ข้ามไปเนื้อหา

บุรินทร์ กำจัดภัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

บุรินทร์ กำจัดภัย' (28 ตุลาคม 2516 - ) เจ้าของ รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ของมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปี พ.ศ. 2551 สาขาฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา มีความเชี่ยวชาญพิเศษทางด้านพลวัตรของระบบพลังงานมืด (Dark Energy Dynamics) ทฤษฎีสัมพัทธภาพแบบขยายความ (Modified Gravities) และ รูปแบบอุณหพลศาสตร์ของระบบเศรษฐศาสตร์และการเงิน

ประวัติการศึกษา

[แก้]

บุรินทร์ กำจัดภัย เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นบุตรคนโตของนายวรพันธ์ และนางประทีป กำจัดภัย (โล่ห์ทองคำ) เรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนผดุงวิทย์ โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคลและโรงเรียนหล่มสักวิทยาคม สำเร็จปริญญาตรีทางฟิสิกส์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2539 สำเร็จปริญญาโททางฟิสิกส์ จาก University of Sussex ประเทศอังกฤษ ด้วยทุน BTSS ของ British Council ร่วมกับทุนรัฐบาลไทย เมื่อปี พ.ศ. 2542 ภายใต้การดูแลของ Dr. Mark Hindmarsh จากนั้นได้รับทุนทบวงมหาวิทยาลัยให้ไปศึกษาต่อที่ Institute of Cosmology and Gravitation, University of Portsmouth จนสำเร็จปริญญาเอกเมื่อปี พ.ศ. 2546 ทางจักรวาลวิทยาภายใต้การดูแลของ Prof. Roy Maartens โดยเป็นคนไทยรายแรกที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาดังกล่าวจากต่างประเทศ ในปีเดียวกันได้รับเลือกเป็น F.R.A.S. (Fellow of the Royal Astronomical Society, U.K.) ในปีเดียวกัน [1] และต่อมา ใน พ.ศ. 2563 สำเร็จปริญญาเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์การเงิน แผน ก ภาคปกติ จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ประวัติการทำงาน

[แก้]

หลังสำเร็จปริญญาตรี บุรินทร์ กำจัดภัย ได้เข้ารับราชการอาจารย์ใน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์จนถึง พ.ศ. 2554 จากนั้นได้ก่อตั้งและย้ายไปทำงานที่ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน มหาวิทยาลัยนเรศวร และได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ในสาขาวิชาฟิสิกส์ทฤษฎีโดยวิธีพิเศษข้ามตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์เมื่อปี พ.ศ. 2556 ต่อมาในปี พ.ศ. 2562 ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาฟิสิกส์เชิงทฤษฎี ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ในสาขาฟิสิกส์เชิงทฤษฎี สังกัด สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

บุรินทร์ กำจัดภัย ได้ก่อตั้งและริเริ่มหลากหลายองค์กรทางวิชาการฟิสิกส์ เครือข่ายวิชาการ กิจกรรมวิชาการ อาทิ สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์สำหรับฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยาในปี พ.ศ. 2539, อนุกรมสัมมนาท่าโพธิ์ เมื่อ พ.ศ. 2546, ก่อตั้ง วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน[2] โดยให้เป็นคณะวิชาหนึ่งของ มหาวิทยาลัยนเรศวร เมื่อปี พ.ศ. 2554, ก่อตั้งเครือข่าย SIP+ Consortium เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2557, ก่อตั้งศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญาธรรมชาตินครสวรรค์ สิกขาลัยเพื่อการค้นคว้าขั้นก้าวหน้า มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ เมื่อปี พ.ศ. 2564 ริเริ่มหลักสูตรปริญญาเอกและปริญญาโททางฟิสิกส์ทฤษฎี และประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงสาขาสนามควอนตัม ความโน้มถ่วงและจักรวาลวิทยา ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศที่มหาวิทยาลัยนเรศวรและที่มหาวิทยาลัยมหิดล หน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ อาทิ

  • ผู้อำนวยการ ศูนย์ฟิสิกส์ทฤษฎีและปรัชญาธรรมชาตินครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ (พ.ศ. 2567)
  • รองผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ วิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน[2]
  • ผู้อำนวยการ สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (พ.ศ. 2554-2556)
  • นักเขียนประจำคอลัมน์ Perspective 7 ผู้จัดการออนไลน์วิทยาศาสตร์ (พ.ศ. 2554-2556)
  • วุฒิเมธีวิจัย สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (พ.ศ. 2553-2556 และ 2560-2563)
  • หัวหน้าหัองปฏิบัติการวิจัยจักรวาลวิทยา ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ของ สกอ. (ตั้งแต่ พ.ศ. 2552)
  • นักวิชาการอาคันตุกะในหลายสถาบันเช่น DAMTP University of Cambridge (พ.ศ. 2551-2552), University of Durham (พ.ศ. 2554-2555) และ Queen Mary University of London (พ.ศ. 2555)
  • ICTP Junior Associate, Abdus Salam International Centre for Theoretical Physics ประเทศอิตาลี (พ.ศ. 2551-2557)
  • เมธีวิจัย สกว. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (พ.ศ. 2549-2552)
  • Chair, Theoretical Astrophysics and Cosmology Working Group, Southeast Asian Astronomy Network
  • กรรมการที่ปรึกษาวิชาการ ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550)
  • ภาคีสมาชิก บัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551)
  • ผู้ปริทรรศน์บทความ (Reviewer)วารสาร European Physical Journal C และ Monthly Notices of the Royal Astronomical Society
  • Headmaster (หัวหน้าครู)สถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์สำหรับฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา (หลายวาระจนถึงปัจจุบัน)[3]
  • Part-time Lecturer in Mathematics and Sciences Skills, University of Portsmouth (พ.ศ. 2545-2546)

ผลงานวิจัย

[แก้]

บุรินทร์ กำจัดภัย ได้ศึกษาปัญหาการขยายตัวออกแบบเร่งของเอกภพที่ค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2541 ซึ่งไม่อาจอธิบายได้ด้วยแบบจำลองมาตรฐานในทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป บุรินทร์ได้สนใจสมมติฐานที่ใช้อธิบายปรากฏการณ์นี้ โดยใช้แบบจำลอง“ภพแผ่น”(braneworld) แบบจำลองนี้กล่าวว่าเอกภพเป็นแผ่น hypersurface ของ 3 มิติอวกาศ+1 มิติเวลาฝังตัวอยู่ในมิติอวกาศที่ 5 ซึ่งได้ทำนายไว้โดยทฤษฎีสตริง โดยได้วิเคราะห์การวิวัฒน์ของสนามสเกลาร์และทำนายว่าหากมิติที่ห้าในแบบจำลอง Randall Sundrum II braneworld มีอยู่จริงรังสีมืด (dark radiation) จากหลุมดำในมิติที่ 5 จะไม่มีผลต่อการก่อตัวของโครงสร้างระดับใหญ่ในเอกภพและได้หาผลเฉลยการขยายตัวของเอกภพแบบแม่นตรงได้ นอกจากนี้ได้วิเคราะห์แผนภาพเฟสการวิวัฒน์ของสนามสเกลาร์ภายใต้ศักย์หลายชนิด ปัจจุบันงานวิจัยของ ดร.บุรินทร์ เป็นการศึกษาและวิเคราะห์ทฤษฎีอีกอันหนึ่งที่เชื่อว่าการเร่งออกนั้นเป็นผลมาจากพลังงานมืด (dark energy) โดยได้สนใจการวิเคราะห์ในเชิงระบบเชิงพลวัตร โดยได้วิเคราะห์ระบบพลวัตรของพลังงานมืดแบบต่างๆ ทั้งแบบมีและไม่มีอันตรกิริยากับสสารมืด (dark matter) ผลการวิเคราะห์สามารถนำไปตรวจสอบกับข้อมูลจากรังสีไมโครเวฟพื้นหลังและจาก supernovae ซึ่งช่วยให้นักฟิสิกส์ทฤษฎีใช้ความรู้ทางจักรวาลวิทยาสนับสนุน,จำกัดหรือหักล้างแบบจำลองที่พลังงานต่ำของฟิสิกส์พลังงานสูงอันเป็นทฤษฎีแห่งสรรพสิ่งได้ การวิจัยได้รับทุนสนับสนุนจาก สกอ.-สกว. มหาวิทยาลัยนเรศวร มูลนิธิโทเร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ วช.

เกียรติคุณและรางวัล

[แก้]
  • 2563 Richard Newbold Adams Medal 2020 โดย International Association for the Integration of Science and Engineering (IAISAE)
  • 2561 The Royal Society-Newton Advanced Fellowship
  • 2551 รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2551 สาขาฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • 2550 รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ (รางวัลชมเชยวิทยานิพนธ์สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์) ประจำปี พ.ศ. 2550
  • 2549, 2550, 2551 และ 2552 รางวัลนักวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยนเรศวรประเภทนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีค่า Impact Factor สูงสุดของมหาวิทยาลัยนเรศวร ในปีการศึกษา 2548, 2549, 2550 และ 2551 (4 ปีติดต่อกัน)[4]
  • 2549 รางวัลนักวิจัยดีเด่นของมหาวิทยาลัยนเรศวรประเภทนักวิจัยที่มีผลงานตีพิมพ์ที่ได้รับการอ้างอิง (cited) ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติสูงสุดของมหาวิทยาลัยนเรศวร[5]
  • 2548 รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่น สกว.-สกอ. ประจำปี พ.ศ. 2548 [6]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี 2551 มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์
  2. 2.0 2.1 เวบวิทยาลัยเพื่อการค้นคว้าระดับรากฐาน http://www.if.nu.ac.th
  3. เวบสถาบันสำนักเรียนท่าโพธิ์สำหรับฟิสิกส์ทฤษฎีและจักรวาลวิทยา http://www.tptp.in.th เก็บถาวร 2009-05-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. รายงานประจำปี มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2548, 2549, 2550 และ 2551
  5. รายงานประจำปี มหาวิทยาลัยนเรศวร พ.ศ. 2549
  6. หนังสือ การประชุมนักวิจัยรุ่นใหม่พบเมธีวิจัยอาวุโส สกว. 2550
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๗, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑๑๐, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นต่ำกว่าสายสะพาย ประจำปี ๒๕๕๓, เล่ม ๑๒๘ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๕๔, ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๔

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]