ข้ามไปเนื้อหา

บ่อน้ำมันดิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Tierra La Brea ตรินิแดด
บ่อน้ำมันดินกลายเป็นกับดักจับสัตว์โดยธรรมชาติ ภาพแสดงซากสัตว์ที่มีขนาดใหญ่เช่น ซากช้างแมมมอธ เป็นสิ่งล่อให้ฝูงสัตว์นักล่ามาติดในบ่อน้ำมันดิน
หนึ่งในกลุ่มบ่อน้ำมันดินลาเบรอา
ทะเลสาบพิตช์ ปีค.ศ. 2016

บ่อน้ำมันดิน หรือ หลุมน้ำมันดิน หรือ บ่อยางมะตอยธรรมชาติ หรือ บ่อทาร์ เป็นผลมาจากการซึมของปิโตรเลียมประเภทน้ำมันดิน (Bitumen) ใต้พื้นดินรั่วซึมสู่พื้นผิวดินทำให้เกิด แอสฟัลท์ หรือ ยางมะตอยธรรมชาติ (Natural Asphalt หรือ Bitumen) เป็นบริเวณกว้าง [1] ยางมะตอยที่เหนียวข้นเกิดขึ้นหลังจากที่ส่วนประกอบที่เบากว่าบางส่วนของน้ำมันดินที่ซึมถึงพื้นผิว ได้ระเหยกลายเป็นไอและเหลือเพียงส่วนที่เหนียวหนักคือ ยางมะตอย[2]

บ่อน้ำมันดินที่มีชื่อเสียง

[แก้]

บ่อน้ำมันดินที่สำคัญ ได้แก่ ทะเลสาบยางมะตอย Binagadi, บ่อน้ำมันดินลาเบรอา (La Brea Tar Pits)[3], บ่อน้ำมันดินคาร์พินเทอเรีย (Carpinteria Tar Pits), บ่อน้ำมันดินแมคคิททริค (McKittrick Tar Pits), ทะเลสาบพิตช์ (Pitch Lake) และทะเลสาบเบอร์มิวเดซ (Lake Bermudez)

ความสำคัญทางบรรพชีวินวิทยา

[แก้]

โดยมากสัตว์ที่ตกลงในบ่อน้ำมันดินมักจะไม่สามารถหนีออกจากความเหนียวของยางมะตอยได้ จมลงสู่ก้นหลุม หลุมเหล่านี้เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการคงสภาพบางส่วนของกระดูกของสัตว์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ และกลายเป็นแหล่งโบราณคดีทางบรรพชีวินวิทยาที่สำคัญ

บ่อน้ำมันดินกลายเป็นกับดักจับสัตว์โดยธรรมชาติ เนื่องจากน้ำมันดินที่ซึมขึ้นมาจากใต้ดินก่อตัวเป็นบ่อยางมะตอยที่หนา กว้าง และมักปกคลุมด้วยน้ำ ฝุ่นดิน หรือใบไม้ ซึ่งสัตว์ต่าง ๆ ที่เดินเข้ามามองไม่ออก ติดกับดักและตาย ซึ่งในบางครั้งแม้แต่แมมมอธก็อาจไม่สามารถดิ้นหลุดได้หากเป็นบ่อยางมะตอยที่หนาพอ และสัตว์เหล่านี้จะตายด้วยความอดอยาก ความอ่อนเพลียจากการพยายามหลบหนี หรือสภาวะขาดน้ำจากความร้อนของดวงอาทิตย์ และสัตว์ที่ติดอยู่นี้อาจกลายสภาพเป็นกับดักสัตว์นักล่า โดยดึงดูดให้สัตว์กินเนื้อเข้าไปกินสัตว์ที่ติดอยู่และจะตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน (ติดอยู่ในบ่อน้ำมันดินเดียวกัน) ในขณะที่เนื้อที่เน่าเปื่อยเหลือเพียงกระดูกของสัตว์ที่ตายแล้ว ยางมะตอยธรรมชาติจะซึมเข้าไปทำให้กลายเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ส่วนที่เบากว่าของปิโตรเลียมจะระเหยออกจากยางมะตอยทำให้เหลือสารที่แข็งกว่าซึ่งจะห่อหุ้มกระดูกไว้

ไม่เพียงซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่ได้ถูกอนุรักษ์สภาพจากน้ำมันดิน แต่ยังรักษาไมโครฟอสซิลไว้ด้วย เช่น เศษไม้และซากพืช กระดูกหนู แมลง หอย ฝุ่น เมล็ดพืช ใบไม้ และแม้แต่ละอองเรณู จนถึงปัจจุบันพบฟอสซิลมากกว่าล้านชิ้นในบ่อน้ำมันดินทั่วโลก [2]

ทั้งนี้หลุมน้ำมันดินมักเป็นตัวอย่างที่ดีของแหล่งนิเวศวิทยาบรรพกาลแบบ Lagerstätten (การสะสมของตะกอนที่มีฟอสซิลที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี)

บ่อน้ำมันดินลาเบรอา

[แก้]

ลาเบรอาเป็นกลุ่มของบ่อน้ำมันดิน ในเมืองลอสแองเจลิส (เบรอา ในภาษาสเปนหมายถึง น้ำมันดิน) เป็นแหล่งบรรพชีวินวิทยาของสัตว์ดึกดำบรรพ์ยุคน้ำแข็งที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่เกิดจากการซึมของยางมะตอยธรรมชาติขึ้นมาจากพื้นดินในบริเวณนี้เป็นเวลาหลายหมื่นปีก่อน ยางมะตอยธรรมชาติได้รักษากระดูกของสัตว์ที่ติดอยู่ ซึ่งอาจมีจำนวนมากกว่า 3,500,000 ชิ้น และยังมีอีกมากที่ยังไม่ขุดค้น ตัวอย่างบางส่วนแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์จอร์จซี. เพจ (George C. Page Museum) ซึ่งการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีของไม้และกระดูกในบ่อน้ำมันดินลาเบรอาที่พบมีอายุถึง 38,000 ปี เก่าแก่ที่สุดจากแหล่งโบราณคดีนี้

ปัจจุบันกลุ่มบ่อน้ำมันดินลาเบรอายังคงมีการขยายตัวและดักจับสิ่งมีชีวิต ดังนั้นบ่อน้ำมันดินส่วนใหญ่จึงมีรั้วเพื่อปกป้องมนุษย์และสัตว์

สิ่งมีชีวิตในบ่อน้ำมันดิน

[แก้]

พบแบคทีเรียที่มีชีวิตในบ่อน้ำมันดินลาเบรอา ซึ่งถูกระบุว่าเป็นสายพันธุ์ของแบคทีเรียที่ยังไม่ถูกค้นพบมาก่อน แบคทีเรียเหล่านี้สามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตได้ในสภาพแวดล้อมที่มีน้ำน้อยและออกซิเจนต่ำหรือแทบไม่มีเลย การค้นพบแบคทีเรียเหล่านี้ของนักวิทยาศาสตร์เริ่มเมื่อพวกเขาสังเกตเห็นฟองมีเทน ผุดออกมาจากบ่อน้ำมันดิน [4]

มีการค้นพบจุลินทรีย์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในหยดน้ำขนาดไมโครลิตรที่กู้คืนจากทะเลสาบพิตช์ ในประเทศตรินิแดด รวมถึงแบคทีเรียจากอันดับ Burkholderiales และ Enterobacteriales

แมลงวันปิโตรเลียม (Helaeomyia petrolei) ใช้ชีวิตในระยะตัวหนอนภายในหลุมน้ำมันดิน

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • ทะเลเดดซี เดิมชื่อทะเลสาบ Asphaltites (เดดซี เป็นชื่อที่ประกาศเกียรติคุณโดย Titus Flavius Josephus )

อ้างอิง

[แก้]
  1. "A gravity investigation of the Pitch Lake of Trinidad and Tobago". Geological Society of Trinidad and Tobago. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 31, 2010. สืบค้นเมื่อ August 28, 2010.
  2. 2.0 2.1 Perkins, Sid. "South America's sticky tar pits". Science News For Kids. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-09. สืบค้นเมื่อ May 5, 2012. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่สมเหตุสมผล มีนิยามชื่อ "Perkins" หลายครั้งด้วยเนื้อหาต่างกัน
  3. เอ็กซ์พีเดีย การเข้าชมบ่อน้ำมันดินลาเบรอา สืบค้นเมื่อ 22 ธันวาคม 2563.
  4. "Bubble, bubble, oil and...bacteria!". Science Buzz. May 31, 2007. สืบค้นเมื่อ May 4, 2012.