ข้ามไปเนื้อหา

นกกางเขน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก นกกางเขนบ้าน)
นกกางเขน
ตัวผู้ (♂) ที่ดอยอ่างกา
เสียงร้อง
ตัวเมีย (♀) ที่ดอยอ่างกา
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Aves
อันดับ: Passeriformes
วงศ์: Muscicapidae
สกุล: Copsychus
สปีชีส์: C.  saularis
ชื่อทวินาม
Copsychus saularis
(Linnaeus, 1758)

นกกางเขน หรือ นกกางเขนบ้าน (อังกฤษ: Oriental magpie robin, ชื่อวิทยาศาสตร์: Copsychus saularis) เป็นนกชนิดหนึ่งที่กินแมลง มีขนาดไม่ใหญ่นัก ยาวประมาณ 18-20 เซนติเมตร[2] ส่วนบนลำตัวสีดำเงา ส่วนล่างตั้งแต่หน้าอกลงไปจะเป็นสีขาวหม่น ใต้หางและข้างหางมีสีขาว ปีกมีลายพาดสีขาวทั้งปีก ตัวผู้สีจะชัดกว่าตัวเมีย ส่วนที่เป็นสีดำในตัวผู้ ในตัวเมียจะเป็นสีเทาแก่ ปากและขาสีดำ มักจะพบเป็นตัวเดียวหรือเป็นกลุ่มเล็ก ๆ[3] หากินแมลงตามพุ่มไม้ บางครั้งก็โฉบจับแมลงกลางอากาศ หางของมันมักกระดกขึ้นลง ร้องเสียงสูงบ้าง ต่ำบ้าง ฟังไพเราะ ทำรังตามโพรงไม้ที่ไม่สูงนัก มันจะวางไข่ครั้งละ 4-5 ฟองและตัวเมียเท่านั้นจะกกไข่ และจะฟักไข่นานประมาณ 8-14 วัน[2][4] อายุ 15 วัน แล้วจะเริ่มหัดบิน ในประเทศไทยพบทั่วไปในทุกภาคแม้ในเมืองใหญ่ ๆ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535[5]

นกกางเขนเป็นนกเกาะคอน (อันดับ Passeriformes) ที่เคยจัดเป็นวงศ์นกเดินดง (Turdidae) แต่ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์นกจับแมลงและนกเขน (Muscicapidae)[2] เป็นนกสีดำขาวที่เด่น มองเห็นได้ง่าย มีหางยาวที่จะกระดกขึ้นลงเมื่อหาอาหารที่พื้นหรือจับบนต้นไม้ เป็นนกที่มีอยู่กระจายไปทั่วเอเชียใต้และบางส่วนของเอเชียอาคเนย์ เป็นนกที่สามัญทั้งตามสวนในเมืองและในป่า เป็นนกที่รู้จักกันดีเพราะร้องเสียงเพราะ และเคยเป็นนกเลี้ยงที่นิยม นกกางเขนเป็นนกประจำชาติของประเทศบังกลาเทศ ซึ่งเรียกนกว่า "Doyel"

ชื่ออังกฤษของนกคือ Oriental Magpie Robin อาจจะเป็นเพราะนกดูคล้ายนกสาลิกาปากดำ (Common Magpie) [6]

ลักษณะ

[แก้]
ซ้ายตัวผู้ ขวาตัวเมีย ถ่ายที่รัฐมหาราษฏระ ประเทศอินเดีย
ตัวเมียของสปีชีส์ย่อยที่เป็นต้นแบบ

นกสปีชีส์นี้ยาวประมาณ 19 ซ.ม. รวมหาง มีรูปร่างคล้ายกับ European robin (Erithacus rubecula) แต่หางจะยาวกว่า ตัวผู้มีส่วนบนเป็นสีดำตรงส่วนของหัวและคอ ที่ต่างหากจากแถบขาวตรงไหล่และปีก ส่วนข้างล่างและด้านข้างของหางยาวเป็นสีขาว ตัวเมียมีสีดำออกเทาด้านบนและสีขาวออกเทาด้านล่าง ส่วนลูกนกจะมีมีสีน้ำตาลเป็นเกล็ดด้านบนและที่หัว (ดูภาพด้านล่าง) นกกางเขนเป็นนกประจำชาติของประเทศบังกลาเทศ

สปีชีส์ย่อยต้นแบบ (nominate subspecies) พบในเอเชียใต้ ตัวเมียของพันธุ์ย่อยนี้มีสีอ่อนที่สุด ส่วนตัวเมียของหมู่เกาะอันดามันมีชื่อสปีชีส์ย่อยเป็น andamanensis มีสีเข้มกว่า มีปากที่แข็งแรงกว่า และมีหางที่สั้นกว่า ส่วนสปีชีส์ย่อยในประเทศศรีลังกาที่มีชื่อว่า ceylonensis (ซึ่งก่อนหน้านี้รวมนกในอินเดียที่อยู่ทางใต้เขตแม่น้ำกาเวรี[7]) และสปีชีส์ย่อยต้นแบบที่อยู่ทางใต้ของอินเดียประกอบด้วยตัวผู้ตัวเมียที่มีสีเกือบเหมือนกัน

ส่วนนกในเขตประเทศภูฏานและประเทศบังกลาเทศมีขนหางที่ดำมากกว่า และก่อนหน้านี้มีชื่อต่างหากว่า erimelas[8] ส่วนนกในประเทศพม่าและทางใต้ของไทย มีชื่อสปีชีส์ย่อยว่า musicus[9] (เป็นคุณศัพท์ภาษาละตินแปลว่า "เกี่ยวกับดนตรี") ซึ่งต่างที่ขนคือ ขนหางคู่ที่ 3 เป็นสีดำโดยมาก และคู่ที่ 4 เป็นสีดำล้วนหรือเกือบล้วน ส่วนใต้ปีกก็เป็นสีดำล้วนหรือเกือบล้วน[10] มีชื่อสปีชีส์ย่อยอื่น ๆ ตามเขตภูมิภาครวมทั้ง prosthopellus (ฮ่องกง), nesiotes, zacnecus, nesiarchus, masculus, pagiensis, javensis, problematicus, amoenus, adamsi, pluto, deuteronymus และ mindanensis[11] แต่ว่า พันธุ์ย่อย ๆ หลายอย่างเหล่านี้ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจน และยังไม่มีมติที่ลงตัวกัน[12] มีบางสปีชีส์ย่อยเช่น mindanensis ที่นักวิชาการบางพวกปัจจุบันจัดเป็นสปีชีส์ต่างหากเช่น Philippine magpie-robin[13] ขนของตัวเมียต่างไปตามเขตภูมิภาคมากกว่าของตัวผู้[10]

นกมักจะเห็นในที่ใกล้ ๆ พื้น กระโดดไปมาตามกิ่งไม้ หรือหาอาหารตามใบไม้แห้งโดยมีหางกระดกขึ้นลง ตัวผู้จะร้องเสียงดังไพเราะจากกิ่งไม้สูงในฤดูผสมพันธุ์[8]

แถบที่อยู่

[แก้]

นกกางเขนเป็นนกอยู่ประจำในเขตร้อนของทวีปเอเชีย ตั้งแต่ประเทศบังกลาเทศ, ทางใต้ของประเทศจีน, ประเทศอินเดีย, ทางตะวันออกของประเทศอินโดนีเซีย, ประเทศมาเลเซีย, ทางตะวันออกของประเทศปากีสถาน, ประเทศสิงคโปร์, ประเทศศรีลังกา, ประเทศไทย[8] และเป็นนกนำเข้าในประเทศออสเตรเลีย[14]

นกกางเขนมักจะพบในป่าโปร่ง ป่าชายเลน พื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ สวนสาธารณะในเมือง เมืองใหญ่ มักจะอยู่ใกล้ที่อยู่ของมนุษย์ เป็นนกที่พบได้ทั่วประเทศไทย[15]

พฤติกรรม

[แก้]
ไข่นกกางเขน
ลูกนกในประเทศศรีลังกา สีน้ำตาลเป็นลายเกล็ดที่ด้านบนและหัว ต่างจากนกที่โตเต็มที่แล้ว

นกกางเขนผสมพันธุ์กันในระหว่างเดือนมีนาคมจนถึงเดือนกรกฎาคมในอินเดีย และในระหว่างเดือนมกราคมจนถึงเดือนมิถุนายนในเอเชียอาคเนย์ ตัวผู้ร้องเสียงไพเราะจากที่สูงในช่วงจีบตัวเมีย ลีลาแสดงตัวของตัวผู้รวมทั้งทำขนให้ฟูขึ้น ยกปาก คลี่หาง และเดินวางมาด[7] นกทำรังในโพรงไม้ หรือที่เวิ้งกำแพงหรืออาคาร และบางครั้งจะเข้าไปอยู่ในกล่องที่ทำไว้ให้นกอยู่ นกจะเอาหญ้าและฟางมาปูรัง ตัวเมียจะทำการสร้างรังมากกว่า และจะทำก่อนการวางไข่ประมาณอาทิตย์หนึ่ง นกจะวางไข่ 4-5 ฟองภายใน 24 ชม. ไข่มีรูปร่างกลมรี มีสีเขียวอ่อน ๆ มีจุดสีน้ำตาล ดูเข้ากับสีของหญ้าและฟางที่ปูในรัง ตัวเมียเท่านั้นจะกกไข่เป็นเวลา 8-14 วัน[2][4][16] รังนกจะมีกลิ่นแบบเฉพาะตัว[2]

ตัวเมียเลี้ยงลูกมากกว่าตัวผู้ ส่วนตัวผู้จะค่อนข้างดุในฤดูผสมพันธุ์ จะป้องกันอาณาเขตของตน[17] และจะมีปฏิกิริยาต่อเสียงนกอื่นในอาณาเขต หรือแม้แต่เงาในกระจกของตนเอง[18] ตัวผู้จะทำการป้องกันอาณาเขตมากกว่าตัวเมีย[19] งานศึกษาต่าง ๆ พบว่า เสียงร้องของนกจะต่างไปตามถิ่น แม้แต่นกที่อยู่ใกล้ ๆ กัน[20] นกอาจจะเลียนแบบเสียงร้องของนกสปีชีส์อื่น ๆ[21][22] ซึ่งอาจจะแสดงว่า นกที่โตแล้วจะย้ายกระจายไปที่อื่น ไม่กลับมาที่กำเนิด (philopatric)[23] ตัวเมียอาจจะส่งเสียงร้องระยะสั้น ๆ เมื่อเจอตัวผู้[24]

นอกจากเพลงที่ร้องแล้ว นกยังส่งเสียงร้องประเภทหลัก ๆ รวมทั้งการประกาศอาณาเขต (territorial call) การออกและการกลับรัง (emergence and roosting call) การแสดงภัย (threat call) การยอมแพ้ (submissive call) การขออาหาร (begging call) และการร้องทุกข์ (distress call) ส่วนเสียงร้องประเภทอื่น ๆ ที่ใช้เป็นบางครั้งคือ เสียงร้องหนี (escape call) และเสียงร้องฉุน (anger call)[25] นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเสียงร้องให้รุมตี (mobbing call) อีกด้วย[7][8][26] อาหารโดยมากเป็นแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ แต่บางครั้งก็จะกินน้ำหวานดอกไม้ ตุ๊กแก (และจิ้งจก)[27][28] ปลิง[29] ตะขาบ[30] และแม้แต่ปลาด้วย[31]

นกจะออกมาหากินบ่อยครั้งในยามสายัณห์[8] บางครั้งจะเล่นน้ำฝนที่รวมอยู่ที่ใบไม้[32]

นกกางเขนเป็นนกขยันทำมาหากิน เมื่ออิ่มก็จะบินขึ้นไปเกาะที่โล่ง ๆ สูง ๆ เช่นสายไฟ เสาอากาศ แล้วร้องเสียงไพเราะ และเมื่อหิวก็จะลงมาหากินใหม่ มักจะได้ยินเสียงทั้งในเวลาอรุณและในยามสายัณห์[15]

สถานะการอนุรักษ์

[แก้]

โดยทั่วไปนกกางเขนนี้มีสถานะความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์ (little concern) แต่ในบางภูมิภาคประชากรเริ่มลดจำนวนลง และบางแห่งลดอย่างรวดเร็วจนกระทั่งมีนักวิชาการท้องถิ่นสนับสนุนมาตรการเพื่อช่วยให้นกสามารถอยู่รอดได้ โดยอ้างว่า[2]

นกกางเขนกำลังหมดไปรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ เป็นนกที่รู้จักกันดีเพราะเพลงที่มีเสน่ห์และขนที่สวยงาม เป็นนกที่ช่วยรักษาความสมดุลในระบบนิเวศและมีประโยชน์ต่อเกษตรกรรมเพราะโดยทั่วไปกินแมลงที่ทำอันตรายและหนอนก่อโรค ควรทำทุกอย่างเพื่อสนับสนุนให้มีสำนึกเกี่ยวกับ C. saularis และเพื่อรักษามรดกธรรมชาตินี้[2]

การจับไปเป็นสัตว์เลี้ยงและการเปลี่ยนแปลงทางนิเวศน์ก็มีส่วนทำให้ลดจำนวนลง ดังนั้นจึงเป็นนกที่มีกฎหมายป้องกันในบางพื้นที่[33]

ในประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง นกชนิดนี้ค่อนข้างจะสามัญในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 แต่เริ่มลดจำนวนลงในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 เชื่อกันว่าเพราะเหตุการแข่งขันจากนกเอี้ยงสาริกาที่นำมาจากถิ่นอื่น[34] ปัจจุบันยังจัดอยู่ในประเภท "สิ่งมีชีวิตที่ใกล้การสูญพันธุ์" (endangered) ในประเทศสิงคโปร์[35]

ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 จึงห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามเก็บหรือทำอันตรายรัง การห้ามการครอบครองและการค้ามีผลไปถึงไข่และซาก[5]

นกกางเขนมีนกล่าเหยื่อที่เป็นศัตรูน้อย แต่ว่ามีการรายงานถึงเชื้อโรคและปรสิตหลายอย่าง

ในวัฒนธรรมต่าง ๆ

[แก้]
รูปปั้นนกที่จตุรัสนกกางเขน (Doyel Chatwar) มหานครธากา ประเทศบังกลาเทศ

ในอดีต คนอินเดียได้เลี้ยงนกกางเขนเพราะมีเสียงเพราะและเพื่อการตีนก[40] และปัจจุบันก็ยังเป็นนกที่ถูกจับมาเลี้ยงในบางส่วนของเอเชียอาคเนย์

นกกางเขนเป็นนกประจำชาติของประเทศบังกลาเทศซึ่งมีนกอยู่ทั่วไปอย่างสามัญโดยเรียกว่า Doyel หรือ Doel (เบงกอล: দোয়েল) มีการใช้เป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ เป็นจำนวนมากในประเทศ รวมทั้งบนธนบัตร มีจุดสำคัญในมหานครธากาที่เรียกว่า Doyel Chatwar แปลว่า จตุรัสนกกางเขน

นกกางเขนเป็นสัญลักษณ์ของสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย (Bird Conservation Society of Thailand) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2529[6] และในวัฒนธรรมปักษ์ใต้ของไทย โดยเฉพาะเพลงร่วมสมัย มักจะมีการอ้างอิงถึงนกกางเขนบ่อย ๆ โดยเรียกว่า "นกบินหลา" ด้วยเป็นนกที่รักและหวงถิ่นฐาน เหมือนคนใต้รักถิ่นที่อยู่[41]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. BirdLife International (2004). Copsychus saularis. 2006 IUCN Red List of Threatened Species. IUCN 2006. Retrieved on 2006-05-12.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 Siddique, Yasir Hasan (2008). "Breeding Behavior of Copsychus saularis in Indian-Sub-Continent: A Personal Experience" (PDF). International Journal of Zoological Research. 4 (2): 135–137. doi:10.3923/ijzr.2008.135.137.
  3. "Magpie-robin". Banglapedia. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-02. สืบค้นเมื่อ 2010-05-16.
  4. 4.0 4.1 Pillai,NG (1956). "Incubation period and 'mortality rate' in a brood of the Magpie-Robin Copsychus saularis (Linn.)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 54 (1): 182–183.
  5. 5.0 5.1 "สัตว์ป่าคุ้มครอง". โลกสีเขียว. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-26. สืบค้นเมื่อ 2015-04-23. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |deadurl= ถูกละเว้น แนะนำ (|url-status=) (help)
  6. 6.0 6.1 "นกกางเขนบ้าน / Oriental Magpie Robin (Copsychus saularis)". นกป่าสัปดาห์ละตัว. plains-wanderer blog. 2013-01-13.
  7. 7.0 7.1 7.2 Ali, S & S D Ripley (1997). Handbook of the birds of India and Pakistan. Vol. 8 (2 ed.). Oxford University Press. pp. 243–247. ISBN 0-19-562063-1.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 Rasmussen, PC; Anderton, JC (2005). Birds of South Asia. The Ripley Guide. Volume 2. Smithsonian Institution and Lynx Edicions. p. 395.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  9. Baker, ECS (1921). "Handlist of the birds of the Indian empire". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 27 (4): 87–88.
  10. 10.0 10.1 Baker, ECS (1924). The Fauna of British India, Including Ceylon and Burma. Birds - Volume II. Vol. 2. Taylor and Francis, London. pp. 112–116.
  11. Ripley, S D (1952). "The thrushes". Postilla. 13: 1–48.
  12. Hoogerwerf, A (1965). "Notes on the taxonomy of Copsychus saularis with special reference to the subspecies amoenus and javensis" (PDF). Ardea. 53: 32–37. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-24. สืบค้นเมื่อ 2015-04-22.
  13. Sheldon, FH; Lohman, DH; Lim, HC; Zou, F; Goodman, SM; Prawiradilaga, DM; Winker, K; Braile, TM; Moyle, RG (2009). "Phylogeography of the magpie-robin species complex (Aves: Turdidae: Copsychus) reveals a Philippine species, an interesting isolating barrier and unusual dispersal patterns in the Indian Ocean and Southeast Asia" (PDF). Journal of Biogeography. 36 (6): 1070–1083. doi:10.1111/j.1365-2699.2009.02087.x.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  14. "Inventory of exotic (non-native) bird species known to be in Australia" (PDF). 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2008-08-25. สืบค้นเมื่อ 2015-04-22.
  15. 15.0 15.1 "นกในศาลายา". กองกายภาพและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-24. สืบค้นเมื่อ 2014-02-05.
  16. Hume, AO (1890). The nests and eggs of Indian birds. Vol. 2 (2 ed.). London: R H Porter. pp. 80–85.
  17. Narayanan E. (1984). "Behavioural response of a male Magpie-Robin (Copsychus saularis Sclater) to its own song". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 81 (1): 199–200.
  18. Cholmondeley,EC (1906). "Note on the Magpie Robin (Copsychus saularis)". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 17 (1): 247.
  19. Sethi, Vinaya Kumar; Bhatt, Dinesh (2007). "Provisioning of young by the Oriental Magpie-robin". The Wilson Journal of Ornithology. 119 (3): 356–360.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  20. Dunmak, Aniroot; Sitasuwan, Narit (2007). "Song Dialect of Oriental Magpie-robin (Copsychus saularis) in Northern Thailand" (PDF). The Natural History Journal of Chulalongkorn University. 7 (2): 145–153. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-10-06. สืบค้นเมื่อ 2015-04-22.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  21. Neelakantan,KK (1954). "The secondary song of birds". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 52 (3): 615–620.
  22. Law,SC (1922). "Is the Dhayal Copsychus saularis a mimic?". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 28 (4): 1133.
  23. Bhattacharya, H.; J. Cirillo, B.R. Subba and D. Todt (2007). "Song Performance Rules in the Oriental Magpie Robin (Copsychus salauris)" (PDF). Our Nature. 5: 1–13. doi:10.3126/on.v5i1.791.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  24. Kumar, Anil; Bhatt, Dinesh (Unknown). "Characteristics and significance of song in female Oriental Magpie-Robin, Copysychus saularis". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 99 (1): 54–58. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  25. Kumar, A; Bhatt, D. (2001). "Characteristics and significance of calls in Oriental magpie robin" (PDF). Curr. Sci. 80: 77–82. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2009-03-19. สืบค้นเมื่อ 2015-04-22.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  26. Bonnell,B (1934). "Notes on the habits of the Magpie Robin Copsychus saularis saularis Linn". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 37 (3): 729–730.
  27. Sumithran,Stephen (1982). "Magpie-Robin feeding on geckos". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 79 (3): 671.
  28. Saxena, Rajiv (1998). "Geckos as food of Magpie Robin". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 95 (2): 347.
  29. Karthikeyan,S (1992). "Magpie Robin preying on a leech". Newsletter for Birdwatchers. 32 (3&4): 10.
  30. Kalita,Simanta Kumar (2000). "Competition for food between a Garden Lizard Calotes versicolor (Daudin) and a Magpie Robin Copsychus saularis Linn". Journal-Bombay Natural. JC Daniel for Bombay. 97 (3): 431.
  31. Sharma, Satish Kumar (1996). "Attempts of female Magpie Robin to catch a fish". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 93 (3): 586.
  32. Donahue,Julian P (1962). "The unusual bath of a Lorikeet [Loriculus vernalis (Sparrman)] and a Magpie-Robin [Copsychus saularis (Linn.)]". J. Bombay Nat. Hist. Soc. 59 (2): 654.
  33. Yap, Charlotte A. M; Sodhi, Navjot S. (2004). "Southeast Asian invasive birds: ecology, impact and management". Ornithological Science. 3: 57–67. doi:10.2326/osj.3.57.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  34. Huong, SL; Sodhi, NS (1997). "Status of the Oriental Magpie Robin Copsychus saularis in Singapore". Malay Nat. J. 50: 347–354.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  35. "Oriental Magpie Robins – Father & Son or Brothers?". 2011-10-17. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-01. สืบค้นเมื่อ 2015-05-06.
  36. Ogaki, M. (1949). "Bird Malaria Parasites Found in Malay Peninsula". Am. J. Trop. Med. 29 (4): 459–462.
  37. Alexander, Dennis J. (1992). Avian Influenza in the Eastern Hemisphere 1986-1992. Avian Diseases 47. Special Issue. Third International Symposium on Avian Influenza. 1992 Proceedings. pp. 7–19.
  38. Quarterly Epidemiology Report Jan-Mar 2006 (PDF). Hong Kong Government. 2006.
  39. Sultana, Ameer (1961). "A Known and a New Filariid from Indian Birds". The Journal of Parasitology. The American Society of Parasitologists. 47 (5): 713–714. doi:10.2307/3275453. JSTOR 3275453. PMID 13918345.
  40. Law, Satya Churn (1923). Pet birds of Bengal. Thacker, Spink & Co.
  41. "ทำไมนกบินหลา ถึงพูดถึงในเพลงปักษ์ใต้มีความสำคัญต่อชีวิตชาวใต้อย่างไรครับ". พันทิปดอตคอม. 6 April 2014. สืบค้นเมื่อ 30 December 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]