ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:P-sittichai

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โครงการสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ้านท่าซุง โดยคณะครูและนักเรียนโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา[แก้]

๑. ตอน เงินพดด้วง

พระพินิจอักษร(ทองดี) กับวัดท่าซุง (ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน) คืนวันหนึ่งของปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ผู้เขียนนอนอยู่บนที่นอนเวลา ๒๓.๐๐ น.เศษ วันนั้นรู้สึกว่าง่วงนอนเร็วกว่าที่เป็นอยู่ เมื่อเอนกายลงนอน ได้มองเห็นชายคนหนึ่ง รูปร่างขาวท้วม นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อธรรมดา แต่ยาวลงเลยชายพก ประมาณ ๖ นิ้วฟุต มือขวาถือหนังสือเล่มใหญ่แนบกับตัว เมื่อมองเห็นภาพนั้นขณะที่เห็นภาพนั้นดับไฟมืดสนิท ไม่มีแสงสว่างจากภายนอกลอดเข้ามา ก็ทราบว่าชายที่เห็นนั้นไม่ใช่คนธรรมดา เพราะประตูใส่กลอนแล้ว หน้าต่างก็มีลูกกรงเหล็ก ผู้ที่ปรากฏกายนั้นตามความรู้สึกขณะนั้นบอกว่า ชายผู้นั้นคือผี เรื่องการเห็นผีเป็นเรื่องธรรมดาของพระแก่ เพราะพบมามากมายหลายแบบหลายวิธี บางผีท่านชอบสนุก แสดงตัวให้เห็นกลางคืนไม่จุใจ ท่านก็ได้แสดงกลางวันอีก เรื่องของผีก็เป็นเรื่องของผี ท่าทางท่านสุภาพมาก ยืนเฉย ๆ ไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่คนคือผู้เขียน เวลานั้นกำลังง่วงจัด อยากจะหลับท่าเดียว ผีมีธุระอะไรพรุ่งนี้มาคุยกันใหม่ แต่ต้องมาก่อนง่วงนอน ถ้ามาเวลาง่วงนอนแบบนี้ไม่ขอคุยด้วย นึกแล้วก็หลับตามสบาย ท่านผีชายคนนั้นจะไปทางไหนก็ไม่ทราบเหมือนกัน ที่ทราบแน่นอนก็คือตอนตีสี่ ตื่นขึ้นมาเจริญภาวนาไม่เห็นผีท่านนั้นเสียแล้ว เมื่อถึงวันรุ่งขึ้น วันนี้เข้านอนก่อนเวลาเพราะเกรงว่าจะง่วง และอาจผิดสัญญากับผีได้ด้วยบอกไว้แล้วว่า วันนี้ถ้าท่านมีธุระให้มาพบก่อนง่วง เมื่อถึงเวลา ๒๒.๐๐ น. ก็ขอร้องให้ผู้มาพบกลับไป บอกท่านทั้งหลายว่าวันนี้ต้องเข้าที่นอนก่อนเวลา เพราะมีงานทำในเวลาก่อนนอน ทุกท่านที่มาก็แสนดี ท่านต่างคนต่างลากลับ เมื่อทุกท่านกลับหมดแล้วก็เข้าห้องบูชาพระตามปกติ เมื่อบูชาเสร็จก็เข้านอน พอหลังถึงพื้น หัวถึงหมอน คิดว่าจะนอนให้สบาย ก็ปรากฏภาพชายคนเมื่อวันที่ผ่านมายืนอยู่ที่เดิม ที่ท่านยืนนั้นยืนข้างปลายเตียงระดับปลายเท้า แต่ไม่ได้ยืนตรงเท้า ท่านยืนเรียงข้าง ๆ ทางด้านขวา ท่านมาในรูปเดิม ก็ถามท่านว่า “ท่านเป็นใคร” ท่านตอบว่า “ผมคือทองดีครับ” ถามท่านอีกว่า “ทองดีคือใคร” เพราะปกติไม่เคยสนใจมาก่อน และไม่เคยทราบประวัติความเป็นมาของท่าน ท่านตอบว่า “ทองดี พ่อทองด้วงครับ” ท่านตอบแล้วก็ยังนึกไม่ออกว่า ทองดีและทองด้วงคือใคร เพราะไม่เคยคิดว่าท่านทั้งสองซึ่งเป็นผู้มีคุณใหญ่ต่อประเทศ และผู้เขียนเองก็ยังสำนึกในบุญคุณของท่าน ที่ท่านเมตตาเสียสละให้ไทยได้เป็นไทอยู่จนทุกวันนี้ ท่านจะมาแสดงตนให้เห็น ได้ถามท่านต่อไปว่า “ทองด้วงคือใคร” ท่านตอบว่า “ทองด้วงคือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” ได้ถามท่านว่า “ที่ท่านมานี่ ท่านมีความประสงค์อะไร” ท่านบอกว่า “ผมเป็นครูครับ เมื่อท่านสร้างวัดเสร็จแล้ว ช่วยสร้างโรงเรียนให้ผมสักหนึ่งหลัง” ก็รับปากท่านว่าถ้าไม่เกินกำลัง เต็มใจสร้างให้ท่าน หลังจากนั้นก็คุยกันระหว่างผีกับคนจนใกล้รุ่ง ท่านจึงลากลับ ใจความที่คุยกันนั้นมีเนื้อความย่อดังนี้

ท่านเล่าให้ฟังว่า เดิมทีเดียวท่านเป็นข้าราชการที่กรุงศรีอยุธยา ได้รับบรรดาศักดิ์ครั้งสุดท้าย ที่ “พระอักษรสุนทร” ต่อมาเมื่อพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา ท่านพาภรรยาและบุตรคนเล็กอายุ ๗ ปี ขึ้นไปพิษณุโลก ไปอยู่กับเจ้าเรืองพระฝาง พระยาพิษณุโลก เมื่อไปอยู่พิษณุโลกทางเหนือตั้งให้ท่านเป็น “พระพินิจอักษร” เพราะให้ท่านเป็นครูสอนหนังสือ หนังสือราชการ กับพวกขุนนาง ต่อมาชั้นสุดท้ายได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์” ท่านบอกว่า “ผมเกิดที่แม่น้ำสะแกตรัง (ชาวบ้านเรียก สะแกกรัง)” เกิดในเรือครับ ท่านบอก “เรือที่ผมคลอดจากครรภ์มารดาอยู่ตรงนี้ครับ” ท่านชี้สถานที่เรือจอดให้ทราบ เป็นธรรมดาของผู้เขียน เมื่อคุยกับผี จะเป็นผีระดับไหนก็ตาม ผีมีหลายระดับ คือ นรก เปรต อสุรกาย สัมภเวสี ภุมเทวดา อากาศเทวดา พรหม ทั้งหมดนี้เรายกยอดเรียกผีเหมือนกันหมด เพราะไม่สามารถเห็นเขาได้ตามปกติ เมื่อเขาต้องการให้เห็นเราจึงเห็น สำหรับท่านทองดีนี้ ท่านบอกว่าท่านเป็นพรหมชั้นที่ ๗ ผิดหรือถูกเป็นเรื่องของท่าน ท่านว่ามายังไงก็พูดไปตามนั้น เมื่อท่านจะกลับ ก็ได้ถามท่านว่า “ท่านมาอย่างนี้และขอร้องตามนี้ ผู้เขียนไม่ขัดข้อง แต่อยากจะขอเหตุผลสักหน่อยว่า ถ้าท่านเป็น ท่านทองดีจริง ขออะไรสักอย่างหนึ่งที่ท่านจะบอกหรือแสดงก็ได้ เพื่อเป็นหลักฐานควรเชื่อถือได้” ท่านถามว่า “ไม่ไว้ใจท่านหรือ” ก็เรียนท่านว่า “ไว้ใจ แต่ขอไว้เพื่อความมั่นใจ” ท่านบอกว่า “วันพรุ่งนี้บ้านทางโน้น (ท่านชี้ไปทางที่ท่านบอกว่าบ้านท่านเคยตั้งที่นั่น) เขาจะรื้อบ้าน เขาจะได้เงินกลม ถ้าเขาได้เงินกลมจริง ก็เป็นการยอมรับว่าผมคือทองดีจริง” อีกข้อหนึ่งที่ท่านบอก ก็คือ “ต่อจากนี้ไปไม่เกิน ๑ เดือน ทองคำที่ตระกูลผมฝังไว้ใกล้พระอุโบสถจะเลื่อนเข้ามาใต้กุฏิที่คุณอยู่ จะมีเสียงดังจากทองเลื่อนมาได้ชัดเจนมาก ถ้ามีเสียงทองเลื่อนจริงก็เป็นเครื่องยอมรับว่าผมคือทองดีจริง” วันรุ่งขึ้นก็มีคนนำเงินกลมมาให้ ๑๐ กว่าอัน ผู้ให้บอกว่า เจ้าของบ้านเขารื้อบ้าน เขาขุดดินลงไปเพื่อเอาเสาเรือนขึ้น เมื่อนำเสาขึ้นมาแล้ว พบเงินกลม ๑ ไห เจ้าของให้นำมาถวาย เมื่อรับเงินกลมและฟังคำบอกเล่าแล้วก็นึกในใจว่า ท่านที่พบตอนกลางคืนคือท่านทองดีแน่ รู้สึกเคารพในความดีของท่าน และการได้เงินกลมเป็นการยอมรับถ้อยคำที่ท่านบอกเล่าไว้ทั้งหมดว่าเป็นความจริง

เพื่อความกระจ่างของเรื่องราว ในวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา ได้ลงพื้นที่ทำการสอบถามข้อมูล เกี่ยวกับการขุดพบเงินพดด้วง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ โดยสอบถามจาก นางกมลศรี(แพรว) จิตร์สมนึก และญาติพี่น้อง ได้ความว่า ผู้ขุดพบเงินพดด้วงคือนางเย็น เขียวบุตร น้าของนางแพรว (เสียชีวิตแล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘) ขุดพบอยู่ในไหสี่หูภายในมีเงินพดด้วงประมาณ ๑,๐๐๐ ลูก และหอยเบี้ยอีกจำนวนหนึ่ง จึงได้ทำการแจกจ่ายให้ลูกหลาน ญาติพี่น้อง รวมทั้งจำหน่ายไปประมาณ ๓๐๐ ลูก ส่วนที่เหลือพร้อมกับไหสี่หูนายอำเภอในสมัยนั้นได้ขอไปเข้าพิพิธภัณฑ์ ซึ่งนางเย็นและบุตรหลานไม่ได้ติดตามข้อมูลอีกเลย


ทางคณะฯ ได้ขอถ่ายรูปเงินพดด้วงที่ได้หลงเหลืออยู่กับทายาท จำนวน ๔ ก้อน พบว่าเงินพดด้วง เป็นตราจักร-อุณาโลม(สมัยรัชกาลที่ ๑) จำนวน ๑ ก้อน ,ตราจักร-ปราสาท(สมัยรัชกาลที่ ๓) จำนวน ๑ ก้อน และเป็นตราจักร-มงกุฎ(สมัยรัชกาลที่ ๔) จำนวน ๒ ก้อน

ต่อมาหลวงพ่อพระราชพรหมยานได้สร้างอนุสาวรีย์พระพินิจอักษรทองดีในรูปยืนถือหนังสือตามที่เห็นในนิมิต บริเวณโรงพยาบาลแม่และเด็ก

ต่อมาท่านเจ้าคุณพระภาวนากิจวิมลได้ย้ายอนุสาวรีย์พระพินิจอักษรมาประดิษฐานด้านหน้าอาคาร เพื่อความสง่างาม และได้ขยายขนาดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นสมพระเกียรติ

๒. ตอน บ้านตึก ปริศนาที่รอการคลี่คลาย

ทางคณะ ฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่บริเวณรอบ ๆ บริเวณที่เรียกกันว่า บ้านตึก โดยนายทวาย ทรัพย์ผล อายุ ๗๓ ปี เป็นผู้นำพาลงสำรวจ เนื่องจากเป็นคนพื้นที่โดยกำเนิด และได้พบซากสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า บ้านตึก พบเฉพาะฐานของตัวบ้าน เป็นอิฐโบราณ ขนาดกว้าง ๕ นิ้ว ยาว ๑๐ นิ้ว หนา ๒ นิ้ว โดยประมาณ ซึ่งมีจำนวนมากกระจายเต็มบริเวณพื้นที่ และต่อเนื่องตลอดแนวแม่น้ำมาทางทิศเหนือประมาณ ๕๐ เมตร ตำแหน่งตัวบ้านตึกอยู่ตรงข้ามโบสถ์วัดเวฬุวนาราม(วัดยาง) เป็นสภาพอยู่ในป่า จากคำบอกเล่าของ อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ซึ่งเคยสอบถามหาตำแหน่งและข้อมูลของบ้านตึก อาจารย์พลาดิศัยเคยบอกว่าน่าจะเป็นขนอนน้ำ คือด่านเก็บภาษีในสมัยโบราณ แต่จากการสอบถามนายทวาย ไม่ยืนยันว่าเป็นอะไรแน่ รู้แต่ว่าเป็นที่สำคัญแห่งหนึ่งที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ไทยในอดีต อาจจะเป็นที่ประทับ หรืออะไรไม่มั่นใจ ผู้ที่รู้ได้แก่ นายไพบูลย์ จันทร์เอี่ยม หรือนายท้าว เพิ่งจะเสียชีวิตไปประมาณ ๒ ปี นายท้าวเป็นหนึ่งในทายาทเจ้าของบ้านตึก ได้รับมรดกเป็นที่ดินแปลงติดกับบ้านตึก ปัจจุบันผู้อยู่อาศัยคือนางสงัด จันทร์เอี่ยม เป็นภรรยานายท้าว และลูกสาว(นางสาววรรณา จันทร์เอี่ยม) ซึ่งไม่ทราบข้อมูลมากนัก จากคำบอกเล่าของนางสวิด(เตี้ย) ฤคณีย์ อายุ ๗๔ ปี น้องสาวนายไพบูลย์ จันทร์เอี่ยม อดีตเจ้าของที่ดินบ้านตึก เล่าว่า ในอดีตซากอิฐบ้านตึกมีความสูงประมาณ ๑ เมตร แต่ได้ถูกรื้อถอนอิฐไปก่อสร้างโรงเรียนชุมชนวัดท่าซุง เมื่อประมาณ ๖๐-๗๐ ปีมาแล้ว จึงเหลือสภาพเพียงเศษอิฐและส่วนที่ฝังอยู่ใต้ดินเท่านั้น และปู่ ย่า ตา ยาย เล่ากันมาว่า บ้านตึกเป็นบ้านของพ่อพระพินิจอักษร(ใช้คำพูดว่า พ่อรัชกาลที่อยู่บนเขา)

พบร่องรอยฐานอิฐบริเวณบ้านตึก



แท่นอิฐ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๘ เมตร เดิมสูงประมาณ ๑ เมตร ตรงกลางกลวงเป็นรู มีจำนวน ๓ แท่น แต่ถูกรื้ออิฐไปใช้ประโยชน์เหลือเพียงแท่นนี้ที่สภาพสมบูรณ์ที่สุด แต่ไม่ทราบว่าแท่นอิฐดังกล่าวในสมัยโบราณใช้ทำประโยชน์อะไร

สภาพฐานโครงสร้างบ้านตึกที่เหลือฝังอยู่ใต้พื้น


ภายในมีสระน้ำที่ขุดไว้ในสมัยโบราณ จำนวน ๒ สระ เรียกตามลักษณะว่าหนองกลม กับ หนองรี

จากการสอบถามข้อมูลจากนางทับ ม่วงสุก อายุ ๑๐๐ ปี และนางประเทือง กุมภาพันธ์ อายุ ๗๕ ปี ซึ่งอาศัยอยู่ห่างจากบ้านตึกไปทางทิศใต้ประมาณ ๓๐๐ เมตร ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริเวณบ้านตึกเป็นบ้านของพ่อพระชนกจักรี แต่ไม่ยืนยันชัดเจน เป็นเพียงคำบอกเล่ามาในอดีต และทราบว่าบริเวณบ้านตึกนี้เป็นที่ที่มีคนอยู่มาก มีทาสอยู่ในบ้าน และทาสที่อาศัยอยู่ในตึกนี้ภายหลังจากได้รับการเลิกทาสแล้ว มีส่วนหนึ่งที่ยังตั้งรกรากอยู่บริเวณใกล้ๆ และก็มีลูกหลานสืบทอดมาจนปัจจุบันนี้ด้วย และเมื่อประมาณ ๕๐ – ๖๐ ปีที่แล้ว บริเวณรอบบ้านตึกเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น มีคำเปรียบเทียบว่า ไก่บินไม่ตกพื้น รวมทั้งมีชุมชนชาวแพอาศัยอยู่ในลำน้ำสะแกกรังเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เหนือวัดท่าซุงต่อเนื่องลงมาทางใต้เลยบ้านตึกลงไปอีกระยะทางไกล ทั้งสองฝั่งมีเพียงบริเวณหน้าวัดท่าซุงเท่านั้นที่ไม่มีแพอยู่อาศัย ต่อมาภายหลังการสัญจรทางน้ำลดความสำคัญลงไป ทำให้ชาวแพย้ายบ้านขึ้นอยู่บนฝั่ง ส่วนลูกหลานรุ่นหลังได้ออกไปตั้งรกรากทำมาหากินต่างถิ่น เหลืออยู่ไม่กี่หลังคาเรือน เรื่องราวเหล่านี้เป็นเพียงคำบอกเล่าทางวาจา ส่วนข้อเท็จจริงคงต้องเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ได้ทำการสืบค้นต่อไป


๓. ตอน ตามรอยปาลเลกัวซ์

หนังสือเล่มนี้นักประวัติศาสตร์ยกย่องให้มีความสำคัญเทียบเท่าจดหมายเหตุของลาลูแบร์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เนื่องจากเป็นหนังสือที่บ่งบอกรายละเอียดของประเทศสยามอย่างลึกซึ้ง เช่น พื้นที่ ภูมิประเทศ เส้นทางการคมนาคม จำนวนประชากรแต่ละเมือง กำลังทหาร ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่น ๆ ปาลเลกัวซ์เป็นบาทหลวงเข้ามาในสยามสมัยรัชกาลที่ ๓ มีความสนิทสนมกับพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ และได้แลกเปลี่ยนแนวคิดกันอยู่เสมอ ๆ อาศัยอยู่ในสยาม ๒๔ ปี เดินทางไปสอนศาสนาทั่วประเทศ(ด้านความมั่นคงถือว่าเข้ามาสอดแนมหรือจารกรรมข้อมูลของประเทศสยาม ; เช่นเดียวกับลาลูแบร์) แล้วกลับไปเขียนหนังสือเล่มนี้ที่ประเทศฝรั่งเศสในพ.ศ. ๒๓๙๗ (ความหนาเกือบ ๖๐๐ หน้า) แล้วจึงเดินทางกลับมาสยามอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๔ (รัชกาลที่ ๔ ครองราชย์ พ.ศ. ๒๓๙๔) จากบันทึกเกี่ยวกับบ้านท่าซุงของปาลเลกัวซ์ ที่แปลโดยสันต์ ท. โกมลบุตร ทางคณะฯ จึงได้มีการสืบค้นเส้นทางการขนส่งสมัยโบราณ พบว่าแม่น้ำสะแกกรังไม่สามารถเดินเรือได้ในช่วงหน้าแล้ง โดยเฉพาะเรือที่บรรทุกสินค้าหนัก จึงสันนิษฐานว่า การขนส่งสินแร่เพื่อมาหลอม ถลุง ที่บ้านท่าซุงได้ จะต้องเป็นการขนส่งในฤดูน้ำหลากจากทางต้นน้ำล่องลงมา จึงได้มีการสืบค้นข้อมูลเหนือขึ้นไปจนถึงอำเภอลานสัก บริเวณตำบลน้ำรอบ ซึ่งเคยไปตรวจเยี่ยมบ้านนักเรียนและพบว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นสีแดงเข้ม ต่างจากดินลูกรังทั่วไป จึงได้ทำการสอบถามนักเรียนและผู้ปกครองที่อยู่ในพื้นที่ได้ข้อมูลว่าเป็นแหล่งแร่เหล็กและมีผู้ดำเนินการเปิดสัมปทาน โดยมีการขุดและขนดินที่เป็นสีแดงๆ ไปส่งขายโรงถลุงเหล็ก และพบว่าบริเวณนี้ห่างจากลำน้ำทับเสลาที่เชื่อมต่อลงแควตากแดดมาบรรจบกับแม่น้ำสะแกกรังไม่มากนัก มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการขุดแร่บริเวณนี้แล้วส่งมายังโรงหลอมเหล็กแถวบ้านท่าซุง เพราะในสมัยโบราณนั้นการขุดแร่น่าจะใช้เครื่องมือง่ายๆ เช่น จอบ เสียม ดังนั้นแหล่งแร่ควรจะเป็นแหล่งแร่ผิวดิน ซึ่งบริเวณพื้นที่ดังกล่าวตอบโจทย์ได้ดี

ขณะเดียวกันได้ทำการสอบถามข้อมูลเรื่องโรงถลุงเหล็ก จากชาวบ้านรอบบริเวณวัดได้ความจาก นางกมลศรี(แพรว) จิตร์สมนึก ว่าบริเวณท่าน้ำวัดยางมีแร่อยู่มาก เป็นแร่ที่สามารถนำมาเขียนกระดานชนวนได้ และได้ข้อมูลจากช่างแหลม(นายบุญญา ยอดนาค) ว่า บริเวณบ้านช่างแหลมน่าจะเป็นแหล่งหลอมเหล็กสมัยโบราณ เพราะเคยขุดพบทั้งเบ้าหลอมและเหล็กที่หลอมแล้วเป็นแท่ง ๆ แผ่น ๆ ขนาดความยาวประมาณ ๒๐ – ๕๐ ซม. บางครั้งฝนตกหนัก ๆ น้ำชะมาก็เจอนำไปขายได้กิโลกรัมละ ๑ สลึง สมัยเป็นเด็ก ๆ ก็ขายได้เรื่อย ส่วนเบ้าหลอมก็มีให้เห็นทั้งในสภาพที่สมบูรณ์และแตกชำรุด และเคยพบแม่พิมพ์หัวหมู(ผานไถนา) เป็นปูนหรือดินเผาไม่แน่ใจ แต่ไม่ได้ให้ความสนใจ ทางคณะฯ จึงได้ลงสำรวจพื้นที่ โดยมีช่างแหลม(นายบุญญา ยอดนาค) และด.ญ.กรองแก้ว กลิ่นแย้ม นักเรียนชั้น ม.๓ โรงเรียนพระสุธรรมยานเถระวิทยา ซึ่งเป็นคนพื้นที่โดยกำเนิด เป็นผู้พาสำรวจ ได้ข้อสรุปว่า โรงถลุงเหล็กบ้านท่าซุงสมัยโบราณตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังกินพื้นที่ตั้งแต่บริเวณโรงครัวเก่าวัดท่าซุง, โรงเรียนชุมชนวัดท่าซุง, วัดเวฬุวนาราม(วัดยาง) ไปจนถึงท่าน้ำบ้านนางสังเวียน กุมภาพันธ์ (ตรงข้ามอบต.ท่าซุง) โดยตั้งขนานไปกับแนวแม่น้ำสะแกกรังระยะทางประมาณ ๙๐๐ เมตร

จากการสำรวจเบื้องต้นพบแร่เหล็กกระจายทั่วบริเวณท่าน้ำบ้านนางสำราญ จันทร์เทเวศร์ ถึงบ้านนางประเทือง กุมภาพันธ์


พบเบ้าหลอมเหล็กโบราณ มีก้อนฟลักซ์ตกค้างอยู่ด้านในส่วนหนึ่งบริเวณท่าน้ำบ้านนางถาวร(อวน) จันทร์เทเวศร์

พบลานเหล็ก สันนิษฐานว่าเป็นที่ทิ้งขี้แร่(ฟลักซ์)สะสมเป็นเวลานาน เป็นแผ่นหนาประมาณ ๑ – ๒ คืบ บริเวณบ้านนางถาวร(อวน) จันทร์เทเวศร์

บริเวณพื้นบ้านนางถาวร(อวน) จันทร์เทเวศร์


บางพื้นที่ เช่นบริเวณบ้านนายสมบัติ วรพันธ์ ดานเหล็กสะสมมีความหนาคล้ายโขดหินอยู่บนถนน

 จากการสอบถามชาวบ้าน พบว่าดานเหล็กเหล่านี้ อยู่กระจายทั่วไปเป็นระยะ ๆ มีขนาดเล็ก ๆ ประมาณ ๒ – ๓  ตรม. จนถึงขนาดใหญ่ ๔๐ – ๕๐ ตรม. และบริเวณผิวดินมีเศษเบ้าหลอมที่แตกกระจายเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยอยู่ทั่วไป



ดานเหล็กบางส่วนทรุดตัวอยู่ใต้แม่น้ำสะแกกรัง เช่นบริเวณท่าน้ำบ้านนายบุญเสริม แม่นเมือง


และดานเหล็กบางส่วนลอยตัวอยู่ริมตลิ่ง ขวางการไหลของน้ำ เช่นบริเวณท่าน้ำบ้านนางสำราญ(แตน) จันทร์เทเวศร์

จาการสำรวจพบก้อนสินแร่ก่อนทำการถลุงเป็นเหล็ก (แม่เหล็กดูดติดทุกก้อน)


พบแผ่นเหล็กและก้อนเหล็กที่หลอมเทเป็นแท่งแล้ว บริเวณบ้านนางถาวร(อวน) จันทร์เทเวศร์


ขี้แร่ส่วนนี้พบบริเวณใต้ถุนอาคาร โรงเรียนชุมชนวัดท่าซุง(เลิศ-สินอุปถัมภ์)

ต่อเนื่องถึงบริเวณต้นโพธิ์โรงครัวเก่าของวัดท่าซุง แม่เหล็กดูดติดได้ทุกก้อน

พบร่องรอยที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเตาหลอมเหล็ก ๒ แห่ง แห่งแรก บริเวณที่ตั้งศาลพระภูมิบ้านนางถาวร(อวน) จันทร์เทเวศร์

ผนังเตาหลอมมี ๓ ชั้น ความหนาประมาณ ๑ ฟุต ชั้นนอกเป็นผนังอิฐ ส่วนชั้นใน ๒ ชั้นเป็นผนังปูน จากคำบอกเล่าของ นายยม ยอดนาค อายุ ๘๔ ปี ซึ่งเป็นอาของช่างแหลม ได้เล่าว่า พื้นที่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าวเคยพบเตาหลอมเหล็กจำนวนทั้งหมด ๓ เตา เตาแรกคือเตาในรูปภาพ เตาที่สองอยู่ห่างกันประมาณ ๑ วา ทั้งสองเตาตั้งอยู่บริเวณใต้ต้นมะขามใหญ่ ภายหลังต้นมะขามโค่นล้ม รากมะขามงัดเตาที่สองจนเสียหายไม่เหลือสภาพ ส่วนเตาที่สามอยู่ในพื้นที่ลึกห่างจากแม่น้ำไปประมาณ ๕๐ เมตร ตั้งอยู่บนเนินดินสูง ภายหลังมีการปรับพื้นดินเพื่อทำการเกษตร ได้ใช้รถไถดันจนไม่เหลือสภาพเช่นกัน


แห่งที่สอง บริเวณใต้ต้นมะขามบ้านนางศิริพร(บัว) วานิช พบซากอิฐเตาหลอมเหล็กสัณฐานไม่ชัดเจนนัก แต่พบหลักฐานเป็นผนังเตาซึ่งมีขี้แร่จากการหลอมเหล็กติดอยู่

มีข้อสังเกตว่า พื้นที่ก่อสร้างเตาหลอมเหล็กที่มีผู้เคยพบทุกแห่ง จะตั้งอยู่บนพื้นที่มีลักษณะเป็นเนินสูง สันนิษฐานว่า เป็นการสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วม เพราะบริเวณตำบลท่าซุงในอดีตมีน้ำหลากทุกปี ความสูงเฉลี่ยประมาณ ๓๐ เซนติเมตร

ข้อสังเกตุ ๑. บางแห่งการจะขุดเหล็กมาเผาตีนั้นต้องใช้เวลานานกว่าจะได้เหล็กที่มีคุณภาพ แต่มีชื่อเสียงโด่งดัง ส่วนจังหวัดอุทัยธานี หลาย ๆ แห่งเพียงก้มตัวลงหยิบก็ได้เหล็กคุณภาพดีขึ้นมาจากพื้นแล้ว แต่กลับไม่เป็นที่รู้จัก ๒. เหล็กกล้าบ้านท่าซุงส่งเข้าบางกอกทุกวัน ถือว่ากิจการดีกำไรงาม เหตุใดจึงไม่มีผู้สืบทอดกิจการ ๓. เหตุใดโรงถลุงเหล็กบ้านท่าซุงจึงไม่มีบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เลย ทั้งที่เป็นประวัติศาสตร์สำคัญ เป็นต้นทางของเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากินในอดีต เป็นต้นทางของอาวุธที่ใช้ป้องกันประเทศชาติในสมัยโบราณ เป็นสินค้าส่งออกที่ทำรายได้ให้กับประเทศ แต่ถูกลืมเลือนไปจากความทรงจำนับร้อยปี จนคนส่วนใหญ่แทบไม่รู้เลยว่าบ้านท่าซุง และจังหวัดอุทัยธานี มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญส่วนนี้อยู่ ต้องขอขอบคุณบันทึกของมงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์เป็นอย่างยิ่งที่ทำให้โรงถลุงเหล็กบ้านท่าซุงในอดีต มีความกระจ่างชัดขึ้นมาในปัจจุบัน