ข้ามไปเนื้อหา

ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปฏิกิริยาของนานาชาติต่อรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 เป็นปฏิกิริยาอันเนื่องมาจากการรัฐประหารในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2549 ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ซึ่งประกอบไปด้วยกองทัพไทย และตำรวจไทย ได้ทำการรัฐประหารต่อรัฐบาล อันมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐประหารในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี อันเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองในไทย ที่ยาวนานเกือบ 1 ปี อันเกี่ยวพันถึง พ.ต.ท.ทักษิณ และฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง [1] โดย คปค.ประกาศให้เลื่อนการเลือกตั้งซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น ยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ยกเลิกรัฐสภา สั่งห้ามการประชุมพรรคการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน ยับยั้ง ตรวจสอบ และตัดสัญญาณการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ประกาศใช้กฎอัยการศึก และจับกุมอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ บางท่าน มีการรายงานว่าการรัฐประหารครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเนื้อ ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต รัฐบาลจากนานาประเทศ ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการรัฐประหารในระดับต่าง ๆ กัน โดยมีตั้งแต่ การประณามอย่างรุนแรง ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเดนมาร์ก ไปจนถึงการไม่เข้าแทรกแซง ได้แก่ จีน และลาว ส่วนสหรัฐอเมริกานั้นถึงกับกล่าวว่า "มันน่าผิดหวัง และการปฏิวัตินั้น ไม่มีเหตุผลที่ใช้อธิบาย เพื่อแก้ตัวใดๆ"

ทวีปอเมริกา

[แก้]
  • แคนาดา ประเทศแคนาดา - ในการแถลงข่าว, รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ นายปีเตอร์ แมคเคย์ กล่าวว่า แคนาดาวิตกอย่างมากต่อเหตุการณ์ต่างๆที่จะดำเนินไปข้างหน้าจากการปฏิวัติครั้งนี้ เราขอเร่งเร้าให้มีการแก้ปัญหาอย่างสันติต่อวิกฤตการณ์นี้โดยให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศ ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยได้สร้างความก้าวหน้าด้านการเคารพสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญ และหลักการการปกครองโดยกฎหมาย(หรือหลักนิติธรรม)อย่างเห็นได้ชัด และแคนาดาเองได้กระตุ้นให้ทุกภาคีให้การสนับสนุนคุณประโยชน์ด้านสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมอย่างต่อเนื่อง [2]
  • สหรัฐ สหรัฐอเมริกา
    • รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศยกเลิกข้อตกลงเขตการค้าเสรีชั่วคราว และจะไม่รับรองรัฐบาลที่ตั้งโดยคณะปฏิรูป ยุติความสัมพันธ์ระหว่างไทย –อเมริกันจนกว่าจะมีการเลือกตั้งเสรีและเที่ยงธรรม [3]
    • ทอม เคซี่ รองโฆษก กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า "ไม่มีเหตุผลที่ยอมรับได้สำหรับ การรัฐประหารในไทยหรือที่ใดก็ตาม ทางสหรัฐมีความเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เกิดการรัฐประหาร และนับเป็นการเดินถอยหลังสำหรับประชาธิปไตยไทย ทางสหรัฐหวังเป็นอย่างยิ่งให้มีการเลือกตั้งอย่างประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางผู้นำทางทหารได้สัญญาไว้ ผู้นำทางทหารจะต้องทำตามสัญญา และให้เกียรติต่อการสัญญานี้ การรัฐประหารมีผลพวงหลายอย่าง หนึ่งในผลพวงเหล่านี้คือการ พิจารณาถึงลักษณะบางประการ ในความสัมพันธ์ทางสองประเทศ"[4]
    • จอห์น โบลตัน เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติระบุว่า สหรัฐฯ คาดหวังที่จะเห็นสืบต่อของ กระบวนการประชาธิปไตยแบบมีรัฐธรรมนูญ[5]
    • รัฐบาลสหรัฐฯ ตัดเงินช่วยเหลือด้านการทหาร และด้านการรักษาสันติภาพแก่ไทยเป็นจำนวน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 900 ล้านบาท) [6]
    • ดานา เปริโน โฆษกหญิงประจำทำเนียบขาวได้ออกมาเรียกร้องให้คณะปฏิรูปฯฟื้นคืนประชาธิปไตยในประเทศไทยโดยเร็ว พร้อมเตือนว่ากำลังประเมินที่จะเพิ่มมาตรการลงโทษหลังจากที่ได้ระงับความช่วยเหลือทางทหารไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจำนวน 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ [7]
    • รัฐบาลสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เรื่องรัฐประหารในไทยว่า "รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้รับทราบถึงการแต่งตั้ง พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของประเทศไทย เรายังมีความเป็นห่วงเรื่องการจำกัดสิทธิของพลเรือน เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวยังคงไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมของกองทัพ และเรื่องการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดไว้ล่าช้ามาก หลังจากที่เราได้ใช้มาตรการลงโทษ โดยตัดเงินงบประมาณช่วยเหลือตามมาตรา 508 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ขณะนี้เรากำลังกำหนดมาตรการลงโทษเพิ่มเติม เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลชั่วคราว และกองทัพ ให้การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของพลเรือน และทั้งนี้ให้เป็นไปอย่างโปร่งใส และขอเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยโดยด่วน ภาพพจน์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลกจะเสียหาย และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยจะยังคงตกต่ำ จนกว่าประเทศไทยกลับมาเป็นประเทศประชาธิปไตยชั้นนำของเอเชียเฉกเช่นแต่ก่อนการปฏิวัติ" [8]

ทวีปเอเชีย

[แก้]
  • ฟิลิปปินส์ ประเทศฟิลิปปินส์ - ประธานาธิบดี อาโรโย ได้แสดงความวิตกกังวล ต่อการรัฐประหารในประเทศไทย[9]
  • ญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น - ทาโร อะโซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ ประเทศญี่ปุ่นกำลังจับตาดูสถานการณ์ด้วยความสนใจเป็นอย่างยิ่ง และหวังเป็นอย่างมากว่าสถานการณ์และโครงสร้างการปกครองจะกลับสู่ปกติโดยเร็ว[10]
  • เกาหลีใต้ ประเทศเกาหลีใต้ - โฆษกกระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขสถานการณ์อย่างสงบ โดยยึดกระบวนการทางกฎหมาย [2]
  • จีน ประเทศจีน - โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขสถานการณ์อย่างสงบ โดยยึดกระบวนการทางกฎหมายเป็นหลักการที่ได้ดำเนินมาโดยสมํ่าเสมอ

ทวีปยุโรป

[แก้]
  • สหภาพยุโรป สหภาพยุโรป - ประธานสหภาพยุโรปได้แสดงความวิตกกังวลอย่างใหญ่หลวงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมกับเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องกลับคืนสู่ระเบียบประชาธิปไตยโดยทันที
  • สหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร - มากาเร็ต เบเค็ต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สหราชอาณาจักรย่อมไม่พอใจต่อการใช้กำลังยึดอำนาจ[11]

โอเชียเนีย

[แก้]
  • ออสเตรเลีย ประเทศออสเตรเลีย - อเล็กซานเดอร์ ดาวเนอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียได้แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับสถานการณ์การปฏิวัติที่เกิดขึ้น และว่าเมื่อได้เห็นประชาธิปไตยถูกทำลายถือเป็นเรื่องที่ทางการออสเตรเลียเป็นกังวลอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทางการออสเตรเลียจะดูผลที่จะตามมาก่อน และขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดอะไรออกมา
  • นิวซีแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ - นายกรัฐมนตรี เฮเลน คลาร์ก ของนิวซีแลนด์ กล่าวว่า ประเทศนิวซีแลนด์ประณามกระบวนการใดๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อล้มล้างรัฐบาลทุกชนิด หากกระบวนการนั้นที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย พร้อมเรียกร้องให้พลเมืองนิวซีแลนด์พิจารณาการเลื่อนเดินทางมาประเทศไทยจนกว่าสถานการณ์จะชัดเจน[12]

นานาชาติ

[แก้]
  • สหประชาชาติ สหประชาชาติ - โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติระบุว่า ไม่สนับสนุนให้เกิดการรัฐประหาร และอยากให้กลับคืนสู่ระบบประชาธิปไตย อย่างรวดเร็วที่สุด[13]
  • สหประชาชาติ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า การรัฐประหารเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชน และเร่งเร้าให้ทหาร"เคารพต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขึ้นมาใหม่" [14][15] แม้ว่าคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะยังคงมีอยู่ แต่พวกเขากลับสนุนรัฐประหาร [16][17]
  • สหภาพรัฐสภา (ไอพียู) - ไอพียูตัดสิทธิประเทศไทยออกจากการเป็นสมาชิกรัฐสภา หลังเกิดการรัฐประหาร ส่งผลให้ประเทศไทยถูกยกเลิกการเป็นเจ้าภาพการประชุมไอพียูครั้งที่ 11 ที่จะจัดในวันที่ 29 เมษายน - 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2550 และให้อินโดนีเซียรับเป็นเจ้าภาพแทน อันมีเหตุผลสำคัญมาจากการที่สภานิติบัญญัติหลังการรัฐประหารไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง [18][19]

สื่อนานาชาติ

[แก้]

นิตยสาร The Economist ได้คัดค้านการรัฐประหารครั้งนี้ว่า "การก่อรัฐประหารนั้นก็เหมือนกับสงครามซึ่งเกิดขึ้นง่ายแต่ยากที่จะจบลง... การที่เหล่านายทหารเชื่อว่ารัฐประหารจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้เป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยซึ่งให้ความสำคัญกับชนชั้นรากหญ้า จะยังคงทำได้ดีแน่นอน ไม่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามาในประเทศเพื่อมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่ก็ตาม การเปลี่ยนรัฐบาลโดยการประท้วงตามท้องถนนและการยึดอำนาจของทหารที่มีขึ้นได้ล้มล้างการพัฒนาทั้งปวงในทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งไทยได้พยายามก้าวออกมาจากอิทธิพลของทหารและชนชั้นศักดินา ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะมีแต่ความวุ่นวายไร้เสถียรภาพ และความวุ่นวายนี้ก็ไม่ช่วยทำให้การเมืองสะอาดขึ้น" บทความนี้กล่าวต่อว่าการที่ พล.อ.สนธิขาดการสร้างความเชื่อมั่นในการรัฐประหารต่อนานาชาติ อาจทำให้เกิดการสนับสนุนผู้นำทางทหารหรือเพิ่มแนวโน้มการเป็นเผด็จการในประเทศเพื่อนบ้าน [20]

หนังสือพิมพ์ New York Times กล่าวถึงการรัฐประหารว่า "ด้วยการรัฐประหาร ประเทศไทยได้กลายเป็นอีกประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ให้ความหมายใหม่กับคำว่าประชาธิปไตยด้วยสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งอาจเป็นการจัดการหรือฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะไปให้ถึงเป้าหมายทางการเมือง บัดนี้ ไทยและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นประเทศแบบอย่างในด้านประชาธิปไตยของภูมิภาคนี้ได้ขับไล่ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งของเขาเอง" [21]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Hariraksapitak, Pracha. "Thai army declares nationwide martial law เก็บถาวร 2006-10-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน", Reuters, 19 กันยายน พ.ศ. 2549
  2. 2.0 2.1 Khaleej Times Online (2006). Annan, world leaders urge return to democracy in Thailand เก็บถาวร 2012-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 20 September 2006.
  3. Washington Post, Thailand's Leap Backward : The Bush administration shouldn't allow business as usual with a government installed by military coup.
  4. Bangkok Post, United States: Thai coup unjustified เก็บถาวร 2007-10-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 20 September 2006
  5. The Nation, Foreign countries express concerns on military takeover เก็บถาวร 2007-03-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เข้าถึงข้อมูลวันที่ 20 กันยายน 2549
  6. The Nation, US cuts off millions in military aid to Thailand เก็บถาวร 2007-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 29 September 2006
  7. แนวหน้า, สหรัฐเตือนจะเพิ่มมาตรการลงโทษประเทศไทย เก็บถาวร 2007-03-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. The White House, Statement on Thai Coup Developments
  9. Philippine Daily Inquirer, Arroyo in ‘firm control’ of gov’t, military - Palace, 20 September 2006
  10. Reuter. Travellers warned after Thai coup[ลิงก์เสีย]. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 20 กันยายน 2549
  11. Khaleej Times Online, Annan, world leaders urge return to democracy in Thailand เก็บถาวร 2012-01-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved September 20, 2006.
  12. National Business Review (2006). Helen Clark expresses shock over Thai coup เก็บถาวร 2006-09-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 20 กันยายน 2549
  13. People's Daily Online (2006). UN chief discourages military coup in Thailand. เข้าถึงข้อมูลวันที่ 20 กันยายน 2549.
  14. The Bangkok Post, UN says Thai coup violating human rights เก็บถาวร 2008-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 September 2006
  15. The Nation, Activists to hold anti-coup gathering เก็บถาวร 2006-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 22 September 2006
  16. The Bangkok Post, UN says Thai coup violating human rights เก็บถาวร 2008-12-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 25 September 2006
  17. The Nation, Activists to hold anti-coup gathering เก็บถาวร 2006-10-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 22 September 2006
  18. The Nation, Thailand disqualified as IPU meeting host เก็บถาวร 2006-10-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, 20 October 2006
  19. Inter-Parliamentary Union, 116th IPU Assembly, Agenda
  20. The Economist, Thailand's coup, 21 September 2006
  21. The New York Times, Thailand Reinterprets the Rules of Democracy, Again, 21 September 2006

ดูเพิ่ม

[แก้]