นิลเก้า
นิลเก้า | |
---|---|
นิลเก้าในงาน Defense and Security 2023 | |
ชนิด | ปืนกลมือ ปืนเล็กยาว |
แหล่งกำเนิด | ไทย |
บทบาท | |
ประจำการ | พ.ศ. 2567–ปัจจุบัน |
ผู้ใช้งาน | กรมป่าไม้ |
ประวัติการผลิต | |
ผู้ออกแบบ | โรงงานต้นแบบการวิจัยพัฒนาอาวุธ ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร มิลเทค รีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ |
บริษัทผู้ผลิต | โรงงานต้นแบบการวิจัยพัฒนาอาวุธ |
ช่วงการผลิต | พ.ศ. 2567–ปัจจุบัน |
จำนวนที่ผลิต | 20 กระบอก |
ข้อมูลจำเพาะ | |
มวล | 3.2 กิโลกรัม |
ความยาว | 77 เซนติเมตร |
กระสุน | 9×19 มม. พาราเบลลัม |
ขนาดลำกล้องปืน | 9 มิลลิเมตร 6 เกลียวเวียนขวา |
ความยาวลำกล้อง | 10.5 นิ้ว (270 มิลลิเมตร) |
การทำงาน | ระบบโบลว์แบ็ค |
อัตราการยิง | 1,000–1,100 นัด/นาที |
ความเร็วปากกระบอก | 1,250 ฟุตต่อวินาที (381 เมตรต่อวินาที) |
ระยะหวังผล | 100 เมตร (110 หลา) |
ระบบป้อนกระสุน | ซองกระสุนขนาด 25 นัด (ซองกระสุนปืนกล็อก) |
นิลเก้า หรือ ปืนเล็กยาว ขนาด 9 มิลลิเมตร (อังกฤษ: NIN9) เป็นปืนกลมือหรือปืนเล็กยาวสำหรับใช้งานโดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของกรมป่าไม้ พัฒนาโดยกระทรวงกลาโหม ถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับอาวุธใหม่ที่ทันสมัยเข้ามาใช้งาน[1]
ประวัติ
[แก้]นิลเก้าเกิดมาจากความต้องการอาวุธในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ ทั้งจากผู้บุกรุกต่าง ๆ คือกลุ่มทุนต่าง ๆ และผู้กระทำความผิด ส่งผลให้หลายครั้งเกิดการต่อสู้และการปะทะกลับผู้กระทำผิดดังกล่าวจนเกิดความสูญเสียทั้งการบาดเจ็บและเสียชีวิต เนื่องจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่ใช้ในการปฏิบัติงานไม่เพียงพอ ล้าสมัย อานุภาพไม่เพียงพออย่างปืนลูกซอง หรือมีสภาพไม่พร้อมใช้งาน[2]
จากเหตุผลข้างต้น กระทรวงกลาโหมจึงได้วิจัยและพัฒนาอาวุธปืนนิลเก้าขึ้นมาเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศภายในประเทศ[1] โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหารเป็นผู้ดำเนินการ[2] พัฒนาร่วมกับ บริษัท มิลเทค รีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด[3] ซึ่งได้เปิดให้กรมป่าไม้เข้าไปร่วมทดสอบและศึกษาการใช้งานอาวุธปืนนิลเก้าที่กองพันระวังป้องกัน กองบัญชาการกองทัพไทย และมีความเห็นว่าเหมาะสมกับการใช้งานของเกจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าสำหรับการลาดตระเวนภายในป่า เนื่องจากปืนมีขนาดที่เล็กและมีน้ำหนักเบา มีสมรรรถนะใกล้เคียงกับปืนเอ็ม 16 และมีน้ำหนักเบากว่า เพราะหนักประมาณ 3.2 กิโลกรัม[2]
ที่มาของชื่อนิลเก้า มาจากแร่อัญมณีที่ชื่อว่า นิล มีสีดำ ถือเป็นเครื่องรางของไทยตามความเชื่อว่าจะช่วยปกป้องให้ผู้สวมใส่ปลอดภัย ป้องกันมนต์ดำและคุณไสย พร้อมกับนำพาชัยชนะมายังผู้สวมใส่ โรงงานต้นแบบการวิจัยพัฒนาอาวุธจึงได้นำคำดังกล่าวมาใช้งานเรียกอาวุธปืนนี้ ประกอบกับความกว้างปากลำกล้องที่มีขนาด 9 มิลลิเมตร จึงตั้งชื่อปืนนี้ว่า นิลเก้า (NIN9) มีความหมายว่าอาวุธปืนที่ปกป้องผู้ใช้จากอันตรายและนำไปสู่ชัยชนะ[4]
ในช่วงแรกของการพัฒนานั้น ปืนนิลเก้าถูกนิยามว่าเป็นปืนกลมือ[3] ซึ่งต่อมาหลังจากได้ส่งมอบอาวุธปืนให้กับกรมป่าไม้อย่างเป็นทางการแล้วนั้นได้มีการเรียกขานอาวุธปืนดังกล่าวว่าเป็นปืนเล็กยาว[5] ตามข้อกำหนดในการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง[6]
อาวุธปืนนิลเก้า ถูกส่งมอบชุดแรกเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ซึ่งมีพิธีการส่งมอบที่กรมป่าไม้ โดยมี นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้เป็นผู้รับมอบ และส่งมอบโดย พลโท ปวริศ ปั้นทอง ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ในนามสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จำนวน 20 กระบอก[5] ราคากระบอกละ 95,000 บาท กระจายไปใช้งานในศูนย์ป้องกันและปราบปราม 4 แห่ง แห่งละ 4 กระบอก และประจำที่หน่วยพยัคฆ์ไพรในส่วนกลางอีก 4 กระบอก ซึ่งยังไม่เพียงพอต่อการใช้งาน แต่ก็ถือว่าเป็นขวัญกำลังใจต่อเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานส่วนหนึ่ง เนื่องจากกรมป่าไม้มีหน่วยพิทักษ์ป่าอยู่ทั้งหมด 408 หน่วย มีปืนสำหรับใช้งานเพียงไม่ถึง 2 พันกระบอก[2]
รายละเอียด
[แก้]นิลเก้า มีรายละเอียด[3] ดังนี้
- น้ำหนัก 3.2 กิโลกรัม[2]
- ความยาว 77 เซนติเมตร
- ความยาวลำกล้อง 10.5 นิ้ว
- เกลียวลำกล้อง 6 เกลียวเวียนขวา (1/10)
- ใช้งานกระสุน 9×19 มม.พาราเบลลัม
- ความเร็วกระสุนปากลำกล้อง 1,250 ฟุต/วินาที
- ระยะหวังผล 100 เมตร (จากศูนย์เปิด)
- อัตราการยิง 1,000-1,100 นัด/นาที
- ระบบการทำงานแบบโบลว์แบ็ค (Blowback)
- ซองกระสุนขนาด 25 นัด (ซองกระสุนปืนกล็อก)
- รูปแบบการยิง กึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติ
การใช้งาน
[แก้]- ไทย: ใช้งานโดยกรมป่าไม้ จำนวน 20 กระบอก[5] ประจำที่ศูนย์ป้องกันและปราบปราม 4 ศูนย์ ศูนย์ละ 4 กระบอก และใช้งานในหน่วยพยัคฆ์ไพรอีก 4 กระบอก[2] ซึ่งมีแผนจะของบประมาณจากรัฐบาลเพิ่มเติมเพื่อจัดซื้อมาใช้งานในอนาคต[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 Limited, Bangkok Post Public Company. "Forest rangers get submachine guns". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2024-11-25.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 "กรมป่าไม้ รับมอบ NIN9 ปืนยาวเล็ก จากทหาร 20 กระบอก สมรรถนะใกล้เคียง M16". www.matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 2024-11-25.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 3.0 3.1 3.2 ""ปืนกลมือ SMG NIN9 ขนาด 9 มม." การออกแบบและพัฒนาโดย #โรงงานต้นแบบการวิจัยพัฒนาอาวุธ และบริษัท Miltech R&D". sopsd.mod.go.th. สืบค้นเมื่อ 2024-11-25.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ "NIN9 เป็นอาวุธที่จะปกป้องคุ้มครองผู้ใช้จากอันตราย". sopsd.mod.go.th. สืบค้นเมื่อ 2024-11-25.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์) - ↑ 5.0 5.1 5.2 "กรมป่าไม้รับมอบอาวุธปืนเล็กยาว "NIN 9" เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์ผืนป่าไทย". mgronline.com. 2024-11-20.
- ↑ mailposter (2024-09-11). "ประกาศผู้ชนะการเสนอราคา ซื้อปืนเล็กยาว ขนาดความกว้างปากลำกล้อง 9 มิลลิเมตร จำนวน 20 กระบอก โดยวิธีเฉพาะเจาะจง". กรมป่าไม้.