ข้ามไปเนื้อหา

บ่อเหล็กลอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บ่อเหล็กลอง หรือ บ่อเหล็กเมืองลอง เป็นแหล่งสินแร่เหล็กตามธรรมชาติ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านนาตุ้ม หมู่ที่ 2 และบ้านแม่ลอง หมู่ที่ 4 ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่ โดยแร่เหล็กเมืองลองยุคจารีตถือว่าเป็นเหล็กที่มีคุณภาพดี และสันนิษฐานว่านำไปใช้อย่างกว้างขวางในล้านนา กล่าวกันว่าบ่อเหล็กเมืองลองเป็นบ่อเหล็กที่ใช้ทำศาสตราวุธหรือที่เรียกว่า ดาบสรีกัญไชย ของกษัตริย์ล้านนา และมีความเชื่อมาแต่โบราณว่าเหล็กจากแหล่งแร่เหล็กเมืองลองมีความแข็งแกร่ง ความศักดิ์สิทธิ์และอาถรรพ์ในตัว โดยจัดให้เหล็กเมืองลองอยู่ในโลหะธาตุตระกูลเดียวกับเหล็กไหล คือเป็นโคตรเหล็กไหล หรือเหล็กไหลงอก คือเหล็กที่แข็งตัวไปตามธรรมชาติแล้ว แต่สามารถงอกออกมาได้

ประวัติ

[แก้]

บ่อเหล็กลอง หรือ บ่อเหล็กเมืองลอง มีแร่เหล็กที่มีความสำคัญมากในยุคจารีต เพราะใช้ผลิตทั้งอาวุธ เครื่องมือเครื่องใช้ และสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ ซึ่งแร่เหล็กเมืองลองยุคจารีตถือว่าเป็นเหล็กที่มีคุณภาพดี และสันนิษฐานว่านำไปใช้อย่างกว้างขวางในล้านนาดังมีคำเปรียบว่า เหล็กดีเหล็กเมืองลอง ตองดีตองพะเยา กล่าวกันว่าบ่อเหล็กเมืองลองเป็นบ่อเหล็กที่ใช้ทำศาสตราวุธหรือที่เรียกว่า ดาบสรีกัญไชย ของกษัตริย์ล้านนา โดยจะคัดเลือกเอา ม้อนเหล็กลอง คือ เม็ดก้อนแร่เหล็กที่เกิดอยู่ภายในก้อนแร่เหล็กลองที่หุ้มคล้ายตลับอยู่ภายนอกอีกชั้นหนึ่ง เมื่อเขย่าจะเกิดเสียงอยู่ภายในมีสีเขียวปีกแมลงทับ ช่างตีเหล็กจะนำมาตีผสมกับเหล็กปิว (เหล็กลองน้ำหนึ่งหลุมแรก) เป็นดาบสรีกัญไชยของกษัตริย์ ส่วนเหล็กปิวที่ไม่ตีผสมม้อนเหล็กลองใช้ทำอาวุธสำหรับเจ้าเมือง และขุนนาง ประกอบกับภายในเมืองลองมีการสืบทอดช่างเหล็กเป็นตระกูลมาหลายชั่วอายุคน เช่น ตระกูลช่างเหล็ก ตระกูลฟูเหล็ก ฯลฯ อาวุธที่ผลิตขึ้นในเมืองลองจึงถือกันว่าเป็นอาวุธชั้นหนึ่ง มีคุณสมบัติสนิมไม่กินเนื้อเหล็ก มีความคมหากเอาเส้นผมวางบนคมแล้วเป่าเส้นผมจะขาดออกจากกันทันทีโดยเฉพาะเหล็กลองน้ำหนึ่งที่เรียกว่า เหล็กปิว มีความเหนียวหากตีเป็นดาบที่บางจะสามารถหักทบงอหรือขดม้วนได้ ถ้าตีหนาสามารถตัดดาบเหล็กลองที่น้ำต่ำกว่า หรือดาบจากเหล็กบ่ออื่นได้

ตำนานบ่อเหล็กลอง

[แก้]

ตำนานบ่อเหล็กเมืองลอง เป็นตำนานที่มีต้นเค้ามาจากเรื่องเล่าภายในท้องถิ่น ก่อนมีการจดบันทึกเป็นอักษรธรรมล้านนาลงในใบลานก้อมจำนวน ๑๗ ลาน และคัดลอกอีกทอดใส่สมุดโหราโดยหมื่นกลางโฮง (น้อยแก้ว จาอาบาล) (บุตรชายพ่อนายอินหวัน ต้นตระกูลจาอาบาล สืบเชื้อสายมาจากคหบดีเมืองเชียงใหม่) ตำนานได้กล่าวถึงการเสด็จขึ้นมาของพระนางจามเทวีทางแม่น้ำยม มาขึ้นฝั่งที่วังต๊ะครัวหน้าวัดพระธาตุไฮสร้อย แล้วเสด็จขึ้นไปตามลำน้ำแม่ลอง และกล่าวถึงความสันพันธ์ในการสร้างเวียงลอง การก่อตั้งบ้านนาตุ้ม ที่มาของบ่อเหล็กเมืองลอง ตลอดถึงเชื่อมความสัมพันธ์กับการก่อสร้างพระธาตุศรีดอนคำ ซึ่งตำนานฉบับนี้คล้ายกับตำนานบอกเล่า ต่างกันเพียงตำนานเรื่องนี้ได้ถูกนำมาเรียบเรียงจารลงในใบลานให้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่กระนั้นก็ยังคงกลิ่นอายของตำนานบอกเล่าอยู่อย่างมาก

ตำนานภายในเมืองลองโดยเฉพาะตำนานประเภทมุขปาฐะ(บอกเล่า) นิยมกล่าวถึง “พระเจ้ากกุสันธะ” พระพุทธเจ้าองค์แรกในภัทรกัปนี้ หรือ “พระนางจามเทวี” ปฐมกษัตริย์แคว้นหริภุญไชย เป็นตัวเดินเรื่องโดยมีเค้าโครงเรื่องเหมือนกัน ตำนานฉบับนี้ก็เช่นกันแต่เดิมเมื่อครั้งเป็นตำนานบอกเล่า ผู้เล่าอาจให้พระเจ้ากกุสันธะหรือพระนางจามเทวีองค์ใดองค์หนึ่งเป็นตัวเดินเรื่อง แต่เมื่อได้นำมาบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจึงนำมากล่าวรวมกัน คือ ให้ทั้ง “พระเจ้ากกุสันธะ” และ “พระนางจามเทวี” เสด็จมาพร้อมในคราวเดียวกัน ผู้เขียนขอเน้นย้ำว่าตำนานบ่อเหล็กเมืองลองและบ้านนาตุ้ม เมืองลอง ฉบับนี้ อาจไม่ใช่การบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ต้องการเสนอความจริงทั้งหมด แต่บรรพบุรุษในอดีตใช้เป็นเพียงคำอธิบายถึงที่มา ให้ความสำคัญ เน้นย้ำความเก่าแก่ และแสดงถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของสถานที่ของชุมชนต่างๆ ของชุมชน[1]

พระเจ้ากกุสันธะ นายสมศักดิ์ และพระนางจามเทวี เสด็จมาเมืองลอง บัวราณมาตั้งบ้านทีแรกฅนเชียงใหม่มาตั้งลี้เสิก็ม่านมาไท 1992 ปีมานี้ ทีแรก พ.ศ. 115 ปี 1.นายสุธัมม์ 2.นายอนันต์ 3.แม่ฅำแฮ 3 ครอบครัวมาตั้งอยู่ที่บ้านยังบ่มีชื่อบ้านคำเทื่อ พ.ศ. 425 ปีมาตั้งบ้านนาทุ้ม(บ้านนาตุ้ม ในปัจจุบันมี 4 หมู่บ้าน คือ บ้านนาตุ้มหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 2 หมู่ที่ 3 (บ้านทุ่งเจริญ) และหมู่ที่ 9 ตำบลบ่อเหล็กลอง อำเภอลอง จังหวัดแพร่) พระพุทธเจ้า กับนายสมสักดิ์ นางจามเทวี ฅนทังหลายมาเซาะหาหนองอ้อ ทีแรกมานอนที่วังทะครัวแม่ยม กินเข้างายแล้วพากันขึ้นห้วยมา ขึ้นแง่ซ้ายมาด้วนกลับล่องห้วยขึ้นแง่ขวามาแผวผาขวางอยู่น้อย 1 พระเจ้าก็หนาวเอาผ้ามาทุ้มอุ่นแล้วขึ้นมาแถมแผวสบห้วยก็ปวดน่อง เอาผ้าเข้าคั้นมันอุ่นหายปวดไป พากันล่องห้วยมาที่ปางพระพุทธเจ้าคึดว่าไปมาเปนห้วยแม่ลองทั้ง 2 ห้วย

พญายักษ์บ่อเหล็กเมืองลองพบพระเจ้ากกุสันธะ

พระญายักข์ได้พบพระเจ้าที่ห้วยแม่ลอง ว่าท่านจะไปไหน พระเจ้าก็ว่าเรานี้มาเซาะหาหนองอ้อ พระญายักข์ก็ว่ากูอยากกินตับมึงแท้ พระเจ้าก็ลุกขึ้นจกเอาตับหื้อผียักข์กิน ผียักข์ก็รับเอาตับพระเจ้ามากิน กินบ่ได้เปนตับเหล็ก ผียักข์ก็ยอมือขึ้นไหว้พระเจ้าขอขืน พระเจ้าว่าขืนบ่ได้ ขอนี้แพงเหลือซื้อ ผียักข์ก็ยอมือกราบไหว้ว่า ภันเตภะคะวา เจ้ากูจักยะชาใด พระเจ้าก็หันแร่เหล็กที่ดอยขุนห้วยแม่ลอง เอาตับแห่งท่านมาเปาะแร่เหล็ก แล้วบอกหื้อผียักข์หื้อมึงเฝ้าที่ดอยบ่อแร่นี้ 10 ปีก็ช่าง 20 ปีก็ช่างหื้อมึงเฝ้าอยู่นี้ เหล็กเสี้ยงเมื่อใดหื้อมึงหนีเมื่อนั้นเนอ

ความเชื่อเรื่องอำนาจศักดิ์สิทธิ์

[แก้]

เหล็กจากบ่อเหล็กลองเป็นเหล็กที่มีความแกร่ง มีความเหนียวและเกิดสนิมยาก เหล็กลองเป็นโลหะมหัศจรรย์อานุภาพ มีพลังในตัว มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สถิตอยู่ทุก ๆ อณูสามารถป้องกันคุณไสยและสิ่งเลวร้ายที่มองไม่เห็นด้วยตาดำได้ ปัจจุบันแร่เหล็กลอง ถือว่าเป็นวัตถุมงคล โดยเชื่อกันมาแต่โบราณว่าเหล็กลองอยู่ในตระกูลเดียวกันกับเหล็กไหล

นอกจากนี้ยังแฝงความเชื่อผี คือผีป่อเฒ่าหลวง ผีที่ปกปักรักษาบ่อแฮ่(บ่อเหล็ก)เข้าไปด้วย เช่น เชื่อว่าก้อนแร่เหล็กลองที่เรียกว่า “ตับเหล็ก” ก้อนสีดำเงาหากพกพาจะอยู่ยงคงกระพัน เอาใส่ในหม้อน้ำดินเผาเพื่อดื่มกิน น้ำจะชุ่มเย็นตลอด ลูกหลานพกไว้จะป้องกันภัยต่างๆได้ ด้วยความคุ้มครองของผีป่อเฒ่าหลวง อาวุธที่ทำจากแร่เหล็กลองหากถูกบาดจะทำให้เลือดไหลไม่หยุด มีไว้ในบ้านเรือนโจรขโมยจะไม่ขึ้นเรือนและผีกลัว ฯลฯ ซึ่งคนภายนอกก็ยอมรับว่าอาวุธหรือเหล็กลองมีคุณภาพและเป็นเหล็กศักดิ์สิทธิ์ ดังปรากฏในวรรณกรรมของพญาพรหมโวหาร กวีราชสำนักนครลำปาง (ภายหลังเป็นกวีประจำราชสำนักนครเชียงใหม่) ว่า ชาติเหล็กปิวดำ บ่จัดเลือกเนื้อ ปืนเก่าเกื้อโบราณ (แปลว่า เหล็กน้ำหนึ่งไม่รู้เลือกที่จะฟัน ก็ไม่ต่างกับปืนเก่าแก่คร่ำคร่า) จักขัดขวาง บ่เมือสู่ห้อง กลัวเหล็กเมืองลอง ว้องคัด หรือศรีวิไจย โข้ กวีเชื้อสายเจ้านายนครแพร่ กล่าวในค่าวฉลองคุ้มหลวงของเจ้าหลวงพิริยเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ เมื่อพ.ศ. 2435 ว่า มีเจ็ดสิบสอง เหล็กลองกล๋มเกลี้ยง จดจันเจียง แซ่ไว้ . ..ห้าสิบสอง เหล็กลองไหลดั้น ข่ามคงกะพัน มากนัก ถ้วนเจ็ดสิบสอง เหล็กลองแข็งนัก ต๋ำหนักมิ่งแก้ว มงคล[2]

ประเพณี

[แก้]

ประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อบ่อเหล็กลอง (เลี้ยงผีบ่อเหล็กลอง) โดยจัดขึ้นทุกวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 (เหนือ) ของทุกปี สิ่งที่ใช้บวงสรวงในอดีตคือ คนปีละ1คน ซึ่งในอดีต ไม่ว่าจะเป็นอาณาจักรใดในแถบนี้ ก็นิยมบูชายัญด้วยมนุษย์แทบทั้งสิ้น เช่น การตอกคนลงในเสาบ้านเสาเมือง จับคนที่มีชื่อมงคล อินทร์ จันทร์ มั่น คง อยู่ ดี เป็นต้น เพื่อมาบวงสรวงตอกลงไปใต้เสา ส่วนการบวงสรวงเซ่นไหว้ผีบ่อเหล็กนั้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นเด็ก จะมีการสังเวยหรือบูชายัญด้วยการจิ้มคอหรือปาดคอ แล้วดื่มเลือดของเด็ก โดยบุคคลที่เรียกว่า"จ้ำข้าว" จะมีผู้สื่อสารกับเจ้าพ่อเป็นร่างทรงเรียก"ตี่นั่ง" สมัยก่อนการจับคนมาสังเวยจำทำกันลับๆ จะมีเพียงแค่เจ้านายที่จะร่วมพิธี และคนในตระกูลที่ทำพิธีเท่านั้นที่จะรู้เห็นการเซ่นบวงสรวงนี้ ย้อนกลับไปประมาณพ.ศ.2480โดยประมาณ ได้มีการจับตัวคนมาผิด เจ้าพ่อจึงบ่ย่ำ(ไม่เหยียบหรือไม่กิน) คนที่ไปร่วมพิธีจึงไปอ้อนวอนขอเจ้าพ่อในร่างทรง เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นวัว1ตัว เจ้าพ่อก็อนุญาต หลังจากนั้นมา จึงเปลี่ยนมาเซ่นบวงสรวงพลีกรรมด้วยสัตว์ใหญ่ คือวัว ควาย หรือหมู 1ตัว บางปีที่ข้าวยากหมากแพงก็มีไก่16ตัวบ้าง สลับกันไปทุกปี โดยจะไปเก็บเงินจากทุกหลังคาเรือนในอ.ลอง จนปัจจุบันเก็บหลังคาละ1บาท และจะเปิดบ่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้ขุดหาแร่เหล็กลอง ซึ่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ภายในตัวด้วยมีผีบ้านผีเมืองรักษา ซึ่งหากอยากให้ศักดิ์สิทธิ์มากขึ้นต้องให้ผีพ่อเฒ่าหลวงที่ผ่านร่างทรง มนต์ คาถาเสกเป่าให้[3]

โครงสร้างตำแหน่งหน้าที่ผู้ประกอบพิธีเลี้ยงผีเมืองลอง ในอดีตผู้นำในการเลี้ยงผีบ่อเหล็กลอง ประกอบ หนึ่งคือเจ้าผู้ครองนครลำปาง (เมืองลองเป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง ก่อนจะโอนมาขึ้นกับจังหวัดแพร่ พ.ศ. 2475) เป็นองค์ประธาน เจ้าเมืองลอง พ่อเมืองทั้ง 4 ขุนนางนครลำปาง เมืองลอง เมืองต้า ตีนจองรองบ่อ และชาวเมือง ภายหลังการพิราลัยของเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย ก็ได้มีบุตรหลานของเจ้านครลำปางมาเป็นองค์ประธานแทนเจ้าผู้ครองนครลำปางคือ เจ้าน้อยศรีสองเมือง ณ ลำปาง จนถึงแก่อนิจกรรม ในปี พ.ศ. 2497 สองคือร่างทรง เรียกว่า"ตี่นั่ง" ตี่นั่งในอดีตที่สามารถสืบชื่อได้ คือตี่นั่งล้อม ตี่นั่งน้อย มีหน้าที่เป็นร่างทรงให้ผีป่อเฒ่าหลวงสิงร่าง สามคือจ้ำข้าว คือคนที่ต้องคอยป้อนเลือด ข้าว น้ำ เหล้า หรือหมากพลู สวมเสื้อผ้า ประเคนดาบ ฯลฯให้แก่ผีป่อเฒ่าหลวง(ตี่นั่งหรือคนทรงผี) จ้ำข้าวจะรำหอกดาบแล้วแทงคอคนหรือสัตว์ที่นำมาสังเวย บางทีจ้ำข้าวก็ดื่มเลือดด้วย กินของดิบด้วย หากผีพ่อเฒ่าหลวงยื่นหรือป้อนให้ [4]ตระกูลจ้ำข้าวจะเป็นตระกูลคนลั๊วะดั้งเดิมของอ.ลอง ที่อยู่มานานมากตรงนั้น จะมีผิวแทนถึงดำเข้มผมหยักศกตัวอวบร่างกายไม่สูง รายชื่อจ้ำข้าวในอดีตที่สามารถสืบค้นมาได้คือพ่อใหญ่แสน(สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุล) ,พ่อใหญ่เหมย มาแก้ว,พ่อใหญ่เกี่ยงคำ มาแก้ว(บุตรชายพ่อใหญ่เหมย) ,พ่อใหญ่แก้ว แจ้ป้อม(บุตรเขยพ่อใหญ่เหมย) ,พ[5]่อน้อยอุ่นเรือน และลำดับต่อไปคือหงอน หงอนคือผู้ช่วยของจ้ำข้าว เช่น หากจ้ำข้าวเอาหอกแทงเครื่องบูชายันต์แล้วไม่ตายในทันที หงอนจะเป็นผู้ช่วยทุบหัวเครื่องสังเวยนั้น ส่วนมากก็จะเป็นพวกลูกหลานของจ้ำข้าว ปัจจุบันสภาวัฒนธรรมตำบลบ่อเหล็กลองเป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับพิธีนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. ภูเดช แสนสา .ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๒๗ .หมู่บ้าน วัง ฟ่อน .สืบค้น 5 ธันวาคม 2559
  2. ภูเดช แสนสา .ร้อยเรียงร้อยเรื่องเมืองลอง ตอนที่ ๔ .หมู่บ้าน วัง ฟ่อน .สืบค้น 5 ธันวาคม 2559
  3. ภูเดช แสนสา .ประวัติศาสตร์เมืองลอง ตอนที่ ๔๑ .หมู่บ้าน วัง ฟ่อน ;สืบค้น 5 ธันวาคม 2559
  4. "องค์การบริหารส่วนตำบล บ่อเหล็กลอง ยินดีต้อนรับค่ะ". www.borleklong.go.th.
  5. www.borleklong.go.th