงานและเกียรติคุณดังต่อไปนี้ คือ

๑.ในฐานะนักรบ

เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ทำราชการสงครามต้านทานอริราชศัตรูและปราบปรามผู้กระด้างกระเดื่องได้ผลสำเร็จหลายครั้ง เช่น เมื่อพม่ายกกำลังมาตีเมืองถลางใน พ.ศ. ๒๓๕๒ เจ้าพระยานคร (น้อย)ได้ยกกำลังทหารเมืองนครศรีธรรมราชเข้าสมทบทัพกรุงเทพตีพม่าแตกพ่ายไป จับได้เชลยศึกและยึดปืนใหญ่น้อยขึ้นไปถวายเป็นอันมาก ใน พ.ศ. ๒๓๖๔ เจ้าพระยาไทรบุรี (ปะแงรัน) เอาใจเผื่อแผ่แก่พม่าและอังกฤษ ทำการกระด้างกระเดื่องแข็งเมืองเจ้าพระยานคร (น้อย)ได้ยกกำลังทหารไปปราบปรามสำเร็จ เจ้าพระยาไทรบุรีหนีไปพึ่งอังกฤษที่เกาะหมาก จึงมอบให้พระบริรักษ์ภูธร (แสง)และพระยาเสนานุชิด นุช)บุตรชายทั้งสองรักษาเมืองไทรบุรี ตนกูเด่นหลานเจ้าพระยาไทยบุรีได้ยกกำลังเข้าตีเมืองไทรบุรีได้ เจ้าพระยานคร (น้อย)ยกกำลังทหารไปตีคืนได้ในปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๘๑ ตนกูมะหะหมัดยกกำลังเข้าตีหัวเมืองต่าง ๆ ทางภาคใต้ได้แล้วยกกำลังเข้ายึดเมืองไทรบุรีคืนไปอีก เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ยกกำลังทหารไปปราบ และยึดเมืองไทรบุรีได้ก่อนที่กองทัพกรุงเทพฯ จะยกไปถึง และได้จัดการปกครองหัวเมืองภาคใต้ให้เป็นที่เรียบร้อยตามพระบรมราโชบาย


๒.ในฐานะนักการปกครองและนักการทูต

ปรากฏว่าเจ้าพระยานคร(น้อย)เป็นผู้ปกครองบ้านเมืองด้วยธรรมานุภาพและเป็นไปตามพระบรมโชบายของพระบาทสมเด็จพระอยู่หัวทั้ง ๓ องค์ ได้รับเกียรติยศอย่างสูงส่ง ดังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ได้มีพระราชวิจารณ์ไว้ว่า "ท่านมีอำนาจมากกว่าเจ้านครทุกคน"และสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงยกย่องไว้ในพระนิพนธ์ เรื่องสาสน์สมเด็จภาค๖ ว่า "เจ้าพระยานคร (น้อย)ปกครองบ้านเมืองเข้มแข็งกว่าเจ้าเมืองแต่ก่อน"

เจ้าพระยานคร(น้อย) นับเป็นนักการทูตคนสำคัญของไทยผู้หนึ่งในเวลานั้นโดยเฉพาะการทูตระหว่างไทยกับอังกฤษ ในสมัยรัชกาลที่ ๒-๓ เจ้าพระยานคร (น้อย)ได้ใช้ความเฉลียวฉลาด ปฏิภาณ ไหวพริบ ในการเจรจาความเมือง และจากผลแห่งการเป็นนักการทูตที่สำคัญ จึงทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีอิทธิพลต่อหัวเมืองมลายู และเป็นที่ยำเกรงแก่บริษัทอินเดียของอังกฤษซึ่งกำลังแผ่อิทธิพลทางการค้าและการเมืองในเวลานั้น

๓.ในฐานะผู้สันทัดวิชาการช่าง

เจ้าพระยานคร(น้อย)ได้ต่อเรือรบเรือไล่ขึ้นไว้ในราชการสงครามทางภาคใต้มากมาย และยังได้ต่อเรือพระที่นั่งอมรแมนสวรรค์ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๓ อีกด้วย ต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือที่สามารถใช้ได้ในทะเลและในแม่น้ำลำคลองขึ้นอีก เจ้าพระยานคร (น้อย) ได้สร้างถวายสำเร็จได้รับพระราชทานว่า "มหาพิชัยฤกษ์" ทรงจัดให้เป็นเรือรบตัวอย่าง และได้ทรงเกณฑ์เสนาบดี เจ้าสัว เจ้าภาษีและนายอากรช่วยกันออกเงินสร้างขึ้นอีก ๓๐ ลำ โดยพระราชทานเงินสมทบลำละ ๒๐ ชั่ง ด้วยเหตุนี้จึงได้สมญานามว่า "นาวีสถาปนิก"ในสมัยนั้น ยิ่งกว่านั้นเจ้าพระยานคร (น้อย)ยังได้ทำเครื่องราโชปโภคอีกหลายอย่างล้วนแต่ประณีตวิจิตรบรรจงทั้งสิ้น เช่น พระแท่นถมตะทอง พระเสลี่ยงถม พระแท่นถม และพระราชยานถม เป็นต้น งานวิจิตรศิลป์ของเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานช่างถมได้เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่นั้นมา

เจ้าพระยานคร(น้อย)วีรบุรุษนักรบ และนักการปกครองของไทย เมื่อกลับจากราชการที่กรุงเทพมหานคร ลงไปเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อจัดกำลังทหารไปปราบปรามเมืองไทรบุรีครั้งหลังสุด เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๑ นั้น ท่านได้ป่วยเป็นไข้มาแล้ว แต่ด้วยความสำนึกในหน้าที่ที่มีอยู่ต่อแผ่นดิน ท่านไม่ยอมหยุด เมื่อปราบปรามเสร็จอาการไข้กำเริบจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๑

เจ้าพระยานคร(น้อย)เป็นทั้งนักรบ นักการปกครอง นักการทูต และผู้สันทัดในวิชาช่างอย่างยอดเยี่ยม ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณชาติบ้านเมือง ด้วยความอุตสาหะ วิริยะ มีความจงรักภักดี ซื่อสัตย์ ต่อพระบรมราโชบายในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์อย่างแน่วแน่มั่นคงถึงสามพระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตามลำดับ นับได้ว่าเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ได้บำเพ็ญกรณียกิจที่สำคัญ ๆ แก่ชาติบ้านเมืองยั่งยืนนาน คือตั้งแต่อยู่ในวัยฉกรรจ์กระทั่งถึงอสัญกรรมในวัยชรา