ข้ามไปเนื้อหา

ปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถา เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในปุคคลบัญญัติปกรณ์ ในพระอภิธรรมปิฎก ของพระไตรปิฎก ซึ่งปุคคลบัญญัติ มีเนื้อหาสำคัญอยู่ที่การบัญญัติบุคคลว่า บุคคลนั้น ๆ ประกอบด้วยคุณสมบัติอย่างไร มีชื่อเรียกว่าอย่างไร[1]

ปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถา เป็นส่วนหนึ่งในปรมัตถทีปนี หรือปัญจัปปกรณัฏฐกถา หรือ อรรถกถาปัญจปกรณ์ หรือบางทีก็เรียกว่า "ปรมัตถทีปนี ปัญจปกรณัฏฐกถา ปุคคลบัญญัติวัณณา"[2] เป็นผลงานของพระพุทธโฆสะ แต่งตามคำอาราธนาของพระจุลลพุทธโฆสะชาวลังกา เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 1000 - 1,100 ซึ่งปรมัตถทีปนี หรือปัญจัปปกรณัฏฐกถา นั้นเป็นการอธิบายเนื้อความในปกรณ์ทั้ง 5 ของพระพระอภิธรรมปิฎก 5 คัมภีร์ คือ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐาน[3] โดยปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถา เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ปรมัตถทีปนี ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุม และใหญ่โตมโหฬาร

ทั้งนี้ โดยเหตุที่ธาตุกถามักรวมกับปุคคลบัญญัติอยู่ในเล่มเดียวกัน อรรถกถาของทั้ง 2 ปกรณ์ของพระอภิธรรมปิฎกนี้ จึงมักรวมเป็นฉบับเดียวกัน แต่ในบางกรณีก็แยกเป็นเอกเทศจากกัน[4]

เนื้อหา

[แก้]

โดยเหตุที่พระอภิธรรมปิฎก มีเนื้อหาเป็นข้อธรรมล้วน ๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคล จึงมีความยากที่จะทำความเข้าใจ พระอรรถกถาจารย์จึงต้องมีการขยายความเนื้อหาในปกรณ์ หรือพระอภิธรรมปิฎกเล่มต่าง ๆ ด้วยการเสริมเนื้อเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกับหัวข้อธรรมนั้น ๆ พน้อมทั้งมีการอธิบายคำศัพท์ที่สำคัญ เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้น และเข้าถึงความลึกซึ้งของพระอภิธรรมปิฎกได้มากขึ้น ซึ่งเนื้อหาสาระที่สำคัญที่สุดของปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถานั้น ย่อมเป็นการอธิบายและขนายความลักษณะบุคคลประเภทต่าง ๆ ที่ปรากฏในหลักคำสอนทางพุทธศาสนา

ในปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถา พระพุทธโฆสะ มีทั้งการขยายความเนื้อหาในคัมภีร์ทั้งในแง่สารัตถะ และในแง่นิยามความหมายของคำศัพท์และประโยชคที่ปรากฏในคัมภีร์ โดยตัวอย่างการอธิบายเนื้อหาสาระ หรือการเพิ่มเติมจากสารตถะเดิมของคัมภีร์นั้น เช่นในอรรถกถาภยูปรตบุคคล ท่านผู้รจนาได้อธิบายเพิ่มเติมจนเกิดความกระจ่างว่า "ภยูปรตบุคคล" หรือ "บุคคลผู้งดเว้นเพราะกลัว" หมายถึงผู้ใดบ้าง และเหตุใดจึงงดเง้นเพราะความกลัว หรือเพราะความกลัวในสิ่งใดจึงงดเว้นไม่กระทำการเช่นนั้น ๆ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

"พระเสกขบุคคล 7 พวก กับ ปุถุชนทั้งหลายผู้มีศีล กลัวแล้วย่อมงดเว้นจากบาป คือ ไม่กระทำบาป บรรดาพระอริยะและปุถุชนทั้งหลาย ย่อมกลัวภัย 4 อย่างคือ 1. ทุคคติภัย 2. วัฏฏภัย 3. กิเลสภัย 4. อุปวาทภัย ในภัยเหล่านั้น ภัยคือการไปสู่คติชั่ว ชื่อว่า ทุคคติภัย เพราะอรรถว่า อันบุคคลพึงกลัว แม้ในภัยทั้ง 3 ที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน. ในท่านเหล่านั้นปุถุชนกลัวทุคคติภัยด้วยคิดว่า ถ้าท่านจักทำบาปไซร้ อบายทั้ง 4 จักเป็นเช่นกับงูเหลือมกำลังหิวกระหายอ้าปากคอยท่าอยู่ ท่านเมื่อเสวยทุกข์อยู่ในอบายเหล่านั้นจักทำอย่างไร ? จึงไม่ทำบาป. ก็สังสารวัฏมีเบื้องต้นและที่สุดอันรู้มิได้นั่นแหละ ชื่อว่า วัฏฏภัย. อกุศลแม้ทั้งปวง ชื่อว่า กิเลสภัย. การติเตียน ชื่อว่า อุปวาทภัย. ปุถุชนกลัวภัยเหล่านั้นย่อมไม่กระทำบาป แต่พระเสกขะ 3 จำพวก คือพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี ทั้ง 3 นี้ล่วงพ้นจากทุคคติภัยได้แล้ว จึงยังกลัวภัยทั้ง 3 ที่เหลืออยู่ ย่อมไม่การทำบาป. พระเสกขะผู้ตั้งอยู่ในมรรคชื่อว่าผู้งดเว้นจากภัยด้วยอำนาจแห่งการบรรลุ หรือเพราะความเป็นผู้ตัดภัยยังไม่ขาด. พระขีณาสพ ชื่อว่า อภยูปรตบุคคล ท่านไม่กลัวภัยแม้สักอย่างหนึ่งในภัยทั้ง 4 เหล่านั้น. จริงอยู่ พระขีณาสพท่านตัดภัยได้ขาดแล้ว เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า "อภยูปรโต" ผู้งดเว้นความชั่วมิใช่เพราะความกลัวภัย. ถามว่าท่านก็ย่อมไม่กลัวแม้แต่ อุปวาทภัย ภัยคือการติเตียนหรือ? ตอบว่าไม่กลัว แต่ไม่ควรกล่าวว่าท่านรักษาอุปวาทภัย ข้อนี้บัณฑิตพึงเห็นเหมือนพระขีณาสพเถระในบ้านโทณุปปลวาปี เป็นตัวอย่าง."[5]

ตัวอย่างการอธิบายในแง่นิยามความหมายของคำศัพท์และประโยชคที่ปรากฏในคัมภีร์ เช่น ในอรรถกถาเอกกนิทเทส สมยวิมุตตบุคคล พระอรรถกถาจารย์ได้ทำการแจกแจงและอธิบายประโยคในเนื้อความที่ว่า "กตโม จปุคฺคโล สมยวิมุตฺโต" หรือ "สมยวิมุตตบุคคล บุคคลผู้พ้นแล้วในสมัย เป็นไฉน?" ท่านได้แจกแจงดังนี้

"ในคำเหล่านั้น คำว่า อิธ ได้แก่ ในสัตว์โลก. คำว่าเอกจฺโจ ปุคฺคโล ได้แก่ บุคคลคนหนึ่ง. ในคำว่า กาเลน กาลํ นี้พึงทราบเนื้อความด้วยสัตตมีวิภัตติ. อธิบายว่า ในกาลหนึ่ง ๆ คำว่า "สมเยนสมยํ" นี้เป็นไวพจน์ของคำก่อนนั้นแหละ (คือเป็นไวพจน์ของคำว่า กาเลนกาลํ) คำว่า "อฏฺฐ วิโมกฺเข" ได้แก่ สมาบัติ 8 อันเป็นรูปาวจร และอรูปาวจรฌาน. จริงอยู่ คำว่า วิโมกข์ นี้เป็นชื่อของสมาบัติ 8 เหล่านั้นเพราะพ้นจากธรรมอันเป็นข้าศึกทั้งหลาย. คำว่า "กาเยน" ได้แก่ นามกายที่เกิดพร้อมกับวิโมกข์. คำว่า "ผุสิตฺวา วิหรติ" ได้แก่ ได้สมาบัติแล้ว จึงผลัดเปลี่ยนอิริยาบถอยู่"[6]

คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

ชั้นฎีกา

[แก้]
  • ปุคคลบัญญัติมูลฎีกา หรือปัญจปกรณ์มูลฎีกา, ปรมัตถปกาสินี, ลีนัตถโชติกา, ลีนัตถโชตนา, ลีนัตถปทวัณณนา รจนาโดยพระอานันทะเถระ แต่งที่ลังกาทวีป ราวศตวรรษที่ 6 หรือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8 - 9[7][8]
  • ปุคคลบัญญัติอนุฎีกา หรือปัญจปกรณานุฎีกา, ลีนัตถวัณณนา, ลีนัตถปกาสินี, อภิธรรมานุฎีกา รจนาโดยพระจุลละธัมมปาล ราวศตวรรษที่ 6 หรือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 8 - 9[9] บ้างก็ว่าแต่งโดยพระอานันทะเถระ แต่งที่ลังกาทวีป[10]
  • ปุคคลบัญญัติโยชนา หรือปุคคลบัญญัติอัตถะโยชนา พระญาณกิตติเถระแห่งที่เชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2036-2037[11][12]
  • คุยหทีปนี (คุยหัตถทีปนี) ปัญจปกรณวัณณนา ปุคคลบัญญัติวัณณนา และปุคคลบัญญัติคัณฐี ไม่ปรากฏผู้แต่ง[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 49
  2. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 105
  3. วรรณคดีบาลี หน้า 78
  4. ดู The Life and Work of Buddhaghosa หน้า 84
  5. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาปุคคลบัญญัติปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม 3 หน้า 205 - 206
  6. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาปุคคลบัญญัติปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม 3 หน้า 190
  7. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 107
  8. Reference Table of Pali Literature
  9. Reference Table of Pali Literature
  10. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 113
  11. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 114
  12. Reference Table of Pali Literature
  13. ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 116

บรรณานุกรม

[แก้]
  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co. ฃ
  • Bhikkhu Nyanatusita. (2008). Reference Table of Pali Literature. electronic publication by author
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. กรุงเทพมหานคร. มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. ปรมัตถทีปนี อรรถกถาปัญจปกรณ์ อรรถกถาปุคคลบัญญัติปกรณ์. พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม 3
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา พระทรวงวัฒนธรรม.