ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:Acquatiz

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปลูกผมถาวร[แก้]

ปัญหาผมร่วง (hair fall) ผมบาง (thinning of hair or hair loss) สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยส่วนใหญ่มักจะมาจากสาเหตุภาวะผมบางจากพันธุกรรม หรือผมร่วงที่เกิดจากกรรมพันธุ์ (Androgenetic Alopecia : AGA) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและฮอร์โมนแอนโดรเจน โดยจากการศึกษาและวิจัยในประเทศไทยพบว่า ภาวะผมบางมักจะเกิดขึ้นจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น โดยในเพศชายที่อายุ 50 ปี พบผมร่วงได้ร้อยละ 34 และอายุ 80 ปี พบได้ร้อยละ 67.7 นอกจากนี้สาเหตุอื่น ๆ ของภาวะผมร่วง (hair fall) ได้แก่ โรคผิวหนัง การเกิดอุบัติเหตุ และรอยแผลเป็น ทั้งนี้แม้ว่าการเกิดภาวะผมร่วง ผมบาง อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายแต่อย่างใด แต่มักจะส่งผลต่อจิตใจเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดความเครียด ขาดความมั่นใจ และมีผลต่อการเข้าสังคมด้วย

ในปัจจุบันการรักษาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน มีการรักษาที่หลากหลาย ทั้งการใช้ยา เลเซอร์ และการปลูกผมถาวร ซึ่งการผ่าตัดปลูกผมถาวรนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในหัตถการด้านการศัลยกรรมตกแต่ง โดยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกถ่ายเส้นผมที่เกิดจากความเข้าใจต่อลักษณะทางชีวภาพและสรีรวิทยาของเส้นผมที่ดีขึ้น รวมทั้งวิธีการผ่าตัดที่ทันสมัยมากขึ้น ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี เป็นธรรมชาติ ยั่งยืน และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งกระบวนการสำคัญของการผ่าตัดปลูกผมที่มีประสิทธิภาพ ได้แก่ การเลือก graft ที่เหมาะสม ตำแหน่งที่ต้องการปลูกผม ความหนาแน่นของเส้นผม เทคนิคการปลูกผม และการเลือก Donor Hair

ทำความรู้จักเบื้องต้นเกี่ยวกับเส้นผมของเรา[แก้]

โดยทั่วไปหนังศีรษะในคนปกติจะมีเส้นผมประมาณ 100,000 เส้น โดยเฉลี่ยยาววันละ 0.35 mm และในเดือนจะยาวประมาณ 1 cm และเส้นผมหรือขนสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. Vellus hair คือ ขนอ่อน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นขนอ่อน ๆ ตามตัวและใบหน้า ไม่มีแกนกลางของผม (hair medulla) ไม่มีสี และยาวไม่เกิน 2 cm
  2. Terminal hair คือ ขนแข็ง หรือผมเส้นใหญ่ มีลักษณะหยาบและยาวกว่า vellus hair มีสีตามเชื้อชาติ และมี hair medulla ซึ่งขนแข็งนี้จะแบ่งเป็น asexual hair คือ ผมที่ศีรษะ ขนคิ้ว ขนแขนและขนขา และ sexual hair คือ ขนหัวหน่าว ขนรักแร้ หนวด เครา และขนหน้าอกในเพศชาย

วงจรการเจริญเติบโตของเส้นผม[แก้]

วงจรการเจริญเติบโต หรือการงอกของเส้นผม (hair growth cycle) สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน ได้แก่

1. Anagen phase คือ ระยะที่ผมมีการเจริญเติบโต โดยใช้ระยะเวลานาน 2-6 ปี ซึ่งจะพบร้อยละ 85-90 ของเส้นผมบนหนังศีรษะ

2. Catagen phase หรือ transition phase คือ ช่วงระยะเวลาที่เส้นผมมีการเปลี่ยนแปลง โดยเส้นผมจะเติบโตช้าลงและค่อย ๆ หยุดการเติบโต ใช้ระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ซึ่งจะพบน้อยกว่าร้อยละ 1 ของผมบนหนังศีรษะ

3. Telogen phase คือ ช่วงระยะที่เส้นผมมีการหยุดการเจริญเติบโต ใช้ระยะเวลา 3 เดือน หลังจากนั้นจะถูกแทนที่ด้วยผมระยะ anagen ที่จะงอกขึ้นมาใหม่แล้วดันเส้นผมเดิมให้หลุดร่วงไป พบร้อยละ 10-15 ของผมบนหนังศีรษะ

โดยปกติคนเราสามารถมีผมร่วงเฉลี่ย 100 เส้นต่อวัน หรือ 10,000 เส้นต่อ 3 เดือน แต่ในวันที่สระผมอาจร่วงได้เป็น 2 เท่าของปกติ ซึ่งรูปแบบการร่วงของเส้นผมบนหนังศีรษะของมนุษย์จะมีการร่วงแบบ mosaic pattern คือ ร่วงจากทุกจุดสลับกันไป ทั้งนี้อายุของเส้นขนจะมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ละตำแหน่ง ได้แก่ ผมบนหนังศีรษะอายุเฉลี่ย 4 ปี, ขนคิ้ว ขนตา และขนรักแร้ อายุเฉลี่ย 3-4 เดือน, ขนอ่อนตามร่างกายเฉลี่ย 4 เดือน และผมที่หนังศีรษะมี lifetime cycle 10-20 cycles

โรคผมร่วงมีกี่ประเภท[แก้]

โรคผมร่วงสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. ผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น (Non-cicatricial alopecia) เกิดจากการที่รากผมถูกทำลายอย่างไม่ถาวร หากมีการรักษาเส้นผมสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ในปริมาณปกติ หรือใกล้เคียงปริมาณเดิม ภภาวะผมร่วงแบบไม่มีแผลเป็น เช่น ผมร่วงจากพันธุกรรม (Androgenetic alopecia), ผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata), ผมร่วงทั่วศีรษะจากภาวะ Telogen effluvium, ผมร่วงทั่วศีรษะจากภาวะ Anagen effluvium, loose anagen syndrome, โรคดึงผมตนเอง (trichotillomania), ผมร่วงจากการดึงรั้ง (Traction Alopecia)

2. ผมร่วงแบบมีแผลเป็น (Scarring alopecia) เกิดจากที่รากผมถูกทำลายอย่างถาวร ทำให้ไม่สามารถสร้างเส้นผมให้งอกใหม่ได้ โดยมีสาเหตุจากการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ ติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อราบนหนังศีรษะ ชนิดชันนะตุ (Kerion) หรือเชื้อไวรัสที่มีการอักเสบมากที่หนังศีรษะ ทำให้มีการแกะเกาหนังศีรษะจนเกิดบาดแผลลึก รวมถึงโรคผิวหนังที่ทำให้เกิดแผลเป็น เช่น chronic cutaneous lupus erythematosus, lichen planopilaris, central centrifugal cicatricial alopecia

ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคจะต้องอาศัยการซักประวัติและการตรวจร่างกาย เช่น ลักษณะของผมที่ร่วง, ระยะเวลาที่ผมร่วง, จำนวนของเส้นผมที่ร่วงต่อวัน, ขนในตำแหน่งอื่นร่วงด้วยหรือไม่, และอาการร่วมอื่น ได้แก่ มีไข้, ปวดข้อ, ผื่นขึ้นตามตัว, แพ้แสงแดด, เคยมีประวัติเจ็บป่วยหรือช่วง 3 เดือนหลังการคลอดบุตร, ประวัติการเสียเลือด เช่น การแท้งบุตร, การบริจาคโลหิต, ช่วงหลังการผ่าตัด 3 เดือน, โรคประจำตัว, ยาที่ใช้เป็นประจำและประวัติของครอบครัว ซึ่งบางรายอาจจะต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวัดระดับฮอร์โมนหรือตัดชิ้นเนื้อใน ตำแหน่งที่ผมร่วง (scalp biopsy) เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

โดยสาเหตุที่มักพบบ่อยที่สุด คือ ผมร่วงจากพันธุกรรมและฮอร์โมน (androgenetic alopecia, AGA) ในผู้ชายจะเรียกว่า male pattern baldness (MPB) หรือ male androgenetic alopecia (MAGA) ซึ่งจะพบการลดลงของเส้นผมบริเวณกลางศีรษะ จากอิทธิพลของฮอร์โมน dihydrotestosterone (DHT) โดยปัญหาผมร่วง หรือผมบางในภาวะนี้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป และจะพบอาการนี้ได้ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์จนถึงอายุ 40 ปี ซึ่งอาการจะเริ่มจากการร่นของ anterior hairline หรือแนวผมด้านหน้า โดยเฉพาะบริเวณ fronto-temporal angle ที่จะทำให้เห็นศีรษะเป็นรูปตัวเอ็ม หรือ M-shaped recession และในบริเวณกระหม่อม (vertex) จะขยายออกโดยรอบ midfrontal hair หรือบริเวณแสกกลางบนหนังศีรษะ จนทำให้ในที่สุดเหลือผมเฉพาะ occipito-parietal area หรือบริเวณท้ายท้ายและข้างกระหม่อม

วิธีการดูแลรักษาอาการผมร่วง[แก้]

การรักษาอาการผมร่วงสามารถทำได้หลากหลายวิธี ทั้งแบบไม่ผ่าตัด (nonsurgical management) เช่น การใช้ยา หวีเลเซอร์ และแบบการผ่าตัดปลูกผมถาวร โดยการปลูกผมแบบไม่ผ่าตัดที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) ได้แก่ ยา minoxidil, ยา finasteride และ low level laser therapy ทั้งนี้การใช้ยายังสามารถนำมาใช้ร่วมกับการผ่าตัดปลูกถ่ายเส้นผม เพื่อช่วยลดอาการผมร่วงและเพิ่มความหนาแน่นของเส้นผมได้ดียิ่งขึ้น

1. Minoxidil (ไมนอกซิดิล)[แก้]

เป็นยารักษาผมร่วงที่ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงกลไกที่ทีผลทำให้ยืดระยะเจริญเติบโตของเส้นผม (anagen phase) และการเพิ่มขนาดของต่อมรากผม hair follicle ซึ่งรูปแบบที่องค์การอาหารและยา FDA อนุมัติให้ใช้รักษาอาการผมร่วงจะมีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ แบบสารละลาย (solution) และโฟม (foam) สำหรับใช้ภายนอก โดยรูปแบบของสารละลายจะมีการผสม Propylene glycol เพื่อเพิ่มความสามารถในการละลายในไขมันของยาได้ดีมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยแพ้หรือระคายเคืองได้ อาการข้างเคียงอื่น ๆ เช่น เส้นขนหนาขึ้นในบริเวณที่ไม่ต้องการ แต่จะทุเลาลงได้เองหลังจากหยุดใช้ยา 1-3 เดือน

สำหรับการรักษาในผู้ป่วยชายให้ใช้ยาชนิดละลายบนหนังศีรษะ 2% หรือ 5% และชนิดโฟมให้ใช้ 5% ทาวันละ 2 ครั้ง ส่วนในผู้ป่วยหญิงให้ใช้ยาชนิดสารละลายบนหนังศีรษะ 2% และชนิดโฟม 5% วันละครั้ง โดยระยะเวลาเห็นผลอยู่ที่ 6-8 เดือน ซึ่งจะเห็นผลสูงสุดเมื่อใช้ต่อเนื่องได้นาน 12 เดือน และหากหยุดใช้ยาอาจจะทำให้เกิดอาการผมร่วงฉับพลัน หรือผมร่วงทั่วศีรษะ ภายใน 4-6 เดือนได้

2. Finasteride (ฟีนาสเตอไรด์)[แก้]

เป็นยากลุ่ม 5-alpha reductase inhibitor ที่จะออกฤทธิ์ช่วยยับยั้งการเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชาย testosterone เป็น Dihydrotestosterone (DHT) ช่วยเพิ่มระยะการเจริญเติบโต และเพิ่มความหนาและความยาวของเส้นผม ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา US FDA แนะนำปริมาณยาสำหรับรับประทานขนาด 1 มิลลิกรัมต่อวัน โดยจะเริ่มเห็นผลลัพธ์ประมาณ 6-8 เดือน และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น คือ ความรู้สึกทางเพศลดลง การแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง แต่จะไม่มีผลต่อการอสุจิ และควรตรวจหรือติดตามระดับ Prostate-specific antigen (PSA) เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ก่อนเริ่มการรักษา เนื่องจากยานี้จะลดระดับ PSA จึงอาจทำให้มีผลต่อการตรวจคัดกรองและติดตามมะเร็งต่อมลูกหมาก และยาตัวนี้ห้ามใช้ในเพศหญิงวัยเจริญพันธุ์ หญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร รวมถึงหญิงที่วางแผนตั้งครรภ์ เนื่องจากมี teratogenicity ที่อาจทำให้ทารกหรือตัวอ่อนในครรภ์มีความผิดปกติ

ในปี พ.ศ. 2553 Mella JM. และคณะ ได้ทำการศึกษาการรักษาผมร่วงด้วยการรับประทานยา finasteride ในประชากร 3,927 คน พบว่าในผู้ที่รับประทาน finasteride 1 มิลลิกรัมต่อวัน มีปริมาณเส้นผมเพิ่มขึ้น 9.42%% ใน 12 เดือน และ 24.3% ใน 24 เดือน มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction) 1.5%

และ Leavitt M. และคณะ ได้ทำการศึกษาในเพศชาย 79 คน ที่เข้ารับปลูกผม และได้รับประทานยา finasteride 1 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ก่อนการผ่าตัดปลูกผม 4 สัปดาห์ จนถึง 48 สัปดาห์หลังการปลูกผม พบว่ากลุ่มที่ได้รับยา finasteride มีเส้นผมขึ้นหนาแน่นทั้งบริเวณที่ปลูกผมและบริเวณรอบ ๆ มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก และพบว่าการใช้ยาร่วมกันระหว่าง minoxidil และ finasteride ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. Low level laser (light) therapy (LLLT)[แก้]

การใช้เลเซอร์รักษาภาวะผมร่วง โดยการบำบัดด้วยแสงเลเซอร์ความถี่ต่ำ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เซลล์รูขุมขนแบ่งตัว และช่วยยืดระยะเจริญเติบโตของเส้นผม (Anagen Phase) ให้ยาวนานขึ้น ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา US FDA ได้อนุมัติการใช้ laser comb หรือ หวีเลเซอร์ เป็นการรักษาผมร่วงและผมบางด้วยเลเซอร์พลังงานต่ำ โดยเพศหญิงที่มักมีการสูญเสียเส้นผมบริเวณด้านหน้าหรือบริเวณไรผมของศีรษะ ให้ใช้ครั้งละ 10-15 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง และจะเห็นผลประมาณ 4 เดือน นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2557 Jimenez JJ. และคณะ ได้ศึกษาในกลุ่มผู้ที่มีภาวะผมร่วง ผมบาง ในเพศชายและเพศหญิงจำนวน 334 ราย โดยใช้เลเซอร์ความยาวคลื่น 635/655 nm ครั้งละ 10-15 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 26 สัปดาห์ พบว่าเส้นผมประเภท Terminal hair (ผมเส้นใหญ่) เพิ่มขึ้นประมาณ 20 เส้น/cm2 และไม่มีผลข้างเคียงที่รุนแรง

4. การปลูกผม (Hair transplantation)[แก้]

การปลูกผมมีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ช่วงปีพ.ศ. 2473 แต่เนื่องจากเป็นช่วงสงครามจึงทำให้ไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 นายแพทย์ Norman Orentreich ได้ทำการผ่าตัดปลูกผมในผู้ป่วยผมบางจากพันธุกรรม (androgenetic alopecia) โดยการนำเซลล์รากผมจากบริเวณด้านหลังศีรษะหรือบริเวณท้ายทอย (donor area) ย้ายมาปลูกที่หนังศีรษะบริเวณอื่นที่มีปัญหาผมร่วง (recipient area) และได้เสนอทฤษฎี donor dominance คือ เมื่อนำเซลล์รากผมบริเวณ donor มาปลูกในบริเวณที่มีภาวะผมร่วง รากผมเหล่านี้จะสามารถสร้างเส้นผมให้งอกขึ้นมาใหม่ได้ โดยลักษณะระยะการเจริญเติบโตของเส้นผมจะเหมือนกับเส้นผมบริเวณด้านหลังศีรษะที่นำมาปลูก แต่ผลการผ่าตัดปลูกผมในยุคนั้นยังไม่เป็นที่น่าพอใจและไม่เป็นธรรมชาติ เนื่องจากมีการใช้เส้นผมกระจุกใหญ่ ประมาณ 10-25 เส้นใน 1 กราฟ

ซึ่งก็ได้มีการพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดปลูกผมมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538  Bernstein ได้เสนอวิธีการผ่าตัดปลูกผมที่มีชื่อว่า follicular unit transplantation (FUT) โดยได้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น โดยในปี พ.ศ. 2551 Dinh HV. และคณะ ได้มีการรายงานตัวอย่างของผู้ป่วยเพื่อสนับสนุนทฤษฎีนี้ ซึ่งพบว่าเมื่อนำรากผมจากบริเวณด้านหลังศีรษะที่มีสีเข้มมาปลูกในบริเวณมีปัญหาผมร่วงที่มีผมสีขาวเป็นระยะเวลา 1 ปี ผลลัพธ์ของเส้นผมที่งอกขึ้นใหม่มีลักษณะสีเข้มเหมือนเส้นผมที่นำมาปลูก แต่ในปี พ.ศ. 2552 Hwang S. และคณะ ได้มีการนำขนบริเวณหน้าอกมาปลูกที่ศีรษะ แล้วพบว่าเส้นขนที่นำมาปลูกบริเวณศีรษะมีความยาวมากกว่าขนบริเวณหน้าอก ประมาณ 56.3 mm เทียบกับ 28.5 mm จึงมีการสมมติฐานว่าที่บริเวณผู้รับ (recipient site) หรือบริเวณที่ทำการปลูกผม ยังมีผลต่ออายุการเจริญเติบโตของเส้นขนและอัตราการเติบโตของเส้นขน โดยในแต่ละเซลล์รากผมจะมีเส้นผม 1-4 เส้น, sebaceous glands และ arrector pili muscle

การเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดปลูกผม[แก้]

ก่อนทำการผ่าตัดปลูกผมแพทย์ควรมีการประเมินคนไข้ถึงความต้องการของผลลัพธ์ หรือเป้าหมายที่สอดคล้องกับความเป็นจริง (Realistic goal), ตรวจความรุนแรงหรือปริมาณของบริเวณที่ต้องการปลูก (Recipient site) และบริเวณที่นำรากผมมาปลูก (Donor site) และมีการตรวจเลือด เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัดปลูกผม รวมถึงการแนะนำภาวะแทรกซ้อนหรือข้อจำกัดต่าง ๆ ให้คนไข้ทราบ โดยควรระมัดระวังอย่างมากสำหรับการปลูกผมในคนไข้ที่อายุน้อย เพราะยังมีโอกาสที่เส้นผมจะหลุดร่วงในอนาคต ซึ่งกลุ่มคนที่ไม่ควรปลูกผม เช่น ผู้ที่มีความคาดหวังเกินจริง, ผู้ที่มีภาวะเจ็บป่วยทางจิต เช่น โรคคิดหมกมุ่น (Body Dysmorphic Disorder :BDD), โรคซึมเศร้า (Depression), โรควิตกกังวล (Anxiety), โรคย้ำคิดย้ำทำ OCD (Obsessive Compulsive Disorder) และโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ซึ่งการผ่าตัดปลูกผมนี้ไม่ใช่การสร้างเส้นผมขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการจัดหรือย้ายเส้นผมเดิมที่มีอยู่แล้วมาปลูกในบริเวณที่ไม่มีเส้นผม โดยที่ผลการรักษาก็จะแตกต่างกันออกไปตามปัจจัยแต่ละบุคคล เช่น เส้นผมบาง, ความหนาแน่นของเส้นผมมีน้อย, สีผม, พื้นที่ศีรษะล้านมีขนาดกว้าง แต่ผมบริเวณท้ายทอยมีน้อย หรือมีแผลเป็น และหนังศีรษะไม่ยืดหยุ่น เป็นต้น

แนวทางการออกแบบแนวผม[แก้]

การออกแบบแนวผม (Hairline design) เป็นปัจจัยที่สำคัญในการปลูกผมถาวร ซึ่งการวาดแนวผมให้ดูเป็นธรรมชาตินั้น จะเริ่มจากการทำความเข้าใจแนวขอบและจุดต่าง ๆ ของหนังศีรษะ โดยปัญหาผมร่วง ผมบาง ศีรษะล้าน ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นบริเวณหน้าผาก (frontal area) และตรงกลางศีรษะ (Vertex) หากมีปัญหาผมบางหลายตำแหน่ง การปลูกผมมักจะเริ่มปลูกที่บริเวณหน้าผากก่อน โดยลักษณะของแนวผมมีดังนี้

  • Mid frontal point (MFP) จะอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางของแนวผมด้านหน้า (frontal hairline) โดยปกติจะอยู่เหนือ glabella หรือบริเวณระหว่างคิ้วและเหนือจมูกขึ้นมา 7-10 ซม.
  • Apex (fronto-temporal junction, FTJ) คือ จุดตัดระหว่างแนวผมด้านหน้าผากและขมับ โดยจะอยู่ในแนวดิ่งหรือเว้าเข้ามาจาก lateral canthal (vertical lateral canthal line) ด้านข้าง และแนวผมจาก MFP มา FTJ จะเป็นแนวชันขึ้นเสมอ
  • Temporal point (TP) คือ มุมแหลมที่ยื่นออกมาจาก temporal hair line หรือแนวขมับ ซึ่งจะอยู่ในแนวตัดของแนวขมับที่วาดจากปลายจมูกไป รูม่านตา (pupil) และเส้นที่ลากจากจากติ่งหูถึง MFP
  • Parietal hump (PH) หรือ Lateral hump (LH) คือ บริเวณ temporal-parietal หรือบริเวณขมับ เป็นแนวต่อของ permanent donor ด้านล่างกับบริเวณกลางศีรษะ ซึ่งบริเวณขอบด้านหน้าของ parietal hump จะเป็น temporal hair line
  • Frontal hair line เป็นแนวผมด้านหน้าผากที่กว้างทั้งหมด 2-3 ซม. แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ Transition zone (TZ) ที่อยู่แถวหน้าสุดกว้าง 0.5-1 ซม. โดยผมบริเวณนี้ควรใช้เป็น single hair graft, Define zone (DZ) จะอยู่ถัดจาก TZ มีความหนาแน่นของเส้นผมมากขึ้น เหมาะสำหรับใช้ graft เป็น 2 hair follicular unit (FU) และ Frontal tuft (FT) เป็นบริเวณวงรีตรงกลาง DZ ที่จะมีความหนาของเส้นผมมากขึ้นอีก โดยจะใช้ graft เป็น 3-4 hair FU ซึ่งข้อควรระวังสำหรับการวางแนวผมหน้าผาก frontal hair line ไม่ควรวางแนวนี้ต่ำเกินไป ควรคำนึงถึงผลกระทบของผมร่วงที่อาจเกิดในอนาคต และความเหมาะสมของอัตราส่วนของบริเวณเซลล์รากผมที่นำมาปลูกและบริเวณที่รับการปลูกด้วย

เส้นผมถาวร “Safe Donor Area”

สำหรับการเลือกผมที่นำมาปลูก หรือ donor ควรเลือกบริเวณที่มี terminal hair หรือขนที่มีลักษณะเป็นเส้นใหญ่ หรือรากผมที่มีความแข็งแรงมากที่สุดมากปลูก และเป็นเส้นผมบริเวณที่ไม่กระทบจากภาวะผมร่วง ซึ่งในปี พ.ศ. 2538 Unger WP. ได้ทำการศึกษาในผู้ป่วยชาย อายุ 65-80 ปี ที่มีภาวะผมร่วงจากพันธุกรรม พบว่าเส้นผมบริเวณท้ายทอยมีผมอยู่เป็นปกติ จึงเรียกบริเวณนี้ว่า Safe Donor Area (SDA) หรือบริเวณที่รากผมมีความแข็งแรง และมีโอกาสคงอยู่ถาวรได้มากที่สุด

ความยืดหยุ่นของหนังศีรษะ (Scalp laxity)[แก้]

ความยืดหยุ่นของหนังศีรษะมีความสำคัญต่อวิธีการผ่าตัดปลูกผม แบบ Strip Harvest ซึ่งเป็นการศัลยกรรมปลูกผมโดยการตัดเอาชิ้นหนังศีรษะด้านหลังท้ายทอยขึ้นมาเย็บติดกับหนังศีรษะบริเวณที่ไม่มีผม โดยมีความสำคัญเนื่องจากเป็นปัจจัยในการพิจารณาความกว้างของ donor ที่ harvest ได้ โดยสามารถเย็บปิดแผลได้แบบไม่มีแรงตึง (tension free)

ในปีพ.ศ. 2548 Mayer และคณะ ได้รายงานสูตรการคำนวณ scalp elasticity = (50 mm – ×) (100%)/50 mm ระยะ × หาจากการวัดโดยการลากเส้นแนวขวางยาว 5 cm บริเวณท้ายทอย (occipital area) ที่จะใช้ในการนำมาปลูก จากนั้นบีบในแนวนอนแล้ววัดความยาวที่เหลือของเส้น โดยเรียกความยาวที่เหลือนั้นว่าระยะ × (ระยะของ compressed skin หรือระยะห่างของผิวหนังที่ถูกบีบอัด) ซึ่งจากการคำนวณสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ tight scalp หรือหนังศีรษะตึง (ยืดหยุ่นได้ 10%) แนะนำให้ผ่าตัดปลูกผมแบบ Strip Harvest โดยการตัดเอาชิ้นเนื้อออกมาประมาณ 5 มม. , average scalp หรือหนังศีรษะปกติ หรือหยืดหยุ่นปานกลาง (ยืดหยุ่นได้ 24%) แนะนำให้ Strip Harvest ประมาณ 12 มม. และ very loose scalp หรือหนังศีรษะที่มีความยืดหยุ่นมาก (ยืดหยุ่นได้ 45%) แนะนำให้ harvest strip ได้ประมาณ 22.5 มม.

ทั้งนี้ พบว่าการนวดบริเวณหนังศีรษะ 2-4 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัดปลูกผม สามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับหนังศีรษะได้ และก่อนเริ่มการรักษาแพทย์จะให้คนไข้ตัดผมบริเวณท้ายทอยให้สั้นลง โดยเหลือความยาวของเส้นผมไว้ประมาณ 2-3 มม. เพื่อให้สามารถเห็นทิศทางของเส้นผมได้ชัดเจน และการระงับอาการปวดหรอความรู้สึกเจ็บขณะรักษา แพทย์มักจะให้ผู้ป่วยรับประทานยานอนหลับ เช่น midazolam ร่วมกับการฉีดยาชาเฉพาะที่ด้วยเทคนิค tumescent anesthesia โดยใช้ร้อยละ 1 lidocaine with adrenaline (1/100,000) ซึ่งอาจใช้ marcaine หรือ procaine ร่วมกับการฉีดน้ำเกลือ (normal saline) หรือ normal saline with adrenaline เพื่อส่งผลทำให้หลอดเลือดหดตัวและการบีบตัวของหลอดเลือด ช่วยลดการเลือดออก และช่วยแยก plane การผ่าตัดด้วย

เทคนิคการปลูกผม[แก้]

1. ปลูกผมด้วยเทคนิค Strip[แก้]

วิธีนี้เป็น gold standard ของการ harvest donor ในวิธี follicular unit transplantation ซึ่งจะนำรากผมบริเวณท้ายทอย (occipital) หรือขม่อม (parietal) ซึ่งเป็นบริเวณ androgenic resistance ไปปลูกบริเวณที่มีปัญหาผมบาง ศีรษะล้าน แต่วิธีนี้อาจทำให้ไม่เห็นถึงรากผม และทำให้มีโอกาสตัดถูกรากผม (transection) ได้สูง โดยในปี พ.ศ. 2543 Pathomvanich D. ได้รายงานวิธีการผ่าตัดที่เรียกว่า open technique คือ การใช้ใบมีดเบอร์ 15 ที่เริ่มจากการตัดผิวด้านบนระหว่างผมขนาดเล็ก และใช้ skin hook (เป็นตะขอเล็ก ๆ ที่ใช้เขี่ยชิ้นเนื้อ) เพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นรากผมและทิศของรากผมได้ง่าย โดยใช้หลัก “cut what you see and see what you cut” โดยการตัดขนานกับแนวของรากผมจนถึงชั้นใต้ผิวหนังกำพร้าด้านล่างรูขุมขน ซึ่งควรระวังไม่ให้ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อเส้นเอ็น galea เพื่อหลีกเลี่ยงอาการชาในระยะยาว และศัลยแพทย์จะใส่แว่นขยายช่วยในการผ่าตัด เพื่อลดการตัดถูกเซลล์รากผม โดยในการศึกษานี้มีรายงานอัตราการผ่าที่ 1.59%  ขนาดของแผลที่ตัดออก ซึ่งคำนวณจากความยืดหยุ่นของหนังศีรษะ ความหนาแน่นของ follicular unit (ความหนาแน่นของผมที่นำมาปลูก) และความต้องการของ recipient area (จำนวนเส้นผมที่ต้องการใช้จะขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่ต้องการปลูกผม) โดยส่วนใหญ่ความหนาแน่นที่เหมาะสมที่สุดสำหรับบริเวณที่รับการปลูกผม แนะนำให้ปลูกถ่ายที่ 25-40 FU/cm2 ซึ่งมักจะตัดแถบกว้าง 1-1.5 ซม. และยาว 20-30 ซม. สำหรับคนไข้ที่เคยผ่าตัดปลูกผมมาก่อนและอาจจะมีแผลเป็นจากการผ่าตัดในบริเวณนี้ ควรให้แผลเป็นนั้นอยู่บริเวณขอบของการปลูกผมที่จะตัดชิ้นเนื้อออกไป

สำหรับการลดแผลเป็นบริเวณท้ายทอย แนะนำให้ใช้การเย็บปิดแผลแบบ trichophytic closure คือ การ de-epithelialization (การตัดหนังกำพร้าน้อยกว่า 1 มม. ก่อนถึงต่อมเซลล์รากผม hair follicle bulge) เพื่อให้ผมสามารถงอกออกมาตามแนวแผลเป็น จากการศึกษาเปรียบเทียบความพึงพอใจของคนไข้โดย Nirmal B. และคณะ พบว่าการเย็บแบบ trichophytic closure ทำให้มีความกว้างของแผลเป็นน้อยกว่าการเย็บแบบปกติ

หลังการตัดเอาชิ้นเนื้ออกมาให้นำกราฟต์มาแช่ในสารละลายสำหรับเก็บรักษา storage solution ที่อุณหภูมิ 4 °C เพื่อลดการเผาผลาญ (Metabolism) ซึ่งสามารถใช้เป็นของเหลวทางหลอดเลือดดำ (intravenous fluid) เช่น น้ำเกลือ (normal saline), สารละลาย Ringer’s lactate solution และมีรายงานการรักษาด้วยพลาสม่าเกล็ดเลือดเข้มข้น PRP (Platelet Rich Plasma) โดยติดตาม 1 ปี พบว่ากราฟต์รอดชีวิตสูงกว่ากลุ่มที่ใช้น้ำเกลือ 11.5% (93.5% เทียบกับ 82%) นอกจากนี้ยังมีการใช้ hypothermic tissue storage media, อาหารเลี้ยงเชื้อ (Culture Media) แต่ยังไม่มีหลักฐานแสดงถึงประโยชน์และความคุ้มค่าที่ชัดเจน ซึ่งสิ่งที่สำคัญ คือ ไม่ให้กราฟต์เกิดภาวะขาดน้ำ (graft dehydration) เพราะจะทำให้สูญเสียน้ำภายในเซลล์ (intracellular water) ส่งผลให้ต่อมรูขุมขนเสียหาย กราฟต์มีโอกาสรอดลดลง สำหรับขั้นตอนต่อมา คือ การตัดแบ่งเพื่อแยก follicular unit ภายใต้กล้องจุลทรรศน์ และควรใช้ความระมัดระวังในการจับกราฟต์ โดยไม่สัมผัสกับกระเปราะผม (Hair Bulb) เนื่องจากจะทำให้ dermal papilla และ dermal sheath ที่อยู่บริเวณรากผมเสียหายได้

2. Follicular Unit Extraction (FUE)[แก้]

จากปัญหารอยแผลเป็นที่เกิดจากการปลูกถ่ายเส้นผมด้วยเทคนิค strip method ในปี พ.ศ. 2545 Rassman และ Bernstein จึงได้รายงานการผ่าตัดโดยระบุตำแหน่งของ hair follicular unit และการใช้หัวเจาะขนาด 1 มม. เจาะเอารากผมทีละกราฟต์จากบริเวณเส้นผมที่แข็งแรงอย่างบริเวณท้ายทอย ร่วมกับใช้ jeweler forcep (อุปกรณ์สำหรับคีบเนื้อเยื่อ เพื่อทำการผ่าตัด) เพื่อเลาะเอารากผมออกทีละกราฟต์ ข้อดีของการใช้วิธีนี้ คือ เหมาะกับผู้ที่ต้องการไว้ผมสั้น หรือมีหนังศีรษะที่ยืดหยุ่นน้อย แต่ข้อจำกัด คือ ใช้ระยะเวลานาน และในผู้ป่วยผมบางอาจจะได้กอผมไม่มาก ทำให้ต้องมาผ่าตัดซ้ำอีกครั้ง โดยเว้นระยะเวลาประมาณ 6-12 เดือน ซึ่งจากสถิติของ International society of hair restoration surgery พบว่าวิธี FUE ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นมากจากปี พ.ศ. 2551 ที่มีการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ 10.8% โดยในปี พ.ศ. 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 32.2%

โดยเทคนิคการปลูกผม FUE มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ sharp punch technique และ dull punch technique ดังนี้

1. Sharp punch (เทคนิค 2 ขั้น)[แก้]

เป็นการเจาะแบบคม โดยใช้เครื่องมือที่มีความลึกไม่เกิน 2-2.5 มม. แล้วใช้อุปกรณ์นำกราฟต์ออกมา โดยใช้อุปกรณ์ที่ใช้แรงในแนวแกน axial, tangential น้อยกว่าเครื่องมือ blunt ซึ่งเชื่อว่าจะมีกระเปราะผม(Hair Bulb) เคลื่อนตัวน้อยกว่าการใช้อุปกรณ์แบบ manual sharp punch technique เช่น Cole Instrument punches (Cole Instruments, Alpharetta, GA) และยังมีแบบ motorized คือ เครื่อง automate แบบ sharp punch เช่น การใช้ Neograft (Neograft Solutions, Dallas, TX), Ominigraft (Mecicamat S.A., Malakoff, France) ในปีพ.ศ. 2551 จากการศึกษาของ Onda M. และคณะ พบว่า Neograft ลดเวลาในการปลูกถ่ายกราฟต์ลงได้ 8 นาที ต่อ 100 กราฟต์ และลดอัตรา graft transection จาก 17.3% ลดลงเหลือ 5.4%

2. Dull punch (เทคนิค 3 ขั้น)[แก้]

การใช้หัวเจาะแบบคมหรือแบบปลายแหลมเจาะผิวหนังชั้นนอก 0.3-0.5 มม. และใช้หัวเจาะปลายทู่เจาะต่อถึง 4.2 มม. แล้วจึงนำรากผมออก โดยเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยลดโอกาสการตัดกราฟต์ไม่ถูกทิศแนวรากผมได้ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ทำ manualdull punch technique เช่น SAFE System (HSC Development, Greenwood Village, CO) และมีแบบ motorized เช่น Powered SAFE (HSC Development, Greenwood Village, CO) ซึ่งในปี พ.ศ. 2549 นายแพทย์ Harris ได้รายงาน transection rate อัตราการผ่าที่ 6.14% อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ศึกษาเกี่ยวกับ transection rate ที่จะได้ผลลัพธ์แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของแพทย์ เนื่องจากขั้นตอนเหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์ของแพทย์พอสมควร

การเปรียบเทียบวิธีการปลูกถ่ายเส้นผมแบบ strip technique และแบบ follicular unit extraction

Strip technique Follicular unit extraction
แผลเป็นที่บริเวณผู้ให้ (donor site) เห็นรอยแผลเป็น ไม่เห็น
ระยะเวลาในการนำเซลล์รากผมบริเวณท้ายทอยออก 10-20 นาที (ในการผ่าตัดharvest บริเวณ donor) 5-10 นาทีต่อ 100-150 กราฟต์
การตัดแบ่งกราฟต์ ต้องทำ ไม่ต้องทำ
คุณภาพการปลูกผม ดีมาก ดีมาก
3. Robotic follicular unit extraction[แก้]

การผ่าตัดปลูกผมโดยใช้หุ่นยนต์ช่วย ARTAS System;Restoration Robotics, San Jose, CA) ซึ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) ในปี พ.ศ. 2554 ในผู้ป่วยเพศชายที่มีปัญหาผมร่วงจากพันธุกรรม ถูกนำมาใช้เพื่อช่วยเก็บเกี่ยวกราฟต์ผมแบบ follicular unit extraction โดยมีข้อดีดังต่อไปนี้

  1. Image-guided robotic alignment โดยกล้องจะสแกนองศาของรากผม เพื่อช่วยเพิ่มความเร็วและความแม่นยำ และยังสามารถทำหัตถการในมุมองศาที่ต้องการได้ เนื่องจากมีการใช้แขนกลช่วย
  2. High-resolution digital imaging ได้ภาพที่มีความละเอียดสูง ความละเอียดแม่นยำถึงระดับไมโครเมตร เนื่องจากประมวลผลจากคอมพิวเตอร์
  3. Minimally invasive dissection ทำให้ได้กราฟต์ผมที่ดี และมีแผลน้อยที่สุด
  4. Intuitive operation สามารถใช้งานได้ง่าย ควบคุมสะดวก และใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่นาน

นอกจากนี้ยังสามารถทำซ้ำได้อย่างแม่นยำมากโดยไม่ต้องมีผู้ช่วย สำหรับความเร็วสามารถทำได้ถึงชั่วโมงละ 500-600 กอผม โดยในปี พ.ศ. 2557 มีรายงานการใช้ robot เพื่อสร้าง slit ที่ recipient พบว่าสามารถสร้างได้ถึง 2000 slit ใน 1 ชั่วโมง และสามารถตั้งค่ามุมองศา ทิศทาง ความลึก ความหนาแน่น และจำนวนการผ่าตัดทั้งหมด แต่รายละเอียดยังคงอยู่ในระหว่างการพัฒนาโปรแกรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ completely robotic hair transplantation หรือการปลูกผมด้วยหุ่นยนต์อย่างสมบูรณ์มากที่สุด

บริเวณผู้รับ (Recipient site)[แก้]

การสร้างรอยแยกสำหรับวางกราฟต์สามารถทำได้โดยการใช้ปลายเข็มเบอร์ 18-22 หรือใช้ใบมีดขนาดเล็ก miniblade สร้างช่องบริเวณพื้นที่ใต้ผิวหนัง (subdermal space) ซึ่งข้อดีของการใช้เข็ม คือ สามารถหาได้ง่าย ราคาถูก อยู่ในบรรจุภัณฑ์ปราศจากเชื้อ มีสีระบุ ขนาดเข็มชัดเจน เวลาสร้างช่องจะขยายเล็กน้อย โดยเวลาใส่กราฟต์จะลดการบาดเจ็บของกราฟต์ และการตัดเส้นขนในบริเวณใกล้เคียงน้อยกว่าการใช้ใบมีด ในปี พ.ศ. 2557 Panchaprateep R. และคณะ ได้รายงานการใช้ด้ามจับมาตัดเข็มใส่ เพื่อเป็นการกำหนดระยะไม่ให้ลึกเกินไป ไม่ให้ไปทำลายเส้นเลือดด้านล่างให้เสียหาย (ความยาวของปลายเข็มยาวกว่าความยาวของรากผม 1 มิลลิเมตร) และเพื่อลดโอกาสที่จะวางกราฟต์ผมลึกเกินไป ขอแนะนำให้ใช้เส้นกรีดตามขวางหรือเป็นรอยบากตามขวางตั้งฉากกับแนวที่กราฟต์ออกมา เพื่อรักษามุมของการวางกราฟต์ไว้ด้วย

วิธีในการวาง graft (implantation) ที่ได้รับ มี 3 วิธีที่ได้รับความนิยม ได้แก่ pre-made incision คือ การสร้างรอยแยกหรือการเจาะรูสำหรับวางกราฟต์ไว้ก่อน จากนั้นให้นำกราฟต์มาวางเพื่อความรวดเร็ว และกราฟต์จะวางตามแนวโดยไม่ทับกัน, buddy technique คือ เทคนิคที่แพทย์จะเจาะรู แล้วผู้ช่วยจะเป็นผู้นำกราฟต์มาวาง และแพทย์จะเป็นผู้ตรวจตำแหน่งของกราฟต์อีกครั้งหนึ่ง และ stick and place technique คือ วิธีการที่แพทย์เจาะรูด้วยมือข้างหนึ่ง และจะใส่กราฟต์ด้วยมืออีกข้างต่อในทันที ข้อดี คือ จะไม่ใส่ 2 กราฟต์ ในรอยแยกหรือรูเดียวกัน ไม่มีทำให้เกิดช่องเปล่าที่ไม่มีการวางกราฟต์ เส้นผมที่ยาวจะเป็นธรรมชาติไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถใส่กราฟต์ผมได้ง่าย เนื่องจากยังมี dilatation effect จากการเจาะรูสำหรับใส่กราฟต์ แต่การวางกราฟต์ผมอาจใช้ระยะเวลานานกว่า ซึ่งมีข้อแนะนำโดยให้เจาะรู โดยวิธี pre-made incision 70% และใช้วิธี stick and place ในอีก 30% ซึ่งจะมีผลต่อความสวยงามของการวางกราฟต์ ทั้งนี้นอกจากจะใช้เครื่องมือ jeweler forceps ในการวางกราฟต์ผมแล้วนั้น ในปัจจุบันยังมี implanter หรืออุปกรณ์พิเศษที่ช่วยให้การปลูกผม ซึ่งมักจะนิยมใช้ในประเทศเกาหลีและประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นเทคนิคที่ให้ผู้ช่วยนำกราฟต์ใส่ implanter และแพทย์จะนำ implanter มาวางใส่ในรูที่เจาะไว้

สำหรับความหนาแน่นของกราฟต์ผมบริเวณที่รับการปลูกถ่ายเส้นผม (recipient) ที่เหมาะสม แนะนำให้ทำการวางกราฟต์ 25-40 FU/cm2 เนื่องจากหากวางกราฟต์น้อยเกินไปจะทำให้เห็นผลลัพธ์ผมบางดูไม่เป็นธรรมชาติ และหากวางกราฟต์มากเกินไปก็จะมีผลต่อการรอดของกราฟต์ได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยที่ทำให้กราฟต์ผมรอดชีวิต เช่น ความชุ่มชื้น, อุณหภูมิเย็น, การบาดเจ็บของกราฟต์, การติดเชื้อ และระยะเวลาที่นำกราฟต์ผมออกจากหนังศีรษะหรือร่างกาย โดยในปี พ.ศ. 2556 Sethi P. และ Bansal A. ได้เสนอวิธี Direct hair transplant คือ การทำ FUT แต่เป็นการสลับขั้นตอนโดยการสร้างช่องบริเวณที่รับการปลูกผมก่อน แล้วเมื่อได้กราฟต์มาแล้วจะทำการใส่กราฟต์เข้าไป พบว่าจะช่วยลดระยะเวลาที่รากผมอยู่ภายนอกร่างกายจาก 1-2 ชั่วโมง ลดเหลือ 2-20 นาที และจากการติดตามผลที่ 18 เดือน พบว่าได้ผลลัพธ์ดีถึง 93%

การดูแลหลังการปลูกผม[แก้]

หลังการผ่าตัดปลูกผมผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ในส่วนของการดูแลเส้นผมผู้ป่วยก็สามารถสระผมหรือทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะบริเวณรากผมที่นำออกมาปลูก (บริเวณท้ายทอยและหลังกกหู) หลังการปลูกผมได้ 1 วัน และสามารถสระผมบริเวณที่ปลูก (Recipient) หลังการปลูกผม 2 วัน ซึ่งในช่วงแรกของการทำความสะอาดนี้ ควรเข้ามาสระผมที่สถานพยาบาลหรือคลินิกที่รักษา และจะมียาปฏิชีวนะให้ทาวัน ละ 2 ครั้ง สำหรับการดูแลตัวเองระหว่างนอนหลับ ควรนอนหงาย โดยให้ศีรษะยกสูงหรือทำมุม 45 องศา อย่างน้อย 3 วัน เพื่อช่วยลดอาการบวมของคิ้วและหน้าผาก รวมถึงหลีกลี่ยงการออกกำลังกาย อย่างน้อย 5-7 วัน ซึ่งจะสามารถออกกำลังกายอย่างหนักได้หลังการปลูกผม 2 สัปดาห์ ในส่วนของแผลบริเวณหนังศีรษะด้านหลังจะหายและตกสะเก็ดภายใน 10-14 วัน สำหรับผู้ที่ต้องการย้อมสีผม ดัดผม สามารถทำได้หลังการผ่าตัดปลูกผม 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มผมบางจากกรรมพันธุ์ แนะนำให้รับประทานยาฟีนาสเตอไรด์ (Finasteride) อย่างต่อเนื่อง เพราะภาวะนี้เป็น progressive ซึ่งอาจจะทำให้มีผมร่วงในอนาคตได้

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังการปลูกผม[แก้]

ผลข้างเคียงหรือภาวะไม่พึงประสงค์หลังการผ่าตัดปลูกผมที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การมีเลือดออกจากแผล, แผลติดเชื้อ, อาการบวมบริเวณใบหน้า และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นบริเวณเส้นผมที่นำมาปลูก เช่น มีแผลเป็นขนาดใหญ่กว่าปกติ, แผลนูน, เนื้อตาย ซึ่งการลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้สามารถทำได้โดยการประเมินความกว้างของบริเวณท้ายทอยให้เหมาะสมกับความยืดหยุ่นของหนังศีรษะ และเย็บแผลให้มีแรงตึงน้อยลง, ภาวะปวดหรือชาจากการเจาะเซลล์รากผมด้านหลังศีรษะ ซึ่งอาจจะเจาะลึกไปโดนเส้นประสาท (greater occipital nerve) และภาวะแทรกซ้อนบริเวณที่นำรากผมมาปลูก (Recipient) ได้แก่ กราฟผมรอดน้อยกว่าปกติ (น้อยกว่า 90 %), แนวผมที่ปลูกไม่เป็นธรรมชาติ ทั้ง hair line ความตื้นลึก และทิศทางผม, การอักเสบติดเชื้อ, ภาวะ shock loss (ภาวะผมร่วงหลังจากการปลูกผม) ที่สามารถเกิดได้ทั้งในทั้งบริเวณเส้นผมที่นำมาปลูกและบริเวณที่ปลูก โดยจะขึ้นหลังปลูกผมประมาณ 2-6 สัปดาห์ แต่จะสามารถกลับมาเป็นปกติ เส้นผมงอกขึ้นใหม่ได้ประมาณ 3-4 เดือน

ข้อควรรู้ก่อนการผ่าตัดปลูกผม[แก้]

ปลูกผมด้วยเส้นผมสังเคราะห์ได้หรือไม่[แก้]

ในปัจจุบันองค์การอาหารและยาของประเทศอเมริกา (Food and Dry Administration, FDA) ยังไม่มีการอนุมัติให้นำวัสดุสังเคราะห์หรือเส้นผมเทียมมาใช้สำหรับการผ่าตัดปลูกผม รวมถึงเส้นผมของผู้อื่นก็ไม่สามารถนำมาปลูกได้ เนื่องจากหากใช้เซลล์รากผมของผู้อื่นร่างกายจะเกิดการต่อต้านทันที

ปลูกผมด้วยเส้นขนบริเวณอื่นในร่างกาย[แก้]

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะผมร่วง ผมบางอย่างรุนแรง และเคยมีการผ่าตัดปลูกผมมาก่อน หรืออาจมีแผลเป็นบริเวณเส้นผมผมที่แข็งแรง safe donor area (SDA) หรือบริเวณท้ายทอยนั่นเอง อาจจะต้องนำเซลล์ผมหรือขนจากบริเวณอื่นในร่างกายมาใช้แทน เช่น หนวด เครา ขนบริเวณลำตัว และแขนขา แต่เส้นขนบริเวณอื่น ๆ ในร่างกายจะมีวงจรเส้นผม (hair cycle) ที่สั้นกว่า จึงควรใช้ในกรณีที่เส้นผมบริเวณท้ายทอยไม่เพียงพอเท่านั้น ซึ่งขนที่ใกล้เคียงกับเส้นผมบนหนังศีรษะมากที่สุด คือ ขนจากหนวดเครา โดยก่อนการผ่าตัดปลูกผมแนะนำให้ใช้ยา minoxidil 5% วันละ 2 ครั้ง ในบริเวณเส้นขนที่จะนำมาปลูก และใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1.5-6 เดือน

ภาวะผมร่วง ผมบาง ในผู้หญิง[แก้]

การเกิดผมร่วงในผู้หญิง หรือ Female pattern hair loss (FPHL) เป็นภาวะผมบางในผู้หญิง โดยจะมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งจากลักษณะทางพันธุกรรม ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมน Androgen, ประวัติครอบครัวเคยมีอาการผมร่วง, การมีโรคประจำตัว เช่น โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์, ต่อมใต้สมอง, ขาดธาตุเหล็ก, ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS), ประวัติการใช้ยาคุมกำเนิด, การตั้งครรภ์, การคลอดบุตร, น้ำนมไหลผิดปกติ, มีสิวมาก, ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) ซึ่งการมีโรคเหล่านี้ควรที่จะทำการรักษาให้โรคสงบก่อนแล้วจึงวางแผนการรักษาเรื่องเส้นผมต่อไป โดยปัญหาผมร่วง ผมบางในผู้หญิงมักพบตำแหน่งการกระจายของโรคที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในบริเวณ 3 รูปแบบ ดังนี้

1. Ludwig pattern มักจะพบผมบางบริเวณ crown หรือบริเวณกลางศีรษะบน โดยที่แนวผมด้านหน้ายังคงมีเส้นผมเป็นปกติ

2. Norwood-Hamilton pattern จะมีลักษณะเหมือนผมบางในผู้ชาย โดยจะเริ่มบางจากกลางศีรษะ และขยายเป็นวงกว้างจนถึงผมบริเวณด้านหน้า แต่ยังคงมีเส้นผมบริเวณท้ายทอย

3. Olsen pattern (Christmas tree pattern) จะมีผมร่วงที่บริเวณส่วนหน้ามากเป็นพิเศษ

โดยยาที่ FDA อนุมัติให้ใช้ในการรักษาผมร่วง ผมบางในผู้หญิง คือ minoxidil และในส่วนของการรักษาภาวะผมบางในผู้หญิงด้วยการผ่าตัดปลูกผม จะมีข้อควรระวัง คือ ผมร่วงบางในผู้หญิงเกิดขึ้นได้ทั่วศีรษะ ทำให้ผมบริเวณที่จะนำมาปลูกหรือบริเวณท้ายทอยมีจำกัด ความหนาแน่นน้อย และในส่วนของการวางกราฟต์ผมก็ควรระวังการตัดถูกรากผมเดิมที่อยู่ในบริเวณนั้นเพิ่มเติมขึ้นด้วย

การปลูกผมหรือขนสามารถปลูกส่วนอื่นในร่างกายได้หรือไม่

การผ่าตัดปลูกผมได้ถูกประยุกต์มาใช้ในการปลูกคิ้ว หนวด เครา จอน และขนตามร่างกาย ที่บางหรือแหว่ง โดยอาจจะเกิดจากสาเหตุทั้งอุบัติเหตุ แผลเป็น แผลผ่าตัด รวมถึงปลูกเพื่อความสวยงาม แต่ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยก็ควรระวังในเรื่องของการนำผมบริเวณท้ายทอยมาปลูก ซึ่งอาจจะทำให้เส้นผมบริเวณนี้มีปริมาณน้อยลง หากจำเป็นต้องปลูกผมเพื่อรักษาอาการผมร่วง ผมบางในอนาคตได้

การปลูกหนวด เครา และจอน ไม่มีรูปแบบที่ตายตัว แต่ในส่วนของการปลูกคิ้ว เพื่อให้ผลลัพธ์ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด จะมีรูปแบบที่เหมาะสม คือ ผู้ชายควรมีความยาวของคิ้วที่ 5.5 ซม. ความกว้าง 1.5 ซม. และในผู้หญิงควรมีความยาวคิ้วที่ 5.0 ซม. ความกว้าง 1.3 ซม. ซึ่งการปลูกคิ้วในแต่ละข้างนั้นจะใช้กราฟต์ผมประมาณ 250-300 กราฟต์ โดยจะใช้เฉพาะรูที่มีเส้นผมเพียง 1 เส้น หรือเป็นกราฟต์ผมที่มีเส้นผมเส้นเดี่ยวมาปลูก เนื่องจากขนคิ้วจริงของเราจะมีขน 1 เส้นต่อหนึ่งกอเท่านั้น

ปลูกผมในผู้ป่วยโรคผมร่วงแบบมีแผลเป็น[แก้]

การปลูกผมในกลุ่มผู้ป่วยโรคผมร่วงแบบมีแผลเป็น หรือ Hair transplant in scarring alopecia เป็นการที่มีการสูญเสียผิวหนังบริเวณที่เคยมีเส้นผมไป ทั้งจากการผ่าตัด อุบัติเหตุ การเผาไหม้ เนื้องอก และการติดเชื้อ สาเหตุเหล่าจึงอาจทำให้สงผลต่อรูปลักษณ์และความมั่นใจ โดยการผ่าตัดปลูกผมสามารถแก้ปัญหาผมร่วงแบบมีแผลเป็นได้ แต่เนื้อเยื่อบริเวณแผลเป็นอาจจะมีลักษณะแตกต่างจากเนื้อเยื่อบริเวณผิวหนังปกติ อย่างเช่น มีเส้นเลือดมาเลี้ยงลดลง เนื้อเยื่อแข็ง ผิวหนังบาง ซึ่งการปลูกผมจะต้องทำการรักษากับแผลเป็นที่ผ่านมานานแล้ว (Mature scars) หรือแผลเป็นที่ไม่เปลี่ยนแปลงไม่มีความผิดปกติแล้ว โดยจะมีลักษณะเป็นแผลเรียบมีสีผิวหนังใกล้เคียงกับสีผิวหนังปกติ และการปลูกผมทับแผลเป็นไม่ควรปลูกผมหนาแน่นกว่า 30 FU/cm2 โดยทั่วไปจะใช้ 20-30 FU/cm2 เนื่องจากจะทำให้กราฟต์ผมรอดและโตได้ไม่ดี และอาจจะต้องมีการปลูกผมในบริเวณนี้หลายครั้ง เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของเส้นผมให้ดียิ่งขึ้น

การปลูกผมและการรักษาผมร่วงในอนาคต Future of hair transplantation[แก้]

การรักษาผมร่วงด้วยโกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor)[แก้]

ในการรักษาปัญหาผมร่วง ผมบาง ปัจจุบันได้มีการนำกลไกด้านไซโตไคน์ (cytokine), โกรทแฟคเตอร์ (Growth Factor) เข้ามาเพื่อช่วยในการรักษา เช่น insulin-like growth factor-1 (IGF-1) ซึ่ง Panchaprateep R. และ Asawanonda P.  ได้รายงานในปี พ.ศ. 2557 ว่า dermal papilla cell หรือเซลล์แรกเริ่มในบริเวณ balding follicle ที่นำมาเพาะเลี้ยงจะมีการหลั่ง IGF-1 น้อยกว่าเซลล์จากบริเวณปกติถึง 6 เท่า โดย IGF-1 มีผลต่อวงจรเส้นผมในการคงระยะเจริญเติบโต (anagen phase) และยับยั้ง Apoptosis (เซลล์สั่งตาย) โดยที่กลไกนี้อาจนำมาประยุกต์ใช้ในการรักษาภาวะผมร่วงต่อได้ เช่น ยาที่กระตุ้นการหลั่ง IGF-1 (แต่ตัวยาจาก IGF-1 เองยังอยู่ระหว่างการศึกษา) และยังมีการนำ activated platelet rich plasma (PRP) มาศึกษาด้วยพบว่า สามารถกระตุ้น antiapoptotic regulator เช่น Bcl-2 protein, Akt signaling เป็นต้น เพื่อยืดอายุของ dermal papilla cell และยังเพิ่ม FGF-7/ b-catenin signaling pathway พร้อมกระตุ้น stem cells และเพิ่มเวลาในการคงระยะเจริญเติบโตของเส้นผม

ซึ่งในปี พ.ศ. 2557 Cervelli V. และคณะ ได้ทำการศึกษาโดยฉีด autologous activated platelet rich plasma เข้าไปที่หนังศีรษะบริเวณหน้าผาก (frontal) ของผู้ที่เป็นโรคผมร่วง ผมบางจากพันธุกรรม พบว่า ในระยะเวลา 3 เดือน ผู้ป่วยมีปริมาณของเส้นผมเพิ่มขึ้น 18% ความหนาแน่นของเส้นผมเพิ่มขึ้น 27.7/cm2 และความหนาแน่นของ terminal hair หรือขนที่มีลักษณะเป็นเส้นใหญ่ เพิ่มขึ้น 27.0/cm2 อีกทั้งการศึกษาของ Kang JS. และคณะ ในปีเดียวกันนี้ได้ศึกษาโดยใช้ CD34+ cell-containing PRP มาฉีดบริเวณเดียวกัน และมีการประเมินผลที่ระยะเวลา 3 เดือนและ 6 เดือนหลังการรักษา พบว่า ในระยะเวลา 6 เดือน จำนวนของเส้นผมเพิ่มขึ้น 29.2% และหนาขึ้น 46.4% ซึ่งถือว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีมาก

การรักษาผมร่วงด้วยสเต็มเซลล์ (Stem Cell)[แก้]

Won CH. และคณะ ได้รายงานการศึกษาในหนูทดลองจำนวน 48 ตัว อายุ 7 สัปดาห์ โดยทำการโกนขนแล้วนำมาฉีด Adipose-tissue Derive Stem Cells (ADSCs) 1 ml (1,000 cells) ทุก 3 วัน 3 ครั้ง พบว่าในกลุ่มหนูทดลองมีอัตราการงอกของเส้นขนเร็วกว่าจำนวนรูขุมขน และความหนาของเส้นขนมีเพิ่มมากขึ้น

การฉีด stem cells เข้าไปที่ผิวหนัง เพื่อไปกระตุ้นให้เกิดวงจรการงอกของเส้นผมที่ปกติเปลี่ยนจาก vellus hair (ขนอ่อน) เป็น terminal hair (ผมเส้นใหญ่) เพราะ stem cells เหล่านี้จะมีผลด้าน Angiogenesis (การสร้างเส้นเลือดใหม่), cell preservation, anti-apoptosis และ anti-inflammation อีกทั้งเมื่อนำ ADSCs มาตรวจ พบว่ามีการหลั่งสารต่าง ๆ เช่น IGF binding protein precursors, PDGF, KGF, HGF, VEGF และ fibronectin ซึ่งจะส่งผลไปกระตุ้นการงอกของผมอีกด้วย แต่ในมนุษย์ยังคงอยู่ระหว่างการศึกษา

สรุป[แก้]

การปลูกผมถาวร เป็นการพัฒนามาจากการผ่าตัดศัลยกรรมตกแต่ง ซึ่งเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันได้ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นธรรมชาติมากที่สุดและมีความปลอดภัยสูง โดยจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งการเข้าใจในลักษณะทางชีวภาพและสรีรวิทยาของเส้นผม ร่วมกับการผ่าตัดที่ทันสมัย การคัดเลือกกราฟต์อย่างเหมาะสม ตำแหน่งที่ปลูกถ่าย ความหนาแน่นของเส้นผมที่เหมาะกับปัญหาของแต่ละบุคคล และได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจึงทำให้สามารถผ่าตัดปลูกผมโดยไม่มีรอยแผลเป็น และการรักษาระดับเซลล์รากผมได้เป็นอย่างดี