ข้ามไปเนื้อหา

ผงปถมัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ปถมัง)

ผงปถมัง หรือ ปถมัง [ปะ-ถะ-หฺมัง] ชื่อวิชาไสยศาสตร์โบราณของไทย ว่าด้วยการทำผงด้วยเวทมนตร์คาถา โดยใช้แท่งดินสอพองเขียนอักขระลงบนกระดานชนวน เริ่มจากลงนะปถมังหรือนะทรงแผ่นดิน บางแห่งเรียกนะปัดตลอด แล้วลบบังเกิดเป็นนะโมพุทธายะ เป็นองค์พระ เป็นมะอะอุ เป็นอุณาโลม เป็นต้น ไปจนกระทั่งถึงสูญนิพพานจึงเป็นอันสิ้นสุด โดยระหว่างการลงอักขระและลบในขั้นตอนต่าง ๆ จะต้องมีการบริกรรมสูตร ซึ่งเป็นพระคาถาสำหรับการลงอักขระและลบอักขระต่าง ๆ กล่าวกันว่าเป็นอุบายในการฝึกสมาธิอย่างหนึ่งในสมัยโบราณ ผงดินสอพองที่ได้จากการเขียนและลบอักขระตามคัมภีร์ปถมังนี้ เรียกว่าผงปถมัง เชื่อว่ามีอานุภาพทางด้านอิทธิฤทธิ์อยู่ยงคงกระพันโดยมากมักนำมาผสมทำเป็นเครื่องราง ผู้ที่สำเร็จคัมภีร์ปถมังจะอยู่ยงคงกระพันรวมทั้งล่องหนหายตัวได้ ชื่อวิชานี้ปรากฏในวรรณกรรมเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนด้วย

ผงอิทธิเจ (อ่านว่า ผง-อิด-ทิ-เจ) และผงปถมํ (อ่านว่า ผง-ปัด-ถะ-มัง) เป็นผง ใช้สำหรับสร้างพระพิมพ์ ประกอบด้วยสูตรการเขียนผง ผงอื่นๆ จากพระสงฆ์ชื่อดัง ว่านหลายชนิด เช่น ว่านนางกวัก ว่านเพชรน้อย ว่านเพชรใหญ่ ว่านเพชรกลับ เศษพระชำรุดจากพระผงพระสมเด็จกรุต่างๆ เช่น วัดใหม่อมตรส วัดอินทรวิหาร เขตบางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร ผงปถมํวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ผงปถมํจากหลวงปู่หิน หลวงปู่นาค วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร ผงปถมํจาก วัดสามปลื้ม ผงปถมํจาก วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

ในครั้งแรก การทดลองพิมพ์พระ เนื้อพระเปราะ แตกและหักง่าย พิมพ์ออกมาแล้วไม่สวยบ้างจึงใช้น้ำมนต์และน้ำมันตั้งอิ้วเป็นตัวประสานผง จนประสบผลสำเร็จ ผลปรากฏต่อมาว่าพระผง เนื้อดี เป็นมันแกร่ง คล้ายพระกรุวัดใหม่อมตรส และที่สำคัญเป็นที่เลื่องลือมากในพุทธคุณ มีความเชื่อด้านเมตตามหานิยม [[แคล้วคลาด]

การทำผงปถมัง

[แก้]

สูตรการเขียนผงปถมังของเทพย์ สาริกบุตร คติโบราณถือสืบกันมาว่า ปถมังเป็นคัมภีร์แรกที่ผู้ใคร่ศึกษาวิชาเวทมนตร์พึงจำเป็นต้องเรียนรู้ เพราะเมื่อเริ่มเรียนรู้สูตรในคัมภีร์ปถมังได้แล้ว ก็จะสามารถหัดลงเลขยันต์ต่าง ๆ ต่อไปได้ กล่าวกันว่าที่มาของคัมภีร์ปถมังนี้ เริ่มแรกเมื่อครั้งต้นกัป โลกนี้ยังเป็นที่ว่างเปล่าอยู่ พื้นแผ่นดินยังเพิ่งจะงวดจากน้ำ เริ่มจะเกิดเป็นพื้นดินขึ้นมา ท้าวสหัมบดีพรหมได้เล็งญาณลงมาแลเห็นดอกบัวโผล่พ้นระลอกน้ำขึ้นมา ๕ ดอก ก็ทราบด้วยญาณว่าในกัปนี้จะบังเกิดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาตรัสรู้ ๕ พระองค์ เป็นกำเนิดแห่งภัทรกัปอันประเสริฐยิ่ง แล้วจึงได้หยิบหญ้าคาทิ้งลงมาบนพื้นน้ำ น้ำนั้นก็งวดเป็นแผ่นดินขึ้น มีกลิ่นหอม เหล่าพรหมได้กลิ่นง้วนดินต่างลงมาเสพกิน ติดรสง้วนดินนั้นมิอาจกลับคืนสู่พรหมโลกได้ จึงได้ตั้งรกรากเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์สืบมาจนทุกวันนี้ ฉะนั้นก่อนจะเล่าเรียนคัมภีร์ปถมังจึงต้องกล่าวคำนมัสการสหัมบดีพรหมดังนี้

อังการะพินทุนาถังอุปปันนัง พรหมาสหัมปตินามะ อาทิกัปเป สุอาคะโต ปัญจะปทุมมังทิสวา นะโมพุทธายะวันทะนังฯ

คัมภีร์ปถมังเริ่มแรกด้วยการทำพินทุ คือแววกลม ถือเป็นปฐมกำเนิด จากนั้นจึงแตกเป็นทัณฑะ เภทะ อังกุ และสิระตามลำดับ สำเร็จเป็นนะปถมังพินทุ เวลาทำใช้แท่งดินสอพองเขียนลงบนกระดานชนวน มีการเรียกสูตรบริกรรมคาถากำกับตลอด จนสำเร็จเป็นนะปถมัง มีการนมัสการและเสกตามลำดับ ขณะทำมีขั้นตอนและวิธีการที่สลับซับซ้อนพิสดารมาก ผู้สนใจควรศึกษาจากคัมภีร์ปถมังโดยตรง เนื้อหาของคัมภีร์ปถมังนี้มีทั้งสิ้น ๙ วรรค หรือ ๙ กัณฑ์ แต่ละกัณฑ์เป็นวิธีการทำผงเพื่อฝึกจิตอย่างพิสดารต่างกันไป โดยทุกวรรคหรือทุกกัณฑ์จะเริ่มต้นด้วยนะปถมังพินทุ จากนั้นจะแยกแยะไปเป็นอุณาโลม อุโองการ องค์พระภควัม หัวใจพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ ฯลฯ ต่างกันไปในแต่ละวรรค แต่ทุกวรรคจะจบที่สูญนิพพาน คือ นิพพานัง ปรมัง สุญญัง เหมือนกันทั้งสิ้น ขณะทำผู้ทำจะใช้จิตเพ่งอักขระ มือเขียน พร้อมบริกรรมคาถาอย่างต่อเนื่องจนจิตสงบเป็นเอกัคคตาสมาธิ เมื่อจบสูตรแล้วจึงเอามือลบอักขระบนกระดาน กล่าวกันว่าหากจิตเป็นสมาธิแน่วแน่ ผงดินสอพองบนกระดานชนวนนั้นบางทีก็จะร่วงหล่นหรือทะลุลอดแผ่นกระดานลงไปอยู่เบื้องล่างได้ เรียกว่าผงปัดตลอดหรือผงทะลุกระดาน เป็นของวิเศษมีอานุภาพยิ่งนัก โดยเฉพาะปถมังวรรคที่ ๙ ซึ่งเป็นวรรคสุดท้ายที่นับว่าพิสดารและสำคัญมาก ด้วยการทำถึงขั้นมหาไวย มหาเมฆ มหานิล มหาคลาด มหาแคล้ว มหาอุทัย จนถึงมหาราพย์น้อยใหญ่ จะมีอานุภาพอภินิหารมาก ตามตำนานในวรรณคดีเล่าว่าขุนแผนก็เป็นผู้ที่สำเร็จปถมังวรรค ๙ นี้ ซึ่งผู้สำเร็จจะเรืองวิทยาคมมีความอยู่ยงคงกระพันจนถึงล่องหนหายตัวได้

จากเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ซึ่งสะท้อนภาพวิถีชีวิตในสังคมไทยโบราณไว้หลายประการ รวมถึงการศึกษาเล่าเรียนของกุลบุตรไทยแต่ครั้งก่อน ที่นอกจากจะศึกษาวิชาทางหนังสือแล้วยังต้องฝึกหัดวิชาทางจิตควบคู่ไปด้วยกัน และวิธีการฝึกจิตด้วยการหัดลงผงนี้ก็คงเป็นสิ่งที่มีปรากฏอยู่ไม่น้อยในสังคมไทยยุคก่อน ดังปรากฏเรื่องในเสภาว่าเมื่อครั้งที่ขุนแผนไปเรียนวิชาอยู่กับพระอาจารย์คง ที่วัดแคนั้น พระอาจาย์คงได้สอนทั้งวิชาอยู่ยงคงกระพัน การผูกหุ่นพยนต์ และการทำผงปถมัง แต่ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือจากเสภาตอนกำเนิดพลายงาม เมื่อพลายงามได้เรียนหนังสือขอมหน้งสือไทยจนแตกฉานสามารถอ่านเขียนได้ดีแล้ว จึงเริ่มศึกษาวิชาทางจิตหรือไสยศาสตร์ และเริ่มศึกษาจากคัมภีร์ปถมังเป็นต้นไป ดังบทกลอนว่า

อันเรื่องราวกล่าวความพลายงามน้อย      ค่อยเรียบร้อยเรียนรู้ครูทองประศรี
ทั้งขอมไทยได้สิ้นก็ยินดี      เรียนคัมภีร์พุทธเพทพระเวทมนตร์
ปถมังตั้งตัวนะปัดตลอด      แล้วถอนถอดถูกต้องเป็นล่องหน
หัวใจกริดอิทธิเจเสน่ห์กล      แล้วเล่ามนต์เสกขมิ้นกินน้ำมัน

อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร ผู้ชำนาญทางไสยศาสตร์และโหราศาสตร์คนสำคัญของไทย ได้อรรถาธิบายเรื่องการทำผงไว้ในคัมภีร์พุทธศาสตราคมว่า "...การทำผงนั้นเป็นการหัดทำสมาธิขั้นแรกอย่างเอกอุ กระทำพร้อมกันทั้งองค์ ๓ คือทางกาย ใช้มือขีดเขียนตัวอักขระลงไป พร้อมกับทางวาจา ซึ่งบริกรรมท่องบ่นสูตรและคาถาที่ทำต่าง ๆ ไปพร้อมกับอาการกิริยาที่เขียน ทางใจก็ต้องสำรวมควบคุมเพ่งเล็งตัวอักษรมิให้เขียนผิดพลาด...นับว่าเป็นเครื่องล่อในการหัดทำสมาธิเป็นอย่างดี เพราะมิใช่แต่จะเขียนอย่างเดียว พอเขียนเสร็จบังเกิดขึ้นแล้ว ก็ลบเสียบังเกิดเป็นขึ้นใหม่ต่อไปอีก เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปฉะนี้สลับกันไป จนท้ายที่สุดถึงองค์พระและลบเข้าสู่สูญนิพพาน..." ผงปถมังนี้เมื่อทำตัวนะปถมังสำเร็จแล้ว ต่อมาคือฝึกหัดเพ่งจนเกิดเป็นนิมิตในลักษณะอย่างอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต เพราะโดยแก่นแท้แล้วหลักการทำผงของไทยโบราณก็คือการฝึกสมาธิที่ประยุกต์ขึ้นตามแนวทางของสมถกรรมฐาน ซึ่งหากพิจารณาให้ถ่องแท้จึงจะเห็นถึงหลักไตรลักษณ์ ในความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ดังเช่นผงที่กำเนิดขึ้นและลบดับสู่นิพพานไปบนกระดานชนวนนั่นเอง

ความเชื่อในด้านอานุภาพ

[แก้]

ตามตำราทางไสยศาสตร์กล่าวว่า อานุภาพของผงปถมังหนักไปทางด้านอิทธิฤทธิ์ อยู่ยงคงกระพันชาตรี จังงังกำราบศัตรูหมู่ปัญจามิตร สะกดทั้งมนุษย์และสัตว์ให้ตกอยู่ในอำนาจ และเป็นกำบังล่องหนหายตัว ถึงทางเมตตามหานิยมก็ใช้ได้เหมือนกัน ใช้ผสมทำเครื่องรางเมื่อพกพาติดตัวทำให้อยู่ยงคงกระพัน หรือนำผงทาตัวเป็นล่องหนกำบังหายตัวได้ โบราณาจารย์ได้กล่าวอุปเท่ห์สืบต่อกันมาว่า อันผงปถมังที่ทำถึงเพียงองการมหาราพน้อยใหญ่นั้น ถ้าเอาผงนั้นไปโรยใส่เข้าที่ไหน เช่น โรยใส่ใต้ถุนบ้านเรือน มิช้านานบ้านเรือนนั้นจะยุบหายกลายเป็นป่าไป ถึงบ่อน้ำที่มีน้ำเต็มเมื่อเอาผงปถมังโรยเข้ามิช้าน้ำก็จะถึงกับแห้งเหือดหายไป ถ้านำไปทาที่เสาเรือนใครอาจทำให้คนบนเรือนถึงกับเป็นบ้าได้ เมื่อทำผงสำเร็จถึงสูญนิพพานแล้วตำราให้นำเครื่องยามาผสมปั้นแท่ง มีกฤษณา กะลำพัก ขอนดอก จันทน์ทั้งสอง ชะมด พิมเสน ฯลฯ เป็นอาทิ โบราณนิยมนำผงปถมังมาผสมทำพระเครื่องราง พระเครื่องที่มีชื่อเสียงหลายสำนักก็สร้างขึ้นโดยมีส่วนผสมของผงชนิดนี้ หรือนำผงไปผสมหมึกสำหรับสักยันต์ที่กระหม่อมตามความเชื่อว่าจะทำให้อยู่ยงคงกระพัน

อนึ่ง คัมภีร์ปถมังแต่เดิมมีอยู่หลายตำรับ แต่ละตำรับอาจมีวิธีการทำแตกต่างกันไปไม่เหมือนกัน โดยหลักแล้วคือเริ่มที่ทำตัวนะ เมื่อสำเร็จเป็นนะพินทุแล้วก็อาจแยกออกไปหลายแบบ เป็นคัมภีร์ปถมังภาณวาร ปถมังองควิฏฐาร หรือตำรับอื่น ๆ ที่มีวิธีการต่างกันไปอีกก็ได้ ปถมังเป็นความเชื่อโบราณของไทยซึ่งปัจจุบันหาผู้ทึ่สืบทอดความรู้ในวิชานี้ไว้ได้มีอยู่น้อยมาก


สูตรการเขียนผงปถมัง

[แก้]

สูตรผงปถมํ ได้แก่ ว่าน 108 ชนิด ที่นำมาจากวัดต่าง ๆ น้ำผึ้งรวง กล้วยน้ำว้า น้ำมันตังอิ๊ว ผงพุทธคุณอื่น ๆ มาผสมเป็นเนื้อเพื่อสร้างผงพระพิมพ์

สูตรผงปถมํ ของวัดระฆัง คือ วิธีการสร้างผงวิเศษมีวิธีดังนี้ การบริการพระคาถา เขียนสูตร ชักยันต์ด้วยชอล์คลงบนกระดาษชนวน เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนใหม่ทำเช่นนี้นับเป็นร้อยครั้ง จะได้เศษชอล์คจากการลบ ซึ่งถือว่าเป็นผงศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากการตั้งจิตบริกรรมพระเวทย์ในขณะที่เขียนให้ครบถ้วนตามจำนวนที่พระเวทย์ในแต่ละบทกำหนดไว้ ขั้นผงที่ได้ออกมาเป็นผงที่ได้ออกมาเป็นผงที่มีชื่อ “ ปถมัง ”

เมื่อได้ผง “ ปถมัง ” แล้ว นำผงนี้มาปั้นเป็นดินสอ ตากแห้ง แล้วนำแท่งดินสอชอล์ดที่เกิดจากผงปถมัง มาเขียนสูตรพระเวทย์อีกบทหนึ่งเขียนแล้วลบ ทำซ้ำกันตามจำนวนครั้งที่พระเวทย์บทใหม่กำหนด จนเกิดผงชอล์ดครั้งใหม่ ที่เรียกว่า “ ผงอิธะเจ ”

นำผงอิธะเจมาปั้นเป็นแท่งชอล์ด เขียนสูตรพระเวทย์อีก เขียนแล้วลบ ลบแล้วเขียนเช่นนี้จนได้ ผงมหาราช แล้วก็ผงมหาราช กระทำเช่นเดียวกับขั้นตอนการทำตอนการผงอื่นๆ หากแตกต่างกันที่สูตรในการเขียน อักขระเลขยันต์ และจำนวนครั้งที่ถือเป็นเฉพาะแต่ละสูตรจนได้ ผงพุทธคุณ และสุดท้ายคือ ผงตรีนิสิงเห

นำผงตรีนิสิงเห อันเกิดจากหลอมรวมสูตรทั้ง 5 มาเป็นหนึ่งเดียวจากนั้นสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( โต พรหมรังษี ) จึงนำผงวิเศษนี้มาผสมรวมกันกับเปลือกหอยที่บดหอยที่บดละเอียดอันเป็นส่วนผสมหลัก นอกจากนี้ก็จะมีข้าวสุก ดินสอพอง กล้วย โดยมีน้ำตังอิ๊วเป็นตัวประสานส่วนผสมเหล่านี้ จากนั้นจึงนำพระที่ผสมเสร็จแล้วนั้น กดลงในแม่พิมพ์

อ้างอิง

[แก้]
  • เทพย์ สาริกบุตร. คัมภีร์พุทธศาสตราคม. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2516.
  • เทพย์ สาริกบุตร. คัมภีร์หัวใจ ๑๐๘. กรุงเทพ ฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2533.
  • เทพย์ สาริกบุตร. เคล็ดลับไสยศาสตร์. กรุงเทพ ฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2522.
  • เทพย์ สาริกบุตร. พระคัมภีร์พระเวทย์มหาพุทธาคม. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2525.
  • เทพย์ สาริกบุตร. พุทธรัตน์สรรพเวทย์พิสดาร. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2520.