ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Horoworld

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฤกษ์งามยามดี

ความเชื่อเรื่องฤกษ์งามยามดีของคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ในการทำการหรืองานใดๆ จะต้องมีการดูฤกษ์ก่อนในทุกครั้ง
คำว่า ฤกษ์ แปลว่า การมองดู การตรวจการพิจารณาเลือกหากำหนดวันเวลาที่เหมาะแก่การประกอบพิธีมงคลนั้นๆ

ฤกษ์ แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ฤกษ์บน และ ฤกษ์ล่าง

ฤกษ์บน เป็นชัยมงคลเบื้องสูง โดยถือตำแหน่งของพระจันทร์และดาวพระเคราะห์ต่าง ๆ เป็นหลัก คือ กำหนดโดยจันทร์ พระจันทร์ต้องดีไม่เป็นอริ มรณะ และวินาศแก่ผู้ประกอบการ พระจันทร์โคจรให้คุณเช่นจันทร์ครุสุริยา ทางโหราศาสตร์ใด้กำหนดฤกษ์ไว้ 9 ฤกษ์ ได้แก่ ทลิทโทฤกษ์ , มหัทธโณฤกษ์ , โจโรฤกษ์ , ภูมิปาโลฤกษ์ , เทศาตรีฤกษ์ , เทวีฤกษ , เพชฌฆาตฤกษ์ , ราชาฤกษ์ , สมโณฤกษ์ ซึ่งแต่ละฤกษ์มีการนำไปใช้เฉพาะเรื่อง เช่น การขอแต่งงาน หมั้นสาว ทวงหนี้ กู้ยืม ร้องทุกข์ ฯลฯ ให้ใช้ ทลิทโทฤกษ

ฤกษ์ล่าง ซึ่งเหมาะเป็นชัยมงคลทางเบื้องใต้ฟ้า หรือเบื้องต่ำบนพื้นดิน โดยมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้น โดยให้วันทั้ง 7 ประกอบด้วยดิถี ขึ้น แรม และเดือน ปี เป็นหลักในการคำนวณนับ เช่น วันธงชัย วันอธิบดี วันอุบาทว์ และวันโลกาวินาศ และมีดิถี คือ ขึ้น แรม ดิถีธงชัย ดิถีพิฆาต อีกทั้งวันจม วันฟู วันลอย กทิงวัน อัคนิโรธ ทักทิน ยมขันธ์ จัดเป็นฤกษ์ย่อยต่าง ๆ รวมเรียกว่า "ฤกษ์ล่าง" หรือ (ภูมิดล)

ฤกษ์ ทั้ง 9

1. ทลิทโท - ผู้ขอ คนยากจนเข็ญใจ นิยมใช้ฤกษ์นี้ในการสู่ขอและทวงหนี้
ทลิทโทฤกษ์ ได้แก่ฤกษ์ที่ 1,10 และ 19 เรียกว่า ทลิทโทฤกษ์ แปลว่า ผู้มักน้อย ผู้เข็ญใจ ผู้ขอ ผู้ต้องเหน็ดเหนื่อย ผู้อดทน ผู้ที่ต้องรับผิดชอบสูง ฤกษ์นี้เป็นฤกษ์ของ “ชูชก” มีพระอาทิตย์เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง 4 อยู่ในราศีเดียวกันเป็น “บูรณะฤกษ์” ที่เต็มโดยสมบูรณ์ คือฤกษ์ที่ไม่ขาดแยกแตกบาท ฤกษ์ไปอยู่คนละราศี และเรียกว่า จัตตุรฤกษ์ หรือ ขันธฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ การขอสิ่งต่าง ๆ เพราะถือว่าเป็นฤกษ์ของชูชก จะทำการขอสิ่งใดก็ง่าย เช่น การขอหมั้น ขอแต่งงาน ทวงหนี้ กู้ยืม ร้องทุกข์ การทำการใด ๆ เพื่อให้ผู้อื่นสงสารกรุณา เปิดร้านของชำ ของเก่าชำรุด สมัคร งาน ทำการใด ๆ ที่ริเริ่มใหม่

2. มหัทธโน - ผู้มีทรัพย์มาก เศรษฐี นิยมใช้ฤกษ์นี้ในการเปิดกิจการเกี่ยวกับการเงิน
มหัทธโนฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ 2,11 และ 20 เรียกว่า มหัทธโนฤกษ์ แปลว่า คนมั่งมี ผู้รุ่งเรือง เศรษฐี มีพระจันทร์เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง 4 อยู่ในราศีเดียวกันเป็น “บูรณะฤกษ์” เป็นฤกษ์ที่เหมาะสมการขอสิ่ง ต่าง ๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ปลูกสร้างอาคาร ธุรกิจการเงิน การค้าอุตสาหกรรม เปิด ห้างร้าน ลาสิกขาบท สะเดาะเคราะห์ และ สารพัดงานมงคล

3. โจโร - ผู้ปล้น ผู้แย่งชิง นิยมใช้ฤกษ์นี้ในการออกปล้นค่ายหรือโจมตี ตลอดจนใช้ในกิจการทหาร
โจโรฤกษ์ ได้แก่ฤกษ์ที่ 3,12 และ 21 เรียกว่า โจโรฤกษ์ แปลว่า โจร ผู้ปล้น ผู้ลักขโมย นักเลง ผู้ใช้กำลัง ผู้กล้าหาญมีอำนาจ ผู้ว่องไว มีพระอังคารเป็นผู้รักษาฤกษ์ ฤกษ์บาททั้ง 4 ไม่รวมอยู่ในราศีเดียวกัน คาบเกี่ยวอยู่ 2 ราศีเป็น “ฉินทฤกษ์” คือ ฤกษ์ขาดแตก โดยเฉพาะบาทแรกของต้นราศีนั้น เป็นฤกษ์บาทที่ร้ายแรงมากกว่าบาทอื่น เป็นนวางค์ที่ร้ายแรงมากไม่ควรให้ฤกษ์มงคล เป็นฤกษ์ที่เหมาะสม คนโบราณใช้ในการปล้นค่าย จู่โจมโดยฉับพลัน ข่มขวัญ บีบบังคับ ทำการปราบปราม การแข่งขันช่วงชิง การแย่งอำนาจ และผลประโยชน์ งานเสี่ยง ๆ ในระยะสั้น ๆ การปฏิวัติ งานของบุคคลในเครื่องแบบใช้กำลัง

4. ภูมิปาโล - ผู้รักษาแผ่นดิน ผู้เป็นใหญ่ นิยมใช้ฤกษ์นี้ในการวางเสาหลักเมือง หรือกระทำการที่ต้องการความมั่นคง
ภูมิปาโลฤกษ์ ได้แก่ กฤษ์ที่ 4,13 และ 22 เรียกว่า ภูมิปาโลฤกษ์ แปลว่า ผู้รักษาแผ่นดิน มีพระพุทธเป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง 4 อยู่ในราศีเดียวกันเป็น บูรณะฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ การมงคลต่าง ๆ งานที่ต้องการความมั่นคงถาวร งานเกี่ยวกับที่ดิน การเกษตร การเช่าซื้อ ก่อสร้าง ปลูกเรือน ยกศาลพระภูมิแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ลาสิกขาบท เปิดอาคารห้างร้าน และสารพัดงานมงคลทั้งปวง

5. เทศาตรี หรือเวสิโย - พ่อค้าแม่ค้า นิยมใช้ฤกษ์นี้เปิดท่าเรือและกิจการการค้า ตลอดจนทำการที่ต้องให้คนเข้าออกมาก
เทศาตรีฤกษ์ ได้แก่ กฤษ์ที่ 5,14 และ 23 เรียกว่า เทศาตรีฤกษ์ แปลว่า ข้ามท้องถิ่น หญิงเพศยา ผู้ท่องเที่ยว บางคราวเรียกว่า “เวสิโยฤกษ์” หมายถึง ฤกษ์พ่อค้า – แม่ค้า มีพระเสาร์เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง 4 อยู่ปลายราศีหนึ่ง และต้นราศีหนึ่งแห่งละ 2 บาทฤกษ์ คือคาบเกี่ยวอยู่ราศีละครึ่ง คือในราศี พฤษภกับเมถุน, กันย์กับตุลย์ และมกรกับกุมภ์ เป็นฤกษ์อกแตก หรือ พินทุฤกษ์ หรือ ดินฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ งานการติดต่อการค้าระหว่างถิ่น เกี่ยวกับความสนุกสนาน ชักชวนคนให้เข้าและออกเป็นจำนวนมาก เปิดโรงมหรสพ สถานเริงรมย์ ซ่องโสเภณี โรงแรม โรงหนัง ตลาดและศูนย์การค้า การ ประกอบอาชีพนอกสถานที่ อาชีพเร่ร่อน อาชีพที่ต้องย้ายที่อยู่เสมอ

6. เทวี - นางผู้เป็นใหญ่ นิยมใช้ฤกษ์นี้ในการทำกิจการที่เกี่ยวกับความสวยงามและสงบสุข
เทวีฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ 6,15 และ 24 เรียกว่า เทวีฤกษ์ แปลว่า นางพญา ความงามหรูหรา ความมีเสน่ห์ โชคลาภ และการสมความปรารถนา มีพระพฤหัสฯ เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง 4 อยู่ในราศีเดียวกันเป็น บูรณะฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่มุ่งให้เกิดโชคลาภ เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ การเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ การหมั้นหมายและสมรส การส่งตัวเจ้าสาวและเข้าห้องหอ การทำกิจการที่ต้องการชื่อเสียงและมีเสน่ห์ งานมีเกียรติ งานเชิงศิลปะ ตกแต่งชั้นสูง เปิดร้านค้าอัญมณีเครื่องประดับ ร้านเสริมสวย ตัดเย็บเสื้อผ้า การประชาสัมพันธ์ ลาสิขาบท ขึ้นบ้านใหม่ ขอ ความรัก งานเพื่อความสงบเรียบร้อย และสารพัดงานมงคลทั้งปวง

7. เพชฌฆาต - ผู้ฆ่า นิยมใช้ฤกษ์นี้ในการทำกิจการที่ใช้ความเฉียบขาด หรือใช้ปลุกเสกเครื่องราง
เพชฌฆาตฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ 7,16 และ 25 เรียกว่า เพชฌฆาตฤกษ์ แปลว่า ผู้ทำหน้าที่ฆ่า มีพระราหูเป็นผู้รักษาฤกษ์ ฤกษ์บาททั้ง 4 แตกขาดกัน และตรงข้ามกับ โจโรฤกษ์ เรียกว่า “ตรินิเอก” คือ อยู่ปลายราศี 3 ฤกษ์บาท และ ต้นราศี 1 ฤกษ์บาท ไม่ควรให้ฤกษ์ในการมงคลเลย เป็นฉันทฤกษ์ (ฤกษ์แตกขาด) เป็นฤกษ์ที่เหมาะสมสำหรับ การฟันผ่าอันตรายและอุปสรรค ต่อสู้เสี่ยงภัยต่าง ๆ อาสางานใหญ่ ทำกิจปราบปรามศัตรู ตัดสินคดีความ งานที่ใช้การตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ประกอบพิธีไสยศาสตร์ ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง ลงเลขยันต์ สร้างวัตถุมงคลแบบคงกระพันชาตรี สร้างสิ่งสาธารณะกุศลสงเคราะห์ เปิดโรงพยาบาล การรักษาโรคเรื้อรังที่หายยาก ๆ การยาตราทัพเจิมอาวุธยุทธภัณฑ์ สร้างโบสถ์วิหารการเปรียญ คล้ายกับ โจ โรฤกษ์ แต่ฤกษ์นี้จะแรงกว่า

8. ราชา - ผู้เป็นใหญ่ นิยมใช้ฤกษ์นี้ในการทำกิจการที่ต้องการความมั่นคง
ราชาฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ 8,17 และ 26 เรียกว่า ราชาฤกษ์ แปลว่า ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีอำนาจวาสนา พระเจ้าแผ่นดิน มีพระศุกร์เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง 4 อยู่ในราศีเดียวกัน เรียกว่า บูรณะฤกษ์ เป็นฤกษ์เฉพาะกิจการของผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้นำกิจการขึ้นไปจนถึงพระราชา เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ งานราชพิธี งานราชการงานเมือง สร้างที่ประทับ งานที่ต้องการชักจูงให้ผู้อื่นดำเนินตาม การเข้ารับตำแหน่งงาน การแสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ การเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ งานมงคลสมรสที่หรูหรามีเกียรติ ลาสิขาบท การขึ้นบ้านใหม่ (สามัญชนควรเว้น ถ้าหาฤกษ์ไม่ได้ก็พออนุโลมใช้ได้ เพื่อดวงชะตาและความเหมาะสม) และงานมงคลทั้งปวง

9. สมโณ - พระ นิยมใช้ฤกษ์นี้ในการบวช การเข้าหาความสงบ
สมโณฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ 9,18 และ 27 เรียกว่า สมโณฤกษ์ แปลว่า (สงบเรียบร้อย นักบวช นักสอนศาสนา) มีพระเกตุเป็นผู้รักษาฤกษ์ ฤกษ์บาททั้ง 4 อยู่ปลายราศีเดียวกัน แต่บาทฤกษ์สุดท้ายนี้ เป็นนวางค์ขาดสุดราศีพอดี เรียกว่า “จัตตุรฤกษ์” หรือ “ขันธฤกษ์” จึงเป็นจุดที่มีผลเสียให้เกิดอันตรายต่างๆ ในการแข่งขัน ใช้ได้เฉพาะกิจเกี่ยวกับความสงบความสุจริต เป็นฤกษ์ที่เหมาะสมสำหรับ ทำพิธีกรรมทางศาสนา และทางนักบวช เช่น การทำขวัญนาค การอุปสมบท หล่อพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้ารับการศึกษา และการกระทำทุกอย่าง เพื่อความสงบร่มเย็นเป็นสุข สงเคราะห์ในฤกษ์นี้ได้ เช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญต่ออายุ

หมวดฤกษ์ทั้ง 9 นี้ จะกำหนดให้กับดาวนักษัตรตั้งแต่ทลิทโทไปเรื่อย ๆ จนครบเก้ากลุ่มดาว แล้วก็กลับมาวนทลิทโทอีกทีหนึ่ง ซึ่งจะครบสามรอบพอดีที่เรวดี เมื่อเวลาจะให้ฤกษ์หรือพยากรณ์บุคคล โหรจะพิจารณาว่าดวงจันทร์และลัคนาในขณะเวลาฤกษ์หรือเวลาเกิดนั้นอยู่ตรงดาวนักษัตรใด และมีหมวดฤกษ์เป็นแบบใด จากนั้นจึงจะสามารถตัดสินลักษณะบุคคลโดยคร่าว ๆ หรือพิจารณาให้หรือห้ามฤกษ์ในเวลานั้น ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม คำอธิบายข้างต้นเป็นเพียงแนวทางการนำฤกษ์ไปใช้งานเท่านั้น ในความเป็นจริงต้องตรวจสอบรายละเอียดดวงฤกษ์นั้นอีกมากจึงจะสามารถกำหนดฤกษ์ทำการให้กิจการใดกิจการหนึ่งได้ หรือแม้แต่ต้องพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างภพต่าง ๆ ตลอดจนความเป็นคุณโทษของดาวก่อนพยากรณ์ชีวิต

ฤกษ์ที่เหมาะสมในการใช้  คือ ราชาฤกษ์ มหัทโนฤกษ์ เทวีฤกษ์ ภูมิปาโลฤกษ์
ฤกษ์ที่ไม่เหมาะสมไม่ควรใช้ คือ เพชรฆาตฤกษ์ สมโณฤกษ์ เทศาตรีฤกษ์ ทลิทโทฤกษ์ และโจโรฤกษ์


ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  • ดาวนักขัตฤกษ์
  • เอกสารอ้างอิง หนังสือระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ โดยพระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสมปนโน ป.ธ. 9 )
  • กฤษณา พันธุ์มวานิช กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ