ข้ามไปเนื้อหา

นกอีเสือลาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกอีเสือลาย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Laniidae
สกุล: Lanius
สปีชีส์: L.  tigrinus
ชื่อทวินาม
Lanius tigrinus
Drapiez, 1828

นกอีเสือลาย หรือ นกอีเสือลายเสือ (อังกฤษ: Tiger shrike, Thick-billed shrike) เป็นนกจับคอนขนาดเล็กในสกุล Lanius ในวงศ์นกอีเสือ (Laniidae) มีถิ่นอาศัยในแถบเอเชียตะวันออก มักพบอยู่ตามลำพัง กินสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร ทำรังบนต้นไม้ วางไข่ 3-6 ใบ

ลักษณะ

[แก้]

นกอีเสือลายมีแถบหนาสีดำคาดตา จะงอยปากเป็นสีดำ หางสั้น ด้านใต้ของลำตัวเป็นสีขาว กระหม่อมและท้ายทอยมีสีเทา ด้านบนของลำตัวเป็นสีน้ำตาลแดงและมีขอบขนแต่ละเส้นเป็นสีดำ ทำให้เห็นเป็นลายพาดอันเป็นที่มาของชื่อ นกตัวเมียมีสีสันคล้ายตัวผู้แต่ไม่เข้มเท่า หัวตาและคิ้วเป็นสีขาว มีลายพาดในแนวตั้งที่ด้านข้างของลำตัว นกวัยอ่อนมีปากสีเนื้อ ด้านบนของลำตัวเป็นสีน้ำตาลตั้งแต่กระหม่อมจรดหางและไม่มีแถบคาดตาสีดำ มีลายทั่วทั้งตัวยกเว้นด้านใต้และด้านข้างของลำคอ[2]

การกระจายพันธุ์

[แก้]

ขยายพันธุ์ในเอเชียตะวันออก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น และตะวันออกไกลของประเทศรัสเซีย ฤดูหนาวจะอพยพมาลงมาที่ประเทศพม่า ไทย ลาว เวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซียที่เกาะชวา จังหวัดบาหลี และเกาะซูลาเวซี[3] นอกจากนี้ยังพบนกพลัดหลงที่ฮ่องกงและฟิลิปปินส์

สำหรับประเทศไทยจะพบในช่วงปลายเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม โดยพบตามสวนสาธารณะในเมือง ป่าโกงกาง ป่าชายเลน ตามที่โล่งในที่ราบภาคกลาง และจะพบอีกครั้งช่วงปลายฤดู จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2008). Lanius tigrinus. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 2 November 2008.
  2. นกอีเสือลายเสือ[ลิงก์เสีย] เครือข่ายกาญจนาภิเษก
  3. Harris, Tony & Kim Franklin (2000) Shrikes & Bush-shrikes, Christopher Helm, London.
  4. สัตว์ป่าคุ้มครอง

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Lanius tigrinus ที่วิกิสปีชีส์