ปราสาทนอรัม
ปราสาทนอรัม Norham Castle | |
---|---|
ปราสาทนอรัม | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | ปราสาท |
สถาปัตยกรรม | ปราสาท |
เมือง | นอรัม นอร์ทัมเบอร์แลนด์ |
ประเทศ | อังกฤษ สหราชอาณาจักร |
พิกัด | 55°43′19.2″N 2°8′56.4″W / 55.722000°N 2.149000°W |
เริ่มสร้าง | ค.ศ. 1121 |
สิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ ระดับ 1 |
ปราสาทนอรัม (อังกฤษ: Norham Castle, (ออกเสียง)) เดิมเป็นปราสาทที่ตั้งอยู่ในเทศมณฑลนอร์ทัมเบอร์แลนด์ในสหราชอาณาจักรเหนือฝั่งแม่น้ำทวีดบนพรมแดนระหว่างอังกฤษและสกอตแลนด์ นอรัมเป็นปราสาทที่สถานที่ที่อยู่ในสนามรบระหว่างความขัดแย้งระหว่างอังกฤษ และ สกอตแลนด์ในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง
ปราสาทนอรัมเป็นสิ่งก่อสร้างอยู่ในรายชื่อสิ่งก่อสร้างภายใต้การพิทักษ์ ระดับ 1 และ ในรายการโบราณสถานขึ้นอันดับ (Scheduled Ancient Monument) ปัจจุบันโบราณสถานแห่งนี้อยู่ภายใต้การบริหารขององค์การอนุรักษ์แห่งอังกฤษ
ประวัติสมัยแรก
[แก้]ปราสาทนอรัมเดิมก่อตั้งขึ้นเมื่อรานุล์ฟ แฟลมบาร์ด บิชอปแห่งเดอรัมระหว่าง ค.ศ. 1099 ถึง ค.ศ. 1128 มีคำสั่งให้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1121 เพื่อให้ในการพิทักษ์ทรัพย์สินของมุขมณฑลทางตอนเหนือของนอร์ทัมเบอร์แลนด์จากการโจมตีของชาวสกอต
ในปี ค.ศ. 1136 พระเจ้าเดวิดที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ก็เดินทัพเข้ามารุกรานนอร์ทธัมเบอร์แลนด์และยึดปราสาท แต่ไม่นานก็คืนให้แก่มุขมณฑล แต่ก็ถูกยึดคืนไปอีกในปี ค.ศ. 1138 ระหว่างการรุกรานครั้งต่อมา ครั้งนี้โครงสร้างของปราสาทถูกทำลายอย่างยับเยิน ปราสาทอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาจนเมื่อฮิวจ์ เดอ ปุยเซ็ต บิชอปแห่งเดอรัมระหว่าง ค.ศ. 1153 ถึง ค.ศ. 1195 สั่งให้ซ่อมแซมใหม่ งานซ่อมอาจจะดำเนินการภายใต้การดูแลของริชาร์ดแห่งโวลวิสตันผู้เป็นสถาปนิกของบิชอปปุยเซ็ต
ในปี ค.ศ. 1174 ฮิวจ์ เดอ ปุยเซตให้การหนุนหลังกลุ่มผู้ต่อต้านพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ ในขณะเดียวกันกับที่พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งสกอตแลนด์เดินทัพเข้ามารุกรานนอร์ทัมเบอร์แลนด์ คณะผู้ปฏิวัติได้รับความพ่ายแพ้ซึ่งเป็นผลทำให้ฮิวจ์ เดอ ปุยเซ็ตต้องยกปราสาทให้เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปราสาทได้รับการบริหารโดยผู้บริหารที่ได้รับแต่งตั้งจากองค์กรทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ มีทหารประจำการที่เป็นทหารหลวงมาจนถึงปี ค.ศ. 1197 สองปีหลังจากที่ปุยเซ็ตเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อปราสาทถูกเวนคืนให้แก่ฟิลีปแห่งปัวตู อาร์ชบิชอปแห่งเดอรัมองค์ต่อมา อาร์ชบิชอปแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์องค์ต่อมาสมเด็จพระเจ้าจอห์น แต่เมื่ออาร์ชบิชอปฟิลิปสิ้นพระชนม์ปราสาทก็ถูกเวนคืนกลับไปเป็นของหลวงอีก
คริสต์ศตวรรษที่สิบสาม
[แก้]ในปี ค.ศ. 1209 ปราสาทนอรัมเป็นที่ประทับของทั้งพระเจ้าจอห์น และพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ เมื่อพระเจ้าวิลเลียมเสด็จมาแสดงความสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าจอห์น ระหว่างปี ค.ศ. 1208 จนถึงปี ค.ศ. 1211 พระเจ้าจอห์นทรงทะนุบำรุงปราสาทให้อยู่ในสภาพดีเพื่อใช้เป็นที่ตั้งมั่นอันแข็งแรง การมีที่ตั้งมั่นที่แข็งแรงเป็นสิ่งจำเป็นในปี ค.ศ. 1215 เมื่อ[[พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 แห่งสกอตแลนด์]พระราชโอรสในพระเจ้าวิลเลียมเดินทัพมาล้อมปราสาทอยู่สี่สิบวันแต่ก็ไม่สามารถยึดปราสาทได้ ในปี ค.ศ. 1217 หลวงก็คืนปราสาทให้กับสังฆมณฑลเดอแรมอีกครั้งหนึ่ง
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 ผู้ทรงได้รับฉายาว่า “ผู้บี้ชาวสกอต” (Hammer of the Scots) เดินทางมาประทับที่ปราสาทมากกว่าครั้งเดียว ในปี ค.ศ. 1292 พระองค์เสด็จมาเพื่อรับการแสดงการสวามิภักดิ์ของจอห์นแห่งสกอตแลนด์ ในปี ค.ศ. 1296 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงเดินทัพเข้าไปรุกรานสกอตแลนด์ ระหว่างที่ขึ้นไปทำการสงคราม พระองค์ก็ทรงทิ้งพระนางมาร์เกอรีตแห่งฝรั่งเศสไว้ให้ประทับที่ปราสาทนอรัม
คริสต์ศตวรรษที่สิบสี่
[แก้]ระหว่างต้นคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่ ฝ่ายสกอตก็เข้ามารุกรานนอร์ทธัมเบอร์แลนด์หลายครั้งแต่ก็มิได้โจมตีปราสาทนอรัมทุกครั้ง ในปี ค.ศ. 1318 พระเจ้าโรเบิร์ตที่ 1 แห่งสกอตแลนด์ หรือ โรเบิร์ตเดอะบรูซมาล้อมปราสาทอยู่เกือบหนึ่งปี กองทัพสกอตสามารถยึดรอบนอกของปราสาทได้อยู่สามวันก่อนที่จะถูกขับออกไป การยึดปราสาทจึงไม่ประสบความสำเร็จ ในปี ค.ศ. 1319 ฝ่ายสกอตนำทัพกลับมาอีกและไม่สามารถยึดปราสาทได้หลังจากที่ล้อมอยู่เจ็ดเดือน ในปี ค.ศ. 1322 ฝ่ายสกอตพยายามยึดปราสาทอีกแต่ก็ไม่สำเร็จ ระหว่างการล้อมทั้งสามครั้ง ปราสาทอยู่ในการควบคุมโดยเซอร์ทอมัส เกรย์แห่งเฮตันขุนนางผู้ที่เคยถูกฝ่ายสกอตจับไปเป็นเชลยในปี ค.ศ. 1314.
ในปี ค.ศ. 1327 กองทัพสกอตสามารถบุกเข้ายึดปราสาทนอรัมได้แต่ก็เพียงไม่นานก่อนที่สังฆมณฑลเดอแรมจะยึดคืนมาได้เมื่อมีการประกาศสันติภาพ
คริสต์ศตวรรษที่สิบห้า
[แก้]แม้ว่าในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่สิบห้าจะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นที่ปราสาทนอรัม แต่ปราสาทก็ได้รับการทำนุบำรุงให้อยู่ในสภาพที่ดี เหตุการณ์ใหญ่ครั้งต่อมาเกิดขึ้นระหว่างสงครามดอกกุหลาบ (ค.ศ. 1455-ค.ศ. 1487) ในปี ค.ศ. 1462 ปราสาทนอรัมถูกยึดโดยฝ่ายราชวงศ์ยอร์กในนามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ปีต่อมากองทัพของฝ่ายราชวงศ์แลงคาสเตอร์ก็มาล้อมปราสาทอยู่เป็นเวลาสิบแปดวันจนกระทั่งฝ่ายยอร์คมีกองหนุนมาช่วย ในปี ค.ศ. 1464 กองกำลังที่ยึดนอรัมอยู่ก็เปลี่ยนข้างไปสนับสนุนฝ่ายแลงคาสเตอร์ แต่ก็ถูกฝ่ายยอร์กบังคับให้ยอมแพ้
ต่อมาในปลายคริสต์ศตวรรษสังฆราชริชาร์ด ฟ็อกซ์ทำการสร้างเสริมระบบป้องกันของปราสาทให้ดีขึ้น ในปี ค.ศ. 1497 ปราสาทนอรัมถูกล้อมอยู่เป็นเวลาสองอาทิตย์โดยกองทัพที่นำโดยพระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ ระหว่างการล้อมก็ได้มีการยิงปืนใหญ่เพื่อที่จะทลายกำแพง แต่ในที่สุดฝ่ายอังกฤษก็ส่งกองหนุนขึ้นไปช่วยได้ทัน หลังจากการล้อมครั้งล่าสุดแล้วนอรัมก็ได้รับการซ่อมแซมอีกครั้งหนึ่ง ปืนใหญ่ที่ใช้ในการยิงกำแพงปราสาทเป็นปืนขนาด 56 เซนติเมตรที่เรียกกันว่ามอนสเม็กที่ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่ปราสาทเอดินบะระ
คริสต์ศตวรรษที่สิบหก
[แก้]ในปี ค.ศ. 1513 พระเจ้าเจมส์ที่ 4 แห่งสกอตแลนด์ทรงนำทัพเข้ามารุกรานอังกฤษอีกครั้งพร้อมกับกองกำลังอันเข้มแข็งและอาวุธที่มีประสิทธิภาพสูง หลังจากที่ทรงข้ามพรมแดนแล้วพระเจ้าเจมส์ก็ทรงเดินทัพไปยังปราสาทนอรัม เมื่อไปถึงพระองค์ก็ทรงสั่งให้รุมยิงระบบป้องกันรอบนอกของปราสาทอยู่หลายวันจนกระทั่งรอบนอกของปราสาทถูกยึดได้โดยฝ่ายสกอต จากนั้นไม่นานปราสาทก็ยอมแพ้ เมื่อถึงเวลานั้นกำแพงรอบนอกของปราสาทเกือบทั้งหมดก็ถูกทำลายไปสิ้น แต่สองสามอาทิตย์ต่อมาพระเจ้าเจมส์ก็ทรงพ่ายแพ้และทรงถูกสังหารในยุทธการฟลอดเด็นฟิลด์ไม่ไกลจากแบรงสตัน นอร์ทัมเบอร์แลนด์ นอรัมจึงกลับมาเป็นของอังกฤษอีกครั้งหนึ่ง
บิชอปธอมัส รูธอลล์แห่งเดอรัมทำการตรวจตราความเสียหายของปราสาทและเริ่มทำการบูรณะที่ดำเนินต่อมาจนถึงปี ค.ศ. 1521 ปราสาทนอรัมได้รับการทำนุบำรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้เป็นที่มั่นอันมั่นคงแข็งแรงอีกครั้งตลอดระยะเวลาที่อังกฤษมีความขัดแย้งกับสกอตแลนด์ในคริสต์ศตวรรษนี้ แต่เมื่อช่วงระยะเวลาที่มีความสงบยืดเยื้อมาเป็นเวลาราวสองศตวรรษหลังจากคริสต์ศตวรรษที่สิบหก นอรัมก็ถูกละเลยจนตกอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษปราสาทก็ตกอยู่ในภาพที่ไม่อาจจะบูรณปฏิสังขรณ์ได้อีก
ที่ตั้งและตัวปราสาท
[แก้]ปราสาทนอรัมตั้งอยู่บนฝั่งใต้ของแม่น้ำทวีดแต่สูงจากฝั่งน้ำ ฉะนั้นด้านที่ติดแม้น้ำทางเหนือของปราสาทจึงใช้ผาสูงของฝั่งน้ำเป็นเครื่องป้องกัน ทางตะวันออกป้องกันด้วยห้วยลึก ทาตะวันตกและทางใต้ป้องกันด้วยคูที่ขุดขึ้น ตัวปราสาทเป็นวงซ้อนสองวง วงในอยู่บนเนินดินและแยกจากวงนอกด้วยคูที่เชื่อมด้วยสะพานชัก
ทางเข้าหลักเป็นประตูทางตะวันตกที่มีระบบป้องกันอย่างแข็งแรงที่ตรงออกไปยังลานรอบนอก ประตูที่สองอยู่ทางด้านใต้ของปราสาทรอบนอกที่เรียกว่าประตูแกะ (Sheep Gate)
ปราสาทตอนในเข้าได้โดยใช้สะพานชักข้ามคูเข้ามาทางประตูทางตะวันตก ในปัจจุบันนี้สะพานชักได้รับการเปลี่ยนแปลงเป็นสะพานไม้ ทางด้านเหนือเป็นหอประชุมบิชอป (bishop’s hall) ที่กว้าง 9.1 เมตร ยาว 18.3 เมตร ที่ปัจจุบันเหลือเพียงซาก ทางด้านตะวันออกเป็นหอกลางที่มีขนาด 25.6 x 18.3 เมตร สูง 26.8 เมตร กล่าวกันว่าหอกลางสร้างโดยฮิวจ์ เดอ ปุยเซ็ต
อ้างอิง
[แก้]- Dodds, G.L., “Historic Sites of Northumberland & Newcastle upon Tyne”, 2000, Albion Press, pp 121-129, ISBN – 0-9525122-1-1.
- Saunders, A. D., "Norham Castle and Early Artillery Defences", Fort (Fortress Study Group), (25), 1997, pp37-61
ดูเพิ่ม
[แก้]แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ปราสาทนอรัม
- http://www.castlexplorer.co.uk/england/norham/norham.php เก็บถาวร 2007-02-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Find public transport to Norham Castle เก็บถาวร 2016-03-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน - buses stop close to the castle