ปลาตะเพียนสาน
ปลาตะเพียนสาน เป็นงานประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนไทย[1]: 99 เดิมมักใช้ใบลานมาทำเป็นเส้นแผ่นยาว ๆ บาง ๆ มาตากแดด 2-3 นาที แล้วมาสานเป็นรูปปลาตะเพียน เนื่องจากใบลานมีโครงสร้างที่แข็งแรง แล้วลงสีให้สวยงาม จากนั้นก็นำมาประกอบเป็นโมบาย สมัยก่อนคนไทยมีอาชีพทำนากันเป็นส่วนใหญ่ ในคูคลองก็จะมีปลาตะเพียนเป็นจำนวนมาก ปลาตะเพียนสานจึงเป็นสัญลักษณ์แห่ง ความอุดม สมบูรณ์ เนื่องจากช่วงที่ ปลาโตเต็มที่นั้น เป็นช่วงเดียวกับ ช่วงเวลาที่ ข้าวตกรวง นอกจากนี้ผู้ใหญ่มักจะแขวน ปลาตะเพียนสาน ไว้เหนือเปลเด็ก เพื่อเป็นการอวยพร ให้เด็กสุขภาพแข็งแรงอีกด้วย ปลาตะเพียนสาน มี 2 ชนิด คือ ชนิดลวดลายและตกแต่งสวยงาม ซึ่งประดิษฐ์ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 และอีกชนิดหนึ่งเป็นเพียงสีใบลานตามธรรมชาติ
ปัจจุบันปลาตะเพียนสานยังมีการทำกันเป็นสินค้า OTOP ของชาวบ้านกลุ่มท่าวาสุกรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อีกด้วย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน และยังเป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของคนไทยไว้ นอกจากนี้บางคนยังใช้ริบบิ้นทำอีกด้วย นอกจากปลาตะเพียนสานใบลานที่ลงสีมาในสมัยรัชการที่ 5 แล้วในปัจจุบันยังมีการคิดเพิ่มเติมค่าให้ปลาตะเพียนในสมัยปัจจุบัน ได้มีการค้นคิดการฉลุใบลานขึ้นมาอีกเพี่อเพิ่มคุณค่าและลวดลายต่างๆลงไป อีกทั้งยังพัฒนา ประโยชน์การใช้งานปลาตะเพียนสานใบลานให้มีประโยชน์มากกว่าการที่จะเป็นเครื่องแขวนสำหรับใช้ในโอกาสอื่น ๆ อีกมากมายได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า otop กรุงเทพที่เขตธนบุรี และได้เป็นวิสาหกิจชุมชน ได้มีการจดลิขสิทธิ์ และแจ้งภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกด้วย
ประวัติ
[แก้]การสานปลาตะเพียนด้วยใบลานแล้วนำมาแต่งแต้มด้วยสีแดงแบบโบราณมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา[2]: 66 ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ใน พรรณนาภูมิสถานพระนครศรีอยุธยา เป็นเอกสารจากหอหลวงแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ความว่า :-
ถนนย่านป่าโทน มีร้านขายทับ โทน เรไร ปีแก้ว จังหน่อง เพลี้ย ขลุ่ย หีบ ไม้อุโลก ไม้ตะแบก ไม้ขนุนใส่ผ้า และขายช้าง ม้า กระดาษ อู่ เปล ศาลพระภูมิ เจว็ดเขียนเทวรูป เสื่อลําแพน ปลาตะเพียนใบลาน จิงโจ้[3]: 70
การสานปลาตะเพียนด้วยใบลานเกิดจากทัศนคติและความเชื่อด้านศาสนาพุทธของคนสมัยโบราณ[1]: 99 เชื่อว่าไตรภูมิคือโลกจักรวาลที่ชาวพุทธอาศัยอยู่นั้นเป็นรูปกลมเหมือนถ้วย โอบอุ้มน้ำมหาสมุทรด้วยเขากำแพงจักรวาล ตรงกลางเป็นเขาพระสุเมรุถูกหนีบไว้ด้วยเขาตรีกูฏ มีปลายักษ์เรียกว่า ปลาอานนท์ [4]: 72 นอนหนุนจักรวาลอยู่ เมื่อปลาอานนท์ขยับตัวจะทำให้โลกเคลื่อนไหว บางครั้งรุนแรงจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และมีการเปรียบเทียบเป็นคติ คำพังเพย และสุภาษิตไทยเกี่ยวกับปลาสะท้อนให้เห็นถึงความผูกพันของชาวกรุงศรีอยุธยากับสายน้ำมาตั้งแต่อดีต
ปัจจุบัน การสานปลาตะเพียนด้วยใบลานห้อยเป็นพวงระย้า สื่อความหมายถึงคำอวยพร ความอุดมสมบูรณ์ มีสุขภาพแข็งแรง ร่างกายสมบูรณ์ และมีฐานะมั่งคั่ง[5]
ลักษณะเครื่องแขวนปลาตะเพียนใบลาน
[แก้]เครื่องแขวนปลาตะเพียนใบลานพวงหนึ่ง เรียกว่า ปลาลูกสิบห้า [1]: 103 ประกอบด้วยลูกปลา 9 ตัว 12 ตัว หรือ 15 ตัวตามแต่ขนาดของแม่ปลา มีส่วนประกอบ 4 ส่วน ดังนี้
- ส่วนที่ 1 พวงกุญแจ ประกอบด้วยห่วงพวงกุญแจ ใช้ลูกปัดชนิดต่างๆ ร้อยพ่วงกับห่วง
- ส่วนที่ 2 ปลาประธาน ห้อยปลาตะเพียนใบลานขนาดกลาง สานด้วยใบลานกว้าง 1 ซม. ยาว 35 ซม. พ่วงต่อกับส่วนที่ 1 ประดับด้วยลูกปัด
- ส่วนที่ 3 ลูกปลา ห้อยปลาตะเพียนใบลานขนาดเล็ก สานด้วยใบลานกว้าง 0.8 ซม. ยาว 16 ซม. พ่วงต่อกับส่วนที่ 2 ประดับด้วยลูกปัด
- ส่วนที่ 4 แม่ปลา ห้อยปลาตะเพียนใบลานขนาดใหญ่ สานด้วยใบลานกว้าง 0.8 ซม. ยาว 16 ซม. พ่วงต่อกับส่วนที่ 3 มีพู่ห้อย 3 พู่ ประดับด้วยลูกปัด
อ้างอิง
[แก้]- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 สมหวัง คงประยูร. (2521). "ปลาตะเพียนสานอยุธยา (ประวัติความเป็นมา)" ใน ศิลปะพื้นบ้าน. เชียงใหม่: ส่งเสริมธุรกิจ. 267 หน้า.
- ↑ กรมศิลปากร. (2544). วารสารศิลปากร, 44(1-3). (มกราคม-มิถุนายน 2544).
- ↑ วินัย พงศ์ศรีเพียร. (2551). พรรณนาภูมิสถาน พระนครศรีอยุธยา เอกสารจากหอหลวง (ฉบับความสมบูรณ์). กรุงเทพฯ: อุษาคเนย์. 199 หน้า. ISBN 978-97-4-056083-8
- ↑ พิษณุ ศุภนิมิตร และมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ. (2551). "หิมพานต์อยู่หนไหน ในโลกจักรวาล" ใน นิทรรศการภาพถ่ายนานาชาติ ศิลปวัฒนธณรมไทย ครั้งที่ 4 เนื่องในงานวันนริศ ประจำปี 2551 และเนื่องในโอกาสครบรอบ 65 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง. 86 หน้า.
- ↑ การพัฒนาและยกระดับผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เครื่องแขวนปลาตะเพียนใบลาน. พระนครศรีอยุธยา: สถาบันอยุธยาศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, 2565.