ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Nattap04/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การวัดและการประเมินผลการจัดการเรียนรู้[แก้]

          การวัดและการประเมินผลการจัดการเรียนรู้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของกระบวนการจัดการเรียน การสอน เพราะเป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์ของหลักสูตร รวมทั้งสะท้อนภาพข้อบกพร่องของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ว่าเป็นอย่างไร เพื่อการพัฒนาที่มุ่งสู่ผลลัพธ์สูงสุดคือ ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มตามศักยภาพ ครูผู้สอนจึงควรมีการวัดและประเมินผลอย่างเป็นระบบแบบแผน ด้วยเทคนิควิธีที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ

ด้วยเครื่องมือวัด และประเมินผลที่มีความหลากหลาย

·        ความหมายของการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้

·        ประเภทของการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้

·        ประโยชน์ของการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้

·        ลักษณะสำคัญและธรรมชาติของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้

·        ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้

          1. ความหมายของการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้[แก้]

              1.1 ความหมายของการวัดผลการจัดการเรียนรู้

                   ชนม์ชกรณ์ วรอินทร์ (2554: 5)[1] กล่าวว่า การวัดผล (Measurement) หมายถึง กระบวนการ

กำหนด ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ หรือคำอธิบาย หรือบรรยายให้กับปริมาณของ คุณสมบัติ หรือคุณลักษณะที่ต้องการศึกษา โดยใช้กฎเกณฑ์หรือวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง

                   มณีญา สุราช (2560 : 7) [2]กล่าวว่า การวัดผลการจัดการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการกำหนดตัวเลขให้แก่พฤติกรรมของบุคคลที่ได้แสดงออกในการทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อที่จะได้รวบรวมผลทั้งหมดไปพิจารณาตัดสินใจ

                   สุชีรา มะหิเมือง (2563 : 2) [3]กล่าวว่า การวัดผลการเรียนรู้ คือ กระบวนการกำหนดค่าเชิงปริมาณ และใช้สัญลักษณ์ที่เป็นตัวเลขแทนความหมายของสิ่งที่ต้องการวัด ซึ่งอาจเป็นวัตถุ บุคคล หรือแบบแผนของ เหตุการณ์โดยยึดตามกฎเกณฑ์ที่จะทำให้ตัวเลข หรือสัญลักษณ์นั้น ๆ มีความหมายเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

                   สรุปได้ว่า การวัดผลการจัดการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการกำหนดค่าเชิงปริมาณและ โดยการใช้ตัวเลขหรือสัญลักษณ์ ให้แก่บุคคลที่มีพฤติกรรมแสดงออกทางการเรียนรู้ ในการทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ เพื่อจะนำผลการวัดไปพิจารณาตัดสิน

              1.2 ความหมายของการประเมินผลการจัดการเรียนรู้

                   ชนม์ชกรณ์ วรอินทร์ (2554: 6)[4] กล่าวว่า การประเมินผล หมายถึง กระบวนการตัดสินคุณค่าหรือคุณภาพของผลที่ได้จากการวัดคุณลักษณะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเทียบกับเกณฑ์หรือมาตรฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง

                   มณีญา สุราช (2560 :9)[5] กล่าวว่า การประเมินผลการจัดการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการ

ในการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการวัดพฤติกรรมของบุคคลหรือผู้เรียน เพื่อนําผลมาพิจารณาตัดสิน หรือประเมินค่า ตามเกณฑ์ที่กําหนดหรือเกณฑ์มาตรฐานแล้วนําเสนอเป็นข้อมูลย้อนกลับให้แก่ผู้สอนที่จะสามารถนําไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผู้สอนและผู้เรียน ตลอดจนการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต่อไป

                   สุชีรา มะหิเมือง (2563 : 2)[6] กล่าวว่า การประเมินผลการจัดการเรียนรู้ หมายถึง การตัดสินคุณค่าของสิ่งที่วัด โดยการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้จากขั้นตอนการวัด เทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งมักเป็นระดับคุณภาพมาตรฐานของสิ่งที่วัดนั้น ผลของกระบวนการประเมินผล คือ สิ่งที่วัดได้ถูกจัดกลุ่มตามระดับคุณภาพมาตรฐานที่ใช้เป็นเกณฑ์

                   สรุปได้ว่า การประเมินผลการจัดการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการตัดสินคุณค่าของสิ่งที่วัดผลการจัดการเรียนรู้ที่ได้ มาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้และนำมาจัดระดับคุณภาพ เพื่อเป็นข้อมูลย้อนกลับในการพิจารณาการจัดการเรียนรู้ต่อไป

2. ประเภทของการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้[แก้]

              2.1 ประเภทของการวัดผลการจัดการเรียนรู้

                   การวัดผลการจัดการเรียนรู้ สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท ตามลักษณะขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ (McCabe, 1996 อ้างใน สุชีรา มะหิเมือง, 2563 : 2)[7]

                   1. สิ่งที่ถูกวัด แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

                           1.1 การวัดทางตรง (Direct measurement) หรือเรียกว่า การวัดทางวิทยาศาสตร์เป็นการวัดลักษณะใด ๆ ทางกายภาพที่มีความเป็นรูปธรรม (Physical measurement) จึงทำการวัดได้โดยตรง เช่น

ความสูง น้ำหนัก ปริมาตรมวลสาร ความเร็ว ฯลฯ

                           1.2 การวัดทางอ้อม (Indirect measurement) เป็นการวัดสิ่งใด ๆ ที่มี ลักษณะเป็นนามธรรม ไม่สามารถวัดได้โดยตรง แต่ต้องกำหนดคำอธิบายลักษณะที่ต้องการวัดโดยใช้ หลักการของศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสตร์ทางจิตวิทยาในการกำหนดพฤติกรรมภายนอกที่สังเกตได้หรือพฤติกรรมบ่งชี้แล้วจึงสร้างเครื่องมือวัด เรียกวิธีวัดลักษณะนี้ว่า การวัดทางจิตวิทยา (Psychology measurement) เช่นเดียวกับพฤติกรรมการเรียนรู้ที่มีความเป็นนามธรรม และถูกจำแนกไว้เป็นสามมิติโดยบลูม (Bloom) ได้แก่ พุทธิพิสัย จิตพิสัย และทักษะพิสัย

                   2. การใช้บริบทแวดล้อมประกอบการวัด แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

                           2.1 การวัดโดยไม่อิงบริบทแวดล้อม ส่วนมากเป็นการวัดด้วยแบบทดสอบชนิด เขียนตอบ และแบบสอบถามชนิดต่าง ๆ

                           2.2 การวัดโดยอิงบริบทแวดล้อม เช่น การปฏิบัติงาน กระบวนการกลุ่ม กระบวนการทดลอง การทำโครงงาน เครื่องมือวัด เช่น แบบทดสอบการปฏิบัติงาน แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกตการปฏิบัติและบทบาทสมมุติ เป็นต้น


2.2 ประเภทของการประเมินการจัดการเรียนรู้

                   การประเมินผล สามารถจำแนกประเภทได้ตามลักษณะสำคัญของเกณฑ์ (Linn & Miller, 2005 อ้างใน สุชีรา มะหิเมือง, 2563 : 5)[8] ดังนี้

                   1. เกณฑ์ที่ใช้เปรียบเทียบ แบ่งเป็นสองประเภท ได้แก่

                           1.1 เกณฑ์แบบอิงกลุ่ม (Norm-referenced evaluation) คือการนำคะแนนที่ ได้จากการทดสอบ หรือผลงานของผู้เข้าสอบรายบุคคลไปเปรียบเทียบบรรทัดฐาน (norms) ของกลุ่มที่รู้ชัด (known group) หรือกลุ่มที่ได้ทำแบบทดสอบฉบับเดียวกัน หรือทำงานอย่างเดียวกัน จุดประสงค์เพื่อจัดระดับคุณภาพของคะแนนผู้สอบรายนั้น ๆ โดยเทียบกับกลุ่ม จึงมักใช้กับการประเมินผลเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน และศึกษาต่อ เป็นต้น

                           1.2 เกณฑ์แบบอิงเกณฑ์ (Criterion-referenced evaluation) หรือ อิงมาตรฐาน

เป็นการนำคะแนนที่ได้จากการทดสอบ หรือผลงานรายบุคคลไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์ หรือค่าเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน และมีความเฉพาะเจาะตามคุณภาพมาตรฐานของ วัตถุประสงค์การเรียนรู้ จึงอาจเรียกว่า

เกณฑ์อ้างอิงเชิงวัตถุประสงค์ (Objective reference) เช่น เกณฑ์ความรอบรู้ด้านนั้น ๆ ผลการประเมินตัดสินจะบ่งชี้ว่า ผู้เข้าสอบแต่ละรายมีผลการเรียนรู้ผ่านเกณฑ์นั้นหรือไม่ และผ่านในระดับใด

                           1.3 การประเมินผลแบบผสมอิงเกณฑ์และอิงกลุ่ม (Norm-Criterion referenced evaluation) เป็นเกณฑ์ที่ยึดแนวคิด ทฤษฎีที่ว่า การเปรียบเทียบคะแนนของผู้เรียน กันเองภายในกลุ่มจะมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นหากผู้เรียนมีความรู้ความสามารถถึงระดับมาตรฐานขั้นต่ำ กล่าวคือ เมื่อผู้เรียนผ่านการตรวจสอบความรู้ความสามารถขั้นต่ำระหว่างการเรียนการสอน แล้วน่าจะทำให้การเปรียบเทียบคะแนนรวมภายในกลุ่มผู้เรียนหลังเสร็จสิ้นการเรียนรู้มีความเหมาะสม และสามารถตัดสินระดับการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ดียิ่งขึ้น

                   2. ระบบของเกรดที่ใช้ประเมิน (Grade norms หรือ Grade) ที่ใช้กำหนดระดับ คุณภาพมาตรฐานของพฤติกรรมการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในรายวิชา/โปรแกรมวิชาในปัจจุบัน มักใช้ 3 ระบบ ได้แก่

                           2.1 เกรดอักษร (Letter grade) เช่น A B C D E F และ I

                           2.2 เกรดตัวเลข (Numerical grade) เช่น 4 3 2 1 และ 0

                           2.3 เกรดจัดประเภท (Categorical grade) เช่น ดีเยี่ยม ดีมาก ดี ปานกลาง ไม่ดี ปรับปรุง

2.3 วิธีการประเมินผลการเรียนรู้

              วิธีการประเมินผลการเรียนรู้มีมากมายหลายแบบ ซึ่งผู้สอนต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2552)[9] มีดังนี้

              1. การสังเกตพฤติกรรม เป็นการเก็บข้อมูลจากการดูการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน โดยไม่ขัดจังหวะการทำงานหรือการคิดของผู้เรียน การสังเกตพฤติกรรมเป็นสิ่งที่ทำได้ตลอดเวลา แต่ควรมีกระบวนการและจุดประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการประเมินอะไร โดยอาจใช้เครื่องมือ เช่น แบบมาตรประมาณค่าแบบตรวจสอบรายการ สมุดจดบันทึกเพื่อประเมินผู้เรียนตามตัวชี้วัดและควรสังเกตหลายครั้ง หลายสถานการณ์ หลายช่วงเวลาเพื่อขจัดความลำเอียง

              2. การสอบปากเปล่า เป็นการให้ผู้เรียนได้แสดงออกด้วยการพูด ตอบประเด็นเกี่ยวกับ    การเรียนรู้ตามมาตรฐานผู้สอนเก็บข้อมูล จดบันทึกรูปแบบการประเมินนี้ผู้สอนและผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง สามารถมีการอภิปราย โต้แย้ง ขยายความปรับแก้ไขความคิดกันได้ มีข้อที่พึงระวัง คือ อย่าเพิ่งขัดความคิดขณะที่ผู้เรียนกำลังพูด

              3. การพูดคุย เป็นการสื่อสาร 2 ทางอีกประเภทหนึ่ง ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน สามารถดำเนินการเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลก็ได้ โดยทั่วไปมักใช้อย่างไม่เป็นทางการเพื่อติดตามตรวจสอบว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เพียงใด เป็นข้อมูลสำหรับพัฒนาวิธีการนี้อาจใช้เวลา แต่มีประโยชน์ต่อการค้นหา วินิจฉัยข้อปัญหา ตลอดจนเรื่องอื่น ๆ ที่อาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เช่น วิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เป็นต้น

              4. การใช้คำถาม คลาร์ก (Clarke, 2005) [10]เสนอว่า การใช้คำถามเป็นเรื่องปกติมากในการจัดการเรียนรู้ แต่ข้อมูลงานวิจัยบ่งชี้ว่าคำถามที่ครูใช้เป็นด้านความจำ และเป็นเชิงการจัดการทั่ว ๆ ไปเป็นส่วนใหญ่ เพราะถามง่ายแต่ไม่ท้าทายให้ผู้เรียนต้องทำความเข้าใจและเรียนรู้ให้ลึกซึ้ง การพัฒนาการใช้คำถามให้มีประสิทธิภาพแม้จะเป็นเรื่องที่ยากแต่สามารถทำได้ผลรวดเร็วขึ้น หากผู้สอนมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประเมินในชั้นเรียน โดยทำการประเมินเพื่อพัฒนาให้แข็งขัน นอกจากนั้นคลาร์ก ยังได้นำเสนอวิธีการฝึกถามให้มีประสิทธิภาพ 5 วิธี ดังนี้

                   วิธีที่ 1 ให้คำตอบที่เป็นไปได้หลากหลาย เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการเริ่มต้นเปลี่ยนการถามแบบความจำให้เป็นคำถามที่ต้องใช้การคิดบ้าง เพราะมีคำตอบที่เป็นไปได้หลายคำตอบ

                   วิธีที่ 2 เปลี่ยนคำถามให้เป็นประโยคบอกเล่าเพื่อให้ผู้เรียนระบุว่าเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย พร้อมเหตุผลการใช้วิธีนี้จะต้องให้ผู้เรียนได้อภิปรายกัน ผู้เรียนต้องใช้การคิดที่สูงขึ้นกว่าวิธีแรก เพราะผู้เรียนจะต้องยกตัวอย่างสนับสนุนความเห็นของตน

                   วิธีที่ 3 หาสิ่งตรงกันข้าม หรือสิ่งที่ใช่/ถูก สิ่งที่ไม่ใช่/ผิด และถามเหตุผล วิธีการนี้ใช้ได้ดีกับเนื้อหาที่เป็นข้อเท็จจริง เช่น จำนวนในวิชาคณิตศาสตร์ การสะกดคำ โครงสร้างไวยากรณ์ในวิชาภาษา เป็นต้น เมื่อได้รับคำถามว่าทำไมทำเช่นนี้ถูกแต่ทำเช่นนี้ผิด หรือทำไมผลบวกนี้ถูกแต่ผลบวกนี้ผิด หรือทำไมประโยคนี้ถูกไวยากรณ์แต่ประโยคนี้ผิดไวยากรณ์ เป็นต้น

                   วิธีที่ 4 ให้คำตอบประเด็นสรุปแล้วตามด้วยคำถามให้คิด เป็นการให้ผู้เรียนต้องอธิบายเพิ่มเติม

                   วิธีที่ 5 ตั้งคำถามจากจุดยืนที่เห็นต่าง เป็นวิธีที่ต้องใช้ความสามารถมากทั้งผู้สอนและผู้เรียนเพราะมีประเด็นที่ต้องอภิปรายโต้แย้งเชิงลึกเหมาะที่จะใช้อภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม ปัญหาสุขภาพปัญหาเชิงจริยธรรม เป็นต้น

              5. การเขียนสะท้อนการเรียนรู้ (Journals) เป็นรูปแบบการบันทึกการเขียนอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้ผู้เรียนเขียนตอบกระทู้ หรือคำถามของครู ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับความรู้ ทักษะที่กำหนดในตัวชี้วัด

การเขียนสะท้อนการเรียนรู้นี้นอกจากทำให้ผู้สอนทราบความก้าวหน้าในผลการเรียนรู้แล้วยังใช้เป็นเครื่องมือประเมินพัฒนาการด้านทักษะการเขียนได้อีกด้วย

              6. การประเมินการปฏิบัติ (Performance Assessment) เป็นวิธีการประเมินงานหรือกิจกรรมที่ผู้สอนมอบหมายให้ผู้เรียนปฏิบัติงานเพื่อให้ทราบถึงผลการพัฒนาของผู้เรียน การประเมินลักษณะนี้ ผู้สอนต้องเตรียมสิ่งสำคัญ 2 ประการ คือ ภาระงาน (Tasks) หรือกิจกรรมที่จะให้ผู้เรียนปฏิบัติ เช่น การทำโครงการ/โครงงาน การสำรวจ การนำเสนอ การสร้างแบบจำลอง การท่องปากเปล่า การสาธิต การทดลองวิทยาศาสตร์ การจัดนิทรรศการ การแสดงละคร เป็นต้น และเกณฑ์การให้คะแนน (Scoring Rubrics) การประเมินการปฏิบัติอาจจะปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะงานหรือประเภทกิจกรรม ส่วนการประเมินการปฏิบัติงาน ผู้สอนต้องสร้างเครื่องมือเพื่อใช้ประกอบการประเมิน เช่น แบบมาตรประมาณค่า แบบบันทึกพฤติกรรม แบบตรวจสอบรายงาน แบบบันทึกผลการปฏิบัติ เป็นต้น

              7. การประเมินด้วยแฟ้มสะสมงาน (Portfolio Assessment) แฟ้มสะสมงานเป็นการเก็บรวบรวมชิ้นงานของผู้เรียนเพื่อสะท้อนความก้าวหน้าและความสำเร็จของผู้เรียน เช่น แฟ้มสะสมงาน ที่แสดงความก้าวหน้าของผู้เรียน ต้องมีผลงานในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่แสดงถึงความก้าวหน้าของผู้เรียน หากเป็นแฟ้มสะสมงานดีเด่นต้องแสดงผลงานที่สะท้อนความสามารถของผู้เรียน โดยผู้เรียนต้องแสดงความคิดเห็นหรือเหตุผลที่เลือกผลงานนั้นเก็บไว้ตามวัตถุประสงค์ของแฟ้มสะสมงาน

              8. การวัดและประเมินด้วยแบบทดสอบ เป็นการประเมินตัวชี้วัดด้านการรับรู้ข้อเท็จจริง (Knowledge) ผู้สอนควรเลือกใช้แบบทดสอบให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการวัดและประเมินนั้น ๆ

เช่น แบบทดสอบเลือกตอบ แบบทดสอบถูก-ผิดแบบทดสอบจับคู่ แบบทดสอบเติมคำ แบบทดสอบ

ความเรียง เป็นต้น ทั้งนี้แบบทดสอบที่จะใช้ต้องเป็นแบบทดสอบที่มีคุณภาพมีความเที่ยงตรง (Validity) และเชื่อมั่นได้ (Reliability)

              9. การประเมินด้านความรู้สึกนึกคิด เป็นการประเมินคุณธรรม จริยธรรม คุณลักษณะ และเจตคติที่ควรปลูกฝังในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งการวัดและประเมินผลเป็นลำดับขั้นจากต่ำสุดไปสูงสุด ดังนี้

                   9.1 ขั้นรับรู้ เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงออกว่ารู้จัก เต็มใจ สนใจ

                   9.2 ขั้นตอบสนอง เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงว่าเชื่อฟัง ทำตาม อาสาทำ พอใจ ที่จะทำ

                   9.3 ขั้นเห็นคุณค่า (ค่านิยม) เป็นการประเมินพฤติกรรมที่แสดงความเชื่อ ซึ่งแสดงออกโดยการกระทำหรือปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ยกย่องชมเชย สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือทำกิจกรรมที่ตรงกับความเชื่อของตน ทำด้วยความเชื่อมั่น ศรัทธาและปฏิเสธที่จะกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตน

                   9.4 ขั้นจัดระบบคุณค่า เป็นการประเมินพฤติกรรมการเข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งอภิปราย เปรียบเทียบ จนเกิดอุดมการณ์ในความคิดของตนเอง

                   9.5 ขั้นสร้างคุณลักษณะ เป็นการประเมินพฤติกรรมที่มีแนวโน้มว่าจะประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นอยู่เสมอในสถานการณ์เดียวกันหรือเกิดเป็นอุปนิสัย การวัดและประเมินผลด้านจิตพิสัย ควรใช้การสังเกตพฤติกรรมการปฏิบัติเป็นหลักและสังเกตอย่างต่อเนื่องโดยมีการบันทึกผลการสังเกต ทั้งนี้อาจใช้เครื่องมือการวัดและประเมินผล เช่น แบบมาตรประมาณค่า แบบตรวจสอบรายการแบบบันทึกพฤติกรรม แบบรายงานพฤติกรรมตนเอง

3. ประโยชน์ของการวัดและประเมินผลการจัดการเรียนรู้[แก้]

              ทรงศรี ตุ่นทอง (2552 : 78-79) [11]กล่าวไว้ดังนี้

              3.1 เพื่อตรวจสอบความรู้พื้นฐาน

                   การประเมินเพื่อตรวจสอบความรู้พื้นฐานของผู้เรียนก่อนที่จะเริ่มเรียนบทเรียนใหม่ เพราะเนื้อหาบางบทเรียนอาจต้องใช้ความรู้หรือทักษะพื้นฐานบางประการ ครูจึงต้องตรวจสอบว่าผู้เรียนมีความรู้หรือทักษะขั้นพื้นฐานมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้ปรับพื้นฐานของนักเรียนก่อนที่จะเรียนเรื่องต่อไป

              3.2 เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

                   ในการวัดและประเมินผลการเรียนการสอน สามารถนำผลการประเมินมาพิจารณาว่าการเรียนการสอนที่จะขึ้นมีข้อบกพร่องในเรื่องใด เช่น อาจเป็นเพียงวิธีสอน สื่อการสอน หรืออื่น ๆ เพื่อนนำข้อมูลที่ได้ไปเพื่อการปรับปรุงการสอนในครั้งต่อไป

              4.3 เพื่อการวินิจฉัยข้อบกพร่องของผู้เรียน

                   ในการวิเคราะห์หาสาเหตุข้อบกพร่องในการเรียนของผู้เรียนและการสอนของครู เช่น อาจใช้แบบทดสอบวินิจฉัยข้อบกพร่องในการเขียนภาษาไทย ถ้าตรวจสอบแล้วพบว่า นักเรียนทำผิดในเรื่องใดก็จะช่วยให้ครูผู้สอนได้รู้ข้อบกพร่องของผู้เรียนเพื่อซ่อมเสริมนักเรียนในเรื่องนั้น ๆ ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น

              3.4 เพื่อตัดสินผลการเรียน

                   การประเมินเมื่อสิ้นสุดการเรียนการสอน หรือการประเมินเพื่อสรุปคุณภาพ การจัดการเรียนการสอนโดยพิจารณาว่าผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด โดยนำผลการวัดตลอดภาคเรียนหรือตลอดปี ไปเพื่อการตัดสินผลขั้นสุดท้ายในรูปเกรด เช่น A, B, C, D, E หรือ 4 3 2 1 เป็นต้น หรือในรูประดับคุณภาพ เช่น ผ่านยอดเยี่ยม – ผ่าน – ไม่ผ่าน หรือสอบได้ – สอบตก เป็นต้น

              3.5 เพื่อจัดตำแหน่งหรือจัดประเภท

                   ในการประเมินผลเพื่อการจัดตำแหน่งหรือจัดประเภทเป็นการนำผลที่ได้จากการวัดมาเปรียบเทียบหรือจัดอันดับความสามารถของผู้สอบในกลุ่มเดียวกัน เพื่อจะตอบว่ามีความรู้ความสามารถอยู่ในระดับใดของกลุ่ม เช่น ผ่าน – ไม่ผ่าน และ เก่ง ปานกลาง อ่อน

              3.6 เพื่อตรวจสอบพัฒนาการของผู้เรียน

                   การตรวจสอบพัฒนาการของผู้เรียน เป็นการตรวจดูว่าผู้เรียนมีพัฒนาการหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่ โดยเปรียบเทียบผู้เรียนคนเดียวหรือกลุ่มเดียวกัน ในระยะเวลาที่ต่างกัน เช่น ก่อนเรียน

กับหลังเรียน


              3.7 เพื่อพยากรณ์หรือทำนาย

                   การพยากรณ์เป็นการ นำผลจากการวัดในปัจจุบันไปทำนายอนาคตว่าผู้เรียนจะเรียนสำเร็จหรือไม่ ในอนาคตควรจะเรียนอะไร มักนำไปใช้กับการแนะนำ หรือสอบคัดเลือกเพื่อศึกษาต่อ อาจใช้ผลการเรียนในอดีต หรือแบบทดสอบความถนัด (aptitude test) ทำนายก็ได้

              3.8 เพื่อประเมินค่า

                   การประเมินค่าเป็นการประเมินที่มุ่งคุณภาพการศึกษาในภาพรวม เช่น ดูความเหมาะสมของหลักสูตรสถานศึกษา ดูการจัดบริการในโรงเรียนว่าเหมาะสมหรือไม่ ข้อมูลที่ได้จากการประเมินนี้เป็นประโยชนสำหรับผู้บริหาร ใช้เพื่อการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

              3.9 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียน

                   การประเมินผลโดยเฉพาะการประเมินผลระหว่างเรียนสามารถนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ

การเรียนให้สูงขึ้น โดยนำผลการแจ้งให้ผู้เรียนทราบ เพื่อเร้าหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความอยากรู้อยากเห็น อาจใช้วิธีซักถาม หรือกำหนดปัญหาให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้

เพิ่มเติม

          4 ลักษณะสำคัญและธรรมชาติของการวัดและประเมินผลการเรียนรู้[แก้]

              การวัดและประเมินผลการเรียนรู้มีลักษณะสำคัญตามธรรมชาติ ดังนี้ (สุชีรา มะหิเมือง, 2563 : 12-13)[12]

                   1. เป็นการวัดทางอ้อม (Indirect measurement) คุณภาพของผู้เรียนตามที่กำหนดในหลักสูตร ได้แก่ ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน มักมีลักษณะเชิงนามธรรม จึงไม่สามารถวัดได้โดยตรงแต่ต้องวัด กระบวนการวัดจึงยุ่งยากซับช้อน เพราะต้องกำหนดนิยามของลักษณะที่จะวัดให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม หรือสามารถบ่งชี้ด้วยพฤติกรรมที่สังเกตได้ และเป็นที่เข้าใจได้ตรงกันระหว่างผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จึงต้องใช้

เครื่องมือวัดที่มีคุณภาพและหลากหลาย

                   2. เป็นการวัดที่ไม่สมบูรณ์ (Imperfect measurement) สาเหตุสำคัญที่ทำให้การวัดชนิดนี้

ไม่สมบูรณ์แบบ ได้แก่

                           2.1 คุณภาพของผู้เรียน เช่น ลักษณะนิสัย หรือพฤติกรรมบางอย่างที่ต้องการให้เกิดขึ้น

แก่ผู้เรียนได้อย่างสมบูรณ์นั้น จะต้องอาศัยการผสมผสานพฤติกรรมย่อย ๆ หลายชนิด และอาจต้องใช้เวลา

ดังนั้น การวัดเพียงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งจะทำให้ผลการวัดไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงที่สมบูรณ์ของบุคคล

แนวทางแก้ไขคือ การใช้เครื่องมือวัดที่หลากหลาย และวัดให้ละเอียดทุกแง่ทุกมุม

                           2.2 การที่ผู้วัดไม่สามารถกำหนดคุณลักษณะที่ต้องการวัดได้อย่างชัดเจน ไม่เข้าใจสิ่งที่

ต้องการวัด อาจทำให้เกิดความคาดเคลื่อนได้ ดังนั้นผู้วัดจะต้องพยายามทำความเข้าใจถึงความสามารถ

หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนนั้นว่าประกอบด้วย อะไรบ้าง และมีคุณสมบัติเป็นอย่างไร

หรือกำหนดตัวบ่งชี้ที่ชัดเจน

                           2.3 พฤติกรรมบางอย่างอาจไม่เกิดขึ้นในระหว่างการเรียนการสอนในโรงเรียนแต่อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนได้ประสบกับปัญหาจริง ๆ ในชีวิตประจำวัน จึงจะแสดงพฤติกรรมนั้นออกมา เช่น ความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นต้น ดังนั้นการแก้ปัญหาก็คือ การเลือกใช้วิธีทดสอบที่กำหนดสถานการณ์จำลอง แล้วให้ผู้เรียนแก้ปัญหาตามสถานการณ์นั้น เป็นต้น

                   3. กฎแห่งคะแนนจริงและความคลาดเคลื่อน (True score) การวัดผลทางการศึกษา เป็นการวัดลักษณะใด ๆ ทางสังคมศาสตร์และจิตวิทยา ที่ไม่สามารถทำการวัดได้อย่างไม่มีความคลาดเคลื่อน และที่มาของความคลาดเคลื่อน (Error, E) เกิดจากสองสาเหตุหลัก คือ

                           3.1 สิ่งที่ต้องการวัดมีลักษณะเป็นนามธรรม และไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน (ดังที่กล่าวแล้วในข้อ 2.2 และข้อ 2.3)

                           3.2 องค์ประกอบของการวัด ได้แก่ เครื่องมือ และการจัดการการสอบที่ไม่มีคุณภาพ คะแนนที่ได้จากการวัดแต่ละครั้งจึงป ระกอบด้วยคะแนนจริง และค่าความคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นเสมอ (ดังสมการ)

คะแนนสอบ (X) = คะแนนจริง (T) + ค่าความคลาดเคลื่อน (E)

                   4. การวัดผลการเรียนรู้เป็นการวัดเชิงสัมพันธ์ (Relative measurement) ข้อมูลผลการวัดพฤติกรรมการเรียนรู้ มักมีหน่วยการวัดเป็นคะแนน (score) ซึ่งเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ ที่ยังไม่มีความหมายจนกว่าจะมีการแปลความหมาย โดยวิธีเปรียบเทียบกับเกณฑ์ตัดสินหรือตีค่าคุณภาพ เช่น ผ่าน-ไม่ผ่าน รอบรู้-ไม่รอบรู้ และเกรด A B C D และ E เป็นต้น

                   5. คะแนนการวัดคุณภาพการเรียนรู้ไม่มีศูนย์สมบูรณ์ (absolute zero) คะแนนการวัดคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน จัดอยู่ในมาตรการวัดอันตรภาคชั้น (interval-scale) จึงไม่มีศูนย์สมบูรณ์ หรือศูนย์แท้ ซึ่งแสดงความว่างเปล่า หรือไม่มีอย่างสิ้นเชิง เช่น คะแนนการทดสอบกลางภาคเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของเด็กชายฉลาดได้เป็น "0" ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กชายฉลาดไม่มีความรู้ด้านคณิตศาสตร์เลย เพียงแต่เด็กชายฉลาดไม่มีความรู้ตามแบบทดสอบที่เป็นตัวแทนขององค์ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ยังคงมีความรู้อีกจำนวนมากที่ไม่มีในแบบทดสอบ

                   6. จุดประสงค์ของการวัดและประเมินผล การวัดและการประเมินผลการเรียนรู้ มักมีจุดประสงค์หลัก 6 ประการ ได้แก่

                           6.1 จัดตำแหน่ง (Placement) เพื่อทราบตำแหน่ง หรือลำดับความสามารถของผู้เรียนว่าอยู่ระดับใดเมื่อเทียบกับกลุ่ม เช่น ผลการสอบได้อันดับที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 เป็นต้น

                           6.2 คัดเลือก (Selection) เพื่อตัดสินใจ รับ-ไม่รับ ผู้รับการทดสอบโดยใช้เกณฑ์การตัดสินผลการทดสอบ มักใช้ในการสอบคัดเลือกเข้าสถานศึกษา การทดสอบชิงทุน การคัดเลือกคนเข้าทำงาน โดยเครื่องมือจะต้องมีความยากค่อนข้างสูง

                           6.3 วินิจฉัย (Diagnosis) เพื่อค้นหาว่าผู้เรียนเก่งหรืออ่อนในเรื่องใด มีข้อบกพร่องด้านใดและมีความรู้เดิมเพียงใด เพื่อใช้ประกอบการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับผู้เรียน รวมทั้งใช้ในการแนะแนวศึกษาต่อ โดยสามารถจัดสอบได้ตั้งแต่ก่อนเริ่มเรียน และระหว่างเรียน ด้วยแบบสอบวินิจฉัยที่ต้องมีรายละเอียดถึงจุดแข็งและจุดอ่อน

                           6.4 เปรียบเทียบพัฒนาการ (Progress) เพื่อดูพัฒนาการ หรือความก้าวหน้า ของสิ่งที่ประเมินว่ามีเพียงใด อย่างไร โดยอาจเปรียบเทียบเป็นระยะ ๆ ตามช่วงเวลา เช่น ก่อนเรียน หลังเรียน และสิ้นสุดภาคเรียน ที่สำคัญคือต้องเปรียบเทียบระหว่างสิ่งเดียวกัน เช่น เนื้อหาเดียวกันเครื่องมือที่ใช้มักเป็นแบบทดสอบที่ครูสร้างเอง

                           6.5 พยากรณ์ (Prediction) เพื่อคาดคะเนอนาคตของผู้เรียนว่า ควรเรียนต่ออะไร หรือประกอบอาชีพอะไร จะสามารถเรียนได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งจะช่วยเตือนให้ปรับปรุง รักษาระดับการเรียน และแก้ไขวิธีการเรียนเสียใหม่

                           6.6 ตัดสินผล (Evaluation) การเรียนรู้ของผู้เรียนตามเกณฑ์การประเมินที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ระดับรายวิชา ระดับชั้นเรียน และระดับสถานศึกษา โดยนำคะแนน หรือผลรวมการวัดทั้งหมดตลอดภาคเรียนมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์ตัดสินมีหลายวิธีเช่น เปรียบเทียบกับกลุ่ม และเกณฑ์มาตรฐาน นอกจากนี้สัญลักษณ์แสดงระดับของเกรดยังมีหลายระบบ เช่น เกรด A-F ระดับคุณภาพ เช่น ดีมาก ดี ผ่าน หรือ ได้ หรือ ตก

         



[แก้]

  1. ชนม์ชกรณ์ วรอินทร์. (2554). เอกสารประกอบการสอน รายวิชาการวัดผลและประเมินผลการศึกษา. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม.
  2. มณีญา สุราช. (2560). การวัดและประเมินผลการศึกษา. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.
  3. สุชีรา มะหิเมือง (2563). เอกสารประกอบการสอน การวัดและการประเมินผลการศึกษา. ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
  4. ชนม์ชกรณ์ วรอินทร์. (2554). เอกสารประกอบการสอน รายวิชาการวัดผลและประเมินผลการศึกษา. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม.
  5. มณีญา สุราช. (2560). การวัดและประเมินผลการศึกษา. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี.
  6. สุชีรา มะหิเมือง (2563). เอกสารประกอบการสอน การวัดและการประเมินผลการศึกษา. ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
  7. สุชีรา มะหิเมือง (2563). เอกสารประกอบการสอน การวัดและการประเมินผลการศึกษา. ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
  8. สุชีรา มะหิเมือง (2563). เอกสารประกอบการสอน การวัดและการประเมินผลการศึกษา. ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.
  9. สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา. (2552). เอกสารประกอบหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 แนวปฏิบัติการวัดและประเมินผลการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมการวัดและประเมินผลการเรียนรู้.
  10. (Clarke, 2005)
  11. ทรงศรี ตุ่นทอง. (2552). เอกสารประกอบการสอน “การวิจัยและประเมินผลการศึกษา”. ลพบุรี : คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี.
  12. สุชีรา มะหิเมือง (2563). เอกสารประกอบการสอน การวัดและการประเมินผลการศึกษา. ครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา.