ผะหมี
ผะหมี เป็นการละเล่นปริศนาคำทายอย่างหนึ่ง เดิมเข้าใจว่าเป็นการละเล่นในหมู่ชาวจีนมาก่อน [1] ซึ่งถือเป็นการเล่นประลองปัญญาและฝึกสมองในหมู่นักปราชญ์และกวีชาวจีน นำมาเผยแพร่ในประเทศไทย คำว่า ผะหมี มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว ผะ (拍) แปลว่า ตี ส่วน หมี (謎/谜) แปลว่า ปริศนา ดังนั้นคำว่า ผะหมี จึงแปลว่า การตีปริศนา [2]
ภายหลังคนไทยได้นำมาประยุกต์ถามปริศนาแบบไทย เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ฐานันดรศักดิ์ของรัชกาลที่ 6 ในขณะนั้น) ทรงพระราชนิพนธ์ปริศนาให้ข้าราชบริพารเป็นการภายในส่วนพระองค์ [3] โดยปริศนาที่ใช้ถามจะเขียนด้วยคำประพันธ์ไทยเช่น โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และคำตอบของปริศนา (หรือเรียกว่าธง) จะมีความสัมพันธ์กันในรูปแบบต่าง ๆ มีการเล่นอย่างแพร่หลายในกรุงเทพมหานคร และแพร่ไปยังจังหวัดต่าง ๆ เช่น ชลบุรี ราชบุรี สมุทรปราการ โดยในจังหวัดชลบุรีจะเรียกผะหมีว่า โจ๊ก
การทายปริศนา
[แก้]ปริศนาผะหมีมีหลายลักษณะดังนี้
- ปริศนาผะหมีภาพ เป็นการใช้ภาพตั้งเป็นปริศนา เช่น ในภาพมีรูปปลาอยู่สองตัว คำตอบคือปลาทู (สองภาษาอังกฤษว่าทู) หรือ รูปปลามีส้มอยู่ข้าง ๆ ธงของปริศนานี้คือปลาส้ม ฯลฯ
- ปริศนาผะหมีคำตัดต่อ คำตอบของปริศนาจะมีการเพิ่มหรือตัดคำ หรือสลับตัวอักษร เช่น ขนม ตัดตัวหน้าเป็น นม ตัดตัวหลังเป็น ขน เป็นต้น
- ปริศนาผะหมีคำเดี่ยว เป็นปริศนาผะหมีที่ธงหรือคำตอบของปริศนาเป็นคำ ๆ เดียว เช่น ก๊ก กุ๊ก เก๊ก กั๊ก เป็นต้น
- ปริศนาผะหมีคำผัน คำตอบของปริศนาจะผันตามเสียงวรรณยุกต์ เช่น ปา ป่า ป้า ป๊า ป๋า เป็นต้น
- ปริศนาผะหมีพ้องหน้า คำตอบของปริศนาจะพ้องคำหน้ากัน เช่น แม่น้ำ แม่ทัพ แม่มด แม่บ้าน เป็นต้น
- ปริศนาผะหมีพ้องกลาง คำตอบของปริศนานั้นคำกลางจะพ้องกัน เช่น นกสองหัว หมาสองราง ข้าสองเจ้า บ่าวสองนาย เป็นต้น
- ปริศนาผะหมีพ้องหลัง คำตอบของปริศนาจะพ้องคำหลังกัน เช่น แม่น้ำ ลูกน้ำ ม้าน้ำ ตาน้ำ เป็นต้น
- ปริศนาผะหมีพันหลักหรือลูกโซ่ คำตอบจะมีความเกี่ยวเนื่องกับคำตอบก่อนหน้า เช่น กอไก่ ไก่ฟ้า ฟ้าแลบ แลบลิ้น ลิ้นชัก เป็นต้น
- ปริศนาผะหมีคำผวน คำตอบของปริศนาจะเป็นคำผวน เช่น นาช้ำ (น้ำชา) นาก๊ก (นกกา) นาไต (นัยน์ตา) นาทริด (นิทรา) เป็นต้น
- ปริศนาผะหมีสุภาษิต คำพังเพย คำตอบเมื่อนำมารวมกันแล้วจะเป็นสำนวนโวหารต่าง ๆ เช่น จับ ปลา สอง มือ; เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นต้น
โจ๊ก
[แก้]โจ๊กเป็นการละเล่นพื้นบ้านในบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา เป็นการตั้งปริศนาคำทายร้อยกรอง ที่พัฒนามาจากผะหมีและโคลงทาย โดยมีผู้ช่วยทำหน้าที่ช่วยแจกของรางวัลและปลดแผ่นปริศนา ผู้ช่วยนี้จะแต่งกายและทำท่าทางตลก เรียกว่าตัวโจ๊ก ส่วนกลุ่มผู้บอกปริศนาคำทายเรียกว่านายโจ๊ก การเล่นทายโจ๊ก นิยมเล่นในงานศพ หรือเป็นกิจกรรมยามดึกสำหรับเจ้าภาพและผู้อยู่เป็นเพื่อนศพ ปัจจุบัน การทายโจ๊กในงานศพลดลง แต่นำมาเล่นในงานบุญต่าง ๆ แทน เช่น งานบุญกลางบ้านของอำเภอพนัสนิคม งานประเพณีวิ่งควายและงานกาชาดประจำปีของจังหวัดชลบุรีเป็นต้น
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สุรีย์ ไวย์กุฬา. ความเป็นมาของผะหมี. สืบค้นวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2552
- ↑ เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พจนานุกรม จีน-ไทย. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น, 2541. ISBN 978-974-246-307-6
- ↑ ประวัติความเป็นมาของการเล่นผะหมี เก็บถาวร 2009-02-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จากโรงเรียนบางบ่อวิทยาคม
- ศิริพร ภักดีผาสุข. ปริศนาคำทาย: ภูมิปัญญาทางภาษาและการผสมผสานทางวัฒนธรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ ใน เพลง ดนตรี ปริศนา ผ้าทอ: ภูมิปัญญาทางด้านการละเล่นและการช่าง. กรุงเทพฯ. ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. 2548. หน้า 13 - 50.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- บ้านปริศนาผะหมี เก็บถาวร 2021-01-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน