ข้ามไปเนื้อหา

ทุนทางสังคม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทุนทางสังคม (social capital) เป็นคำอธิบาย “ทุน” ในลักษณะใหม่ที่ไม่ใช่เพียงทุนทางเศรษฐกิจที่มุ่งหวังในการทำกำไรหรือแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดของตัวเอง แต่ทุนทางสังคมมีลักษณะเป็นผลประโยชน์หรือต้นทุนส่วนรวมที่มาจากการช่วยเหลือและความร่วมมือกันระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มต่างๆในสังคม (Putnum, 2000)[1] โดยธนาคารโลก (World Bank) เห็นว่าทุนทางสังคม คือ สถาบัน ระบบ ความสัมพันธ์และบรรทัดฐานการปฏิบัติ (norm) ที่นำมาซึ่งปฏิสัมพันธ์ของสังคมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เน้นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างกันไม่ใช่สถาบันหรือตัวบุคคลโดดๆ หรือจำนวนรวมกัน อีกทั้งองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) เห็นว่าทุนทางสังคม คือ การเชื่อมโยงของบุคคลเป็นเครือข่ายทางสังคมบนพื้นฐานความเชื่อถือ ไว้วางใจซึ่งกันและกัน (trust) และมีมาตรฐานในการทำงานร่วมกัน

อรรถาธิบาย

[แก้]

สำหรับความหมายที่นิยมอ้างถึงมากที่สุดคือนิยามของโรเบิร์ท แพทนัม (Robert Putnam) (1993: 167)[2] ที่กล่าวว่าทุนทางสังคมคือรูปแบบของการจัดองค์การที่ประกอบไปด้วยความเชื่อใจ (trust) บรรทัดฐาน (norm) และเครือข่าย (network) ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพให้กับสังคมในการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน โดยทุนทางสังคมจะเพิ่มโอกาสในการบรรลุเป้าหมายของสังคมโดยอาศัยความเชื่อใจ ไม่ใช่แค่ระดับบุคคลต่อบุคคล แต่เป็นระดับในองค์รวมของสังคม และสามารถคาดหวังได้ว่าสิ่งที่เราทำไปนั้น ผู้อื่นก็จะตอบรับกลับมาในทางเดียวกัน ความสัมพันธ์ดังกล่าวจึงก่อตัวเป็นสถาบัน (institution) และจุดมุ่งหมายของสถาบันก็คือการจัดการกับปัญหาที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ (collective action problem) แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างสมาชิกทั้งหลายในสังคมและมีทุนทางสังคมเป็นตัวขับเคลื่อนความสัมพันธ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ในระดับสากลคำว่าทุนทางสังคมก็ยังมีอีกหลายนิยามที่อาจจะสอดคล้องหรือขัดแย้งในบางประเด็น แต่จุดร่วมที่มีอยู่ด้วยกันคือการใช้คำว่าทุนทางสังคมในการสร้างความร่วมมือทางสังคม ทุนทางสังคมโดยตัวของมันเองนั้นมิได้เป็นปัจจัยการผลิตโดยตรง หากแต่เป็นตัวกลางในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตหรือทุนอื่น เช่น ข่าวสารข้อมูล ทุนมนุษย์ (human capital) ทุนกายภาพ (physical capital) ทรัพยากรธรรมชาติ (natural resources) เป็นต้น ในต้นทุนหรือราคาที่ถูกลง โดยผ่านความสัมพันธ์ทางสังคมหรือโครงสร้างทางสังคมที่แต่ละสมาชิกทำหน้าที่ตามบทบาทตัวเองอย่างเหมาะสม ทุนทางสังคมจึงเป็นรากฐานในความร่วมมือกันทางสังคม ซึ่งจะส่งเสริมทั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและพัฒนาการทางการเมือง[3]

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย

[แก้]

สำหรับสังคมไทย คำว่าทุนทางสังคมถูกนำมาใช้อย่างมากหลังจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาการจัดการทุนทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการนำเข้าคำศัพท์ใหม่ๆ เกี่ยวกับการแสวงหาความร่วมมือมากกว่าการแข่งขันแสวงหากำไร คำว่าทุนทางสังคมจึงถูกนำเข้ามาใช้ในสังคมไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ให้ความหมายของทุนทางสังคมในบริบทของสังคมไทยว่าหมายถึงผลรวมของสิ่งดีงามต่างๆที่มีอยู่ในสังคม ทั้งในส่วนที่ได้จากการสั่งสมและการต่อยอด รวมถึงการรวมตัวของคนที่มีคุณภาพเพื่อสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม บนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ สายใยแห่งความผูกพันและวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งหากนำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมแล้วจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติและสังคมให้สมดุลและยั่งยืน[4]

คำว่าทุนทางสังคมถูกนำไปใช้ในหลายบริบทและหลายความหมาย ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างในทางการเมือง เช่น ในบทความของปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ (2548)[5] กล่าวถึงทุนทางสังคมในฐานะที่เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดพื้นฐานของความเป็นนักการเมืองและภาพพจน์ที่จะถูกสั่งสมออกมาเป็นนักการเมืองที่ดี ทำให้การประกอบอาชีพทางการเมืองมีความราบรื่นและส่งผลดีต่อประเทศชาติ ซึ่งในกรณีของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีพื้นฐานทุนทางสังคมมาจากพ่อค้าวาณิช ภาพของรัฐบาลและภาพพจน์ของรัฐมนตรีเหล่านั้น ในความรู้สึกของประชาชนทั่วไป จึงออกไปในทางตั้งข้อระแวง สงสัยไม่ค่อยจะไว้วางใจนัก โดยเฉพาะในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต เป็นความรู้สึกที่เหมือนกับการมองพ่อค้าวาณิชทั่วไปว่าเป็นพวกที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดให้กับตนเองอย่างเดียวเป็นสำคัญมากกว่าจะคิดเจือจานรับใช้แผ่นดินด้วยความสุจริตใจ

อย่างไรก็ดี การทำความเข้าใจทุนทางสังคมไม่ใช่เป็นเพียงพื้นฐานส่วนบุคคล แต่ต้องมองในลักษณะองค์รวม เพราะทุนทางสังคมเป็นเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างบทบาทอันหลากหลายของสมาชิกในสังคมจนออกมาเป็นสถาบันที่อยู่บนความเชื่อใจ ความร่วมมือกัน และมีเครือข่ายระหว่างกัน จนสุดท้ายทุนทางสังคมจะเป็นพื้นฐานให้กับกิจกรรมทั้งหลายที่เกิดทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ซึ่งทุนทางสังคมดังกล่าวจำเป็นต้องใช้เวลาในการสะสมอย่างยาวนาน และสามารถสถาปนาเป็นสถาบันที่จัดความสัมพันธ์ของสมาชิกได้อย่างลงตัว

อ้างอิง

[แก้]
  1. Putnam, Robert D. (2000). Bowling Alone: The Collapse and Revival of American Community. New York: Simon & Schuster.
  2. Putnam, Robert D. (1993). Making Democracy Work: Civic Traditions in Modern Italy. Princeton: Princeton University Press.
  3. สินาด ตรีวรรณไชย. "ทุนทางสังคม: ความหมายและความสำคัญ". ประชาไท. เข้าถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ใน http://prachatai.com/journal/2005/01/2262.
  4. “ทุนทางสังคม (Social Capital)” (2546). สำนักพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต. เข้าถึงวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ใน http://pattanathai.nesdb.go.th/Knowledge_pdf/social_capital.pdf เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน.
  5. ปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์. "ทุนทางสังคม". มติชนรายวัน, ปีที่ 28 ฉบับที่ 9916, 4 พฤษภาคม 2548.