ข้ามไปเนื้อหา

ทุ่งสังหาร (ภาพยนตร์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทุ่งสังหาร
กำกับโรแลนด์ จอฟเฟ
เขียนบทบรูซ โรบินสัน
สร้างจากThe Death and Life of Dith Pran
โดย ซิดนีย์ ชานเบิร์ก
อำนวยการสร้างเดวิด พัตต์นัม
นักแสดงนำแซม วอเตอร์สตัน, จอห์น มัลโควิช, เฮียง เอส. งอร์
กำกับภาพคริส เมนเกส
ตัดต่อจิม คลาร์ก
ดนตรีประกอบไมค์ โอลด์ฟิลด์
บริษัทผู้สร้าง
ผู้จัดจำหน่ายวอร์เนอร์บราเธอร์ส
วันฉาย2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2527 (สหรัฐอเมริกา)
ความยาว141 นาที
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาษาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเขมร
ทุนสร้าง$14.4 ล้านเหรียญสหรัฐ[1]
ทำเงิน$34.7 ล้านเหรียญสหรัฐ[2]
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb

ทุ่งสังหาร (อังกฤษ: The Killing Fields) เป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2527 ซึ่งกล่าวถึงประเทศกัมพูชาในยุคการปกครองของเขมรแดง โดยอาศัยเค้าโครงเรื่องจากประสบการณ์จริงของนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่เข้าไปทำข่าวในกัมพูชาขณะนั้น 3 คน ได้แก่ ซิดนีย์ ชานเบิร์ก นักข่าวชาวอเมริกัน ดิธ ปราน ล่ามและนักข่าวชาวเขมร และจอน สเวน นักข่าวชาวอังกฤษ ภาพยนตร์เรื่องนี้ซึ่งได้รับรางวัลออสการ์ครั้งที่ 57 เป็นผลงานการกำกับของโรแลนด์ จอฟเฟ นำแสดงโดยแซม วอเตอร์สตัน, ดร. เฮียง เอส. งอร์, จูเลียน แซนด์, และ จอห์น มัลโควิช

ภาพยนตร์เรื่องนี้ส่วนใหญ่ถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะทางวัฒนธรรมและภูมิประเทศใกล้เคียงกับประเทศกัมพูชามากที่สุด เนื่องจากในช่วงเวลาที่ถ่ายทำภาพยนตร์นั้น แม้ประเทศกัมพูชาจะสิ้นสุดยุคการปกครองของเขมรแดงแล้ว แต่ประเทศก็ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากสงครามกลางเมืองในยุคก่อนหน้า และยังคงมีการปะทะกันระหว่างกองทหารของขั้วการเมืองต่างๆ ในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง การเข้าไปใช้สถานที่จริงในการถ่ายทำภาพยนตร์จึงไม่ปลอดภัย

ชื่อภาษาไทยของภาพยนตร์ชุดนี้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง ครั้งแรกใช้ชื่อว่า "สิ้นชาติ สิ้นแผ่นดิน" ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น "แผ่นดินของใคร" ​และ "ทุ่งสังหาร" ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในขณะนี้ เหตุที่มีหลายชื่อก็เนื่องจากว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีการเปลี่ยนผู้ถือครองลิขสิทธิ์ในประเทศไทยหลายครั้ง[3]

เนื้อเรื่อง

[แก้]

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2516 สาธารณรัฐเขมรทำสงครามต่อต้านกลุ่มเขมรแดง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแทรกซึมตามเส้นทางโฮจิมินห์ของเวียดกงในสงครามเวียดนาม โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล "ดิธ ปราน" ล่ามและนักข่าวของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ชาวเขมร เดินทางมารอรับ "ซิดนีย์ ชานเบิร์ก" นักข่าวชาวอเมริกันจากหนังสือพิมพ์เดียวกัน ที่สนามบินโปเชนตงในกรุงพนมเปญ แต่ด้วยเที่ยวบินที่ล่าช้าไป 3 ชั่วโมงและเกิดเหตุด่วนขึ้น ปรานจึงรีบออกไปหาข่าวและไม่ได้อยู่รอรับชานเบิร์ก เมื่อชานเบิร์กเข้าพักที่โรงแรมในกรุงพนมเปญแล้ว ปรานจึงเข้ามาบอกข่าวกับชานเบิร์กว่า เครื่องบินบี-52 ของอเมริกาทิ้งระเบิดลงที่เมืองเนียะเลือง ในเขตอำเภอเพียมรอก์ จังหวัดไพรแวง ด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นฐานที่มั่นของเขมรแดง ทั้งสองจึงไปทำข่าวในสถานที่เกิดเหตุ โดยลักลอบเดินทางไปด้วยเรือของตำรวจน้ำ ณ ที่นั้น ทั้งสองได้พบกับสภาพเมืองที่ถูกทำลายจนราบเป็นหน้ากลอง และมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก เมื่อทั้งสองจะถ่ายภาพประกอบข่าว ทหารของรัฐบาลได้ขัดขวางไม่ให้พวกเขาถ่ายภาพและจับกุมตัวไปสอบสวน ก่อนได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมาไม่นานเมื่อกองทัพสหรัฐฯ นำเฮลิคอปเตอร์พานักข่าวมาทำข่าวตามที่ฝ่ายรัฐบาลและอเมริกาได้จัดฉากไว้เพื่อกลบเกลื่อนความจริงที่เนียะเลือง ซึ่งเหตุการณ์นี้ทำให้ชานเบิร์กรู้สึกไม่พอใจต่อการกระทำของฝ่ายสหรัฐฯ อย่างยิ่ง แต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรได้

ในปี พ.ศ. 2518 กรุงพนมเปญใกล้จะเสียให้แก่ฝ่ายเขมรแดง รัฐบาลสหรัฐฯ จึงสั่งปิดสถานทูตและอพยพพลเมืองสหรัฐฯ ในกัมพูชา ชานเบิร์กได้ช่วยอพยพปรานและครอบครัวให้ไปอยู่ที่สหรัฐฯ แต่ตัวชานเบิร์กเองต้องการจะติดตามดูเหตุการณ์จนถึงที่สุด ปรานจึงตัดสินใจส่งเพียงครอบครัวของตนไปที่สหรัฐฯ และอยู่ช่วยชานเบิร์กทำข่าวที่พนมเปญต่อไป เมื่อกองทัพเขมรแดงบุกเข้ามาถึงกรุงพนมเปญ ทั้งชานเบิร์กและปรานก็ได้ไปทำข่าวการฉลองชัยชนะและสันติภาพของเขมรแดง พวกเขาได้พบกับ "อัล ร็อกออฟ" และ "จอน สเวน" เพื่อนนักข่าวชาวต่างประเทศ ซึ่งได้พาปรานกับชานเบิร์กไปดูอีกด้านหนึ่งของกรุงพนมเปญที่ยังคงปรากฏภาพของความรุนแรงจากฝ่ายเขมรแดงในวันนั้น ทั้งหมดได้ถูกทหารเขมรแดงจับกุมตัวไปยังสถานที่แห่งหนึ่งขณะกำลังสำรวจโรงพยาบาลที่รับรักษาผู้บาดเจ็บจากสงคราม ปรานได้พยายามเจรจากับหัวหน้าทหารเขมรแดงอยู่นานหลายชั่วโมงเพื่อขอให้ปล่อยตัวนักข่าวชาวตะวันตกทุกคนจนสำเร็จ

หลังจากถูกปล่อยตัวแล้ว ปรานและกลุ่มนักข่าวชาวตะวันตกทุกคนกลับมาในกรุงพนมเปญอีกครั้ง ทั้งหมดเก็บข้าวของของตนเองออกมาจากโรงแรมเท่าที่จะทำได้ และเดินทางออกนอกเมืองตามคำสั่งของเขมรแดง ซึ่งสั่งให้ประชาชนทุกคนทิ้งเมืองและอพยพไปสู่ชนบท พวกเขาไปอยู่รวมกันที่สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงพนมเปญ อันเป็นสถานที่ที่ชาวต่างชาติทั้งหมดและชาวเขมรที่ต้องการลี้ภัยมาอยู่รวมกัน ทั้งหมดได้เป็นพยานในการพบเห็นบุคคลสำคัญของรัฐบาลเก่า เช่น สีสุวัตถิ์ สิริมตะ เป็นกลุ่มสุดท้ายก่อนที่จะถูกเขมรแดงจับตัวไป กลุ่มของชานเบิร์กพยายามหาทางช่วยให้ปรานสามารถอพยพออกจากกัมพูชาได้ โดยสเวนช่วยปลอมหนังสือเดินทางของสหราชอาณาจักร ส่วนชานเบิร์กกับร็อกออฟช่วยถ่ายรูปปรานสำหรับติดในหนังสือเดินทาง โดยใช้อุปกรณ์ทุกอย่างเท่าที่จะหาได้ แต่ที่สุดแล้วก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากรูปถ่ายของปรานใช้การไม่ได้ ปรานจึงต้องอยู่ในกัมพูชาภายใต้การปกครองของเขมรแดงต่อไป

หลังจากชานเบิร์กออกมาจากกัมพูชาแล้ว เขาได้ให้ความช่วยเหลือครอบครัวของปรานซึ่งอพยพจากกัมพูชามาก่อนหน้านั้นและพำนักอยู่ที่ซานฟรานซิสโก และพยายามขอความช่วยเหลือจากองค์กรด้านมนุษยธรรมต่างๆ ทั่วโลกในการตามหาปราน ส่วนปรานได้กลายเป็นแรงงานเกณฑ์ภายใต้การปกครองของ"อังการ์" หรือรัฐบาลเขมรแดง ต้องใช้ชีวิตอย่างแร้นแค้นแสนสาหัส และต้องแกล้งทำตัวเป็นคนไม่รู้หนังสือ เพื่อเอาตัวรอดจากคำสั่งฆ่าผู้มีความรู้ซึ่งถือว่าเป็นชนชั้นศัตรูของรัฐบาลใหม่ เขาเกือบเสียชีวิตจากการลงโทษและถูกทรมานเพราะแอบดูดเลือดจากคอวัวกินเนื่องจากทนความอดอยากไม่ไหว โชคยังดีที่เขาได้รับการปล่อยตัว ปรานจึงพยายามลอบหนีออกจากค่ายกักกัน แต่ก็ถูกเขมรแดงจับตัวได้ที่หมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งระหว่างทาง เขาได้พบกับหลุมศพของคนที่ตายจากการถูกเขมรแดงสังหารด้วยข้อหาทรยศชาติจำนวนมากด้วย

ที่สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2519 ชานเบิร์กได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากการทำข่าวสงครามกลางเมืองกัมพูชา เขาได้อุทิศรางวัลนี้ให้แก่ปรานด้วย ในงานเลี้ยงคืนนั้น ชานเบิร์กได้เจอกับร็อกออฟขณะเข้าห้องน้ำ เขาโทษว่าชานเบิร์กไม่ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการหาทางช่วยเหลือปรานออกมาจากกัมพูชา คำพูดนี้ทำให้ชานเบิร์กโทษตัวเองว่า ปรานยังอยู่ในกัมพูชาก็เพราะเขาต้องการให้ปรานอยู่ที่นั่นด้วยความเห็นแก่ตัว

ที่กัมพูชา หลังจากปรานถูกจับกุมตัวอีกครั้ง เขาก็ได้ทำงานเป็นพี่เลี้ยงให้กับลูกชายของ "พัด" หัวหน้าเขมรแดงของหมู่บ้านที่ควบคุมตัวปรานไว้ พัดให้ความไว้วางใจแก่ปรานเต็มที่แม้จะรู้ว่าปรานมีความรู้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสก็ตาม เมื่อพัดเห็นว่าสถานการณ์ของรัฐบาลเขมรแดงเลวร้ายลงจากการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายภายในพรรคและการรุกรานของเวียดนาม เขาจึงฝากฝังลูกชายไว้ให้ปรานดูแลก่อนที่จะถูกทหารเขมรแดงดัวยกันสังหารในช่วงที่กองทัพเวียดนามใกล้จะรุกเข้ามาถึงหมู่บ้านของพัด ปรานได้พาลูกชายของพัดและนักโทษชายคนอื่นๆ อีก 4 คน หลบหนีออกจากกัมพูชาโดยมุ่งขึ้นไปทางชายแดนตอนเหนือ ระหว่างทางเพื่อนร่วมทางสามคนได้แยกกันไปอีกทางหนึ่ง ส่วนนักโทษที่เหลือกับลูกชายของพัดเสียชีวิตจากกับระเบิดที่ฝังไว้ในป่า ปรานจึงรอดชีวิตจนมาถึงศูนย์ผู้อพยพบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพียงคนเดียว

เมื่อชานเบิร์กรู้ข่าวว่าปรานยังมีชีวิตอยู่และปลอดภัยดี เขาจึงรีบแจ้งข่าวให้ครอบครัวของปรานรู้ และรีบเดินทางมาประเทศไทยเพื่อพบกับปรานที่ศูนย์ผู้อพยพ ทั้งสองได้พบกันอีกครั้งในปี พ.ศ. 2522 อันเป็นเวลา 4 ปีหลังจากการลาจากในเหตุการณ์พนมเปญแตกครั้งนั้น

นักแสดง

[แก้]
  • แซม วอเตอร์สตัน ... ซิดนีย์ ชานเบิร์ก
  • เฮียง เอส. งอร์ ... ดิธ ปราน
  • จอห์น มัลโควิช ... อัล ร็อกออฟ
  • จูเลียน แซนด์ส ... จอน สเวน
  • เครก ที. เนลสัน ... พันตรีรีฟ, ผู้ช่วยทูตทหารสหรัฐฯ
  • สปอลดิง เกรย์ ... กงสุลสหรัฐฯ ประจำสาธารณรัฐเขมร
  • บิล แพเตอร์สัน ... ดร. แม็คเอนไทร์
  • อาทอล ฟูการ์ด ... ดร. ซุนเดส์วัล
  • เกรแฮม เคนเนดี ... โดกัล
  • กาเทอรีน กราปุม เจ็ย ... เซอร์ เมือม (ภรรยาของปราน)
  • โอลิเวอร์ ปีเอร์ปาโอลี ... ติโตนี่ (ลูกชายของปราน)
  • เอ็ดเวิร์ด เอนเทโร เจ็ย ... สะรุน
  • ทอม เบิร์ด ... ที่ปรึกษาด้านการทหารชาวสหรัฐฯ
  • สีสุวัตถิ์ มุนีรักษ์ ... พัด (ผู้นำเขมรแดง, หมู่บ้านที่ 2)
  • ลำพูน ตั้งไพบูลย์ ... ลูกชายของพัด
  • ไอร่า วีลเลอร์ ... เอกอัครราชทูตเวด (สถานทูตฝรั่งเศส)
  • เดวิด เฮนรี ... ฟรานซ์
  • Patrick Malahide ... Morgan
  • Nell Campbell ... Beth
  • โจแอน แฮร์ริส ... ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์
  • โจแอนนา เมอร์ลิน ... พี่สาวของซิดนีย์ ชานเบิร์ก
  • เจย์ บาร์นีย์ ... พ่อของซิดนีย์ ชานเบิร์ก
  • Mark Long ... Noaks
  • Sayo Inaba ... Mrs. Noaks
  • เมา เลง ... สีสุวัตถิ์ สิริมตะ
  • ชินซอร์ ซาร์ ... Arresting Officer
  • ฮวด มิง ตรัน ... ผู้นำเขมรแดง, หมู่บ้านที่ 1
  • Thach Suon ... Sahn
  • Neevy Pal ... Rosa

รางวัล

[แก้]
  • สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (เฮียง เอส. งอร์)
  • สาขาถ่ายภาพยอดเยี่ยม (คริส เมนเกส)
  • สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม (จิม คลาร์ก)

ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล:

ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล:

  • Best Film (เดวิด พัตต์นัม) - ได้รับรางวัล
  • Best Direction (โรแลนด์ จอฟเฟ) - ได้รับการเสนอชื่อ
  • Actor in a Leading Role (เฮียง เอส. งอร์) - ได้รับรางวัล
  • Actor in a Leading Role (แซม วอเตอร์สตัน) - ได้รับการเสนอชื่อ
  • Most Promising Newcomer to Leading Film Roles (เฮียง เอส. งอร์) - ได้รับรางวัล
  • Best Adapted Screenplay (บรูซ โรบินสัน) - ได้รับรางวัล
  • Best Film Music (ไมค์ โอลด์ฟิลด์) - ได้รับการเสนอชื่อ
  • Best Cinematography (คริส เมนเกส) - ได้รับรางวัล
  • Best Production Design (รอย วอล์เกอร์) - ได้รับรางวัล
  • Best Editing (จิม คลาร์ก) - ได้รับรางวัล
  • Best Sound (เอียน ฟุลเลอร์, คลีฟ วินเทอร์,บิล โรว์) - ได้รับรางวัล
  • Best Special Visual Effects (เฟรด เครเมอร์) - ได้รับการเสนอชื่อ
  • Best Makeup and Hair (ทอมมี่ แมนเดอร์สัน) - ได้รับการเสนอชื่อ

อื่น

[แก้]

การถ่ายทำ

[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ถ่ายทำในประเทศไทยเกือบทั้งหมด โดยเริ่มในวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 ในหลายพื้นที่ อาทิ ถนนท่าดินแดงในเขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนครปฐม, จังหวัดภูเก็ต, อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี, อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่[4] เบื้องหลังการถ่ายทำดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้โดยสมพล สังขะเวส ผู้ช่วยผู้กำกับฝ่ายไทย ในหนังสือชื่อ "The Killing Fields บันทึกถึงทุ่งสังหาร" [5]อนึ่ง สมพลยังได้แปลนิยายที่ดัดแปลงจากบทภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว ซึ่งเขียนโดย คริสโตเฟอร์ ฮัดสัน โดยตีพิมพ์ภายใต้ชื่อ "The Killing Fields ล้างชาติ ล้างแผ่นดิน"[6] ซึ่งมีรายละเอียดบางอย่างที่ได้ตัดออกไปจากฉบับภาพยนตร์ที่ฉายจริง เนื่องจากข้อจำกัดในด้านความยาวของภาพยนตร์ที่ออกฉาย

อ้างอิง

[แก้]
  1. Walker, John (1985). The Once and Future Film: British Cinema in the Seventies and Eighties. London: Methuen. p. 117. ISBN 0-413-53540-1.
  2. ทุ่งสังหาร ที่บ็อกซ์ออฟฟิศโมโจ
  3. "Killing Fields". BangkokDVD. 24 ธันวาคม 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 กันยายน 2012.
  4. เริ่มถ่ายทำภาพยนตร์ The Killing Fields ที่กรุงเทพฯ, หน้า 185. กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485–2554 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ISBN 978-974-228-070-3
  5. The Killing Fields บันทึกทุ่งสังหาร สมพล สังขะเวส
  6. "ตำนานสังหารที่โลกไม่เคยลืม - mascoops.com". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2019. สืบค้นเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2019.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]