ทีไอทีวี เอเวอเรสต์ 2007
ทีไอทีวี เอเวอเรสต์ 2007 (อังกฤษ: TITV Everest 2007) มีชื่อเต็มว่า TITV The Everest: The Unlimited Spirit of Thailand 2007 หรือชื่อไทย “ปฏิบัติการเกียรติยศ สู่ยอดเอเวอเรสต์” เป็นโครงการส่งนักปีนเขาชาวไทย ขึ้นไปปีนเขาเอเวอเรสต์ ในปี พ.ศ. 2550 ให้การสนับสนุนโดยสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี กรมประชาสัมพันธ์ และกองทัพเรือไทย โดยมีการส่งทีมงานไปถ่ายทำภาพยนตร์เบื้องหลังการปีนเขา และส่งมาตัดต่อเป็นรายการสารคดีเรียลลิตีโชว์ ออกอากาศในประเทศไทยทางช่องทีไอทีวี
การปีนเขามีกำหนด 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 โดยใช้เวลาฝึกฝนร่างกาย และปรับตัวเป็นเวลา 45 วัน และเริ่มต้นปีนจากแคมป์ฐาน ใช้เวลา 39 วัน จนถึงยอดเขา มีเป้าหมายที่จะนำธงชาติไทย ธงธรรมจักร และธงตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ไปปักบนยอดเขา เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
โครงการนี้เกิดจากแนวคิดของชิบ จิตนิยม ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เมื่อครั้งไปเยิ่ยมชมวัดไทยลุมพินีเมื่อกลางปี พ.ศ. 2550 โดยในครั้งแรกจะนำนายทหารหน่วยรบพิเศษของกองทัพเรือ 3 คน กองทัพอากาศ 3 คน และเจ้าหน้าที่ทีไอทีวี 1 คน อุปสมบทที่วัดไทยลุมพินี และเดินเท้านำธงธรรมจักรขึ้นไปประดับบนยอดเขา ต่อมาได้ยกเลิกแนวคิดนี้ไปด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับการดื่มน้ำและรับประทานอาหารของพระภิกษุ [1]
ในปี 2007 มีนักปีนเขาจำนวนมากที่ขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยขึ้นจากทางทิศเหนือ จากทิเบต ประเทศจีน และหลีกเลี่ยงการขึ้นจากทางทิศใต้ จากประเทศเนปาลเนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองไม่มั่นคง [2] แต่สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเลือกเส้นทางนี้ โดยให้เหตุผลว่าต้องการเดินทางจากประเทศเนปาล ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า [2] มีประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นประมาณ 450,000 ดอลลาร์สหรัฐ [2](ประมาณ 15 ล้านบาท)[3] ใช้เวลาเตรียมการทั้งสิ้น 4 เดือน [1]
นักปีนเขาในทีม ประกอบด้วย คนไทยจำนวน 9 คน ทีมงานสนับสนุนชาวไทย ไกด์นำทางและลูกหาบเชอร์ปา นักปีนเขาทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นักปีนเขาที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 9 คน เป็นทหารเรือ 3 คน ทีมงานทีไอทีวี 4 คน [4] เป็นผู้หญิง 1 คน สมทบกับอนุศักดิ์ จงยินดี นักปีนเขาอิสระ ที่มีโครงการจะปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ภายในปี พ.ศ. 2553 แต่ได้รับการสนับสนุนให้ร่วมทีมในปีนี้เป็นกรณีพิเศษอีก 1 คน แทนเจ้าหน้าที่ทีไอทีวีผู้ที่สละสิทธิ์ให้ไปแทน [5]
นักปีนเขาทั้ง 9 คน สามารถขึ้นถึงยอดเขาไอแลนด์พีกในช่วงของการฝึกซ้อม และในการปีนขึ้นเอเวอเรสต์ มี 4 คน ขึ้นไปได้ถึงแคมป์ 3 ที่ความสูง 7,300 เมตร มี 3 คน ขึ้นไปได้ถึงแคมป์ 4 ที่ความสูง 7,900 เมตร ทั้งสามคนนี้เตรียมที่จะขึ้นสู่ยอดเขาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 แต่ไม่สำเร็จเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย นักปีนเขาทั้งหมดเดินทางกลับมาได้อย่างปลอดภัย
นักปีนเขากลุ่มนี้ เป็นคนไทยกลุ่มแรกที่ปีนเอเวอเรสต์ขึ้นไปได้สูงเกิน 8,000 เมตร ก่อนหน้านี้มีคนไทยเคยปีนเอเวอเรสต์ แต่ไม่เคยขึ้นถึงระดับนี้ เช่น กิ่งแก้ว บัวตูม ขึ้นไปได้ถึงระดับ 7,000 เมตร เมื่อ พ.ศ. 2540 [6] นอกจากนี้ยังมีคนไทยที่พยายามปีนเอเวอเรสต์ในปี พ.ศ. 2549 [7] แต่ต้องล้มเลิกไปเพราะขาดผู้สนับสนุน[8] และยังมีอีกกลุ่มหนึ่งที่วางโครงการจะปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ ภายใน พ.ศ. 2553[9]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 หลังสิ้นสุดปฏิบัติการทีไอทีวี เอเวอเรสต์ 2007 ประมาณ 6 เดือน นายวิทิตนันท์ โรจนพานิช ผู้กำกับภาพยนตร์ และนักปีนเขาสมัครเล่นชาวไทย ในฐานะหัวหน้าทีมปีนเขา รวมถึงทีมนักปีนเขาชาวเวียดนามอีก 3 คน ก็สามารถปีนขึ้นสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ในภารกิจ Everest 2008 : Vietnam Sprit To The World ซึ่งถ่ายทอดเป็นรายการเรียลลิตีโชว์เอเวอร์เรสต์เวียดนาม ทางสถานีโทรทัศน์เอชทีวี ของประเทศเวียดนาม และมีนายวิทิตนันท์เป็นผู้อำนวยการผลิตรายการ
ทีมงาน
[แก้]นักปีนเขา ประกอบด้วย
- เรือโทภิญโญ รุ่งเรือง (โญ) นายทหารหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ เป็นหัวหน้าทีม
- เรือตรีไพรัตน์ พลายงาม (รัตน์) หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ กองเรือป้องกันฝั่ง กองทัพเรือ
- พันจ่าเอกเทพบุตร กิมจันทร์ (เสือ) ทหารหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ นักกีฬาทีมชาติ
- อนุกูล สอนเอก (กื๋อ) นักปีนผา นักสำรวจถ้ำ นักเขียนนิตยสารสารคดี
- วันเพ็ญ สินธุวงษ์ (จุ๋ม) ผู้จัดการแผนกศูนย์ข้อมูลข่าว สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี เป็นผู้หญิงคนเดียวในทีม
- ดิลก ตามใจเพื่อน (ป้าย) โปรดิวเซอร์ สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี
- กิตติ จันทร์เจริญ (บรีส) ช่างภาพ สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี
- สุธน ยิ้มดี (นนท์) ช่างตัดต่อ สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี
- พิทักษ์ จุลาภา (ต้อง) โปรดิวเซอร์ สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี (สละสิทธิ์ให้ อนุศักดิ์ จงยินดี เดินทางไปแทน)
- อนุศักดิ์ จงยินดี (อ๊อด) นักธุรกิจ นักปีนเขาอิสระ ที่ได้รับเลือกเข้าร่วมทีมเป็นคนสุดท้าย
ไกด์นำทาง และลูกหาบชาวเชอร์ปา จำนวน 170 คน นำโดย ตาชิ เทนซิง (Tashi Tenzing) ซึ่งเป็นหลานชายของเทนซิง นอร์เก ผู้ขึ้นถึงยอดเขาเอเวอเรสต์เป็นคนแรกพร้อมกับเอดมันด์ ฮิลลารี เมื่อ พ.ศ. 2496
ทีมงานสนับสนุน ประกอบด้วย [10]
- ชิบ จิตนิยม ผู้ประกาศข่าว เป็นผู้ต้นคิดและนำเสนอโครงการนี้
- ธนัท ตันอนุชิตติกุล พิธีกรรายการโทรทัศน์
ความคืบหน้า
[แก้]- 1 กันยายน พ.ศ. 2550 - ทีมงานจำนวน 15 คน เดินทางออกจากประเทศไทย ไปเนปาล
- 3 กันยายน พ.ศ. 2550 - อนุศักดิ์ จงยินดี เดินทางไปสมทบ
- 8 กันยายน พ.ศ. 2550 - เดินทางถึงหมู่บ้านนัมเช บาซาร์ ระดับความสูง 3,440 เมตร ปากทางขึ้นสู่ภูเขาหิมาลัย
- 15 กันยายน พ.ศ. 2550 - เดินทางถึงแคมป์ฐาน ยอดเขาไอแลนด์พีก ระดับความสูง 5,087 เมตร
- 19 กันยายน พ.ศ. 2550 - ขึ้นถึงยอดเขาไอส์แลนด์พีค ระดับความสูง 6,189 เมตร เพื่อเป็นการฝึกซ้อม [11]
- 23 กันยายน พ.ศ. 2550 - เดินทางถึงแคมป์ฐาน ยอดเขาเอเวอเรสต์ ระดับความสูง 5,400 เมตร [12]
- 24 กันยายน พ.ศ. 2550 - ทำพิธีสักการะเทพี สครมาถา ตามประเพณีของเชอร์ปา
- 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - เดินทางถึงแคมป์ 1 ระดับความสูง 5,900 เมตร
- 24 ตุลาคม พ.ศ. 2550 - เดินทางถึงแคมป์ 2 ระดับความสูง 6,500 เมตร
- 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 - เดินทางถึงแคมป์ 3 ที่ความสูง 7,300 เมตร มีนักปีนเขาที่ยังปีนต่อได้ 4 คน คือ เรือโทภิญโญ เรือตรีไพรัตน์ พันจ่าเอกเทพบุตร และดิลก [13]
- 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 - เดินทางถึงแคมป์ 4 ที่ความสูง 7,900 เมตร ดิลก พลัดหลงกับเพื่อนต้องเดินทางกลับมาแคมป์ 3 ตามลำพัง [14]
- 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 - กำหนดขึ้นถึงยอดเอเวอเรสต์ ที่ความสูง 8,848 เมตร แต่ไม่สำเร็จเพราะลมแรงถึง 110-120 กม/ชม จึงกลับมาพักที่แคมป์ 2 [14] ขึ้นไปได้สูงสุดที่ 8,500 เมตร [15]
- 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 - ยกเลิกภารกิจ เนื่องจากสภาพร่างกายของนักปีนเขา และสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย และเริ่มย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
- 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 - เดินทางจากแคมป์ฐานกลับกาฐมาณฑุ เพื่อนำธงทั้งสามผืนไปเก็บรักษาที่วัดไทยลุมพินี เพื่อให้นักปีนเขาชาวไทยชุดอื่น นำไปใช้ในปีต่อไป [16]
- 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 - กำหนดเดินทางกลับถึงประเทศไทย
ข้อวิจารณ์
[แก้]- ทีมงานของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ไม่ได้เป็นนักปีนเขาอาชีพ และร่างกายแข็งแรงเพียงพอ มีเพียงทหารเรือ 3 คน ที่มีการฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่งอย่างสม่ำเสมอ และนักปีนเขาอาชีพ 2 คน ที่เคยปีนยอดเขาอื่นๆ มาแล้ว นอกจากนี้การเตรียมงานยังทำอย่างฉุกละหุก ต่างจากทีมอื่นๆ ที่มีการเตรียมการล่วงหน้าหลายปี
- อันตรายของการปีนเขาที่ความสูงมากๆ เกิดจากปริมาณออกซิเจน(O2) ในอากาศต่ำกว่าปริมาณที่ระดับน้ำทะเล (ที่แคมป์ฐาน เท่ากับ 50% ที่ยอดเขา เท่ากับ 30%) ประกอบกับความกดอากาศต่ำ ทำให้หลอดเลือดในร่างกายขยายตัว เมื่อร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พอเพียง ร่างกายจะปรับตัวโดยสร้างเลือดเพิ่มขึ้น เพื่อนำออกซิเจนไปได้มากขึ้น ส่งผลให้เลือดเหนียวข้น และแข็งตัวได้ง่ายขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงกับอาการลิ่มเลือดอุดตันที่หัวใจทำให้เกิดหัวใจวาย หรือที่สมอง [17] [18][19]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บบอร์ดรายงานความคืบหน้าของโครงการ เก็บถาวร 2007-11-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Everest Autumn 2007: Everest Thailand Expedition
- ข่าวจาก mounteverest.net เก็บถาวร 2007-10-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 นิตยสาร Nature Explorer ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2550
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Thais want to scale Everest to celebrate king's 80th birthday เก็บถาวร 2007-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน dpa - Deutsche Presse-Agentur
- ↑ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 34 บาท
- ↑ ตามแผนการครั้งแรก จะมีทหารจากกองทัพอากาศ 3 คน เจ้าหน้าที่ทีไอทีวี 1 คน แต่ทางกองทัพอากาศถอนตัวออกไป จึงใช้เจ้าหน้าที่ทีไอทีวี 4 คน
- ↑ "งานแถลงข่าว ทีไอทีวี The Everest: The unlimited of Thai Spirit 2007". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 2007-11-05.
- ↑ อัตชีวประวัติ กิ่งแก้ว บัวตูม
- ↑ Singaporean to be first Southeasr Asean to summit Everest without oxygen EverestNews
- ↑ "ข่าวทีมไทยทีมแรกที่เคยจะปีน Everest ในปี 2006". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 2007-11-13.
- ↑ "โครงการสานฝันคนไทยไปเอเวอร์เรสต์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-09. สืบค้นเมื่อ 2007-11-05.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-11. สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
- ↑ "trekkingthai 19-9-50". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-14. สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-11. สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
- ↑ "trekkingthai 30-10-50". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-09. สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
- ↑ 14.0 14.1 "trekkingthai 7-11-50". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-09. สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
- ↑ Everest Thailand Expedition turns back at 8500 meters
- ↑ รายงานข่าวทีไอทีวี 10 พฤศจิกายน 2550
- ↑ "The risks of climbing the Everest". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-23. สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
- ↑ "Trying to Breathe on Mount Everest". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-11-11. สืบค้นเมื่อ 2007-11-09.
- ↑ "An Altitude Tutorial". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-19. สืบค้นเมื่อ 2007-11-12.