ข้ามไปเนื้อหา

ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ
ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจคู่สีดำ ที่อินโดนีเซีย
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Syngnathiformes
วงศ์: Solenostomidae
สกุล: Solenostomus
สปีชีส์: S.  paradoxus
ชื่อทวินาม
Solenostomus paradoxus
(Pallas, 1770)

ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ (อังกฤษ: Shortbodied pipefish, Ghost pipefish, Harlequin ghost pipefish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Solenostomus paradoxus) เป็นปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ (Solenostomidae)

มีจะงอยปากยาว ลำตัวแบนข้างเล็กน้อย มีติ่งสั้น ๆ ทั่วทั้งตัว ครีบมีขนาดใหญ่ และมีขอบเป็นเส้นสั้น ๆ ลำตัวค่อนข้างใส มีสีสันหลากหลาย ทั้งสีแดง, ขาวสลับดำหรือเหลือบสีอื่น ๆ โดยปรับเปลี่ยนสีให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อาศัย

มีความยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 8 เซนติเมตร มักพบในแนวปะการังหรือกัลปังหาที่เขตน้ำลึก ในมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก มักลอยตัวอยู่นิ่ง ๆ เพื่อแฝงตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม เป็นปลาที่หากินในเวลากลางคืน โดยกิน แพลงก์ตอนสัตว์และครัสเตเชียนขนาดเล็ก เป็นอาหาร โดยเอาส่วนหัวทิ่มลงพื้น [1]

ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ มีพฤติกรรมการวางไข่ที่แตกต่างไปจากปลาชนิดอื่นในอันดับเดียวกัน คือ ตัวเมียจะเป็นฝ่ายอุ้มท้อง โดยใช้ครีบหน้าท้องขนาดใหญ่สองครีบไว้สำหรับโอบอุ้มไข่ที่ได้รับการผสม และอุ้มท้องพาไข่ติดตัวไปด้วยตลอดเวลาจนกว่าจะฟักออกเป็นตัว โดยมีปลาตัวผู้ที่มีขนาดเล็กกว่า คอยดูแลอยู่ตลอด ซึ่งถุงครีบใต้ท้องของแม่ปลานั้นจะคอยกระพือเปิดปิดเป็นระยะ ๆ เพื่อให้น้ำทะเลและออกซิเจนที่ผสมอยู่ในน้ำไหลเวียนถ่ายเท เพื่อให้ตัวอ่อนในไข่เจริญเติบโต ซึ่งสามารถมองเห็นเป็นไข่ลูกกลม ๆ ใส ๆ หรือบางครั้งก็สามารถมองเห็นดวงตาจุดดำ ๆ คู่โตในไข่ได้อย่างชัดเจนด้วยตาเปล่า [2]

ปลาจิ้มฟันจระเจ้ปีศาจ เป็นปลาที่พบได้น้อยมาก ในน่านน้ำไทยอาจพบได้ที่หมู่เกาะสิมิลัน ไม่จัดว่าเป็นปลามีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และปัจจุบันได้มีการจับมาจากแหล่งธรรมชาติเพื่อขายเป็นปลาสวยงาม[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หน้า 108, คู่มือปลาทะเล โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (ตุลาคม, 2551) ISBN 978-974-484-261-9
  2. [ลิงก์เสีย] ปีศาจแห่งท้องทะเล / วินิจ รังผึ้ง จากผู้จัดการออนไลน์
  3. ปลาจิ้มฟันจระเข้ปีศาจ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Solenostomus paradoxus ที่วิกิสปีชีส์