ข้ามไปเนื้อหา

นกต้อยตีวิด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

นกต้อยตีวิด
V. i. indicus ผัวเมียจากรัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย
เสียงร้อง
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอต
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
Animalia
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
Chordata
ชั้น: สัตว์ปีก
Aves
อันดับ: Charadriiformes
Charadriiformes
วงศ์: Charadriidae
Charadriidae
สกุล: Vanellus
Vanellus
(Boddaert, 1783)
สปีชีส์: Vanellus indicus
ชื่อทวินาม
Vanellus indicus
(Boddaert, 1783)
ขอบเขตของนกต้อยตีวิด
ชื่อพ้อง

Hoplopterus indicus
Lobivanellus indicus
Lobivanellus goensis
Tringa indica
Sarcogrammus indicus

นกต้อยตีวิด (ชื่ออื่น ได้แก่ นกกระต้อยตีวิด นกกระแตแต้แว้ด นกแต้แว้ด[2] หรือ นกแตดแต้ ในภาษาถิ่นอีสาน) (ชื่อวิทยาศาสตร์: Vanellus indicus) เป็นนกที่สีสวยน่าดู พบได้ตามพื้นที่โล่งเกือบทุกสภาพทั่วประเทศ อยู่ในวงศ์นกหัวโต (Charadriidae) วงศ์ย่อย Vanellinae หรือ Charadriinae มีเสียงร้องเตือนภัยแหลมดังที่ไม่เหมือนใครว่า "แตแต้แวด"[2] หรือตามคนพูดภาษาอังกฤษว่า did he do it หรือ pity to do it[3] ทำให้มีชื่อเรียกต่าง ๆ กันตามเสียงร้องทั้งภาษาไทยและภาษาอื่น ๆ[2][4] เป็นนกที่มักจะเห็นเป็นคู่ ๆ หรือเป็นฝูงเล็ก ๆ ไม่ไกลจากแหล่งน้ำ แต่อาจจะอยู่รวมเป็นฝูงใหญ่ในฤดูหนาวที่ไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์[5] ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 จึงห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรัง การห้ามการครอบครองและการค้ามีผลไปถึงไข่และซาก[6]

คำพรรณนา

[แก้]
กระแตแต้แว้ด

นกต้อยตีวิดเป็นนกขายาว ลุยน้ำ ยาวประมาณ 35 ซม. ตัวขนาดนกเขาใหญ่ ปีกและหลังมีสีน้ำตาลอ่อนมีแววสีม่วง ๆ แต่หัว อก และคอหรือด้านหน้าคอ เป็นสีดำ มีแถบสีขาว ๆ ที่เห็นชัดเจนในระหว่าง ๆ ตั้งแต่ท้องไปจนถึงหาง บางพันธุ์จะขึ้นไปข้าง ๆ คอจนเกือบถึงยอด รวมทั้งบริเวณหู ปีกยาวจนเกือบคลุมหาง หางสั้นมีสีดำ สุดด้วยสีน้ำตาลและขาว หรือดำ มีติ่งเนื้อสีแดงพาดทางด้านหน้าจากขอบตาหนึ่งไปอีกขอบตาหนึ่ง ปากแดงปลายดำ ขายาวมีสีเหลือง ตีนมี 4 นิ้ว นิ้วหลังเป็นติ่งเล็ก อยู่สูงกว่านิ้วอื่น เกาะกิ่งไม้ไม่ได้ มีพังผืดตอนโคนนิ้วเล็กน้อย เมื่อกำลังบิน ปีกมีแถบสีขาวเห็นได้ชัดทั้งบนล่าง[7]

V. i. aigneri ในประเทศตุรกี

พันธุ์ย่อย aigneri มีสีจางกว่า ขนาดใหญ่กว่าพันธุ์ต้นแบบ และพบในประเทศตุรกี อิหร่าน อิรัก อัฟกานิสถาน และลุ่มแม่น้ำสินธุ ส่วนพันธุ์ต้นแบบพบทั่วประเทศอินเดีย พันธุ์ย่อย lankae ในประเทศศรีลังกาเล็กกว่า และสีเข้มกว่า ในขณะที่พันธุ์ย่อย atronuchalis ในอินเดียตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศบังกลาเทศ มีแก้มขาวล้อมด้วยสีดำ[8]

ตัวเมียตัวผู้มีขนคล้ายกัน แต่ตัวผู้มีปีกยาวกว่า 5% และมักจะมีเดือยเท้าที่ยาวกว่า นกยาวประมาณ 320-350 มม. ปีกยาว 208-247 มม. พันธุ์ต้นแบบปีกยาวที่เฉลี่ย 223 มม. และพันธุ์ศรีลังกา 217 มม. ปากยาว 31-36 มม. และกระดูกข้อเท้า (tarsus) ยาว 70-83 มม. หางยาว 104-128 มม.[5]

นกมักจะอยู่รวมกัน 2-3 ตัวในที่โล่งที่มีน้ำ ในนาที่ไถ และที่ขอบสระหรือในสระที่แห้ง แต่บางครั้งจะรวมกันเป็นฝูงใหญ่ 26-200 ตัว[9] บางครั้งก็พบด้วยในที่โล่งในป่า หรือในบ่อหลุมที่มีน้ำฝน นกวิ่งไปวิ่งมาเป็นระยะสั้น ๆ และจะก้มลงแบบเอียง ๆ โดยไม่ได้กางปีก เพื่อจะจิกอาหารขึ้นมาเหมือนกับนกหัวโตทั่วไป[10] นกอาจหากินในเวลากลางคืนด้วย โดยมักจะขยันใกล้ ๆ วันเพ็ญ[5] เป็นนกที่ระมัดระวังตื่นตัวตลอดเวลาอย่างน่าแปลกใจ ไม่ว่าจะเป็นกลางวันกลางคืน มักจะเป็นสัตว์แรกที่ตรวจจับสัตว์อื่นได้ แล้วร้องเตือนภัย ดังนั้น จึงเป็นนกน่ารำคาญสำหรับพวกนายพราน นกบินได้ไม่เร็วนัก ๆ ต้องค่อย ๆ กระพือปีกไป แต่ว่า จะว่องไวเมื่อต้องป้องกันรัง หรือถูกล่าโดยเหยี่ยว[7]

V. i. atronuchalis

ความสวยงามของนกมาพร้อมกับเสียงดังดุว่า "แตแต้แว้ด" บ่อยครั้งร้องในเวลากลางคืน[8]

นกเผือกก็มีบ้างแต่น้อย[11]

ชื่อนกในพื้นที่ต่าง ๆ มักจะเลียนเสียงร้อง รวมทั้งในภาษาฮินดี (titeeri) กันนาดา (tittibha) สินธี (tateehar) คุชราต (titodi) แคชเมียร์ (hatatut) อัสสัม (balighora) เตลูกู (yennappa chitawa)[3] ทมิฬ (aal-kaati แปลว่า เจ้าตัวชี้มนุษย์)[3] และไทย

การกระจายตัว

[แก้]

นกพบตั้งแต่ในเอเชียตะวันตก (อิรัก อิหร่านตะวันตกเฉียงใต้ อ่าวเปอร์เซีย) ตลอดจนถึงเอเชียใต้ (บาโลชิสถาน อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ประเทศอินเดียทั้งหมดจนถึงเขต Kanyakumari เข้าไปถึงความสูง 1.8 กม. ในรัฐชัมมูและกัศมีร์และประเทศเนปาล) โดยมีพันธุ์ย่อยอื่น ๆ อีกในเอเชียอาคเนย์

นกอาจจะอพยพตามความสูงในฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง (เช่นในแคว้นบาโลชิสถานตอนเหนือ) และอาจจะอพยพกระจายไปทั่วในฤดูมรสุม[7] ที่เกิดที่อยู่ใหม่ ๆ แต่ว่า นกโดยมากจะเป็นนกประจำถิ่น[12]

แม้นกเริ่มจะลดจำนวนลงในที่อยู่เขตทางตะวันตก แต่ก็ยังมีอยู่มากในเอเชียใต้ เห็นได้ในถิ่นที่อยู่ที่มีน้ำเกือบทุกแห่ง

พฤติกรรมและนิเวศ

[แก้]
ลูกนกกับไข่ในรังที่พื้น ลูกนกจะออกจากไข่พร้อมกัน มีขนอำพรางตา จะนอนนิ่ง ๆ ถ้าตกใจ[7]
Vanellus indicus aigneri

ฤดูผสมพันธุ์โดยหลัก อยู่ช่วงเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม ตัวผู้จะจีบตัวเมียโดยพองขน ยื่นปากขึ้น แล้วเดินวนรอบ ๆ ตัวเมีย อาจจะมีตัวผู้จีบตัวเมียหลายตัวพร้อม ๆ กันใกล้ ๆ กัน[9] ไข่จะวางไว้ที่พื้นหรือในแอ่งที่ไข่จะไม่กลิ้งออก บางครั้งพร้อมกับก้อนหินเล็ก ๆ และขี้แพะหรือขี้กระต่าย[13] โดยจะวางไข่ที่ละ 3-4 ฟองมีสีเหลืองด่างดำ มีรูปร่างคล้ายกับลูกสาลี่ มีขนาดโดยเฉลี่ย 42x30 มม. รังนั้นเห็นได้ยาก เพราะว่าสีไข่ที่พรางตา มักจะเข้ากับสีพื้น[7] ในเขตที่อยู่อาศัยของมนุษย์ บางครั้งก็จะทำรังบนหลังคาด้วย[14][15][16] มีบันทึกว่า นกทำรังอยู่ที่ก้อนหินระหว่างทางรถไฟ โดยพ่อแม่จะหลีกไปเมื่อรถไฟวิ่งผ่าน[17] มีการย้ายรังนกที่เสี่ยงจากเกษตรกรรม โดยค่อย ๆ เลื่อนไข่นกออกไป[18]

เมื่อทำรัง นกจะบินดิ่งโจมตี หรือหลอกล่อสัตว์ล่าเหยื่อ[19][20][21][22] เช่นดิ้นชักไปมาเหมือนบาดเจ็บหนัก เพื่อล่อให้เราเดินตามมันไป[23] หรืออาจจะกระพือปีกเพื่อกันสัตว์กินพืชที่อาจเป็นภัยต่อรัง

ทั้งตัวผู้ตัวเมียจะกกไข่ โดยตัวผู้ดูจะรับกกไข่ต่อจากตัวเมีย โดยเฉพาะในช่วงร้อน ๆ เวลากลางวัน[24] ลูกนกจะออกจากไข่ภายใน 28-30 วัน นกผสมพันธุ์สำเร็จในอัตรา 40% คือไข่บางฟองจะไม่เป็นตัว ส่วนการเสียไข่ที่ผสมพันธุ์สำเร็จ อยู่ในระดับสูงที่ ~43% เนื่องจากการล่าเหยื่อของพังพอน กา และเหยี่ยว ลูกนกมีโอกาสตายที่ 8.3% โดยจะมีโอกาสรอดสูงขึ้นหลังจากอาทิตย์แรก[25]

เหมือนกับนกหัวโตประเภทอื่น ๆ นกจะชุบขนท้องให้เปียก เพื่อให้น้ำกับลูกนก และทำให้ไข่เย็นในช่วงอากาศร้อน[26][27]

ลูกนกจะทิ้งรังแล้วตามพ่อแม่ไป หลังจากออกจากไข่ไม่นาน

นกจะอาบน้ำถ้ามี และจะไซ้ขนจนหลังออกจากรังหรือผสมพันธุ์ บางครั้งจะนอนอยู่ที่พื้น โดยวางกระดูกข้อเท้าแนบกับพื้น และบางครั้งจะพักยืนขาข้างเดียว[28]

นกบิน ให้สังเกตแถบขาวบนปีกที่ไม่เหมือนนกอื่น และแถบดำกว้างที่หาง

นกที่แข็งแรงดีมีศัตรูน้อย มีการกล่าวถึงว่า พยาธิตัวแบนและพยาธิใบไม้เป็นปรสิตในนก[29][30]

อาหาร

[แก้]

อาหารของนกรวมทั้งแมลง หอยทาก และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ โดยมากหาจากที่พื้น และอาจจะกินเมล็ดธัญพืชบางชนิดด้วย นกหาอาหารในช่วงกลางวันโดยหลัก แต่อาจจะหากินในเวลากลางคืนด้วย และบางครั้งจะใช้เท้ากวนเหยื่อ[31]

ในวัฒนธรรมต่าง ๆ

[แก้]

บางท้องถิ่นในประเทศอินเดีย[3] และในประเทศไทย[23][32] มีความเชื่อว่า นกนอนหงายเอาตีนชี้ฟ้าเพราะกลัวฟ้าถล่ม ซึ่งไม่เป็นจริง[23] ภาษาฮินดีถึงกับมีคำอุปลักษณ์แปลว่า "นกต้อยตีวิด จะยันท้องฟ้าไว้ได้หรือไม่" หมายถึงบุคคลที่ทำอะไร เกินแรงหรือความสามารถของตน[3]

ในบางพื้นที่ของรัฐราชสถาน เชื่อกันว่า ถ้านกวางไข่ในพื้นที่สูง ปีนั้นฝนจะตกดี[33] มีการใช้ไข่นกในการแพทย์พื้นบ้าน[34][35][36]

ในคัมภีร์พุทธศาสนา

[แก้]

คัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎกและอรรถกถาของพระพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงนกต้อยตีวิดในหลายประเด็นรวมทั้ง

  • บุคคลพึงตามรักษาศีลเท่าชีวิต เหมือนกับนกตามรักษาไข่[37]
  • พระพุทธเจ้าทรงตามให้โอวาทกับท่านพระราหุล เหมือนกับนกตามรักษาไข่[38]
  • สัตว์ 4 พวกกลัวสิ่งที่ไม่ควรกลัว เหมือนนกนอนหงายเพราะกลัวฟ้าถล่ม[39]
  • นกถึงมีสีสวย แต่ก็มีวาจาไม่ไพเราะ จึงไม่เป็นที่รักของชนทั้งหลาย[40][41]

มีการกล่าวให้บุคคลตามรักษาศีล เหมือนกับนกต้อยตีวิดตามรักษาไข่ของตน คือ

นกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ฉันใด จามรีรักษาขนหางฉันใด ผู้มีบุตรคนเดียวรักษาบุตรผู้เป็นที่รักฉันใด ผู้มีนัยน์ตาข้างเดียว รักษานัยน์ตาที่ยังเหลืออีกข้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงตามรักษาศีลเหมือนฉันนั้นทีเดียว จงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักด้วยดี มีความเคารพ ทุกเมื่อเถิด ดังนี้

— สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร[37]

มีการกล่าวถึงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตามรักษาท่านพระราหุล เหมือนกับนกต้อยตีวิตตามรักษาไข่ของตน คือ

พระตถาคตผู้มีพระปัญญาเฉลียวฉลาด ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล ทรงรักษาเราเหมือนนกต้อยตีวิดรักษาพืชพันธุ์ เหมือนเนื้อจามรีรักษาขนหางสูงสุดฉะนั้น

— ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร[38]

มีการกล่าวถึงว่า นกต้อยตีวิดนอนหงาย เพราะกลัวฟ้าถล่ม คือ

เหมือนสัตว์ 4 จำพวกเหล่านี้ ย่อมกลัวต่อสิ่งที่ไม่ควรกลัว (ดังมีที่มา) ว่า ข้าแต่มหาราช สัตว์ 4 จำพวกแล ย่อมกลัวต่อสิ่งที่ไม่ควรกลัวแล 4 จำพวกไฉนบ้าง ข้าแต่มหาราช ไส้เดือนแลย่อมไม่กินดิน เพราะกลัวว่า แผ่นดินจะหมด ข้าแต่มหาราช นกกะเรียนย่อมยืนเท้าเดียว (บนแผ่นดิน) เพราะกลัวว่าแผ่นดินจะทรุด ข้าแต่มหาราช นกต้อยตีวิดนอนหงาย เพราะกลัวว่าฟ้าจะถล่ม ข้าแต่มหาราช พราหมณ์ผู้ประพฤติธรรมแล ย่อมไม่ประพฤติพรหมจรรย์ (คือจะมีภรรยา) เพราะกลัวว่าโลกจะขาดสูญ ฉะนั้น

— ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ปัญจัตตยสูตร[39]

มีการยกนกต้อยตีวิดว่า เป็นนกที่สวยแต่มีวาจาไม่ไพเราะในสุชาตาชาดก[41] ในเรื่องนี้อรรถกถาจารย์อธิบายว่า เป็นเรื่องเนื่องกับการสอนนางสุชาดาสะใภ้ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้มีวาจาดุร้าย คือพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงสั่งสอนนางสุชาดาในชาติก่อน ๆ มาแล้วเช่นกัน และทรงยกนกดุเหว่าเทียบกับนกต้อยตีวิด ที่มีเสียงไม่น่าฟัง[40] คือทรงยกว่า

ธรรมดาสัตว์ทั้งหลายที่สมบูรณ์ด้วยวรรณะ
มีเสียงอันไพเราะ น่ารักน่าชม แต่พูดจาหยาบกระด้าง
ย่อมไม่เป็นที่รักของใคร ๆ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

พระองค์ (พระราชชนนีของพระโพธิสัตว์ผู้ในชาติหลังเป็นนางสุชาดา) ทรงทอดพระเนตรแล้วมิใช่หรือ
นกดุเหว่าสีดำตัวนี้มีสีไม่สวย ลายพร้อยไปทั้งตัว
แต่เป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลายจำนวนมาก
เพราะร้องด้วยเสียงอันไพเราะ

เพราะฉะนั้นบุคคลควรพูดคำอันสละสลวย
คิดก่อนพูด พูดพอประมาณ ไม่ฟุ้งซ่าน
ถ้อยคำของผู้ที่แสดงเป็นอรรถเป็นธรรม
เป็นถ้อยคำอันไพเราะ เป็นถ้อยคำที่เป็นภาษิต

— ขุททกนิกาย ชาดก สุชาตาชาดก[41]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2016). "Vanellus indicus". IUCN Red List of Threatened Species. 2016: e.T22694013A89569039. doi:10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22694013A89569039.en.
  2. 2.0 2.1 2.2 "ต้อยตีวิด", พจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒, น. ชื่อนกชนิด Vanellus indicus ในวงศ์ Charadriidae ตัวขนาดนกเขาใหญ่ หัวสีดำขนบริเวณหูสีขาว มีติ่งเนื้อสีแดงพาดทางด้านหน้าจากขอบตาหนึ่งไปอีกขอบตาหนึ่ง ปากยาว ขายาวสีเหลือง ตีนมี ๔ นิ้ว นิ้วหลังเป็นติ่งเล็ก ร้องเสียงแหลม “แตแต้แว้ด” กินสัตว์ขนาดเล็ก วางไข่ในแอ่งตื้น ๆ บนพื้นดิน, กระต้อยตีวิด กระแตแต้แว้ด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Jerdon, TC (1864). The Birds of India. George Wyman & Co. pp. 648–649.
  4. Symons,CT (1917). "Note on the breeding habits of the Did-he-do-it Sarcogrammus indicus". Spolia Zeylanica. 10 (39): 397–398.
  5. 5.0 5.1 5.2 Hayman, P., J. Marchant, T. Prater (1986). Shorebirds: an identification guide to the waders of the world. Croom Helm, London. pp. 274–275.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  6. "สัตว์ป่าคุ้มครอง". โลกสีเขียว. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-26. สืบค้นเมื่อ 2015-04-23.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Ali, S & S D Ripley (1980). Handbook of the birds of India and Pakistan. Vol. 2 (2 ed.). Oxford University Press. pp. 212–215.
  8. 8.0 8.1 Pamela C. Rasmussen and John C. Anderton (2005). Birds of South Asia: The Ripley Guide. Smithsonian Institution & Lynx Edicions. ISBN 84-87334-67-9. OCLC 60359701.
  9. 9.0 9.1 Vyas, Rakesh (1997). "Flocking and courtship display in Redwattled Lapwing (Vanellus indicus)". Journal of Bombay Natural Hist. Soc. 94: 406–407.
  10. Ali, Salim (1996). Book of Indian Birds, Salim Ali centenary edition. Mumbai: Bombay Natural History Society/Oxford University Press. p. 139.
  11. Mehra, SP; Singh, N; Mehra, S (2008). "Sighting of a partially albino Red-wattled Lapwing Vanellus indicus in Udaipur, Rajasthan". Indian Birds. 4 (3): 120.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  12. Saini,SS (1972). "Unexpected summer visitors in the Himalayas - Redwattled Lapwing". Newsletter for Birdwatchers. 12 (8): 5–6.
  13. Sharma, SK (1992). "Use of droppings of Indian Hare for nest making by Redwattled Lapwing". Newsletter for Birdwatchers. 32 (7&8): 19.
  14. Mundkur,Taej (1985). "Observations on the roof-nesting habit of the Redwattled Lapwing (Vanellus indicus) in Poona, Maharashtra". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 82 (1): 194–196.
  15. Tehsin, Raza H; Lokhandwala,Juzer (1982). "Unusual nesting of Redwattled Lapwing (Vanellus indicus)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 79 (2): 414.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  16. Reeves,SK (1975). "Unusual nesting by Red-wattled Lapwing". Newsletter for Birdwatchers. 15 (2): 5–6.
  17. McCann, Charles (1941). "Curious nesting site of the Red-wattled Lapwing (Lobivanellus indicus indicus Bodd.)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 42 (2): 439–440.
  18. Sridhar,S; Karanth,P (1991). "Dilemma near the nest of a pair of red-wattled lapwings". Newsletter for Birdwatchers. 31 (7&8): 7–9.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  19. Rangaswami,S (1980). "Lapwing fighting off cobra". Newsletter for Birdwatchers. 20 (1): 13.
  20. Bhatnagar,RK (1978). "Interaction of a Redwattled Lapwing and a dog". Newsletter for Birdwatchers. 18 (1): 9.
  21. Bhagwat,VR (1991). "Lapwings and snake". Newsletter for Birdwatchers. 31 (5&6): 10–11.
  22. Kalsi, RS; Khera, S (1987). "Agonistic and distraction behaviour of the Redwattled Lapwing, Vanellus indicus indicus". Pavo. 25 (1&2): 43–56.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  23. 23.0 23.1 23.2 "นิทานเกี่ยวกับนกกระแตแต้แว้ด จากเพจ สิ่งละอันพันละนก ลองเข้าไปอ่านกันดูครับ". 2013-10-01. สืบค้นเมื่อ 2015-05-24.
  24. Naik, RM; George, PV; Dixit, Dhruv B (1961). "Some observations on the behaviour of the incubating Redwattled Lapwing, Vanellus indicus indicus (Bodd.)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 58 (1): 223–230.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  25. Desai,JH; Malhotra,AK (1976). "A note on incubation period and reproductive success of the Redwattled Lapwing, Vanellus indicus at Delhi Zoological Park". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 73 (2): 392–394.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  26. Sundararaman, V. (1989). "Belly-soaking and nest wetting behaviour of Redwattled Lapwing, Vanellus indicus (Boddaert)". Journal of Bombay Natural Hist. Soc. 86: 242.
  27. Kalsi, R. S. & S. Khera (1990). "Growth and development of the Red-wattled Lapwing Vanellus indicus". Stilt. 17: 57–64.
  28. Kalsi,RS; Khera,S (1992). "Some observations on maintenance behaviour of the Red-wattled Lapwing Vanellus indicus (Boddaert)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 89 (3): 368–372.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  29. Jadhav. V.; Nanware S. S.; Rao S. S. (1994). "Two new tapeworm Panuwa ahilyai n. sp. and Panuwa shindei n. sp. from Vanellus indicus at Aurangabad, M.S., India". Rivista di Parassitologia. 55 (3): 379–384.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  30. Siddiqi, AH, Jairajpuri MS (1962). "Uvitellina indica n. sp. (Trematoda: Cyclocoeliidae) from a redwattled lapwing, Lobivanellus indicus (Boddaert)". Z Parasitenkd. 21: 212–4. doi:10.1007/BF0026033. PMID 13912529.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  31. Babi,AZ (1987). "Feeding behaviour of red-wattled lapwing". Newsletter for Birdwatchers. 27 (1–2): 15.
  32. "เรื่องเล่า นกกระแตแต้แว้ด". 2012-01-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-17. สืบค้นเมื่อ 2015-05-24.
  33. Saxena VS (1974). "Unusual nesting by Red-wattled Lapwing". Newsletter for Birdwatchers. 14 (11): 3–5.
  34. Ganesh Tamang (2003). "An Ethnobiological Study of the Tamang People" (PDF). Our Nature. 1: 37–41.
  35. Negi, Chandra S. Negi and Veerendra S. Palyal (2007). "Traditional Uses of Animal and Animal Products in Medicine and Rituals by the Shoka Tribes of District Pithoragarh, Uttaranchal, India" (PDF). Ethno-Med. 1 (1): 47–54. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-04-30. สืบค้นเมื่อ 2015-06-09.
  36. Srinivas, K.V. & S. Subramanya (2000). "Stealing of Redwattled Lapwing Vanellus indicus (Boddaert) and Yellow-wattled Lapwing Vanellus malabaricus (Boddaert) eggs by cowherds". Journal of Bombay Natural Hist. Soc. 97 (1): 143–144.
  37. 37.0 37.1 "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 11 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), vol. 11, p. 166 (อรรถกถา)
  38. 38.0 38.1 "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 20 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), vol. 20, p. 274 (อรรถกถา)
  39. 39.0 39.1 "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ปัญจัตตยสูตร", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), vol. 22, p. 58 (อรรถกถา)
  40. 40.0 40.1 "พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 58 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่มที่ 3 ภาคที่ 4", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), vol. 58, p. 147 (พระบาลีและอรรถกถา)
  41. 41.0 41.1 41.2 "พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ (ภาษาไทย) เล่มที่ 27 พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1 สุชาตาชาดก", E-Tipitaka 2.1.2 (2010), vol. 27, p. 132 (พระบาลี)

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]