ข้ามไปเนื้อหา

เอออร์ตา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ท่อเลือดแดง)
เอออร์ตา
เอออร์ตาส่วนอก หัวใจ และหลอดเลือดใหญ่อื่น ๆ
รายละเอียด
คัพภกรรม
จากหัวใจห้องล่างซ้าย
แขนงเอออร์ตาขาขึ้น:
หลอดเลือดแดงหัวใจขวาและซ้าย

ส่วนโค้งเอออร์ตา (หลอดเลือดเหนือเอออร์ตา):

หลอดเลือดแดงเบรเกียวเซฟาลิก
หลอดเลือดแดงข้างคอร่วม
หลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้า

เอออร์ตาขาลง ส่วนอก:

หลอดเลือดแดงหลอดลมซ้าย
หลอดเลือดแดงหลอดอาหาร ไปเลี้ยงหลอดอาหารส่วนอก
หลอดเลือดแดงระหว่างซี่โครงหลัง (ซี่ที่ 3–11) และหลอดเลือดแดงใต้ชายโครง

เอออร์ตาขาลง ส่วนท้อง:

แขนงผนังอวัยวะ:
หลอดเลือดกะบังลมล่าง
หลอดเลือดแดงเอว
หลอดเลือดแดงกระดูกใต้กระเบนเหน็บตรงกลาง
แขนงอวัยวะภายใน:
หลอดเลือดแดงท้อง
หลอดเลือดแดงหมวกไตกลาง
หลอดเลือดแดงเยื่อแขวนลำไส้บน
หลอดเลือดแดงไต
หลอดเลือดแดงต่อมบ่งเพศ หลอดเลือดแดงอัณฑะในผู้ชาย และหลอดเลือดแดงรังไข่ในผู้หญิง
หลอดเลือดแดงเยื่อแขวนลำไส้ล่าง

แขนงปลาย:

หลอดเลือดแดงกระดูกปีกสะโพกร่วม
หลอดเลือดแดงกระดูกใต้กระเบนเหน็บตรงกลาง
หลอดเลือดดำการรวมของแอ่งเลือดโคโรนารี ซูพีเรียร์เวนาคาวา และอินฟีเรียร์เวนาคาวา
เลี้ยงระบบไหลเวียนเลี้ยงกาย
(ยกเว้นเขตแลกเปลี่ยนแก๊สในปอด ซึ่งเลี้ยงโดยระบบระบบไหลเวียนผ่านปอด)
ตัวระบุ
ภาษาละตินAorta, arteria maxima
MeSHD001011
TA98A12.2.02.001
TA24175
FMA3734
อภิธานศัพท์กายวิภาคศาสตร์

เอออร์ตา (อังกฤษ: aorta) หรือ ท่อเลือดแดง[1] เป็นหลอดเลือดแดงที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายมนุษย์ เริ่มต้นจากหัวใจห้องล่างซ้าย ทอดยาวลงไปในช่องท้อง และแยกออกเป็นหลอดเลือดแดงที่เล็กลงมาสองเส้น ได้แก่ หลอดเลือดแดงกระดูกปีกสะโพกร่วม (common iliac arteries) เอออร์ตานำเลือดที่มีออกซิเจนสูงไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายโดยระบบการไหลเวียนเลี้ยงกาย (systemic circulation)[2]

ส่วนของเอออร์ตา

[แก้]

ในแหล่งข้อมูลทางกายวิภาค เอออร์ตาถูกแบ่งออกเป็นส่วนต่าง ๆ[3][4][5][6]

วิธีหนึ่งในการจำแนกส่วนต่าง ๆ ของเอออร์ตาคือแบ่งตามช่องในร่างกาย โดยจะแบ่งเป็นเอออร์ตาส่วนอก (thoracic aorta) ซึ่งเริ่มจากหัวใจมายังกะบังลม จากนั้นเอออร์ตาจะวิ่งต่อลงมาเป็นเอออร์ตาส่วนท้อง (abdominal aorta) ซึ่งเริ่มจากกะบังลมมายังจุดแยกสองง่ามเอออร์ตา (aortic bifurcation)

อีกวิธีหนึ่งในการแบ่งเอออร์ตาเป็นการแบ่งตามทิศทางการไหลของเลือด ในการแบ่งแบบนี้ เอออร์ตาจะเริ่มที่เอออร์ตาส่วนขึ้น (ascending aorta) วิ่งขึ้นไปเหนือต่อหัวใจ และวกกลับเป็นรูปตัวยู เรียกว่า ส่วนโค้งเอออร์ตา (aortic arch) ต่อจากนั้น เอออร์ตาจะวิ่งลง เรียกว่า เอออร์ตาส่วนลง (descending aorta) ซึ่งจะแบ่งออกเป็นสองส่วนย่อย โดยเอออร์ตาที่วิ่งลงภายในช่องอก เรียกว่า เอออร์ตาส่วนอก หลังจากที่เอออร์ตาผ่านกะบังลมเข้าสู่ช่องท้องจะเป็นเอออร์ตาส่วนท้อง เอออร์ตาสิ้นสุดโดยแยกออกเป็นหลอดเลือดใหญ่สองเส้น คือ หลอดเลือดแดงกระดูกปีกสะโพกร่วม (common iliac arteries) และหลอดเลือดที่เล็กลงมาและแยกออกไปในแนวกลางตัว คือ หลอดเลือดแดงกระดูกใต้กระเบนเหน็บตรงกลาง (median sacral artery)[7]: 18 

เอออร์ตาส่วนขึ้น

[แก้]

เอออร์ตาขาขึ้นเริ่มที่รูเปิดของลิ้นเอออร์ติก (aortic valve) ในหัวใจห้องล่างซ้าย โดยจะวิ่งทะลุผ่านเยื่อหุ้มหัวใจด้วยกันกับส่วนโคนของหลอดเลือดแดงสู่ปอด (pulmonary trunk) ทั้งสองหลอดเลือดนี้จะวิ่งสลับฝั่งกัน ทำให้เอออร์ตาที่เริ่มต้นทางด้านหลังต่อโคนหลอดเลือดแดงสู่ปอด สลับฝั่งไปยังด้านขวาและหน้าต่อโคนหลอดเลือดแดงสู่ปอด[8]: 191, 204  จุดเปลี่ยนจากเอออร์ส่วนขึ้นไปเป็นส่วนโค้งเอออร์ตาอยู่ที่จุดพับกลับของเยื่อหุ้มหัวใจที่อยู่บนเอออร์ตา[9]: แผ่นที่ 211 

ที่จุดเริ่มต้นของเอออร์ตาส่วนขึ้น ลูเมนหรือช่องภายในหลอดของเอออร์ตามีถุงเล็ก ๆ สามถุงระหว่างใบลิ้นของลิ้นเอออร์ติกและผนังของเอออร์ตา ซึ่งเรียกว่าโพรงเลือดเอออร์ติก (aortic sinuses หรือ sinuses of Valsalva) โพรงเลือดเอออร์ติกซ้ายจะมีรูเปิดไปสู่หลอดเลือดแดงหัวใจซ้าย (left coronary artery) และในทำนองเดียวกัน โพรงเลือดเอออร์ติกขวาก็จะมีรูเปิดไปสู่หลอดเลือดแดงหัวใจขวา (right coronary artery) โดยหลอดเลือดแดงทั้งสองจะให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจ ส่วนโพรงเลือดเอออร์ติกด้านหลังนั้นไม่ได้ให้แขนงไปเป็นหลอดเลือดหัวใจ ด้วยเหตุนี้ โพรงเลือดเอออร์ติกทั้งสามยังสามารถเรียกเป็น โพรงเลือดหลอดเลือดหัวใจซ้าย ขวา และโพรงเลือดไม่มีหลอดเลือดหัวใจ (left-coronary, right-coronary and non-coronary sinuses)[8]: 191 

ส่วนโค้งเอออร์ตา

[แก้]

ส่วนโค้งเอออร์ตาจะวนกลับเหนือต่อหลอดเลือดแดงสู่ปอดขวาและจุดแยกสองง่ามของโคนหลอดเลือดแดงสู่ปอด ซึ่งที่จุดนี้มีการเชื่อมกันโดย ลิกาเมนตัม อาร์เทอริโอซัม (ligamentum arteriosum) ซึ่งเป็นส่วนเหลือของหลอดเลือดในระบบการไหลเวียนของทารกในครรภ์ โดยหลอดเลือดนี้จะหายไปเพียงไม่กี่วันหลังคลอด นอกจากจะวนกลับเหนือต่อหลอดเลือดดังกล่าวแล้ว ส่วนโค้งเอออร์ติกยังวนข้ามหลอดลมใหญ่ด้านซ้ายอีกด้วย ระหว่างส่วนโค้งเอออร์ติกและโคนของหลอดเลือดแดงสู่ปอดจะมีโครงข่ายของเส้นใยประสาทอัตโนมัติ คือ ข่ายประสาทหัวใจ (cardiac plexus) หรือข่ายประสาทเอออร์ติก (aortic plexus) นอกจากนี้ เส้นประสาทเวกัสซ้าย ซึ่งวิ่งผ่านหน้าต่อส่วนโค้งเอออร์ตา จะให้แขนงใหญ่ คือ เส้นประสาทกล่องเสียงวกกลับ (recurrent laryngeal nerve) ซึ่งจะวนใต้ส่วนโค้งเอออร์ตา ด้านข้างต่อลิกาเมนตัม อาร์เทอริโอซัม แล้ววิ่งกลับขึ้นไปยังคอ

ส่วนโค้งเอออร์ตามีแขนงใหญ่ 3 แขนง เรียงจากส่วนต้นไปหาส่วนปลาย ได้แก่ หลอดเลือดแดงเบรเกียวเซฟาลิก (brachiocephalic trunk), หลอดเลือดแดงข้างคอร่วมซ้าย (left common carotid artery), และหลอดเลือดแดงใต้กระดูกไหปลาร้าซ้าย (left subclavian artery) หลอดเลือดแดงเบรเกียวเซฟาลิกให้เลือดไปเลี้ยงศีรษะและคอด้านขวา รวมถึงแขนขวาและ ผนังช่องอก ขณะที่อีก 2 หลอดเลือดให้เลือดไปเลี้ยงบริเวณเดียวกันแต่เป็นด้านซ้าย

จุดสิ้นสุดของส่วนโค้งเอออร์ตา และจุดเริ่มต้นของเอออร์ตาส่วนลง อยู่ระดับเดียวกับหมอนกระดูกสันหลังที่อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่ 4 และ 5[8]: 209 

เอออร์ตาส่วนอก

[แก้]

เอออร์ตาขาลงส่วนอกให้แขนงเป็นหลอดเลือดแดงระหว่างซี่โครง (intercostal arteries) และหลอดเลือดแดงใต้ชายโครง (subcostal arteries) รวมถึงหลอดเลือดแดงหลอดลมซ้ายบนและล่าง (superior and inferior left bronchial arteries) และแขนงไปเลี้ยงหลอดอาหาร เมดิแอสตินัม และเยื่อหุ้มหัวใจ แขนงที่อยู่ด้านล่างสุด คือ หลอดเลือดแดงกะบังลมบน (superior phrenic arteries) ซึ่งให้เลือดไปเลี้ยงกะบังลม และหลอดเลือดแดงใต้ชายโครงของซี่โครงที่ 12[10]: 195 

เอออร์ตาส่วนท้อง

[แก้]

เอออร์ตาส่วนท้องเริ่มต้นที่ช่องเอออร์ติก (aortic hiatus) ของกะบังลม ที่ระดับกระดูกสันหลังส่วนอกชิ้นที่ 12[11] ให้แขนงเป็นหลอดเลือดแดงเอว (lumbar arteries) และหลอดเลือดแดงมัสคูโลฟรีนิก (musculophrenic arteries), หลอดเลือดแดงไต (renal artery) และหลอดเลือดแดงหมวกไตกลาง (middle suprarenal artery), และหลอดแดงอวัยวะภายใน (ได้แก่ หลอดเลือดแดงท้อง หลอดเลือดแดงเยื่อแขวนลำไส้บนและล่าง) แล้วสิ้นสุดที่จุดแยกสองง่ามเอออร์ตา โดยให้แขนงปลายเป็นหลอดเลือดแดงกระดูกปีกสะโพกร่วมซ้ายและขวา (left and right common iliac arteries) ที่จุดแยกสองง่ามนี้ ยังมีแขนงเล็ก ๆ คือ หลอดเลือดแดงกระดูกใต้กระเบนเหน็บตรงกลาง (median sacral artery)[10]: 331 

จุลกายวิภาคศาสตร์

[แก้]

เอออร์ตาเป็นหลอดเลือดแดงประเภท elastic artery ที่มีความยืดหยุ่นสูง สามารถยืดออกได้เล็กน้อย เมื่อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดเข้าสู่เอออร์ตา เอออร์ตาจะขยายออก ซึ่งความยืดหยุ่นนี้ที่ช่วยรักษาพลังงานที่จะรักษาความดันเลือดในระหว่างช่วงหัวใจคลายตัว (diastole) ซึ่งเอออร์ตาจะหดตัวด้วยแรงยืดของมันเอง

มุมมองทางด้านหน้าของหัวใจ แสดงทิศทางการไหลของเลือดภายในหัวใจ

ความสำคัญทางคลินิก

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 21 ธันวาคม 2562.
  2. Maton, Anthea; Jean Hopkins; Charles William McLaughlin; Susan Johnson; Maryanna Quon Warner; David LaHart; Jill D. Wright (1995). Human Biology Health. Englewood Cliffs, New Jersey: Prentice Hall. ISBN 978-0-13-981176-0.
  3. Tortora, Gerard J. (1995). Principles of Human Anatomy (Seventh ed.). Harper Collins. pp. 341, 367, 369. ISBN 978-0-673-99075-4.
  4. Tortora, Gerard J.; Grabowski, Sandra Reynolds (1996). Principles of Anatomy and Physiology (Eighth ed.). Harper Collins. p. 634. ISBN 978-0-673-99355-7.
  5. Hole, John W. Jr.; Koos, Karen A. (1994). Human Anatomy (Second ed.). Wm. C. Brown. p. 479. ISBN 978-0-697-12252-0.
  6. De Graaff, Van (1998). Human Anatomy (Fifth ed.). WCB McGraw-Hill. pp. 548–549. ISBN 978-0-697-28413-6.
  7. Putz, R.; Pabst, R., บ.ก. (2006). Atlas van de menselijke anatomie (Translated from German (Atlas der Anatomie des Menschen)) (ภาษาดัตช์) (3rd ed.). Bohn Stafleu van Loghum. ISBN 978-90-313-4712-4.
  8. 8.0 8.1 8.2 Drake, Richard L.; Vogl, Wayn A.; Mitchell, Adam W. M. (2010). Gray's Anatomy for Students (2nd ed.). Churchill Livingstone (Elsevier). ISBN 978-0-443-06952-9.
  9. Netter, Frank H. (2003). Atlas of Human Anatomy (3rd ed.). ICON Learning Systems. ISBN 978-1-929007-21-9.
  10. 10.0 10.1 Drake, Richard L.; Vogl, Wayne; Tibbitts, Adam W.M. Mitchell; illustrations by Richard; Richardson, Paul (2005). Gray's anatomy for students. Philadelphia: Elsevier/Churchill Livingstone. ISBN 978-0-8089-2306-0.
  11. Lech, C; Swaminathan, A (November 2017). "Abdominal Aortic Emergencies". Emergency Medicine Clinics of North America. 35 (4): 847–67. doi:10.1016/j.emc.2017.07.003. PMID 28987432.
  12. Samett EJ. http://www.emedicine.com/radio/topic44.htm Aorta, Trauma. eMedicine.com. เรียกดูเมื่อ: 24 เมษายน พ.ศ. 2550.
  13. "Aortic Trauma in Scotland - A Population Based Study". European Journal of Vascular and Endovascular Surgery. 32 (6): 686–689. 2006. PMID 16750920.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]