ปั้น อุปการโกษากร
ปั้น อุปการโกษากร | |
---|---|
เสียชีวิต | พ.ศ. 2451 |
สัญชาติ | สยาม |
คู่สมรส | หลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) |
บุตร | 7 คน |
บิดามารดา | เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น) ท่านผู้หญิงสุทธิ์ ธิดาพระยารัตนโกษา (บุญเกิด) |
ปั้น อุปการโกษากร หรือ ปั้น ณ สงขลา เป็นศาสนูปถัมภก ผู้อุปถัมน์วัดแจ้งและวัดศาลาหัวยาง จังหวัดสงขลา และวัดสุทธิวราราม กรุงเทพมหานคร มีถนนที่ตั้งชื่อตามนามท่านคือ ถนนปั้น เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนสีลม กับถนนสาทรเหนือ
ครอบครัว
[แก้]ท่านปั้นเป็นธิดาของเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) เจ้าเมืองสงขลาลำดับที่ 6 กับท่านผู้หญิงสุทธิ์ ธิดาพระยารัตนโกษา (บุญเกิด) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 4 คน ได้แก่ พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร์) คุณกลิ่น คุณกุหลาบ เจ้าจอมในรัชกาลที่ 4 และท่านปั้น
ท่านปั้นสมรสกับหลวงอุปการโกษากร (เวท วัชราภัย) ซึ่งเป็นคหบดีค้าขายเรือสำเภา มีบุตรธิดา ด้วยกัน 7 คน ได้แก่
- คุณหญิงสมบุญ วิเชียรคีรี ภริยาพระยาวิเชียรคีรี (ชม ณ สงขลา) ผู้สำเร็จราชการเมืองสงขลา ลำดับที่ 8
- คุณหญิงบุญรอด สุรบดินทร์สุรินทรฤๅชัย ภริยาเจ้าพระยาสุรบดินทร์สุรินทรฤๅชัย (พร จารุจินดา)
- นางเชื้อ อนันตสมบัติ ภริยาพระอนันตสมบัติ (เอม) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา
- มหาอำมาตย์โท พระยาพิจารณาปฤชามาตย์ (สุหร่าย วัชราภัย)
- คุณหญิงเป้า เพชรกำแหงสงคราม ภริยาพระยาเพชรกำแหงสงคราม (มะลิ ยุตะนันท์)
- พระกรณีศรีสำรวจ (แดง วัชราภัย)
- คุณหญิงตาบ ศรีสังกร ภริยาพระยาศรีสังกร (ตาด จารุรัตน์)
ศาสนูปถัมภก
[แก้]มารดาของท่านปั้น ท่านผู้หญิงสุทธิ์ เป็นผู้สร้างพระอุโบสถที่วัดแจ้งและวัดศาลาหัวยาง และยังได้สร้างอุโบสถวัดสุทธิวราราม โดยมีท่านปั้นและครอบครัวเป็นผู้อุปัฏฐากวัดดังกล่าวต่อมาโดยตลอด ภายหลังที่ท่านปั้นถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2451 ด้วยโรคฝีที่ข้อศอกข้างซ้าย ทายาทได้รวบรวมทุนทรัพย์สร้างโรงเรียนขึ้นในที่ดินเดิมของท่านปั้นที่ได้ยกให้แก่วัด ชื่อว่า "โรงเรียนวัดสุทธิวราราม"[1]
พระราชนิยมในการสร้างโรงเรียนแทนวัดของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระดำริว่า
"...ตกลงกันเห็นว่า สถานที่ศึกษาเปนสิ่งสำคัญอันเปนประโยชน์ให้กุลบุตร์ได้อาศรัยเล่าเรียน ซึ่งเปนเวลาต้องการของบ้านเมืองด้วย และเมื่อปั้นยังมีชีวิตอยู่ได้เปนมรรคนายิกาวัดสุทธิวรารามตลอดมาจนถึงแก่กรรม จึงคิดสร้างโรงเรียนขึ้นที่วัดนี้ ..เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้ใช้สถานที่นี้กระทำการฌาปนกิจศพปั้น แต่เมื่อเดือนพฤษภาคมศกนี้แล้ว แลได้มอบตึกหลังนี้แก่กรมศึกษาธิการใช้เปนสถานศึกษาตามที่เจตนาไว้ กรมศึกษาธิการได้รับแลเปิดใช้เปนโรงเรียนชั้นมัธยม เรียกว่า โรงเรียนมัธยมพิเศษวัดสุทธิวราราม” รับนักเรียนเข้าเล่าเรียนตั้งแต่วันที่ ๓ กรกฎาคม รัตนโกสินทร ศก ๑๓๐ เปนต้นไป บรรดาผู้ที่ออกทรัพย์ก่อสร้างโรงเรียนขอพระราชทานถวายพระราชกุศล"
ภายหลังยังได้มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้กระทรวงธรรมการเชิญกระแสพระราชดำริและพระราชนิยมว่าด้วยเรื่องสร้างโรงเรียนแทนวัดออกประกาศให้มหาชนได้ทราบทั่วกันด้วย นอกจากนั้นที่ดินถนนหนึ่งที่ตัดกับถนนสีลมคือถนนปั้นก็ตั้งชื่อตามท่านปั้นตามที่ดินเก่าของท่าน[3] ซึ่งภายหลังได้แลกที่ดินกับนายนารายเจติ และนายโกบาระตี ที่ดินเพื่อตั้งศาสนสถานถาวรคือวัดพระศรีมหาอุมาเทวี[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ท่านปั้น อุปการโกษากร (วัชราภัย)". ชมรมสายสกุล ณ สงขลา.
- ↑ "พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (๓๒)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-06-05. สืบค้นเมื่อ 2022-04-30.
- ↑ pongsakornlovic (2011-03-22). "CHN 271 ถนนปั้น". ชื่อนั้น...สำคัญไฉน ?. สืบค้นเมื่อ 2018-02-21.
- ↑ "วัดพระศรีมหาอุมาเทวี (วัดแขก) Maha Uma Devi Temple". สำนักงานเขตบางรัก.