ข้ามไปเนื้อหา

บริติชแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 5390

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
บริติชแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 5390
G-BJRT เครื่องบินบีเอซี 1-11 ลำที่เกิดเหตุ
สรุปอุบัติการณ์
วันที่10 มิถุนายน 2533
สรุปน็อตที่ยึดกระจกหน้ามีขนาดเล็กกว่าน็อตมาตรฐาน ทำให้กระจกหน้าหลุดกลางอากาศ
จุดเกิดเหตุเหนือเมืองดิดคอต ออกซฟอร์ดเชอร์ ประเทศอังกฤษ
ประเภทอากาศยานบีเอซี 1-11 528FL
ชื่ออากาศยานเคาน์ทรีออฟเซาท์กลามอร์แกน
ดําเนินการโดยบริติชแอร์เวย์
ทะเบียนG-BjRT
ต้นทางท่าอากาศยานนานาชาติเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ
ปลายทางท่าอากาศยานมาลากา ประเทศสเปน
ผู้โดยสาร81
ลูกเรือ6
เสียชีวิต0
บาดเจ็บ2
รอดชีวิต87

บริติชแอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 5390 (BA 5390) เป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศในเส้นทางเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษสู่มาลากา ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2533 พร้อมผู้โดยสาร 81 คนและลูกเรือ 6 คน แต่หลังจากบินได้เพียง 15 นาที กระจกหน้าของเครื่องบินเกิดหลุดออกกลางอากาศ ทำให้กัปตันถูกดูดออกไปติดด้านนอกของตัวเครืองนานกว่า 20 นาที จนนักบินผู้ช่วยตัดสินใจนำเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานเซาท์แธมตัน[1] จากเหตุการณ์ครั้งนี้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 87 คนรอดชีวิต โดยมีกัปตันได้รับบาดเจ็บสาหัสและลูกเรืออีก 1 คนบาดเจ็บขณะที่ช่วยชีวิตกัปตัน

อุบัติเหตุ

[แก้]

10 มิถุนายน 2533 เครื่องบิน บีเอซี 1-11 ของสายการบินบริติช แอร์เวย์ เที่ยวบินที่ 5390 นำผู้โดยสารและลูกเรือจากท่าอากาศยานเบอร์มิงแฮม ไปยังปลายทางท่าอากาศยานมาลากาของสเปน เวลา 7:33น. หลังจากเครื่องเทคออฟขึ้นเรียบร้อย ในระหว่างที่ลูกเรือกำลังเตรียมเสิร์ฟอาหารเช้าอยู่นั้นเอง จู่ๆ ก็เกิดเสียงดังออกมาจากห้องนักบิน กระจกหน้าต่างด้านซ้ายติดที่นั่งของกัปตันหลุดกระเด็นออกจากตัวเครื่อง ทำให้ร่างของกัปตัน ทิม แลนแคสเตอร์ ถูกดูดหลุดออกนอกหน้าต่างไปครึ่งตัว เดชะบุญที่เข่าข้างหนึ่งยังติดอยู่กับแผงควบคุม สภาพในตอนนี้คือท่อนบนอยู่นอกเครื่อง ส่วนท่อนล่างติดแหง็กอยู่ในเครื่อง ท่ามกลางอากาศเย็นยะเยือกและแรงลม 500 ไมล์/ชม. และด้วยออกซิเจนที่เบาบางทำให้เขาหมดสติกลางอากาศ ในจังหวะนั้น นักบินผู้ช่วย อลาสแตร์ แอตชิสัน ยังคงควบคุมเครื่องไว้ได้ ส่วนพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินหนุ่ม ไนเจล อ็อกเดน วิ่งเข้ามาช่วยคว้าขาอีกข้างของกัปตันไว้ได้ทัน แต่ความโกลาหลในห้องนักบินก็ยังดำเนินต่อไป เพราะนักบินผู้ช่วยแอตชิสันติดต่อวิทยุกับหอบังคับการบินได้อย่างลำบาก แต่ยังโชคดีที่สามารถกู้ระบบบินอัตโนมัติกลับคืนมาได้ ส่วนอ็อกเดนเมื่อดึงยื้อร่างกัปตันไว้สักพักก็เริ่มจะหมดแรง ลูกเรือคนอื่นจึงรีบวิ่งเข้ามาช่วย ตอนนี้หน้าของกัปตันโดนลมแรงพัดกระแทกหน้าต่างจนช้ำไปหมด ตอนนั้นทุกคนต่างคิดว่ากัปตันต้องไม่รอดแน่แล้ว ซึ่งแอตชิสันก็ตะโกนสั่งทุกคนว่าห้ามปล่อยร่างกัปตันเด็ดขาดไม่ว่าเขาจะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะร่างอาจปลิวไปยังเครื่องยนต์ทางซ้ายจนเกิดระเบิดและตายกันยกลำได้ ในที่สุด แอตชิสันก็ได้รับแจ้งจากหอควบคุมให้นำเครื่องลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานเซาท์แธมตันได้ ในขณะที่ลูกเรือก็สามารถดึงเข่าของกัปตันให้หลุดจากแผงควบคุม เพื่อให้แอตชิสันนำเครื่องลงได้ แต่ลูกเรือที่เข้ามาช่วยก็ยังคงกอดขากัปตันไว้ต่อไป และแล้วในเวลา 7:55น. เครื่องก็ลงจอดอย่างปลอดภัยบนรันเวย์ 2 โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ยกเว้นกัปตันแลนแคสเตอร์และพนักงานต้อนรับไนเจล อ็อกเดนได้รับบาดเจ็บที่แขนซ้ายในระหว่างที่ดึงขากัปตัน

เครื่องบิน ผู้โดยสารและลูกเรือ

[แก้]

เครื่องบินที่เกิดเหตุคือ บีเอซี 1-11 528FL ทะเบียนในชื่อ G-BJRT[2] เครื่องบินลำนี้บินครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 และส่งมอบให้กับบาวาเรีย ฟลักเกเซลล์ชาฟต์เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ต่อมาถูกย้ายไปยังบาวาเรีย เจอร์แมนแอร์ในปี พ.ศ. 2520, ฮาปาก-ลอยด์ ฟลักในปี พ.ศ. 2522, บริติช แคลิโดเนียในปี พ.ศ. 2524 และในที่สุดก็ส่งไปยังบริติชแอร์เวย์ในปี พ.ศ. 2531[3]

บนเที่ยวบินมีลูกเรือ 6 คนและผู้โดยสาร 81 คน กัปตันคือทิโมธี แลงคาสเตอร์ วัย 42 ปี ซึ่งมีชั่วโมงบิน 11,050 ชั่วโมง รวมถึง 1,075 ชั่วโมงบนบีเอเซี 1-11 ณ ขณะนั้น; นักบินผู้ช่วยอลาสแตร์ แอตชิสัน วัย 39 ปี มีชั่วโมงบิน 7,500 ชั่วโมง โดย 1,100 ชั้วโมงอยู่ในบีเอซี 1-11[4]

สาเหตุ

[แก้]

จากการสอบสวนพบว่า มีการซ่อมบำรุงกระจกกันลมก่อนการบิน น็อตยึดกระจกที่มีปัญหาทั้งหมด 90 ตัวนั้น 84 ตัวเล็กไป ส่วนอีก 6 ตัวก็สั้นเกินไป แม้น็อตดังกล่าวจะสั้นกว่าน็อตมาตรฐานเพียงครึ่งมิลลิเมตรก็ตาม แต่เนื่องจากกระจกหน้าต่างของเครื่องบินนั้นเขาติดจากด้านนอก เวลาบินแรงดันอากาศจึงไปกดที่ตัวน็อตโดยตรง เมื่อน็อตไม่ได้มาตรฐานจึงทำให้กระจกหลุดกระเด็น ส่วนสาเหตุที่ใช้น็อตผิดขนาดก็เพราะช่างซ่อมบำรุงใช้น็อตเก่าไปเทียบขนาดกับน็อตในคลังพัสดุ แทนที่จะเช็กกับคู่มือซ่อมบำรุง

เหตุการณ์หลังเกิดเหตุ

[แก้]

เครื่องบินลำที่เกิดเหตุได้รับการซ่อมแซมและกลับมาให้บริการ ก่อนขายถูกให้กับสายการบินจาโรว์อินเตอร์เนชันแนล ในปีพ.ศ. 2536 และยังคงดำเนการอยู่จนสายการบินเลิกดำเนินการในปีพ.ศ. 2544 เครื่องบินถูกทิ้งในปีพ.ศ. 2545[5]

กัปตันทิม แลนแคสเตอร์ แม้เขาจะเจ็บสาหัสจากเหตุการณ์นี้ แต่ก็สามารถกลับมาบินได้อีกครั้งภายในเวลาไม่ถึง 5 เดือน ก่อนย้ายไปบินให้กับ อีซี่ย์เจ็ต ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 แล้วเกษียณในเวลาต่อมา [6][7]

ในสื่อ

[แก้]

เหตุการณ์นี้ถูกนำไปสร้างเป็นสารคดีชุด Mayday หรือ Air Crash Investigation โดยบริษัทซีเนฟลิกซ์โปรดักชันส์จากประเทศแคนาดา ในฤดูกาลที่ 2 ตอนที่ 1 "Blown Out"

อ้างอิง

[แก้]
  1. Ranter, Harro. "ASN Aircraft accident BAC One-Eleven 528FL G-BJRT Didcot". aviation-safety.net.
  2. "Search the G-INFO aircraft register | Civil Aviation Authority". www.caa.co.uk.
  3. "Registration Details For G-BJRT (British Airways) BAC 1-11-528FL - PlaneLogger". www.planelogger.com.
  4. "1/1992 BAC One-Eleven, G-BJRT, 10 June 1990". GOV.UK (ภาษาอังกฤษ).
  5. "Registration Details For G-BJRT (British Airways) BAC 1-11-528FL - PlaneLogger". www.planelogger.com.
  6. "PressReader.com - Digital Newspaper & Magazine Subscriptions". www.pressreader.com.
  7. "This is your captain screaming". The Sydney Morning Herald (ภาษาอังกฤษ). 2005-02-05.

ดูเพิ่ม

[แก้]