ข้ามไปเนื้อหา

ผู้ใช้:ณัฐพงษ์ ยศเครือ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

วัดละมุด เป็นวัดราษฏร์[1] ตั้งอยู่เลขที่ ๖๒ หมู่ที่ ๕ ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัย[2] จังหวัดนครปฐม[3] จะกล่าวว่าถูกสร้างขึ้นในสมัยใดนั้นไม่มีปรากฏหลักฐาน แต่จากการสันนิษฐานน่าจะก่อสร้างขึ้นช่วงปลายสมัยอยุธยา[4]ตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๓[แก้]

ประวัติ[แก้]

วัดละมุด สมัยโบราณ

วัดละมุด ตั้งอยู่ที่ตำบลวัดละมุด อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม เป็นวัดที่สร้างมาแต่โบราณวัดหนึ่ง จะสร้างมาแต่เมื่อไรนั้น ไม่มีผู้ใดได้ทราบกัน แต่อาศัยสังเกตดูวัตถุโบราณภายในบริเวรของวัดนั้น เช่น อุโบสถที่ก่อสร้างไว้กับพระพุทธปฏิมากรที่ประดิษฐานในอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปั้นด้วยปูนขาว แล้วลงรักปิดทองมีลักษณะคล้ายกับสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น ฉะนั้นวัดละมุดก็คงจะสร้างขึ้น คำว่า "วัดละมุด" เป็นชื่อของต้นไม้ที่มีรสหวาน เป็นต้นไม้ของเมืองไทย น่าจะสันนิษฐานว่าคงจะมีต้นไม้ละุมุดใหญ่ขึ้นอยู่ที่นี่ หรือมิฉะนั้นบริเวณของวัดละมุดนี้จะต้องเป็นสวนต้นละมุดเป็นแน่ทีเดียว เพราะบริเวณหมู่บ้านใกล้เคียงกับวัด ก็ยังมีชื่อเรียกว่าบ้านสวนถั่ว บ้านสวนส้ม ก็ยังมีปรากฏอยู่ ปัจจุบันนี้ก็ยังมีต้นต้นไม้ละมุดขึ้นอยู่สองต้นที่ด้านหลังอุโบสถหลังเก่า แต่ว่ามีอายุประมาณ ๕๐ - ๖๐ ปีเท่านั้น ซึ่งมิใช่ต้นไม้เดิม อันเป็นสัญลักษณ์นามของวัดละมุด คงจะเรียกตามที่กล่าวมานี้

อาณาเขตของวัด ทิศเหนือจดที่ดินของตามา กับตาจาดยายเปี่ยม กิ่งแก้ว ทิศตะวันตกจดที่ดินตาเหว่ากับที่ดินตาผล ทิศตะวันออกและทิศใต้จดคลองบางพระและที่ดินตาดินยายนวม มีเนื้อที่อยู่ประมาณ ๒๙ ไร่เศษ ฉะนั้น วัดละมุดนี้ ตั้งอยู่ติดกับคลองบางพระ ซึ่งเป็นทางน้ำเก่ามาตั้งแต่สมัยโบราณกาลซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน[5] อยู่ทางทิศเหนือของอำเภอนครชัยศรี

พระธรรมราชาอนันตโลกนาถ พระประธานประจำวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ โดยหลวงพ่อทอง อินฺทสุวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดละมุด เป็นผู้อัญเชิญมาจากวัดโบสถ์ (วัดร้าง)

คลองบางพระเป็นทางน้ำที่เชื่อมต่อจากลำน้ำแม่กลอง กาญจนบุรี ไหลผ่านเข้ามาในจังหวัดนครปฐม มีรางกระเทียม ทัพหลวง ตาก้อง พะเนียงแตก แหลมบัว ศรีมหาโพธิ์ วัดละมุด บางพระ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำนครชัยศรี ซึ่งเป็นลำน้ำตื้นเขินเสียแล้ว แต่ก็ยังมีร่องรอยปรากฏอยู่ เป็นลำน้ำกว้างประมาณ ๖๐ วา และบริเวณทั้งสองฝั่งของลำคลองจะมีคันร่องดิน เป็นที่ทำสวนมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล กว้างประมาณ ๑๐ วา ยาว ๓๐ วา คันร่องสวนเหล่านี้ จะทำกันในสมัยใดนั้น ย่อมไม่มีใครทราบได้แน่นอน แต่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้กล่าวว่าเมืองนครปฐมเป็นเมืองเก่าแก่ครั้งโบราณเมืองหนึ่ง อยู่ชายทะเล ชาวดินเดียวเรียนว่า "สุวรรณภูมิ[3]" ส่วนชาวจีนเรียกว่า "ทวารวดี[1]" อันเป็นที่อยู่ของละว้า มอญ และขอม ชาวอินเดียวคงจะมาทำการค้าขาย เผยแพร่วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และศาสนา

กล่าวกันว่าพระเจ้าอโศกมหาราช[4] ได้ส่งสมณทูต มีพระโสณะ พระอุตตระ พระญาณิยะ พระภูมิยะ พระมูติยะ กับอำมาตย์อับดุลบรานนท์ และอุบาสกอุบาสิกา รวม ๓๓ คน เดินทางมาเผยแพร่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิและได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุ[2]มาด้วย เมื่อราว พุทธศักราช ๓๓๑ คณะสมณทูตคงจะมาสร้างพระสถูปพระเจดีย์เอาไว้ ณ ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งปรากฏว่านักโบราณคดีได้ขุดพบพระพุทธศิลาแลงกับเสมาธรรมจักร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นสมัยคุปตะ อันเป็นสมัยเดียวกันกับพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งนับว่านครปฐมเป็นเมืองแรกของการเผยแพร่พระพุทธศาสนา อันเป็นมิ่งมงคลแก่ชาวจังหวัดนครปฐม และชาวพุทธทั่วไป ครั้นกาลต่อมาเมืองทวารวดี[6]ได้รับภัยจากข้าศึก แล้วทำการกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติจนเป็นเมืองร้างไป ครั้นถึง พุทธศักราช ๑๗๓๑ พระเจ้าชัยศิริหรือศิริชัยต้นราชวงศ์ของพระเจ้าอู่ทอง ได้อพยพมาตั้งเมืองนครปฐมอีกครั้งหนึ่ง แต่เนื่องจากทะเลได้ร่นหนีไปสู่ที่ต่ำ แม่น้ำที่ไลผ่านตัวเมืองเปลี่ยนทางเดินไหลห่างออกไปเกิดแม่น้ำใหม่เรียกว่า "แม่น้ำนครชัยศรี" ซ่งไหลมาจากจังหวัดสุพรรณบุรีไปสู่อ่าวไทย ที่จังหวัดสมุทรสาคร ประชาชนก็อพยพอยู่ตามลำแม่น้ำนครชัยศรี จึงมีเมืองนครชัยศรีเกิดขึ้นที่ตำบลนครชัยศรี ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ ราว พุทธศักราช ๒๐๙๑ ส่วนเมืองนครปฐมก็กลายเป็นเมืองร้างไป ตามที่กล่าวมานี้ก็น่าจะสันนิษฐานว่า คนสมัยทวารวดีคงจะอพยพมาทำกินกันและอาศัยทางน้ำที่เปลี่ยนทางเดินใหม่ จึงกลายเป็นตื้นเขิน เหมาะแก่การที่จะทำสวน จึงทำคันร่องสวนกันขึ้นที่ริมคลองบางพระ เพราะได้พบระฆังหินและตุ้มหูคนโบราณสมัยทวารวดี[7]ที่วัดโบสถ์ กับเครื่องบูชาสมัยลพบุรีจากวัดบัว นอกจากนั้นยังได้พบวัตถุโบราณจากวัดร้างเก่าแก่ เช่น วัดโบสถ์ทีตั้งอยู่ริมคลองบางพระนี้มีพระพุทธรูปศิลาทรายแดง พระศิลาทรายขาว และถ้วยชามสังคโลก ลายครามเบญจรงค์ และอุโบสถมุงกระเบื้องรางดินเผา เป็นต้น วัดโบราณนี้สันนิษฐานว่าเป็นวัดสมัยพระเจ้าอู่ทองหรืออยุธยาตอนต้น คนไทยสมัยพระเจ้าศิริชัย คงจะได้อพยพมาทำมาหากินต่อจากคนสมัยทวารวดี[8] แล้วได้ริเริ่มสร้างวัดโบราณเหล่านี้ขึ้น เพราะพิจารณาดูภูมิประเทศและพื้นที่ของการตั้งวัดนั้น ได้สร้างโบสถ์อยู่บนเนินพื้นที่ราบ มีคูน้ำล้อมรอบด้วย ส่วนวัดนอกจากนี้ตั้งอยู่บนคันร่องหลังสวนทั้งนั้น

เป็นจิตกรรมในวิหาร ตอนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชนะมาร

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับคลองบางพระว่ามีพระพุทธรูปกับต้นศรีมหาโพธิ์เสี่ยงทายได้ประดิษฐานลงในเรือแพ ลอยน้ำมาจากเหนือน้ำลำคลองบางพระ เมื่อเรือแพลอยตามกระแสน้ำเรื่อยมา เรือก็มาล่มที่ปากคลองบางพระ พระจมลงไปสู่แม่น้ำนครชัยศรี ไม่มีใครอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมาได้ เวลาน้ำลงจะเห็นพระเกศ ครั้นต่อมาพระได้เลื่อนลึกลงไปตามกระแสน้ำเสียแล้ว จึงได้ชื่อว่า "คลองบางพระ" ความทรงจำและตามที่ได้เล่ากันต่อมานี้เองเมื่อราว ๔๐ ปี ล่วงมาแล้ว มีหญิงชราคนหนึ่งพายเรือจากคุ้งน้ำบางขะโมยทางตอนเหนือน้ำลงมาทางใต้ พอถึงคุ้งน้ำลำท่าโพเป็นเวลาพลบค่ำ แกเห็นพระเกศมาลาพระพุทธรูปอยู่เหนือน้ำ แกจึงรีบพาเรือมาที่วัดบางพระ ซึ่งห่างจากคลองบางพระประมาณ ๒๐๐ เมตร แล้วนำขึ้นไปบอกนมัสการเจ้าอธิการหิ่ม อินทโชโต เจ้าอาวาส หลวงพ่อหิ่มจึงได้นำดอกไม้ธูปเทียนลงเรือไปดูก็ไม่เห็นมีอะไร แต่ก็มิวายละความพยายาม ท่านจึงทำพิธีบวงสรวงอาราธนาให้นักประดาน้ำลงไปควานหาก็ไม่พบ พบแต่กระถางอ่างเก่ามากมาย ได้มีการสมโภช ๓ เวลาจึงเลิกพิธี

คำว่า "บาง" แปลว่า "พวก" หมายถึง คนอยู่กันเป็นหมู่เป็นพวกก็ได้ แปลว่า "คลอง" ก็ได้ สังเกตดูที่ใดมีชื่อเรียกว่าบาง ที่นั่นมักมีคลองอยู่ด้วยเสมอ เช่น บางแก้ว ซึ่งเป็นคลองที่เป็นลำน้ำ ผ่านจากองค์พระปฐมเจดีย์ไหลมาสู่แม่น้ำนครชัยศรี และถือกันมาตั้งแต่โบราณว่าปากคลองนี้ เป็นน้ำมงคลนครชัยศรี คลองนี้พระพุทธศิลาทรายแดงอยู่มา ส่วนคลองบางพระก็เช่นเดียวกัน คงจะเป็นคลองที่มีผู้ใจบุญมีทุนทรัพย์มา ได้สร้างพระ นำพระ ชักพระ มาตามลำคลองนี้เป็นจำนวนมาก เพื่อประดิษฐานยังอารามต่างๆ เช่น วัดโบสถ์ วัดศรีมหาโพธิ์ วัดกลาง วัดบางพระ หรือวัดละมุดนั่นเอง ส่วนต้นศรีมหาโพธิ์นั้นได้น้ำขึ้นไปปลูกยังอีกวัดหนึ่ง วันนั้นจึงเรียกว่า "วัดศรีมหาโพธิ์"

วัดละมุด สมัยปัจจุบัน

มีลักษณะพื้นที่ดินเป็นสี่เหลียมผืนผ้า เนื้อที่ ๒๒ ไร่เศษ มีตาแฟง ตายิ้ม สุขศรีอินทร์ และมีนายปุก นางเอี้ยง ฉิมนุกูล กับนายชมมาก บ้านดอน ถวายที่ดินเพื่อขุดคูล้อมรอบวัดเป็นเขตของอาราม กับยายกิมลี้ แซ่แต้ ได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ตำบลศรีมหาโพธิ ถวายเป็นที่ธรณีสงฆ์ เมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๘๗ เป็นเนื้อที่ ๘ ไร่ ๒ งาน ๘๐ ตารางวา และได้ปรับปรุงขุดเกลื่อนให้ภายในวัดราบเรียบเสมอกันเป็นอันดี ขุดไผ่ฟันต้นไม้ให้โล่งเตียนสะอาดตา มีต้นหญ้าแพรกขึ้นเขียวขจีอยู่ทั่วไป ต้นพฤกษาชาติใหญ่น้อยแผ่กิ่งก้านสาขาร่มรื่น ให้ความร่มเย็นสบายแก่ผู้ที่เข้ามาพักอาศัย หลังวัดเป็นบริเวณท้องทุ่งใหญ่จำนวนเนื้อที่หลายพันไร่ ยามฤดูทำนาจะเห็นใบกล้าต้นข้าวชูใบไสวเป็นระลอกใหญ่ยามเย็นเมื่อต้องลม

การศึกษาภายในวัด เมื่อเด็กไทยทุกคนจะต้องศึกษาหาความรู้จนจบชั้นประถมศึกษา ตามพระราชบัญญัติประถมศึกษาแล้ว วัดก็ได้จัดเปิดเรียนประถมขึ้นภายในวัด เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๖ โดยมีนายม่วง พุดตาล เป็นครูใหญ่คนแรก และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโรงเรียนของรํฐ โดยมีชื่อว่า โรงเรียนวัดละมุด เด็กทุกคนก็ได้เพียงเรียนโรงเรียนวัดเท่านั้น หาได้อยู่วัดเรียนหนังสือกับพระเหมือนแต่ก่อนไม่ จึงไม่ค่อยมีเด็กวัด หาเด็กอยู่วัดยาก ส่วนการศึกษาของพระภิกษุสามเณรนั้น วัดได้จัดให้มีการศึกษาธรรมตามหลักสูตรชั้นนักธรรม ตั้งแต่ พุทธศักราช ๒๔๗๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีพระพรม อินทสโร เป็นพระอาจารย์สอนปริยัติธรรมรูปแรก และมีผู้ศึกษาเล่าเรียนสำเร็จกันเป็นจำนวนมาก

ถาวรวัตถุ[แก้]

อุโบสถหลังเก่า เป็นรูปทรงมหาอุตม์ โดยมีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว

อุโบสถหลังเก่า มีลักษณะเป็นรูปทรงแบบทรงไทยโครงสร้างส่วนใหญ่เป็นแบบก่ออิฐถือปูนยกพื้นสูงหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาธรรมดา เพดานโบสถ์ประดับดาวทำด้วยกระจกเกรียบ หันหน้าไปทางทิศอีสานขนานคู่กับคลองบางพระ ก่อสร้างโดยสันนิษฐานว่าในสมัยอยุธยาตอนปลายหรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งมาอายุประมาณ ๒๐๐ กว่าปี ในระหว่างปี พุทธศักราช ๒๓๓๐ - ๒๓๔๐ อุโบสถหลังนี้มีขนาดความกว้าง ๖ เมตร กว้าง ๑๒ เมตร สูง ๑๔ เมตร ใบเสมาอุโบสถสร้างด้วยหินครกสีเทา และอุโบสถหลังนี้มีประตูทางออกด้านหน้าเพียงด้านเดียว จึงเรียกโบสถ์ลักษณะนี้ว่า "โบสถ์มหาอุตม์" ที่ฝาผนังบริเวณทางเข้าประตูด้านซ้ายมีลายพระหัตถ์สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจารึกอยู่ เมื่อครั้งเสด็จประพาสมา ณ สถานที่แห่งนี้

เป็นอุโบสถหลังใหม่ ลักษณะเป็นปูนปั้นสด ประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์

อุโบสถหลังใหม่ มีลักษณะเป็นรูปแบบทรงไทย โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นแบบก่ออิฐถือปูนยกพื้นสูง หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบ โดยลักษณะเป็นรูปทรงสมัยใหม่ปูนปั้นสด โดยมีแห่งเดียวในจังหวัดนครปฐม

วิหาร กาลเวลาต่อมาอุโบสถของวัดโบสถ์ร้างได้พังทลายลง หลวงพ่อได้มีความคิดว่าควรจะได้นำเอาพระพุทธศิลามาเก็บรักษาไว้ ท่านจึงได้ริเริ่มการสร้างวิหารขึ้นเคียงคู่กับอุโบสถที่วัดละมุด เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช ๒๔๕๘ มีขนาดกว้าง ๘ วา ยาว ๑๒ วา สูง ๑๐ วาเศษ ก่ออิฐถือปูนโดยช่างจีนสวน ส่วนเครื่องบนหลังคาทำโดยช่างไทยชื่อว่าเขียว อยู่ตำบลงิ้วราย มุงหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์ หน้าบันแกะสลักรูปเทพนม ประกอบด้วยลายดอกพุดตาล ภายในวิหารผนังเขียนด้วยภาพพุทธประวัติ พระเจ้าสิบชาติและภาพชุมนุม โดยช่างสุกตำบลงิ้วรายอีกด้วย จนกระทั่งวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีจอ ตรงกับพุทธศักราช ๒๔๖๕ มีลิเกคณะนายดอกดิน งานสมโภชยกช่อฟ้าใบระกาวิหาร ระยะการก่อสร้างเป็นเวลา ๘ ปี สิ้นเงินประมาณสองหมื่นบาทเศษ จึงสร้างเสร็จ แต่ยังไม่เรียบร้อยดี กาลต่อมาได้จัดการหล่อพระจุฬามณีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ[2] พระคันธารราษฎร์ พระศรีอารย์ และระฆังอีกด้วย ในระหว่างการก่อสร้างวิหาร หลวงพ่ออยู่เก่า วัดบางพระ ได้เป็นนวกรรมช่วยควบคุมการก่อสร้างวิหารเป็นอย่างดี นอกจากนี้หลวงตาโฉมและพระภิกษุได้ช่วยบอกบุญหาทุนทรัพย์แก่ท่านสาธุชนทั้งหลาย และเป็นกำลังงานด้วยโยธาธุระ เป็นต้น ฝ่ายประชาชนทั้งหลายก็เอาใจใส่ ช่วยปั้นอิฐคนละ ๔๐๐ - ๕๐๐ แผ่นบ้างขนไปเผากันบ้าง บางพวกก็ขนไม้ปูนทราย และช่วยกันฝังรากตอกเข็ม ถมดินจนเต็มวิหารเสร็จแล้วหลวงพ่อก็ได้อัญเชิญพระพุทธศิลาที่วัดโบสถ์มาประดิษฐานในวิหารหลังนี้ การอัญเชิญพระพุทธศิลาจากวัดโบสถ์ หลวงพ่อทองท่านเห็นว่าวัดโบสถ์ได้เป็นวัดร้างมานานแล้ว ไม่มีใครดูแลรักษา อุโบสถมีแต่ต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไปทั้งภายนอก ภายใน ต้นโพธิ์ต้นไทรเกิดขึ้นที่ฝาผนังโบสถ์ พระพุทธรูปบางองค์ก็ปรักหักพัง ไม้เครื่องบนเป็นต้นว่า ขื่อและแปก็ปรักหักพัง ระเกะระกะทั่วไป คงเหลือไว้แต่เพียงห้องประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรเท่านั้น เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าหลังคาด้านหน้าได้พัง แต่หลังคาด้านหลังยังเหลืออยู่ เสมือนเทวาอารักษ์ได้รักษาไว้ ฉะนั้นหลวงพ่อท่านจึงได้ชวนทายกทายิกาเป็นจำนวนมาก อัญเชิญเคลื่อนย้ายพระพุทธศิลามาไว้ยังวิหารวัดละมุด ส่วนองค์ท้ายสุดที่เป็นประธานจึงบันดาลให้เกวียนหัก หลวงพ่อทองต้องจุดเทียนอัญเชิญอาราธนาแล้วชักลากจึงยอมมาประดิษฐานยังวิหารโดยสวัสดิภาพ นอกจากนี้เจ้าอาวาสวัดต่างๆ ได้ขออัญเชิญพระพุทธศิลาองค์อื่นไปเป็นประธานในอุโบสถ มีปรากฏคือหลวงพ่อมา วัดทุ่งน้อยและวักโคกเขมา เมื่อหลวงพ่อทองได้อัญเชิญอาราธนาพระพุทธศิลามาไว้วัดละมุดแล้ว วัดโบสถ์ก็หมดสภาพตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงบัดนี้ อนึ่งวัดละมุดสมับโบราณ มีงานเทศกาลประจำปี เป็นงานนมัสการพระพุทธศิลาและปิดทองพระจุฬามณี ตรงกับขึ้น ๑๔ - ๑๕ ค่ำ และแรม ๑ ค่ำ เดือน ๕ เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน ซึ่งมีพุทธศาสนิกชนได้มาบำเพ็ญกุศลและชมมหรสพสมโภชกันเป็นจำนวนมาก บัดนี้ได้เลื่อนไปเป็นสิ้นเดือน ๔ แล้ว ปัจจุบันนี้ วัดละมุดได้กำหนดมีงานเทศกาลประจำปี เป็นงานนมัสการ "พระพุทธศิลาอนันตโลกนาถ ปิดทองพระจุฬามณีและพระบูรพาจารย์" วันแรม ๑๔ - ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ตรงกับ "วันตรุษไทย" ตามประเพณีโบราณและงานเทศกาลกลางเดือน ๙ เป็นงานหล่อเทียนพรรษา บูชานพเคราะห์และทอดผ้าป่าสามัคคี วันขึ้น ๑๔- ๑๕ ค่ำ เดือน ๙ ของทุกปี

ศาลาการเปรียญ มีลักษณะรูปทรงเป็นแบบทรงไทย หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสีน้ำเงิน หน้าบันใช้ของเก่าลายเทพพนม โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้ และคอนกรีตเสริมเหล็ก บ้านหน้าต่างใช้ไม้สักแบบโบราณมีอกเลา ก่อสร้างเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๐ ศาลาการเปรียญหลังนี้มีขนาดความกว้าง ๑๗ เมตร ยาว ๓๗ เมตร สูง ๑๕ เมตร

ฌาปนสถาน วัตุประสงค์ที่จัดสร้าง เพื่อเป็นบริการฌาปนกิจสงเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไป และการบำเพ็ญกุศลอื่นๆ มีลักษณะรูปทรงทำแบบปราสาททรงไทยจัตุรมุข มีเรือนยอดเป็นปรางค์สวยงาม โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีขนาดความกว้าง ๖ เมตร ยาว ๕๑ เมตร สูง ๓๐ เมตร

เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ เนื้อทองเหลือง ภายใต้ฐานองค์พระประธานประดิษฐานพระปรมาภิไธย ภปร

พระประธานประจำอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพระพุทธลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นศิลปะสมัยอู่ทอง สร้างด้วยวัสดุ คือ หินทรายแดง มีความสูง ๒.๒๑ เมตร หน้าตักกว้า ๑.๗๐ เมตร โดยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ถวายพระนามว่า "พระปริสุทธิโสภณพุทธเจ้า"

พระประธานประจำวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ มีพุทธลักษณะเป็นศิลปะสมัยอู่ทอง หรืออยุธยาสุวรรณภูมิ มีพุทธลักษณะงดงามทรงเครื่องน้อย แบบพระยาชมพูบดี ลักษณะพระศกเป็นแบบเม็ดสาคู พระเกตุมาลามีลักษณะเปลวรัศมีเป็นอุณาโลมบังเกิดฉัพพัณณรังสี สร้างด้วยวัสดุ คือ หินทราย มีขนาดความสูง ๓ เมตร หน้าตักกว้าง ๒.๓๙ เมตร เป็นหนึ่งในจำนวนหลายองค์ที่อัญเชิญมาจากวัดโบสถ์ (ร้าง) ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับความละมุด หลวงพ่อทอง อินทสุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดละมุด เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารนี้ ต่อมาได้ถวายพระนามว่า "พระธรรมราชาอนันตโลกนาถ"

ลำดับเจ้าอาวาส[แก้]

เท่าที่มีการบันทึกไว้ ลำดับรายนามเจ้าอาวาสมีดังนี้

ลำดับที่ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ
๑. หลวงพ่อนาค ไม่มีปรากฏหลักฐาน
๒. หลวงพ่อมี ไม่มีปรากฏหลักฐาน
๓. หลวงพ่อปั้น สันนิษฐานว่าช่วงรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ - สมัยรัชกาลที่ ๕
๔. พระอธิการทอง อินฺทสุวณฺโณ พ.ศ. ๒๔๓๓ พ.ศ. ๒๔๖๙
๕. พระอาจารย์ป่อง ธมฺมปาโล พ.ศ. ๒๔๖๙ พ.ศ. ๒๔๘๙
๖. พระอาจารย์เนื่อง ปาโมกฺโข พ.ศ. ๒๔๘๙ พ.ศ. ๒๔๙๘
๗. พระครูสุพจน์วราภรณ์ (หยุด สุทนฺโต) พ.ศ. ๒๔๙๘ พ.ศ. ๒๕๕๓
๘. พระครูปฐมโชติวัฒน์ (เสวก โชติธัมโม) พ.ศ. ๒๕๕๓ ปัจจุบัน
อ้างอิง[แก้]

หนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ บูชาคุณหลวงพ่อพระครูสุพจน์วราภรณ์

หนังสือที่ระลึกงานปิดทองฝังลูกนิมิตร วัดละมุด ๒๐ - ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕

  1. 1.0 1.1 https://th.wiktionary.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%8E%E0%B8%A3%E0%B9%8C
  2. 2.0 2.1 2.2 อำเภอนครชัยศรี
  3. 3.0 3.1 จังหวัดนครปฐม
  4. 4.0 4.1 อยุธยา
  5. แม่น้ำท่าจีน
  6. ทวารวดี
  7. ทวารวดี
  8. ทวารวดี