ปลาฉลามพยาบาล
ปลาฉลามพยาบาล ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: 112–0Ma ยุคอัลเบียนจนถึงปัจจุบัน[1] | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Chondrichthyes |
ชั้นย่อย: | Elasmobranchii |
อันดับ: | Orectolobiformes |
วงศ์: | Ginglymostomatidae |
สกุล: | Ginglymostoma J. P. Müller & Henle, 1837 |
สปีชีส์: | G. cirratum |
ชื่อทวินาม | |
Ginglymostoma cirratum (Bonnaterre, 1788) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ (สีน้ำเงิน) |
ปลาฉลามพยาบาล หรือ ปลาฉลามขี้เซา (อังกฤษ: nurse shark, sleepy shark) เป็นปลาฉลามชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ginglymostoma cirratum อยู่ในวงศ์ Ginglymostomatidae เป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Ginglymostoma[3]
โดยที่ชื่อวิทยาศาสตร์นั้นคำว่า Ginglymostoma หรือ Ginglymostomatidae มาจากภาษากรีกคำว่า γίγγλυμος (ginglymos) หมายถึง "บานพับ" หรือ "สายยู" และ στόμα (stoma) หมายถึง "ปาก" และคำว่า cirratum มาจากภาษากรีก หมายถึง "ขด" หรือ "ว่ายน้ำ"[4]
จัดเป็นปลาฉลามในอันดับ Orectolobiformes หรือปลาฉลามหน้าดินขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายกับปลาฉลามพยาบาลสีน้ำตาล (Nebrius ferrugineus) ที่พบได้ในทวีปเอเชียและแอฟริกา ซึ่งในอดีตได้สร้างความสับสนให้แก่แวดวงวิชาการมาแล้ว[4] โดยปลาฉลามพยาบาลจะพบได้ตามแถบหมู่เกาะแคริบเบียน, แถบชายฝั่งของรัฐฟลอริดาตอนใต้และฟลอริดาคียส์, ชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา, ทะเลคอร์เตสไปจนถึงชายฝั่งเปรูในทวีปอเมริกาใต้[5]
มีขากรรไกรที่แข็งแรง ในปากมีฟันที่แบนและงุ้มเข้าภายใน ใช้สำหรับงับอาหารซึ่งได้แก่ ปลาขนาดเล็กกว่าตามหน้าดินและสัตว์มีกระดองและมอลลัสคาต่าง ๆ รวมถึงหอยเม่นให้อยู่และกัดให้แตก โดยใช้อวัยวะที่คล้ายหนวดเป็นเครื่องนำทางและเป็นประสาทสัมผัส จะใช้วิธีการกินด้วยการดูดเข้าปาก มีครีบหางที่ยาวถึงร้อยละ 25 ของความยาวลำตัว ลำตัวเป็นสีเหลืองน้ำตาลจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ขณะที่ยังเป็นปลาวัยอ่อนจะมีจุดเข้มเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่ว
เป็นปลาที่อาศัยและหากินตามพื้นน้ำในความลึกไม่เกิน 70 เมตร บางครั้งพบได้ใกล้ชายฝั่งหรือป่าชายเลน เนื่องจากเข้ามาหาอาหารกิน ใช้เวลาหากินในเวลากลางคืน และนอนหลับตามโพรงถ้ำหรือกองหินในเวลากลางวัน เป็นปลาที่มักจะอยู่นิ่ง ๆ ซึ่งบางครั้งอาจพบรวมตัวกันได้นับสิบตัว[6]
มีความยาวได้ถึงเกือบ 4 เมตร น้ำหนักกว่า 300 ปอนด์ (ขนาดโตเต็มที่ที่มีบันทึกไว้ คือ ยาว 4.3 เมตร (14 ฟุต) น้ำหนัก 330 กิโลกรัม (730 ปอนด์)[3]) โดยปกติเป็นปลาที่ไม่ทำอันตรายมนุษย์ จึงเป็นที่ชื่นชอบของนักดำน้ำที่จะถ่ายรูปเช่นเดียวกับปลาฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum) แต่ก็สามารถทำร้ายมนุษย์ได้ หากไปรบกวนเข้าด้วยการกัดและดูดที่ทรงพลัง[6]
เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงกันตามสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ทั่วโลก มีฤดูกาลผสมพันธุ์อยู่ระหว่างเดือนมิถุนายนจนถึงกรกฎาคม เป็นปลาที่ออกเป็นไข่แต่ลูกปลาจะพัฒนาจนฟักเป็นตัวในท้องของแม่ปลาเหมือนปลาฉลามส่วนใหญ่ชนิดอื่น ตั้งท้องนานประมาณ 6 เดือน ออกลูกสูงสุดได้ถึง 21-29 ตัว ใช้เวลานาน 18 เดือนสำหรับรังไข่ที่จะพร้อมให้กำเนิดไข่ชุดใหม่ ลูกปลาเมื่อแรกเกิดม่ีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร โดยจุดสีเข้มนั้นจะค่อย ๆ จางหายไปเมื่ออายุมากขึ้น[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Sepkoski, Jack (2002). "A compendium of fossil marine animal genera (Chondrichthyes entry)". Bulletins of American Paleontology. 364: 560. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-10. สืบค้นเมื่อ 9 January 2008.
- ↑ "Ginglymostoma cirratum". IUCN Red List of Threatened Species. Version 2011.2. 2006. สืบค้นเมื่อ 10 May 2006.
- ↑ 3.0 3.1 Nurse Shark National Geographic
- ↑ 4.0 4.1 Goto, T. (2001). "Comparative Anatomy, Phylogeny and Cladistic Classification of the Order Orectolobiformes (Chondrichthyes, Elasmobranchii)". Memoirs of the Graduate School of Fisheries Science, Hokkaido University. 48 (1): 1–101. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-10-16. สืบค้นเมื่อ 2014-12-27.
- ↑ 5.0 5.1 Leonard J. V. Compagno (1984). Sharks of the World: An annotated and illustrated catalogue of shark species known to date. Food and Agriculture Organization of the United Nations. pp. 205–207, 555–61, 588.
- ↑ 6.0 6.1 Vacation Nightmares, "Dangerous Encounters". สารคดีทาง new)tv: ศุกร์ที่ 26 ธันวาคม 2557
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Ginglymostoma cirratum ที่วิกิสปีชีส์