ข้ามไปเนื้อหา

นกช้อนหอยขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นกช้อนหอยขาว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Pelecaniformes
(Ciconiiformes บางข้อมูล[1])
วงศ์: Threskiornithidae
สกุล: Threskiornis
สปีชีส์: T.  melanocephalus
ชื่อทวินาม
Threskiornis melanocephalus
(Latham, 1790)

นกช้อนหอยขาว หรือ นกกุลาขาว (อังกฤษ: Black-headed ibis; ชื่อวิทยาศาสตร์: Threskiornis melanocephalus) เป็นนกน้ำขนาดใหญ่ อยู่ในวงศ์นกช้อนหอยและนกปากช้อน (Threskiornithidae)

นกช้อนหอยขาว กระจายพันธุ์อยู่แถบตอนใต้ของทวีปเอเชีย ตั้งแต่ปากีสถาน, อินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา, บังกลาเทศ, ตอนใต้และตะวันออกของจีน เรื่อยมาจนถึงเอเชียอาคเนย์ เช่น พม่า, ไทย, ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม, มาเลเซีย, เกาะสุมาตรา และเกาะชวา นอกจากนี้แล้วยังมีจำนวนประชากรบางส่วนบินย้ายถิ่นไปไกลถึงเกาะไต้หวันและฟิลิปปินส์ โดยนกช้อนหอยขาวจัดว่ามีเพียงชนิดเดียว ไม่มีชนิดย่อย

เป็นนกที่มีขนาดใหญ่ มีปากสีดำเรียวยาว ปลายปากโค้งลงมาก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของนกช้อนหอย หัวและคอช่วงบนเป็นหนังเกลี้ยง ๆ สีดำ ลำตัวและปีกมีขนสีขาวปกคลุมทั่ว นอกจากด้านใต้ปีกบริเวณใกล้กับขอบปีกมีเพียงหนังเปลือยเปล่าสีแดงซึ่งเห็นได้ชัดเจนเมื่อนกบิน ขายาวสีดำ ทั้งตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน

นกช้อนหอยขาวที่พบในศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี

อาศัยอยู่ตามพื้นที่ชุ่มน้ำในที่ราบ เช่น ริมแม่น้ำ, ทะเลสาบ, หนองบึง, ที่ลุ่มน้ำท่วมขัง รวมถึงทุ่งนา หรือทุ่งหญ้าที่น้ำท่วมขัง มักพบหากินเป็นฝูงใหญ่ มีพฤติกรรมเดินลุยน้ำหรือย่ำไปบนพื้นโคลนไปช้า ๆ พร้อมใช้ปากยาวโค้งแหย่ลงไปในน้ำ หรือชอนไชในโคลนเพื่อจับเหยื่อ เมื่อพบแล้วจะรีบใช้ปากงับและกลืนกิน และใช้วิธีจิกกินเหยื่อตามผิวน้ำด้วย อาหารส่วนใหญ่ได้แก่ ปลา, กบ, งู, ปู, กุ้ง, หอย และสัตว์เลื้อยคลานเล็ก ๆ นอกจากนี้แล้วยังไล่งับแมลงตามกอหญ้าหรือชายน้ำด้วย

ฤดูผสมพันธุ์ขอวนกช้อนหอยขาวเริ่มในราวเดือนมิถุนายน-กันยายน ช่วงนี้นกจะมีขนงอกสีเทาออกมาจากปีกคลุมบนหลังและตะโพก ทางหลังคอและอกก็มีขนงอกยาวออกมาด้วยเช่นกัน จะเลือกทำรังเป็นกลุ่มบนยอดไม้สูงของต้นไม้ใหญ่ใกล้แหล่งน้ำ บางครั้งอาจพบทำรังปะปนกับนกน้ำชนิดอื่น ๆ เช่น นกกระสา, นกกระยาง และนกกาน้ำ ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันทำรัง โดยใช้กิ่งไม้มาวางซ้อนกันเป็นรังขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 45-50 เซนติเมตร แล้วรองพื้นด้วยกก, ใบไม้หรือหญ้า หลังจากนั้นจึงวางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ใช้เวลากกไข่นาน 23-24 วัน ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยสีดำบนหัวและลำตัวสีขาว ใช้เวลาอยู่ในรังนาน 40 วัน จึงบินออกหากิน

ขณะบิน

นกช้อนหอยขาว เคยเป็นนกประจำถิ่นที่อาศัยหากินและแพร่ขยายพันธุ์บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างในประเทศไทย เช่น จังหวัดปทุมธานี, นครปฐม และสมุทรสาคร แต่ปัจจุบันเป็นนกที่ย้ายถิ่นเข้ามาหากินเป็นบางช่วงของฤดูกาลเท่านั้น เพราะไม่มีรายงานว่าทำรังขยายพันธุ์ในประเทศไทยนานกว่า 50 ปีแล้ว คงมีจำนวนประชากรนกบางส่วนเท่านั้นที่บินอพยพมาจากอินเดียและพม่าเข้ามาอยู่อาศัยนอกฤดูผสมพันธุ์ โดยมีรายงานพบทางภาคกลาง, ภาคอีสานตอนล่าง และภาคใต้ โดยจะพบได้ที่หน่วยอนุรักษ์นกท่าเสด็จ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นที่ ๆ นกจะอพยพบินเข้ามาประจำในช่วงฤดูหนาว เช่นเดียวกับ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง

แม้นกช้อนหอยขาวจะบินอพยพเข้ามาในประเทศไทยทุกปีเป็นประจำ แต่จำนวนประชากรด็น้อยมากพบจัดได้ว่าเป็นนกหายากและใกล้สูญพันธุ์ในประเทศไทย และจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2546[2] [3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 BirdLife International. 2016. Threskiornis melanocephalus. The IUCN Red List of Threatened Species 2016: e.T22697516A93618317. https://dx.doi.org/10.2305/IUCN.UK.2016-3.RLTS.T22697516A93618317.en. Downloaded on 15 May 2020.
  2. บัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง 2546 จากเว็บไซต์มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร
  3. หน้า 4-5, นกช้อนหอยขาว. คอลัมน์ "ประเทศไทย สัตว์ใกล้สูญพันธุ์" โดย รุ่งโรจน์ จุกมงคล. นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 172: มิถุนายน 2542

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Threskiornis melanocephalus ที่วิกิสปีชีส์