ข้ามไปเนื้อหา

ปุ่มลิ้น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปุ่มรูปด้าย)
ปุ่มลิ้น
(Lingual papillae)
จุดเด่นทางกายวิภาคต่าง ๆ ของลิ้น ปุ่มรูปด้าย (filiform papillae) ปกคลุมผิวของลิ้นด้านหน้า 2/3 โดยมาก และมีปุ่มรูปเห็ด (fungiform papillae) กระจายไปในระหว่าง ๆ ด้านหน้าติดกับ sulcus terminalis ก็คือ ปุ่มเซอร์คัมแวลเลต (circumvallate papillae) และทางด้านหลังของขอบข้าง ๆ ลิ้น จะมีปุ่มรูปใบไม้ (foliate papillae)
แผนภาพแสดงเยื่อเมือกของลิ้นส่วนหนึ่ง โดยแสดงปุ่มรูปเห็ดสองปุ่ม บนปุ่มรูปด้ายบางอัน ส่วนยื่นของเนื้อเยื่อบุผิวจะตั้งตรงขึ้น ปุ่มหนึ่งมีส่วนยื่นที่กระจายออก อีกสามปุ่มมีส่วนยื่นที่พับเข้าข้างใน
รายละเอียด
ตัวระบุ
ภาษาละตินpapillae linguales
นิวโรเล็กซ์ IDbirnlex_4102
TA98A05.1.04.013
TA22837
THH3.04.01.0.03006
FMA54819
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

ปุ่มลิ้น[1] (อังกฤษ: Lingual papillae เอกพจน์ papilla) เป็นโครงสร้างเล็ก ๆ คล้ายหัวนมที่ผิวบนของลิ้นโดยมีอยู่ 4 ชนิด ซึ่งมีรูปร่างต่าง ๆ กัน ดังนั้น จึงมีชื่อต่างกัน รวมทั้งปุ่มเซอร์คัมแวลเลต/ปุ่มล้อมด้วยกำแพง (circumvallate papillae, vallate papillae), ปุ่มรูปเห็ด (fungiform papillae), ปุ่มรูปด้าย (filiform papillae), และปุ่มรูปใบไม้ (foliate papillae) ทั้งหมดยกเว้นปุ่มรูปด้ายมีตุ่มรับรส (taste bud) ซึ่งทำให้รู้รสได้[2] ส่วนปุ่มรูปด้ายซึ่งมีมากที่สุดในลิ้นมนุษย์ นอกจากจะทำให้ลิ้นสาก ก็ยังมีส่วนในการทำให้รับรู้เนื้ออาหารที่ไม่ใช่รสได้[3]

โครงสร้าง

[แก้]

ปุ่มลิ้นเป็นส่วนยื่นของลิ้นที่ล้อมด้วยเนื้อเยื่อบุผิวที่ม้วนเข้า (invagination) โดยเป็นร่องที่โมเลกุลรสซึ่งละลายในน้ำลาย จะรวมตัวทำปฏิกิริยากับหน่วยรับรสที่เยื่อหุ้มเซลล์รับรส ซึ่งกระจายไปตามผิวด้านข้างของปุ่มทั้งส่วนที่ยื่นขึ้นและที่อยู่ในร่อง[4] ในสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ปุ่มลิ้นจะเห็นง่ายสุดเมื่อลิ้นแห้ง[5] มีปุ่ม 4 ชนิดบนลิ้นซึ่งจะกล่าวต่อไปในหัวข้อย่อย

ภาพขยายปุ่มรูปด้าย
แผนภาพขยายและตัดของปุ่มรูปเห็ด
แผนภาพขยายและผ่าในแนวตั้งผ่านปุ่มรูปใบไม้ในกระต่าย
ปุ่มเซอร์คัมแวลเลต ผ่าในแนวตั้ง แสดงตุ่มรับรสและเส้นประสาท

ปุ่มรูปด้าย

[แก้]

ปุ่มรูปด้าย (filiform papillae) เป็นปุ่มลิ้นซึ่งเล็ก ๆ ละเอียด และมีมากที่สุด[2] เป็นปุ่มที่กระจายไปตามผิวลิ้นประมาณ 2/3 ด้านหน้า โดยปรากฏเป็นส่วนยื่นของผิวในรูปกรวยหรือทรงกระบอก และจัดเป็นแถว ๆ ขนานไปกับส่วน sulcus terminalis ของลิ้น แต่ที่ปลายลิ้น แถวเหล่านี้จะวิ่งไปตามขวางมากกว่า[5]

ปุ่มรูปด้ายเป็นตัวกำหนดลักษณะของเนื้อลิ้น มีหน้าที่ให้ความรู้สึกถูกต้องสัมผัส และทำให้รู้สึกถึงเนื้ออาหาร แต่ไม่เหมือนกับปุ่มประเภทอื่น ๆ ปุ่มชนิดนี้ไม่มีตุ่มรับรส จึงไม่มีส่วนในการรู้รส[2][3]

โดยลักษณะทางเนื้อเยื่อแล้ว มันประกอบด้วยแกนเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่ไม่เป็นระเบียบ โดยมีเนื้อเยื่อบุผิวซึ่งมีเคอราทิน และมีส่วนยื่นบาง ๆ ออกไปอีก[5] การมีเคอราทินอย่างหนาแน่นที่ปุ่มรูปด้าย เช่นที่พบในแมว ทำให้ลิ้นสากซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของแมว และสำคัญสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากในการดูแลขน[3]

ส่วนยื่นเหล่านี้มีสีขาว ๆ เพราะหนาและเพราะความหนาแน่นของเนื้อเยื่อบุผิว เป็นเนื้อเยื่อมีลักษณะเฉพาะเพราะเซลล์ได้กลายมามีรูปกรวยและมีส่วนยาวออกไปอีกโดยเป็นส่วนยื่นที่หนาแน่น คาบเกี่ยวกัน และมีรูปเหมือนแปรง และยังมีเส้นใยจำนวนหนึ่ง ทำให้ทั้งแน่นและยืดหยุ่นได้มากกว่าปุ่มแบบอื่น ๆ ปุ่มที่ใหญ่และยาวเป็นพิเศษของปุ่มกลุ่มนี้ บางครั้งเรียกว่า papillae conicae

ปุ่มรูปเห็ด

[แก้]

ปุ่มรูปเห็ด (fungiform papillae) เป็นส่วนยื่นของลิ้นที่มีรูปเห็ด/หมุด โดยทั่วไปมีสีแดง ซึ่งพบที่ผิวด้านบนของลิ้น โดยกระจายไปในระหว่างปุ่มรูปด้าย คือตามผิวลิ้นประมาณ 2/3 ด้านหน้า แต่โดยมากอยู่ที่ปลายและข้าง ๆ ลิ้น เป็นปุ่มที่มีตุ่มรับรสประมาณ 3 ตุ่มที่ยอด[3] และโดยรวม ๆ กันแล้วมีตุ่มรับรส 25% ของทั้งหมด[4] ซึ่งสามารถแยกแยะรสหลัก ๆ 5 อย่าง คือ หวาน เปรี้ยว ขม เค็ม และอุมะมิ

ปุ่มประกอบด้วยแกนที่เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และได้ใยประสาทจากประสาทสมองเส้นที่ 7 โดยเฉพาะก็คือ จาก submandibular ganglion, chorda tympani, และ geniculate ganglion ซึ่งส่งแอกซอนไปยัง solitary nucleus ในก้านสมอง

ปุ่มรูปใบไม้

[แก้]

ปุ่มรูปใบไม้ (foliate papillae) เป็นรอยพับสั้น ๆ 4-5 รอย[A] เป็นแนวขนานที่ข้าง ๆ ของลิ้นด้านหลัง[5] ประมาณ 2/3 เข้าไปจากปลายลิ้น[3] โดยอยู่หน้า palatoglossal arch ของช่องปากด้านใน (fauces)[7][5] และมีขนาดและรูปร่างที่ต่าง ๆ กัน[7]

ปุ่มปรากฏเป็นแถวของสันเยื่อเมือกรูปใบไม้ซึ่งมีสีแดง[5] และปกคลุมด้วยเนื้อเยื่อบุผิวโดยไม่มีเคอราทิน จึงไม่แข็ง และมีตุ่มรับรสมากมาย[5] (โดยรวม ๆ กันมีตุ่มรับรส 25% ของทั้งหมด[4]) โดยสองข้างจะสมมาตรกัน บางครั้งพวกมันจะปรากฏว่าเล็กและไม่สะดุดตา แต่บางครั้งก็จะปรากฏอย่างเด่น

ตุ่มรับรสพร้อมกับหน่วยรับรส จะกระจายไปทั่วผิวเยื่อเมือกของมัน ต่อมน้ำใสจะหลั่งออกลงในรอยพับเพื่อทำความสะอาดตุ่มรับรส เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งที่มีโอกาสเสี่ยงสูงต่อมะเร็งในปาก และมักจะบวมเป็นบางครั้งบางคราว จึงอาจดูผิดได้ว่าเป็นเนื้องอกหรืออักเสบ ทอนซิลลิ้น (lingual tonsil) จะอยู่ต่อจากปุ่มใบไม้ทางด้านหลัง และเมื่องอกเกิน ก็จะทำให้ปุ่มดูเด่นขึ้น

ปุ่มเซอร์คัมแวลเลต

[แก้]

ปุ่มเซอร์คัมแวลเลต/ปุ่มล้อมด้วยกำแพง (circumvallate papillae, vallate papillae) เป็นเป็นปุ่มขนาดใหญ่มีรูปโดม อยู่ติดกับ foramen cecum และ sulcus terminalis ทางด้านหน้า จัดเป็นแถวหนึ่ง ๆ ที่แต่ละข้างของลิ้น โดยแถวแต่ละข้างจะวิ่งไปทางข้างหลังเข้าไปตรงกลาง และไปประจบกันที่เส้นกลาง เป็นรูปตัวอักษร V[3]

ปุ่มแต่ละปุ่มจะเป็นเยื่อเมือกที่ยื่นออกกว้างประมาณ 1-2 มม. ซึ่งผนวกเข้ากับฐานที่เป็นหลุมรูปกลมในเยื่อเมือก ขอบของหลุมจะสูงขึ้นเป็นกำแพง (ซึ่งให้ชื่อแก่ปุ่ม) ร่องเป็นวงกลมที่อยู่ระหว่างกำแพงนี้และปุ่มเรียกว่า fossa (ร่อง) บนลิ้นมนุษย์ ปุ่มมีจำนวนระหว่าง 7-12 ปุ่ม แต่มีตุ่มรับรสจำนวนเกือบครึ่ง คือแต่ละปุ่มมีตุ่มรับรสประมาณ 250 ตุ่มบนเยื่อที่หันไปทางร่อง[3]

ปุ่มมีรูปกรวยที่ตัดออก ปลายที่เล็กกว่าจะอยู่ด้านล่างติดกับลิ้น ปลายที่กว้างกว่าจะโผล่ขึ้นไปจากผิวลิ้นเล็กน้อยซึ่งมีปุ่มย่อย ๆ ยื่นออกไปเป็นจำนวนมาก และปกคลุมไปด้วยเยื่อ squamous epithelium ที่แบ่งเป็นชั้น ๆ ต่อมน้ำลายที่ลิ้น ซึ่งเรียกว่า Von Ebner's gland จะมีท่อที่หลั่งน้ำใสลงที่ฐานซึ่งเป็นร่องวงกลม ทำให้เหมือนกับคูเมือง การหลั่งน้ำเช่นนี้เชื่อว่า เป็นตัวล้างวัสดุออกจากฐานซึ่งเป็นหลุมกลม เพื่อให้ตุ่มรับรสสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว[8]

ปุ่มล้อมด้วยกำแพงได้เส้นประสาทรับรสจากประสาทสมองเส้นที่ 9 (เส้นประสาทลิ้นคอหอย) แม้จะอยู่หน้า sulcus terminalis เพราะลิ้นที่อยู่ด้านหน้า 2/3 ที่เหลือ จะได้เส้นประสาทจากสาขา chorda tympani ของประสาทสมองเส้นที่ 7 (เส้นประสาทเฟเชียล) ซึ่งกระจายอยู่ร่วมกันกับสาขาประสาทลิ้น (lingual nerve) ของประสาทสมองเส้นที่ 5 (ประสาทไทรเจมินัล)

หน้าที่

[แก้]

ปุ่มลิ้น โดยเฉพาะปุ่มรูปด้าย เชื่อว่าเพิ่มพื้นที่ผิวลิ้น และเพิ่มพื้นที่สัมผัสและแรงเสียดทานระหว่างลิ้นกับอาหาร[5] ซึ่งอาจเพิ่มสมรรถภาพของลิ้นในการขยับก้อนอาหารที่เคี้ยวแล้ว และเพื่อจัดอาหารให้อยู่ระหว่างฟันเมื่อกำลังเคี้ยว และเพื่อกลืน

การแพทย์

[แก้]

การเสียปุ่มลิ้น (depapillation)

[แก้]

ในโรคบางชนิด ปุ่มที่ลิ้นอาจเสียไป ทำให้เหลือแต่ลิ้นที่เรียบและแดงซึ่งอาจเจ็บ ตัวอย่างโรคที่ทำให้เสียปุ่มรวมทั้ง ลิ้นลายแผนที่ (geographic tongue ซึ่งไม่ทราบสาเหตุ), กลางลิ้นอักเสบรูปขนมเปียกปูน (median rhomboid glossitis ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากติดเชื้อราเรื้อรัง), และลิ้นอักเสบ (glossitis) ประเภทอื่น ๆ การขาดเหล็ก กรดโฟลิก และวิตามินบี ก็อาจเป็นเหตุให้เสียปุ่มลิ้น คำว่า ลิ้นอักเสบ (glossitis) โดยเฉพาะลิ้นอักเสบแบบฝ่อ (atrophic glossitis) บ่อยครั้งใช้เป็นคำพ้องกับการเสียปุ่มลิ้น (depapillation)[7]

ปุ่มอักเสบ (papillitis/hypertrophy)

[แก้]

คำว่า ปุ่มอักเสบ (papillitis) หมายถึงปุ่มลิ้นอักเสบ โดยคำว่า การโตเกิน (hypertrophy) ก็อาจใช้ได้ในความหมายเหมือนกัน[ต้องการอ้างอิง] ส่วนคำว่า ปุ่มรูปใบไม้อักเสบ (foliate papillitis) ก็คือเมื่อปุ่มรูปใบไม้บวม ซึ่งอาจเกิดจากความระคายเคืองทางสรีรภาพ หรืออาจเป็นปฏิกิริยาต่อการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน[7] มีแหล่งอื่น ๆ ที่อ้างว่า foliate papillitis หมายถึงทอนซิลลิ้นอักเสบ โดยทอนซิลลิ้นเป็นเนื้อเยื่อของระบบน้ำเหลือง (lymphoid tissue)[9]

ประวัติคำตะวันตก

[แก้]
  • lingual มาจากคำภาษาละติน "lingua"[10] ซึ่งหมายความว่า "ลิ้น" หรือ "การพูด"
  • papilla มาจากภาษาละตินคำเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า หัวนม[11]
  • vallate (\ˈva-ˌlāt\) มาจากคำละติน "vallum"[12] ซึ่งหมายความว่า "มีขอบยกขึ้นล้อมหลุม" และหมายถึงเยื่อเมือกรูปกลมที่โผล่สูงขึ้นแล้วล้อมรอบปุ่มเซอร์คัมแวลเลต
  • fungiform (\ˈfən-jə-ˌfȯrm\) มาจากคำละติน "fungus" และ "forma" ซึ่งหมายความว่า "มีรูปคล้ายเห็ดหรือรา"
  • foliate (\ˈfō-lē-ət\) มาจากคำละติน "foliatus"[13] และหมายความว่า "มีรูปคล้ายใบไม้"
  • filiform (\ˈfi-lə-ˌfȯrm-\) มาจากคำละติน "fīlum" และหมายความว่า "มีรูปคล้ายใยหรือด้าย"

ในสัตว์อื่น ๆ

[แก้]

ปุ่มรูปใบไม้เป็นโครงสร้างค่อนข้างเก่าแก่ในมนุษย์[2] ซึ่งเป็นอวัยวะเหลือค้าง (vestige) ทางวิวัฒนาการของโครงสร้างคล้าย ๆ กันในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ มากมาย[5]

รูปภาพอื่น ๆ

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. เป็นแนวสันขนานกันประมาณ 20 รอย[6]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "papilla, lingual", ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑ ฉบับ ๒๕๔๕, (แพทยศาสตร์) ปุ่มลิ้น
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 Norton, N (2007). Netter's head and neck anatomy for dentistry. illustrations by Netter FH. Philadelphia, Pa.: Saunders Elsevier. p. 402. ISBN 1929007884.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 Saladin 2010a, pp. 595 (611)
  4. 4.0 4.1 4.2 Purves et al 2008a, Taste Perception in Humans, pp. 384-387
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 5.7 5.8 "Chapter 33: NECK AND UPPER AERODIGESTIVE TRACT". Gray's anatomy : the anatomical basis of clinical practice (40th ed.). Edinburgh: Churchill Livingstone/Elsevier. 2008. ISBN 978-0443066849. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)
  6. Purves et al 2008a, Taste Perception in Humans, p. 385
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Scully, C (2013). Oral and maxillofacial medicine : the basis of diagnosis and treatment (3rd ed.). Edinburgh: Churchill Livingstone. pp. 401, 402. ISBN 9780702049484.
  8. Ross, H R; Pawlina, W (2011). Histology: A text and atlas. Baltimore, MD.: Lippincott, Williams, and Wilkins. ISBN 978-0-7817-7200-6.
  9. Rajendran, A; Sundaram, S (2014-02-10). Shafer's Textbook of Oral Pathology (7th ed.). Elsevier Health Sciences APAC. p. 34. ISBN 978-81-312-3800-4.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  10. "lingua", Merriam-Webster Collegiate Dictionary (11 ed.), Springfield, Massachusetts, USA: Merriam-Webster, Inc., 2003, Etymology: Latin lingua
  11. "papilla", Merriam-Webster Collegiate Dictionary (11 ed.), Springfield, Massachusetts, USA: Merriam-Webster, Inc., 2003, Etymology: Latin, nipple, from diminutive of papula pimple; akin to Lithuanian papas nipple
  12. "vallate", Merriam-Webster Collegiate Dictionary (11 ed.), Springfield, Massachusetts, USA: Merriam-Webster, Inc., 2003, Etymology: Latin vallatus, past participle of vallare to surround with a wall, from vallum wall, rampart
  13. "foliate", Merriam-Webster Collegiate Dictionary (11 ed.), Springfield, Massachusetts, USA: Merriam-Webster, Inc., 2003, Latin foliatus leafy, from folium leaf

แหล่งอ้างอิงอื่น

[แก้]
  • Saladin, KS (2010a). "16.3 The Chemical Senses". Anatomy and Physiology: The Unity of Form and Function (5th ed.). New York: McGraw-Hill. pp. 595-597 (611-613). ISBN 978-0-39-099995-5.
  • "15 - The Chemical Senses". Neuroscience (4th ed.). Sinauer Associates. 2008a. pp. 363, 381–393. ISBN 978-0-87893-697-7. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)