ข้ามไปเนื้อหา

นกเปลือกไม้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกเปลือกไม้
นกเปลือกไม้ ที่เชียงใหม่
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์ปีก
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Certhiidae
สกุล: Certhia
สปีชีส์: manipurensis
ชื่อทวินาม
Certhia manipurensis
Hume, 1881
หางยาวของนกเปลือกไม้ ขณะค้ำยันเปลือกไม้

นกเปลือกไม้ (อังกฤษ: Manipur treecreeper หรือ Hume's treecreeper; ชื่อวิทยาศาสตร์: Certhia manipurensis) เป็นนกขนาดเล็กที่ไต่หากินตามแนวดิ่งของเปลือกลำต้นของต้นไม้ใหญ่ ในป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณ มีปากเรียวแหลมยาวและโค้ง ลำตัวสีน้ำตาลลาย หางยาวแข็งช่วยในการค้ำยันต้นไม้ขณะไต่ นกเปลือกไม้ (C. manipurensis) แยกเป็นชนิดใหม่ออกจากนกเปลือกไม้สิกขิม (C. discolor) จากสีโทนส้มที่โดดเด่นที่คางและก้น รวมทั้งเสียงร้องที่ลากยาวกว่า และยังเป็นชนิดเดียวในวงศ์นกเปลือกไม้ (Certhioidea) ที่ถูกจัดให้เป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย[2] มีถิ่นอาศัยทางตอนเหนือของไทยที่ติดกับลาวและพม่า ได้แก่ที่ตาก แม่ฮ่องสอน และน่าน

อนุกรมวิธาน

[แก้]

นกเปลือกไม้ ได้รับการอธิบายแยกชนิดพันธุ์ใหม่ออกจากนกเปลือกไม้สิกขิม (C. discolor) เมื่อปี ค.ศ. 1881 โดยอัลลัน ออคตาเวียน ฮูม (Allan Octavian Hume) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษที่ทำงานในอินเดีย[3] จากความแตกต่างของสี เสียงร้อง[4] ระดับความสูงของถิ่นอาศัย และได้รับการยืนยันจากการตรวจทางพันธุกรรม[5]

ชื่อสามัญ "Hume's" ได้รับการตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่ อัลลัน ออคตาเวียน ฮูม อีกด้วย แต่โดยทั่วไปในหลายภาษาเรียก "นกเปลือกไม้มณีปุระ" (Manipur treecreeper)[3][4] จากถิ่นกำเนิด (type locality) ในมณีปุระ[4] หรือเรียก "นกเปลือกไม้พม่า" (Burmese treecreeper)[4] ในบางครั้ง

วงศ์นกเปลือกไม้มี 2 สกุลคือ สกุล Salpornis มี 2 ชนิดแต่ไม่พบในประเทศไทย และ สกุล Certhia มี 9 ชนิดซึ่งกระจายพันธุ์ในทวีปแอฟโฟร-ยูเรเชีย (โลกเก่า) โดยเฉพาะในแถบเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาใกล้เคียง (มีเพียงชนิดเดียวที่พบในอเมริกาคือ Certhia americana) โดยในวงศ์นกเปลือกไม้มีชนิดเดียวที่พบในประเทศไทย คือ Certhia manipurensis

ชนิดย่อย

[แก้]
  • Certhia manipurensis manipurensis – พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยเฉพาะในแถบตอนใต้ของแม่น้ำพรหมบุตร ต่อกับพรมแดนทางตะวันตกของพม่า ในเขตป่าดิบเขา[6]
  • Certhia manipurensis shanensis – กระจายพันธุ์ในเขตเทือกเขาทางตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า (รัฐฉาน) ไปจนถึงบางส่วนทางตะวันตกมณฑลยูนนานของจีน ภาคเหนือของไทยและพรมแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนามที่ติดกับจีน[7]
  • Certhia manipurensis meridionalisชนิดย่อยนี้พบได้ที่ภาคใต้ของเวียดนาม ในที่ราบสูงดาลัด[8]
  • Certhia manipurensis laotiana – อาศัยเฉพาะในลาวตอนเหนือ บริเวณที่ราบสูงเชียงของ[9]


ลักษณะทางชีววิทยาและพฤติกรรม

[แก้]

นกเปลือกไม้เป็นนกป่าขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 14 ซม. น้ำหนัก 9-11 กรัม[10] ปากเรียวแหลม ค่อนข้างยาวและโค้งลงเล็กน้อย ใช้สำหรับชอนไชจับแมลงออกจากเปลือกไม้ แถบหน้าน้ำตาลดำ มีคิ้วน้ำตาลเทาอ่อน ขนลำตัวด้านบนน้ำตาลมีลายดำและน้ำตาลอ่อน หางน้ำตาลแดงค่อนข้างยาว มีขนหางแข็งคล้ายนกหัวขวาน ใช้ในการค้ำยันต้นไม้ ลำตัวด้านล่างสีขาวหม่น หรือเทาอ่อน คอและก้นมีสีน้ำตาลแกมส้ม ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพเด่นที่ทำให้แยกออกจาก นกเปลือกไม้สิกขิม (Sikkim Treecreeper) ที่มีสีมอ ๆ[11]

เป็นนกที่ไต่หาตัวอ่อนแมลงกินตามแนวดิ่งของเปลือกลำต้นของต้นไม้ใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "นกเปลือกไม้" ในภาษาไทย และ "Treecreeper" หรือนักไต่ต้นไม้ในภาษาอังกฤษ อาจพบเป็นฝูงเป็นครั้งคราวในช่วงฤดูผสมพันธุ์ มักร้องเสียง "ชิว - จิ๊ด" (เสียงกลาง - สูง) ซ้ำ ๆ เป็นจังหวะลากยาว และช้ากว่าของนกเปลือกไม้สิกขิม[11]

การแพร่กระจายพันธุ์และนิเวศวิทยา

[แก้]

นกเปลือกไม้อาศัยในบริเวณตีนเขาไปจนถึงภูมิภาคภูเขาสูงและกึ่งหุบเขา ในป่าดิบเขาและป่าเบญจพรรณที่ความสูง 1,300 เมตรขึ้นไป ซึ่งค่าเฉลี่ยช่วงความสูงต่ำกว่านกเปลือกไม้สิกขิม[11] เขตการแพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่ทางตะวันตกสุดคือ ตอนใต้ของแม่น้ำพรหมบุตร ในช่วงรัฐอัสสัม รัฐมณีปุระ รัฐมิโซรัม นาคาแลนด์ ไปจนถึงมณฑลยูนนานของจีน ลาว ไทย และสุดทางตะวันออกในตอนใต้ของเวียดนาม[11]

นกเปลือกไม้มีขนาดช่วงกระจายพันธุ์ที่กว้าง ทำให้ไม่เข้าข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable species - VU) แม้ว่าแนวโน้มจำนวนประชากรจะลดลง นกเปลือกไม้จึงได้รับการประเมินว่ามีความกังวลน้อยที่สุด[12]

ในประเทศไทย

[แก้]

พบไต่หากินในแนวตั้งตามลำต้นของต้นไม้ใหญ่ในป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ที่ความสูง 1,300 เมตรขึ้นไป มีรายงานการพบบนเทือกเขาสูงในป่าตะวันตก จังหวัดตาก และอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน[13][14] ดอยลางและดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่[15][16]

อ้างอิง

[แก้]
  1. แม่แบบ:Url=https://www.iucnredlist.org/details/160032350/0
  2. นกเปลือกไม้ Hume’s Treecreeper ภาพถ่ายนกทุกชนิดที่พบในประเทศไทย. 12 กันยายน 2556.
  3. 3.0 3.1 Hume's treecreeper Species of Thailand. Thai National Parks, สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2564.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Burmese Tree-Creeper Certhia manipurensis Hume, 1881 Avibase. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2564.
  5. Tietze, Dieter Thomas; Martens, Jochen; Sun, Yue-Hua (2006). "Molecular phylogeny of treecreepers (Certhia) detects hidden diversity†". Ibis (ภาษาอังกฤษ). 148 (3): 477–488. doi:10.1111/j.1474-919X.2006.00547.x. ISSN 1474-919X.
  6. Burmese Tree-Creeper (nominate) Avibase. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  7. Burmese Tree-Creeper (shanensis) Avibase. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  8. Burmese Tree-Creeper (meridionalis) Avibase. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  9. Burmese Tree-Creeper (Lao) Avibase. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  10. Simon Harrap. Hume's Treecreeper Certhia manipurensis The Cornell Lab of Ornithology - Birds of the World, 4 มีนาคม 2563.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 นกเปลือกไม้ eBird. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2564.
  12. Manipur Treecreeper Certhia manipurensis BirdLife International. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2564.
  13. นกเปลือกไม้ Scientific Name Certhia manipurensis (Hume, 1881) ด่านตรวจสัตว์ป่าปาดังเบซาร์. 12 ธันวาคม 2562.
  14. Hume's Treecreeper ( Certhia manipurensis (Hume, 1881) ) Bird of Lower Northern Thailand. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2564.
  15. นกเปลือกไม้ Hume's Treecreeper Birds of Thailand: Siam Avifauna. สืบค้นเมื่อ 2 มีนาคม 2564.
  16. Hume's Treecreeper · Certhia manipurensis · Hume, 1881 Xeno - Canto. สืบค้นเมื่อ 3 มีนาคม 2564.