ข้ามไปเนื้อหา

หมู่บ้านหาดเสือเต้น

พิกัด: 17°39′32″N 100°10′57″E / 17.658931°N 100.182629°E / 17.658931; 100.182629
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก บ้านหาดเสือเต้น)
หมู่บ้านหาดเสือเต้น
Ban Hat Suea Ten


รูปปั้นเสือสัญลักษณ์ของหมู่บ้านหาดเสือเต้น
ภายในวัดประจำหมู่บ้าน

พิกัดภูมิศาสตร์: 17.61891° 100.18991°

ข้อมูลทั่วไป
ตำบล คุ้งตะเภา
อำเภอ เมือง
จังหวัด อุตรดิตถ์
รหัสไปรษณีย์ 53000
การปกครอง
ผู้ใหญ่บ้าน นายสังเวียน ฉิมเชื้อ (หมู่ 6), นายเสวก วงสิน (หมู่ 8)[1]
ข้อมูลสถิติ
พื้นที่ -
ประชากร 1,700

หมู่บ้านหาดเสือเต้น หรือ บ้านหาดเสือเต้น เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 1 โรง มีโรงงานอุตสาหกรรม 1 แห่ง (โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์) มีเส้นทางคมนาคมหลักคือ (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102) ด้านเศรษฐกิจ ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่[2]

ปัจจุบันหมู่บ้านหาดเสือเต้นแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ คือหมู่ 6 และ 8 โดยหมู่ 8 ​แยก​จาก​ หมู่ 6 ​เมื่อ​วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2541 [3]

ประวัติ

[แก้]

ความเป็นมาชื่อหมู่บ้าน

[แก้]

บ้านหาดเสือเต้น เดิมมีชื่อว่า บ้านหาดวังค้อ ตามคำบอกเล่าในอดีตนั้นกล่าวกันว่าสถานที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบันนั้นยังเป็นที่ป่าเต็งป่ารัง ด้านทิศเหนือจะเป็นป่าพงอยู่แถบริมหาดทรายของแม่น้ำน่าน มีหาดทรายยาวกว่า 50 ไร่ เล่ากันมาว่าแถบนี้ในอดีตมีสัตว์ป่าชุกชุม เมื่อถึงเวลากลางคืนจะมีสัตว์ลงมากินน้ำอยู่เสมอ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเหนือหมู่บ้านเคยมีเสืออยู่อาศัยในบริเวณนั้น เมื่อถึงเวลากลางคืนเสือตัวนั้นจะออกมากินน้ำ และมาเล่นทรายที่ชายหาดกินน้ำ บางทีก็กระโดดโลดเต้นเล่นอยู่ตรงนั้น ทำให้เมื่อถึงวันข้างขึ้นพระจันทร์เต็มดวง ชาวบ้านแถบนี้หรือผู้คนที่ล่องเรือค้าขายผ่านมาจะสามารถมองเห็นเสือตัวนั้นกระโดบ้างเล่นบ้างอยู่ตรงนั้นได้อย่างชัดเจน ชาวบ้านเลยเรียกหมู่บ้านแถบนี้ว่า บ้านหาดเสือเต้น สืบมา[4]

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

[แก้]

หมู่บ้านหาดเสือเต้น เมื่อแรกตั้งหมู่บ้านมีเดิมชื่อว่า บ้านหาดวังค้อ อดีตเคยเป็นพื้นที่ป่ารกทึบ โดยเฉพาะริมแม่น้ำน่านจะเป็นป่าพงไม่มีผู้คนอยู่อาศัย เต็มไปด้วยสัตว์ป่าอุดมสมบูรณ์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2345 ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จึงได้เริ่มมีผู้คนย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในแถบนี้ โดยในช่วงแรกมีบ้านเรือนเพียงสองสามหลังคาเรือน เป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่เป็นญาติพี่น้องกัน ทั้งหมดย้ายบ้านเรือนมาจากบ้านสามบ่อ (หรือหมู่บ้านสามบ่อ ตำบลผาเลือด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) และบ้านทับใหม่ (หรือ หมู่บ้านทับใหม่ ตำบลหาดกรวด อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ในปัจจุบัน) ต่อมาจึงเริ่มมีผู้คนย้ายเข้ามาอยู่กันมากขึ้น โดยตั้งบ้านเรือนอยู่แถบริมแม่น้ำน่าน ผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือผู้ใหญ่ตุ จินดาประทุม ต่อมาคือผู้ใหญ่แพ ศรีคมขำ, ผู้ใหญ่มี อินยา, ผู้ใหญ่หนู คงรอด ในอดีตการสัญจรทำโดยทางน้ำ โดยอาศัยแม่น้ำน่านเป็นหลัก ทางบกก็มีทางเกวียนเล็ก ๆ โดยหมู่บ้านหาดเสือเต้นนั้น ทางการได้ตัดถนนเข้าหมู่บ้าน(ทางหลวงแผ่นดินหมายเลขที่ 1213) และเริ่มมีไฟฟ้าใช้ในปี พ.ศ. 2516 ในสมัยสร้างโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ที่ด้านเหนือหมู่บ้าน จนมาในปี พ.ศ. 2520 จึงเริ่มมีระบบประปาใช้กันภายในหมู่บ้าน และในปี พ.ศ. 2529 จึงมีถนนลาดยางผ่านตัวหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน[5]

สภาพด้านสังคม

[แก้]

บ้านหาดเสือเต้น อยู่ห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ เป็นระยะทาง 18 กิโลเมตร เป็นหมู่ที่ 6 ในตำบลคุ้งตะเภา มีบ้านจำนวน 350 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 1,700 คน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา เมื่อว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรมก็จะหันมารับจ้างทั่วไป ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท มีวัดประจำหมู่บ้าน 1 แห่ง และ โรงเรียนระดับพื้นฐาน 1 โรง

บริเวณด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน เป็นที่ตั้งโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ สร้างปัญหาในด้านมลภาวะเคมีการเกษตร กลิ่นเหม็นของกากน้ำตาล และไอควันของเถ้าถ่าน และสร้างปัญหาในช่วงฤดูเปิดหีบอ้อย ในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคม ของทุกปี เนื่องจากมีรถบรรทุกอ้อยวิ่งสัญจรตลอดเวลา และก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงต่อบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 เป็นอย่างมาก

สภาพภูมิศาสตร์

[แก้]

บ้านหาดเสือเต้น ตั้งอยู่ไกลจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ประมาณ 18 กิโลเมตร มีแหล่งน้ำสำคัญคือแม่น้ำน่าน มีเส้นทางคมนาคมที่สำคัญคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 โดยทั่วไปหมู่บ้านส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำน่าน พื้นที่ส่วนใหญ่ของประชากรเป็นพื้นที่ทำนา และพืชไร่เล็ก ๆ น้อย ๆ ทรัพยากรแร่ธาตุของหมู่บ้านมีแหล่งแร่สำคัญคือ ดินขาว และหินอ่อน ป่าไม้ของหมู่บ้านเป็นป่าไม้เบญจพรรณเป็นส่วนใหญ่

อาณาเขตติดต่อ

[แก้]

บ้านหาดเสือเต้น มีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านใกล้เคียงดังนี้

  1. ทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำน่าน
  2. ทิศใต้ ติดต่อกับบ้านบ่อพระ ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  3. ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านหนองบัว ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
  4. ทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านหัวหาด ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์

ลักษณะโครงสร้างพื้นฐาน

[แก้]

การคมนาคมบ้านหัวหาด เดินทางติดต่อทางบกเป็นหลัก โดยมีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 เป็นถนนสายหลักในการติดต่อเข้าสู่ตัวจังหวัดและถนนสายหลักในจังหวัด (ถนนเอเชีย)

การติดต่อภายในตำบลคุ้งตะเภาและตำบลใกล้เคียง ใช้เส้นทาง รพช. และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 102 เชื่อมโยงระหว่างตำบลผาจุก ตำบลป่าเซ่า และตำบลงิ้วงาม

การบริการขนส่งสาธารณะ มีรถประจำทางผ่านตลอดสาย ส่วนการขนส่งผลผลิตการเกษตรนิยมใช้รถไทยแลนด์และรถปิคอัพ เข้าสู่ตลาดหรือแหล่งรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร

สาธารณูปโภค

[แก้]

บ้านหัวหาดมีพื้นที่ทำการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก นอกจากนั้นยังอาศัยแหล่งน้ำจากะรรมชาติที่มีอยู่ภายในหมู่บ้าน คือ แม่น้ำน่าน ช่วยในการทำนา ปลูกพืชไร่

การปกครอง

[แก้]

(รอเพิ่มเติมเนื้อหาในส่วนนี้)

เศรษฐกิจ

[แก้]

ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน มีรายได้เฉลี่ยยต่อหัว 7,500 บาท/ปี มีอาชีพหลัก 2 ประเภท คือ อาชีพการเกษตรและอาชีพรับจ้าง การประกอบอาชีพทางการเกษตรได้แก่ การปลูกพืชไร่และพืชล้มลุก เช่น ถั่ว แตงกวา ต้นหอมผักชี เป็นต้น ส่วนอาชีพรับจ้าง จะเป็นประเภทการรับจ้างรายวัน หรือรับจ้างในโรงงานอุตสาหกรรมในหมู่บ้าน (โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์)

อุตสาหกรรม

[แก้]
โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ บ้านหาดเสือเต้น เป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดอุตรดิตถ์.

ในหมู่บ้านหาดเสือเต้น มี โรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์ เป็นแหล่งอุตสาหกรรม และแหล่งรายได้ของประชากรในเขตหมู่บ้าน อาชีพของประชากร ร้อยละ 70 เป็นลูกจ้างชั่วคราวในโรงงาน รายได้ที่ได้รับเป็นรายได้จากตามสภาพของการจ้างงาน และตามสถานภาพของการผลิตน้ำตาลในแต่ละปี ซึ่งในปีหนึ่ง ๆ จะมีการผลิตตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง มีนาคม ของทุกปี

วัฒนธรรมประเพณี

[แก้]

ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธเถรวาท ประเพณีต่างๆ ยึดถือปฏิบัติเหมือนกันกับชาวพุทธเถรวาทในแถบใกล้เคียง เช่น บวชพระ ประเพณีแต่งงาน งานศพ ฯลฯ

วัดประจำหมู่บ้าน

[แก้]

วัดหาดเสือเต้น ตั้งอยู่ที่ บ้านหาดเสือเต้น หมู่ที่ 6 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดเขตการปกครองคณะสงฆ์ตำบลคุ้งตะเภา ตัววัดมีเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา ตั้งอยู่กลางหมู่บ้านหาดเสือเต้น ริมถนนทางหลวงจังหวัด หมายเลข 1213 สายป่าขนุน-ห้วยฉลอง

วัดหาดเสือเต้น ปัจจุบันมีเนื้อที่ดินในโฉนด 8 ไร่ 2 งาน ตั้งอยู่ที่ราบกลางหมู่ที่ 6 ด้านหน้าติดถนนสายป่าขนุน - ห้วยฉลอง ด้านหลังติดแม่น้ำน่าน อาณาเขตครอบคลุมศรัทธาพุทธศาสนิกชน 2 หมู่บ้าน คือหมู่ 6 และ 8 ตำบลคุ้งตะเภา ตัววัดห่างจากตัวเมืองอุตรดิตถ์ 13 กิโลเมตร ผู้สร้างวัดคือ พ่อหนู คงรอด และพ่อคำ อินมา (ผู้มอบถวายที่ดินสร้างวัดคือ พ่อมี อินยา (อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6) และ พ่อเภา จินดาประทุม) ต่อมาก็มีผู้ศรัทธามาสร้างและบูรณะพัฒนาวัดมาตลอดจนถึงปัจจุบัน

ดูเพิ่มได้ที่ วัดหาดเสือเต้น

โรงเรียนประจำหมู่บ้าน

[แก้]
ไฟล์:Ban Hat Suea Ten School logo1.jpg
ตราสัญลักษณ์โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น

โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้านหาดเสือเต้น ตั้งอยู่ที่ บ้านหาดเสือเต้น ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์เขต 1 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เป็นสถานศึกษาที่เคยได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานในระดับประถมศึกษา ปัจจุบันโรงเรียนแบ่งการเปิดการสอนเป็น ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับประถมศึกษา และระดับก่อนประถมศึกษา

โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น เดิมชื่อว่า โรงเรียนบ้านงิ้วงาม ๒ เปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 โดยอาศัยศาลาการเปรียญวัดหาดเสือเต้นเป็นสถานที่เรียน (ได้อาศัยเรียนอยู่ที่วัดหาดเสือเต้นจนถึง พ.ศ. 2512 จึงย้ายมายังที่ตั้งปัจจุบัน)

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้นเปิดทำการสอนเป็น 3 ระดับชั้น คือระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา และระดับมัธยมศึกษา มีนายธารา น่วมศิริ ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น

ดูเพิ่มได้ที่ โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น'

อ้างอิง

[แก้]
  1. "ข้อมูลรายชื่อผู้ใหญ่บ้านจาก เว็บไซด์องค์การบริหารส่วนตำบลคุ้งตะเภา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-18. สืบค้นเมื่อ 2008-01-10.
  2. กลุ่มอำนวยการงานพัฒนาข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น.เอกสาร : ข้อมูลสารสนเทศโรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น ประจำปีการศึกษา 2550.อุตรดิตถ์ : โรงเรียนบ้านหาดเสือเต้น, 2550
  3. "ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติจังหวัดอุตรดิตถ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2008-05-05.
  4. เทวประภาส มากคล้าย เปรียญ.. (2551). สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น : ประเพณีวัฒนธรรมและพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของวัดและหมู่บ้านคุ้งตะเภา. อุตรดิตถ์: วัดคุ้งตะเภา
  5. จงรักษ์ พรมงาม. (2545). การประเมินโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง : กรณีศึกษาบ้านหาดเสือเต้น หมู่ที่ 6 ตำบลคุ้งตะเภา อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์. สารนิพนธ์ ป.กศ. (หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต สาขาการจัดการและการประเมินโครงการ). อุตรดิตถ์ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์. อัดสำเนา

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

17°39′32″N 100°10′57″E / 17.658931°N 100.182629°E / 17.658931; 100.182629