ข้ามไปเนื้อหา

นิรมล สุริยสัตย์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ (4 พฤศจิกายน 2475 - 5 เมษายน 2545) ป.ช., ป.ม., ท.จ.ว. บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด และอดีตสมาชิกวุฒิสภา 2 วาระ ระหว่าง พ.ศ. 2535-2543 ท่านยังเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมอีกมาก

ประวัติ

[แก้]

ท่านผู้หญิงนิรมล เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของ นายมา และนางบุญครอง บูลกุล เจ้าของธุรกิจโรงสีและผู้บริหารบริษัทข้าวไทยในอดีต มีพี่น้อง 8 คน ในจำนวนนี้รวมถึง นายศิริชัย บูลกุล อดีตเจ้าของศูนย์การค้ามาบุญครอง และนายโชคชัย บูลกุล เจ้าของฟาร์มโชคชัย. ท่านผู้หญิงเข้าศึกษาที่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย จนจบชั้นม.5 แล้วไปศึกษาต่อที่โรงเรียนไดโอซีซัน (Diocesan) ที่ฮ่องกง จากนั้นได้ไปศึกษาต่อปริญญาตรีด้านเทคโนโลยีอาหาร ที่วิทยาลัยเวลส์ลีย์ (Wellesley College) ในเมืองเวลส์ลีย์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา และปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ในรัฐเดียวกัน หลังจากนั้นจึงได้กลับมาทำงานที่ประเทศไทย และเริ่มกิจการของตนเอง ตามลำดับ

ท่านผู้หญิงนิรมล ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคมะเร็งเม็ดโลหิตขาว เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2545 ด้วยอายุ 69 ปี

ประวัติการทำงาน

[แก้]

เริ่มต้นทำงานโดยเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นเข้าทำงานในตำแหน่งนักเคมีที่บริษัทเชลล์ (ประเทศไทย) ต่อมาในปี พ.ศ. 2512 ท่านผู้หญิงนิรมลและสามี คือ นายกร สุริยสัตย์ ได้ร่วมทุนกับบริษัท โตชิบา คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ และไทยโตชิบา อุตสาหกรรม และจากนั้นก็ได้ขยายกิจการขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบันมีบริษัทในกลุ่มบริษัทโตชิบาประเทศไทยรวมมากกว่า 12 บริษัท โดยตั้งรวมกันอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัดปทุมธานี

ท่านผู้หญิงเป็นนักธุรกิจหญิงที่มีผลงานทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นที่ยอมรับอย่างมาก ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ได้รับรางวัล นักธุรกิจสตรีตัวอย่างประจำปี พ.ศ. 2529 ของสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ได้รับยกย่องเป็น 1 ใน 50 นักธุรกิจสตรีดีเด่นของโลก พ.ศ. 2539 จากนิตยสารเวิลด์บิสิเนส สหรัฐอเมริกา และ 1 ใน 50 นักธุรกิจสตรีชั้นนำระดับโลก พ.ศ. 2542 โดยนิตยสารฟอร์จูน

พ.ศ. 2534 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุตถจุลจอมเกล้า

พ.ศ. 2539 ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ The Order of Scared Treasure, Gold Rays with Neck Ribbon จากรัฐบาลญี่ปุ่น ในฐานะผู้ที่ให้ความสนับสนุนอย่างยิ่งในการเสริมสร้างสัมพันธภาพด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่าง 2 ประเทศ

พ.ศ. 2542 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จึงใช้คำนำหน้าท่านผู้หญิง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ท่านผู้หญิงนิรมล สุริยสัตย์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์[1] ดังนี้

อ้างอิง

[แก้]
  1. [ลิงก์เสีย] ข่าวในพระราชสำนัก [6-14 เมษายน 2545 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 119(61ง): 116. 30 กรกฎาคม 2545. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2564.
  2. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ประจำปี 2542 (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 116(8ข): 4. 4 พฤษภาคม 2542. สืบค้นเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2564

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]