ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:หนุ่ม ธนกร อิงคนินันท์/ทดลองเขียน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความเป็นมา สกุลอิงคนินันท์

โดยที่มีเวลาจำกัด เรื่องรวมที่นำมาเรียบเรียงขึ้นนี้จึงได้มาจากความทรงจำของผู้เรียบเรียงเองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งยังคงขาดความสมบูรณ์อยู่เป็นอันมาก โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับบุคคลที่เป็นต้นวงศ์สกุลและอาจมีข้อผิดตกบกพร่องอยู่บ้าง ฉะนั้น หากผู้ใดเห็นว่าควรจะแก้ไขเพิ่มเติมประการใดแล้ว ขอได้โปรดแจ้งให้ผู้เรียบเรียงทราบด้วย จะขอบคุณยิ่งเพื่อจักได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องและมีความสมบูรณ์ครบถ้วนยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป อันจะเป็นคุณประโยชน์อย่างมากแก่อนุชนรุ่นหลังของวงศ์สกุลอิงคนินันท์

ต้นวงศ์สกุลอิงคนินันท์

บุคคลที่ควรถือได้ว่าเป็นต้นวงศ์สกุลอิงคนินันท์นั้น ควรจะนับจากบรรพบุรุษคนแรกเท่าที่สืบสาวประวัติได้เรียงลงมาจนถึงบุคคลที่อยู่ในช่วงเวลาที่ได้รับพระราชทานนามสกุล โดยแบ่งออกเป็น ๓ ลำดับ ชั้น ดังนี้

ลำดับที่ ๑ คือนาย ฮู ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่ควรจะถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษต้นตระกูลในลำดับที่ ๑ ของวงศ์สกุลอิงคนินันท์ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากท่านได้เป็นผู้ให้กำเนิดบุตรหลาน คือ นายจีน และนายตาด ผู้ที่ได้รับพระราชทานนามสกุลอิงคนินันท์ มาเป็นชื่อประจำวงศ์สกุลของผู้สืบสายโลหิตต่อ ๆ กันมาจนถึงทุกวันนี้

ส่วนนายฮู จะสืบเชื้อสายมาจากไหน เป็นบุตรหลานของผู้ใด เกิดและถึงแก่กรรมไปเมื่อใด และเข้ามาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ที่บางขามอย่างไร ตั้งแต่เมื่อใดนั้น ยังไม่อาจสืบสาวราวเรื่องได้ อย่างไรก็ดีมีเหตุผลพอที่เชื่อถือได้ว่า นายฮู ต้องตั้งรกรากอยู่ที่บางขามมาตั้งแต่เดิม หรืออาจเกิดที่บางขามด้วยก็ได้ และเป็นที่มีฐานะดี เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนในท้องน้ำบางขามเสมือนผู้ใหญ่ในท้องถิ่น โดยจะสังเกตเห็นได้จากฐานะความเป็นอยู่ของบุตร และความเคารพนับถือของประชาชนที่มีต่อบุตร ซึ่งเชื่อได้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นมรดกตกทอดมาจากนายฮู

นายฮู มีภรรยาอยู่คนหนึ่งชื่อ “ถมยา” ซึ่งยังไม่อาจสืบสาวได้ว่ามีเชื้อสายมาอย่างไร แต่เชื่อว่าคงจะเป็นผู้มีพื้นเพอยู่ในท้องน้ำบางขามนั่นเอง ทั้งนี้โดยสันนิษฐานเอาจากประเพณีไทยในสมัยโบราณ ซึ่งส่วนมากมักจะมีครอบครัวกันกับผู้ที่อยู่ในละแวกเดียวกัน

นายฮู - นางถมยา มีบุตร ๒ คน และบุตรทั้ง ๒ คนนี้ ต่างก็มีครอบครัว ประกอบอาชีพอยู่ที่บางขาม โดยตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันตลอดอายุขัย และมีบุตร ดา ฝ่ายละคน ชาวบ้านดอยทั่วไปในท้องน้ำบางขามเรียกคนพี่ว่า “ก๋งใหญ่” และเรียกคนน้องว่า “ ก๋งจีน” ซึ่งเป็นต้นวงศ์สกุลอิงคนินันท์ในลำดับลงมา ดังจะกล่าวต่อไป

ลำดับที่ ๒ คือ นายจีน ซึ่งเป็นบุตรคนที่ ๒ และเป็นคนสดท้องของ นายฮู-นางถมยา เกิดที่บ้านบางขาม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ วันอังคาร เดือนยี่ ปี่กุน หากจะนับจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ นี้จะได้ ๑๓๒ ปี และได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคท้องร่วง เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตรงกับ แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเมีย รวมอายุได้ ๗๙ ปี สำหรับสมัยนั้น ก็นับว่าเป็นผู้มีอายุยืนพอสมควร เมื่อเข้าสู่วัยอันสมควรแก่การมีครอบครัวแล้ว นายจีนได้สมรสกับนางจ่าง ดาของนายชำ – นางสมบุญ ภายหลังได้ตั้งนามสกุลว่า “ วิจิตรพันธุ์” มีภูมิลำเนามาแต่ดั้งเดิมอยู่ที่บ้านหัวระกำ ตำบลบางขาม ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำบางขามตรงข้ามกับบ้านต้นหว้า หรือบ้านตราแดงที่ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออก อันเป็นบ้านนายจีนนั่งเอง ส่วนนางจ่าง เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ ตรงกับวันศุกร์ เดือน ๔ ปีมะโรง นับจนถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็จะได้ ๑๒๗ ปี และได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราเมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ เวลา ๑๙ นาฬิกาเศษ ตรงกับแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ กระทำการฌาปณกิจศพเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๕ ณ วัดกำแพงซึ่งอยู่ใกล้บ้านรวมอายุได้ ๘๒ ปี นายจีนและนางจ่าง ได้ครองเรือนประกอบอาชีพอยู่ที่บ้านต้นหว้า หรือบ้านตราแดงอันเป็นบ้านเกิดตลอดมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต โดยในระยะแรกได้ประกอบอาชีพเป็นนายบ่อนเบี้ย ซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากที่บ้านต้นหว้านี้ได้เปิดบ่อนการพนันถั่ว โป ที่ถูกต้องตามกฎหมายมาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน และดูเหมือนว่าเป็นบ่อนการพนันเพียงบ่อนเดียวเท่านั้นที่มีอยู่ในท้องน้ำบางขามในสมัยนั้น ซึ่งคงจะมีต้นเหตุมาจากที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ในสมัยก่อนท้องน้ำบางขามเคยเป็นแหล่งค้าข้าว ที่สำคัญมากแหล่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ผู้ที่เดินทางมาซื้อข้าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน จะนำเรือกระแซงจำนวนมากมายมาซื้อข้าวในฤดูน้ำมากเป็นประจำทุกปี และจะนำเรือกระแซงเหล่านั้นมาจอดพักแรมรวมกันอยู่ที่ท่าน้ำหน้าบ้านต้นหว้าของนายจีน เป็นเวลานานหลายวัน แล้วผู้ซื้อข้าวเหล่านั้นจะแยกย้ายกันไปติดต่อซื้อข้าวตามยุ้งฉางต่างๆ ตามท้องน้ำบางขาม จนเป็นที่ตกลงกันเรียบร้อยแล้ว จึงนำเรือกระแซงของตนเคลื่อนย้ายออกไปจากบ้านต้นหว้า เพื่อบรรทุกข้าวลงเรือจากยุ้งฉางเหล่านั้น ผู้ที่มาหับเรือกระแซงเหล่านี้ โดยปกติจะมีเงินทองติดตัวมาแทบทุกคน เมื่อมีเวลาว่างระหว่างที่พักแรมอยู่ที่บ้านต้นหว้าก็จะเล่นการพนันกัน ทำให้เจ้าบ้านกลายเป็นนายบ่อน และต้องเก็บอากรส่งหลวงตลอดมา โดยที่นายจีน เป็นที่ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดมาแต่เยาว์วัย คงจะไม่ชอบการพนัน ซึ่งเป็นอบายมุข ภายหลังที่มีครอบครัวแล้วไม่นานนัก จึงได้เลิกบ่อนการพนันที่เป็นมรดกตกทอดมาเสียโดยสิ้นเชิง แล้วได้หันไปประกอบสัมมาชีพดั้งเดิมแต่ด้านเดียว คือการให้เช่าที่นาบ้าง ขายไม้ไผ่ที่ปลูกเป็นรั้วรอบบริเวณบ้านสำหรับทำเป็นแพลูกบวบบ้าง และขายไม้สะแกที่ขึ้นอยู่ในที่ดินของตนเองสำหรับทำฟืนบ้าง แต่โดยปกติแล้ว นายจีนจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิตของท่านไปในการทำบุญการกุศล ทำนุบำรุงพระศาสนาตามวัดต่าง ๆ ในท้องน้ำบางขามซึ่งมีอยู่หลายวัด เป็นกิจวัตรอย่างสม่ำเสมอตลอดอายุขัยของท่าน

นายจีน – นางจ่าง มีบุตรธิดารวม ๙ คน เป็นชาย ๖ คน และเป็นหญิง ๓ คน ซึ่งควรจะนับได้ว่าเป็นต้นตระกูลอิงคนินันท์ในลำดับที่ ๓ ดังจะกล่าวต่อไป

ลำดับที่ ๓ ได้แก่ บุตรธิดาของนายจีน – นางจ่าง รวม ๙ คน ซึ่งเกิดที่บ้านต้นหว้า หรือบ้านตราแดงทั้ง ๙ คน และเป็นผู้สืบเชื้อสายจากนายจีน – นางจ่าง ที่ควรจะนับได้ว่าเป็นต้นตระกูลอิงคนินันท์ในลำดับที่ ๓ ทั้ง ๙ คน ทั้งนี้ก็เนื่องจากเป็นบุคคลที่อยู่ในช่วงที่ได้รับพระราชทานนามสกุลอิงคนินันท์ อันเป็นมรดกอันล้ำค่าตกทอดมายังหลาน เหลน โหลนฯ ตราบเท่าทุกวันนี้

บุตรธิดาของนายจีน – นางจ่างทั้ง ๙ คนนี้ มีชื่อเรียงกันคนหัวปีลงมายังคนสุดท้อง ตามลำดับ ดังนี้

๑.ฉาบ (ชาย) ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะถึงวัยอันควร

๒.แส (หญิง) ภายหลังที่มีครอบครัวแล้ว ได้แยกเรือนออกไปตั้งรกรากประกอบอาชีพค้าขายกับสามีอยู่ที่บ้านสากกระเบื้อง ตำบลสากกระเบื้อง อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ตลอดจนมาจนถึงแก่กรรม

๓.ทิ้ง (หญิง) ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะถึงเวลาอันควร

๔.ก้อย (หญิง) ซึ่งเป็นชื่อที่มีความหมายว่าเป็นลูกสาวคนเล็ก แต่ชาวบ้านทั่วไปมักเรียกกันว่า “กล้อย” ตามความสะดวกปาก ซึ่งไม่มีความหมายอะไร นางก้อย เป็นธิดาคนเดียวที่ถึงแม้จะมีครอบครัวแล้ว ก็ยังคงประกอบอาชีพค้าขายกับสามีอยู่ที่บ้านต้นหว้า เพื่ออยู่ดูแลปรนนิบัติบิดามารดาอย่างใกล้ชิด ตลอดเวลาที่ท่านทั้งสองยังมีชีวิตอยู่ หลังจากที่บิดามารดาถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว นางก้อยก็ยังรับภาระเข้าปกครองดูแลทรัพย์สิน อันเป็นมรดกสืบต่อมาอีกเป็นเวลานาน จนกระทั่งถึงแก่กรรม

๕.กัง (ชาย) เมื่อมีครอบครัวแล้ว ได้แยกเรือนออกไปตั้งรกรากประกอบอาชีพกับภรรยาอยู่ที่ทางบ้านของภรรยาทางตอนใต้ของตำบลบ้านชี ซึ่งไม่ห่างไกลจากบ้านเดิมเท่าใดนัก จนกระทั่งถึงแก่กรรมเมื่อเข้าสู่วัยชรา

๖.เต๋อ (ชาย) ได้ถึงแก่กรรมไปก่อนที่จะถึงเวลาอันควร

๗.ตาด (ชาย) เป็นบุตรคนเดียวที่ได้รับการศึกษามากพอสมควรตั้งแต่ยังเยาว์วัย และใส่เข้ารับราชการตลอดมา จนกระทั่งถึงแก่กรรมก่อนครบเกษียณอายุราชการเพียงเล็กน้อยที่บ้านของท่าน ณ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

๘.พงษ์ (ชาย) เป็นบุตรคนเดียวที่ได้อุปสมบทในบวรพระพุทธศาสนาตลอดอายุขัย โดยเริ่มเข้าอุปสมบทตั้งแต่เป็นสามเณรจนเป็นพระภิกษุ ชั้นพระราชาคณะ โดยได้ศึกษาพระปริยัติธรรมสอบได้นักธรรมเอก และเป็นมหาเปรียญ ๖ ประโยค โดยได้จำพรรษาอยู่ที่วัดจักรวรรดิราชาวาสวรวิหาร (วัดสามปลื้ม) กรุงเทพมหานครเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น “พระสุทธิพงษ์มุณี” (เจ้าคุณ) และได้มรณภาพในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบพิตรภิมุขวรวิหาร (วัดเชิงเลน) กรุงเทพมหานคร

๙.เภา (ชาย) เป็นบุตรสุดท้อง เมื่อมีครอบครัวแล้ว ได้แยกเรือนออกไปตั้งรกรากประกอบอาชีพอยู่ทางบ้านของภรรยา ซึ่งอยู่ท้ายตำบลบ้านชี ไม่ห่างไกลจากบ้านเกิดเท่าใดนัก หลังจากที่ได้ครองเรือนมีบุตรหลายคนแล้ว ก็ได้แยกตัวไปประกอบอาชีพอยู่ในท้องที่จังหวัดอื่นโดยเฉพาะที่อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตรเป็นส่วนใหญ่ จนถึงแก่กรรม

พอสรุปได้ว่าบุตรธิดาของนายจีน – นางจ่าง ทั้ง ๙ คนที่กล่าวมานี้ ขณะนี้ได้ถึงแก่กรรมไปหมดสิ้นแล้วทุกคนในระยะเวลาต่าง ๆ กัน และผู้ที่ถึงแก่กรรมเป็นคนสุดท้าย คือ นางก้อย ซึ่งเป็นธิดาคนที่ ๔ เกิดเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๔๒๕ ตรงกับวันพุธแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเมีย และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๑ กระทำการฌาปนกิจศพ เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ ที่วัดไลย์ ตำบลเขาสมอคอน อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี รวมอายุได้ ๘๗ ปี

อนึ่ง ในบรรดาบุคคลที่เป็นต้นตระกูลอิงคนินันท์ในลำดับที่ ๓ จำนวนทั้งหมด ๙ ท่าน ที่ได้กล่าวมานี้ มีอยู่ท่านหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องกล่าวถึงเป็นกรณีพิเศษ ท่านผู้นั้นคือ นายตาด ซึ่งเป็นบุตรคนที่ ๗ ของนายจีน กับนางจ่าง และเป็นผู้ที่มีบุญคุณอย่างใหญ่หลวงต่อผู้ร่วมวงศ์สกุลอิงคนินันท์ทุกคน อันควรแก่การจารึกไว้เป็นเกียรติประวัติของสกุลอิงคนินันท์ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการขอพระราชทานนามสกุลอิงคนินันท์ อันเป็นผลให้อนุชนรุ่นหลังของตระกูลอิงคนินันท์ได้มีชื่อประจำวงศ์สกุลตลอดมาตราบเท่าทุกวันนี้

นายตาด เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ปีขาล หากจะนับถึง พ.ศ. ๒๕๒๖ ก็จะได้ ๙๓ ปี และได้ถึงแก่กรรมที่บ้านของท่าน ณ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ในขณะที่มีอายุ ๕๑ ปี ซึ่งเป็นเวลาที่อยู่ในระยะเริ่มต้นของสงครามมหาเอเชียบูรพา นายตาด เป็นบุตรเพียงคนเดียวในจำนวน ๙ คน ของนายจีน – นางจ่าง ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมากพอสมควรตั้งแต่เยาว์วัย และได้เข้ารับราชการในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประกอบกับเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและได้ประกอบคุณงามความดีในหน้าที่ราชการตลอดมา จึงได้เจริญก้าวหน้ามาตามลำดับถึงขั้นสัญญาบัตร ซึ่งในสมัยนั้นมีไม่มากนัก ตำแหน่งสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงมหาดไทย ให้รับผิดชอบตลอดมาเป็นระยะเวลานานก็คือ ตำแหน่งพธำมรงค์ (ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ พัศดีเรือนจำ ” มาชั่วระยะเวลาหนึ่งและก็เปลี่ยนมาเป็น “ ผู้บัญชาการเรือนจำ” จนถึงปัจจุบัน) และตำแหน่งนายอำเภอ โดยได้โยกย้ายไปตามจังหวัดต่าง ๆ หลายจังหวัดเช่น อุตรดิษฐ์ พิษณุโลก อุบลราชธานี นครราชสีมา และชลบุรี เป็นต้น จนกระทั่งใกล้จะครบเกษียณอายุราชการ ได้มีโรคภัยมาเบียดเบียน ทำให้นายตาด ต้องลาออกจากราชการมาพักผ่อนรักษาตัวอยู่ที่บ้าน และถึงแก่กรรมก่อนครบเกษียณอายุราชการเพียงเล็กน้อย (ในสมัยนั้นข้าราชการเกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ ๕๕ ปี บริบูรณ์) ในระหว่างที่นายตาด รับราชการอยู่ที่จังหวัดอุตรดิษฐ์ ซึ่งเป็นต้นสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติได้เพียง ๓ ปี ก็ได้มีประกาศพระบรมราชโองการลงวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๕ โปรดเกล้าฯ ให้ตรากฎหมายว่าด้วยการขนานนามสกุลขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เรียกว่า “ พระราชบัญญัตินามสกุล พระพุทธศักราชการ ๒๔๕๖ ” แต่ต่อมาก็ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกำหนดวันใช้บังคับออกไปถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดก็ได้ให้ใช้บังคับกฎหมายดังกล่าวตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ เป็นต้นไป ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และเพื่อจะให้ข้าราชการได้เป็นผู้นำในเรื่องนี้แก่ประชาชน ทางราชการจึงได้เปิดโอกาสให้ข้าราชการขอพระราชทานนามสกุลได้ ในขณะนั้น นายตาด ซึ่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ดำรงตำแหน่งพธำมรงค์ จังหวัดอุตรดิษฐ์อยู่ จึงได้ทำเรื่องขอพระราชทานนามสกุล โดยผ่านกระทรวงมหาดไทยเป็นต้นสังกัด หลังจากนั้นชั่วระยะเวลาไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล่าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ก็ได้ทรงขนานนามสกุลให้ว่า “ อิงคนินันท์ ” และให้เขียนเป็นอักษรโรมันว่า “ Inganinanda” และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้แก่ “ นายจีน บิดา กับนายตาด พธำมรงค์จังหวัดอุตรดิษฐ์ บุตร ” เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒ โดยมีข้อความละเอียดปรากฏอยู่ในหลักฐานประกาศนียบัตรที่ได้รับพระราชทานมา นับได้ว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นหาที่สุดมิได้

ภายหลังที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานนามสกุลให้แล้ว นายตาด ก็ได้รับพระราชทานยศและบรรดาศักดิ์เป็น “รองอำมาตย์โท ขุนอภิธานสุรทัณฑ์” และได้โยกย้ายจากจังหวัดอุตรดิษฐ์ไปดำรงตำแหน่งพระธำมรงค์บ้าง นายอำเภอบ้าง อยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ อีกหลายแห่ง จนหระทั่งลาออกจากราชการ เนื่องจากมีโรคภัยเบียดเบียน และถึงแก่กรรมไปก่อนครบเกษียณอายุราชการเพียงเล็กน้อย ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว นายตาด หรือ ขุนอภิธานสุรทัณฑ์ ได้สมรสกับนางชื่น เพ็งบุญมี(สกุลเดิม)ซึ่งมีรกรากดั้งเดิมอยู่ที่จังหวัดหนองคาย เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๔๔ เสียชีวิตในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยปกติ นางชื่น ซึ่งฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัดตลอดมามักจะไปรักษาศีลปฏิบัติธรรมเป็นประจำอยู่ที่สัดบุญญาภิสมภรณ์ บ้านดอนปอ ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นสำนักเนกขัมมะบารมี โดยได้ปฏิบัติเช่นนี้มาเป็นเวลาช้านานแล้ว นับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่วัยชรา ติดต่อกันมาจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยได้รับการดูแลอย่างใก้ลชิดจากนาวาอากาศเอกประจักษ์ อิงคนินันท์ ตำแหน่งหัวหน้ากองบริการ กรมสื่อสารทหารอากาศ กองทัพอากาศ ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร และครอบครัวในขณะนั้น

หลักฐานการได้มาซึ่งนามสกุลอิงคนินันท์

นามสกุลอิงคนินันท์ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ ทรงตั้งให้ และพระราชทานให้แก่นายจีน บิด และนายตาด พธำมรงค์ จังหวัดอุตรดิษฐ์ บุตร ตาที่ได้กล่าวสมาข้างต้นนี้ ปรากฏหลักฐานอยู่ในประกาศนียบัตรที่ได้รับพระราชทานมา โดยมีข้อความละเอียด ดังต่อไปนี้

ราม วชิราวุธ ปร.

(พระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖)

ขอให้นามสกุลนายตาด พธำมรงค์จังหวัดอุตรดิษฐ์

บุตรของนายจีน และปู่ทวดชื่ออึ้ง

ตามที่ขอมานั้น ว่า “ อิงคนินันท์ ”

เขียนเป็นอักษรโรมันว่า “ Inganinanda ”

ขอให้สกุลดิงคนินันท์มีความเจริญรุ่งเรือง

มั่นคงอยู่ในกรุงสยามชั่วกัลปาวสาน ฯ

พระที่นั่งอัมพรสถาน

วันที่ ๑๔ มิถุนายน พระพุทธศักราช ๒๔๖๒


แม้ว่า เอกสารหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะมีอายุถึง ๖๔ ปี แล้วขณะนี้(พ.ศ.๒๕๒๖) ต้นฉบับที่ได้รับพระราชทานมาก็ยังคงเก็บรักษาไว้ในสภาพเรียบร้อย และได้จัดทำสำเนาที่เหมือนกันกับต้นฉบับไว้กับหัวหน้าครอบครัวในนามสกุลอิงคนินันท์ทุกครอบครัวด้วยแล้ว เพื่อเป็นหลักฐานและเครื่องหมายอันมีค่ายิ่งของวงศ์สกุล หากผู้ใดยังไม่ได้รับก็ขอให้มารับจากผู้เรียบเรียงประวัติสกุลอิงคนินันท์นี้ได้ทุกเวลา

อย่างไรก็ดี โดยที่นามสกุลอิงคนินันท์ เป็นภาษาบาลี จึงใคร่อธิบายความหมายตาที่ผู้เรียบเรียงค้นคว้าหาความรู้มาได้ ดังนี้

“ อิงค” แปลว่า น่าอัศจรรย์ น่าแปลกประหลาด น่าพิศวง หรือมิได้คิดคาดหมายว่าจะเป็นไปได้

“ นิ” เป็นคำที่ใช้เสริม หรือเชื่อมคำให้เกิดความสละสลวยยิ่งขึ้นหรือให้ต่อเนื่องกัน ไม่มีความหมาย

“นันท์” แปลว่า ความยินดี ความร่าเริง หรือความสนุกสนาน ในทำนองเดียวกับคำว่า “ นันทิ” ในภาษาสันสกฤตซึ่งแปลว่าผู้มีความยินดี

เมื่อรวมความหมายของแต่ละคำที่กล่าวมาข้างต้นมาเข้าด้วยกันแล้ว คำว่า “อิงคนินันท์”

จึงเป็นชื่อวงศ์สกุลของ “ ผู้ที่มีแต่ความปิติยินดีอย่างน่าอัศจรรย์” อันเป็นมงคลนามยิ่ง สมตามที่ทรงพระ

กรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานมาโดยแท้


จากบทความหลักฐานที่คุณลุงพจน์ อิงคนินันท์ ได้เรียบเรียงไว้และพิมพ์แจกไว้ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ และผมได้นำมาแสดง ข้างต้นนี้ ย่อมถือได้ว่านามสกุลอิงคนินันท์ ได้กำเนิดขึ้นในวันที่ได้รับพระราชทานมา คือ วันที่ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒ นับถึงบัดนี้พ.ศ. ๒๕๖๖ เป็นเวลา ๑๐๔ ปีบริบูรณ์ และอาจกล่าวด้วยความภาคภูมิใจได้ว่านามสกุลที่เก่าแก่ที่สุดนามสกุลหนึ่งของประเทศไทย

ผมนายธนกรอิงคนินันท์ในฐานะลูกหลานครอบครัวสกุลอิงคนินันท์ มีความภาคภูมิใจที่ได้รับทราบเรื่องราวความเป็นมาของเราและมีความยินดีในรากเหง้าความเป็นไทยนานนับกว่าสองร้อยปีภายใต้พระบรมีแห่งราชวงศ์จักรี


นายธนโรจน์ อิงคนินันท์ บุตรนายธนกรนางศิริพร (๒๕๓๙-ปัจจุบัน)

นายธนกร อิงคนินันท์ บุตรนายสุวิทย์นางปิม (๒๕๑๐-ปัจจุบัน)

นายสุวิทย์ อิงคนินันท์ บุตรนายตาดนางดวงเดือน (๒๔๘๐-ปัจุบัน)

นายตาด อิงคนนินันท์ บุตรนายจีนนางจ่าง (๒๔๓๓-๒๔๘๔)

นายจีน อิงคนินันท์ บุตรนายฮูนางถมยา (๒๓๙๔-๒๔๗๓)

นายฮู (ไม่ปรากฏหลักฐาน)