ทอมัส แบ็กกิต
ทอมัส แบ็กกิต Thomas Becket | |
---|---|
อัครมุขนายกและมรณสักขี | |
เกิด | ค.ศ. 1118 ลอนดอน ราชอาณาจักรอังกฤษ |
เสียชีวิต | 29 ธันวาคม ค.ศ. 1170 แคนเทอร์เบอรี ราชอาณาจักรอังกฤษ |
นิกาย | โรมันคาทอลิก แองกลิคัน |
เป็นนักบุญ | 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1173 โดย สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 |
วันฉลอง | 29 ธันวาคม |
สัญลักษณ์ | ดาบ, การพลีชีพ |
นักบุญทอมัส แบ็กกิต (อังกฤษ: Thomas Becket[1]) ต่อมารู้จักกันในชื่อ Thomas à Becket เป็นนักบุญและมรณสักขีในศาสนาคริสต์ เกิดใน ค.ศ. 1118[2] ที่ชีพไซด์ ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และถึงแก่มรณกรรมเมื่อราว ค.ศ. 1170 ที่เมืองแคนเทอร์เบอรี ดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีระหว่าง ค.ศ. 1162 จนกระทั่งถึงแก่มรณกรรมในปี ค.ศ. 1170 แบ็กกิตเกิดขัดแย้งกับพระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษเกี่ยวกับสิทธิและอภิสิทธิ์ของคริสตจักร และในที่สุดก็ถูกข้าราชบริพารของพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ลอบสังหารภายในมหาวิหารแคนเทอร์เบอรี ไม่นานหลังจากการมรณกรรมท่านก็ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3
นักบวชต่างก็เกรงกลัวว่าร่างของแบ็กกิตจะถูกขโมย เพื่อป้องกันความระแวงดังกล่าวไม่ให้เกิดขึ้นหีบหินอ่อนของแบ็กกิตจึงถูกนำไปตั้งไว้ภายในคริพท์ของมหาวิหาร นอกจากนั้นนักบวชก็ยังสร้างผนังหินหน้าที่บรรจุศพ บนผนังมีช่องสองช่องที่ผู้แสวงบุญสามารถลอดหัวเข้าไปจูบโลงหินได้ ในปี ค.ศ. 1220 กระดูกของแบ็กกิตก็ถูกย้ายไปยังที่บรรจุที่ทำด้วยทองฝังอัญมณีบนแท่นบูชาเอก ที่บรรจุตั้งอยู่บนแท่นสูงที่รองรับด้วยเสา ตามปกติแล้วแคนเทอร์เบอรีก็เป็นเมืองสำคัญสำหรับการจาริกแสวงบุญอยู่แล้วแต่หลังจากการมรณกรรมของเบ็คเค็ท ผู้แสวงบุญก็ทวีจำนวนขึ้นเป็นอันมากอย่างรวดเร็ว
ชื่อ
[แก้]นอกจากชื่อ "ทอมัส แบ็กกิต" แล้วแบ็กกิตก็ยังรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อ "Thomas à Becket" ด้วย แม้จะดูเหมือนว่าไม่ใช่นามร่วมสมัยแต่เป็นนามที่ตั้งขึ้นหลังจากการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษเลียนแบบชื่อนักบวชของปลายสมัยกลาง "ทอมัส อะ เคมพิส"[3] จอห์น สไตรป์ นักประวัติศาสตร์เขียนใน "Memorials of Thomas Cranmer" (ค.ศ. 1694): "อันนี้เป็นสิ่งที่ผิด แต่เป็นสิ่งที่ทำกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่ควรจะตั้งข้อสังเกตและระบุว่าเป็นสิ่งที่ผิด ชื่อของอาร์ชบิชอปนั้นคือทอมัส แบ็กกิต ถ้าผู้ใดเรียกท่านอย่างไม่ถูกต้องว่า "Thomas à Becket" ก็เป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรจะเป็นสิ่งที่ทำตามอย่างโดยผู้มีการศึกษาเล่าเรียน" แต่ที่น่าสังเกตคือ "พจนานุกรมออกซฟอร์ดภาษาอังกฤษ" (คนละฉบับกับ "พจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซฟอร์ด"), "พจนานุกรมออกซฟอร์ดสำหรับนักประพันธ์และบรรณาธิการฉบับใหม่" และ "พจนานุกรมชีวประวัติฉบับเชมเบอร์ส" ต่างก็ใช้ "St. Thomas à Becket"
ชีวิตเบื้องต้น
[แก้]ทอมัส แบ็กกิตเกิดใน ค.ศ. 1118 ที่ชีพไซด์ ลอนดอน ราชอาณาจักรอังกฤษ จากบิดาชื่อกิลเบิร์ต เบเค็ท (สะกด Beket) แห่งเธียร์วิลล์และมาทิลดาแห่งมองเดอวิลล์ไม่ไกลจากค็องในประเทศฝรั่งเศสปัจจุบัน[4] กิลเบิร์ตเป็นบุตรของอัศวินมีอาชีพเป็นพ่อค้าที่นำผ้าเข้ามาจากฝรั่งเศสเข้ามาขายในอังกฤษ (Mercery) แต่ในลอนดอนมาเป็นเจ้าของบ้านที่ดินที่มีรายได้จากการให้เช่า[4] ร่างของทั้งสองคนฝังไว้ที่มหาวิหารนักบุญเปาโลเดิม มีเรื่องเล่ากันว่ามารดาของแบ็กกิตเป็นเจ้าหญิงซาราเซนผู้มาตกหลุมรักพ่อที่เป็นชาวอังกฤษขณะที่เดินทางไปทำสงครามครูเสดหรือไปแสวงบุญที่แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์และได้ติดตามมายังอังกฤษ ได้รับศีลล้างบาป และสมรสกับกิลเบิร์ต เรื่องราวดังกล่าวไม่มีมูลความจริง เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นสามศตวรรษหลังจากการเสียชีวิตของเบ็คเค็ท และแทรกเข้าไปในหนังสือที่เขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 12 "ชีวิตของทอมัส เบ็คเค็ท" โดยเอ็ดเวิร์ด กริม[5][6]
เพื่อนที่มีฐานะดีคนหนึ่งของบิดา รีแชร์เดอเลเกลอร์ (Richer de L'Aigle) หลงเสน่ห์ของพี่สาวน้องสาวของแบ็กกิตและมักจะชวนเบ็คเค็ทไปเยี่ยมคฤหาสน์ที่ซัสเซ็กซ์ ที่เบ็คเค็ทได้เล่าเรียนการขี่ม้าล่าสัตว์และทำตัวเยี่ยงผู้ดีมีตระกูล และเข้าร่วมในกีฬาอันเป็นที่เป็นที่นิยมกันในสมัยนั้นเช่นการประลองทวนบนหลังม้า ด้านการศึกษาเบ็คเค็ทได้รับการศึกษาเป็นอย่างดีมาตั้งแต่อายุได้ 10 ขวบทั้งในด้านกฎหมายแพ่ง และ กฎหมายศาสนจักรที่เมอร์ตันไพรออรีในอังกฤษและต่อมาไปศึกษาต่อที่ปารีส โบโลญญา และ โอแซร์ รีแชร์ต่อมาเป็นบุคคลหนึ่งที่ลงนามในธรรมนูญแคลเร็นดอนที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเบ็คเค็ท
เมื่อกลับมาถึงราชอาณาจักรอังกฤษเบ็คเค็ทก็กลายเป็นคนโปรดของทีโอบอลด์แห่งเบ็ก อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีในขณะนั้นผู้มอบหน้าที่สำคัญๆ หลายครั้งในการส่งตัวเบ็คเค็ทไปยังกรุงโรม และในที่สุดก็แต่งตั้งแบ็กกิตให้เป็นอัครพันธบริกรแห่งแคนเทอร์เบอรีและโพรโวสต์แห่งเบเวอร์ลีย์ นอกจากนั้นแล้วเบ็คเค็ทก็ยังทำงานด้วยความตั้งใจอย่างจริงจังและความมีประสิทธิภาพจนอาร์ชบิชอปทีโอบอลด์ทรงแนะนำตัวแก่พระเจ้าเฮนรีที่ 2 แห่งอังกฤษ เมื่อตำแหน่งลอร์ดชานเซลเลอร์ว่างลง พระเจ้าเฮนรีจึงทรงแต่งตั้งให้ทอมัส แบ็กกิต เป็นลอร์ดชานเซลเลอร์ในปี ค.ศ. 1155
พระเจ้าเฮนรีมีพระราชประสงค์ที่จะมีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินที่ทรงปกครอง ทั้งทางกิจการทางโลกและทางศาสนา และมีพระราชประสงค์ที่จะกำจัดอภิสิทธิ์ทั้งหมดของนักบวชอังกฤษ ที่ทรงเห็นว่าเป็นสิ่งกีดขวางพระราชอำนาจ ในฐานะอัครมหาเสนาบดีแบ็กกิตมีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บภาษีที่ดินให้แก่พระมหากษัตริย์ ที่รวมทั้งที่ดินของโบสถ์และมุขมณฑล ซึ่งสร้างเกิดความลำบากให้แก่บรรดานักบวชและผู้นำทางศาสนา ซึ่งเป็นผลให้เกิดความไม่พึงพอใจในการกระทำของแบ็กกิต นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีการกล่าวร้ายป้ายสีกันหนักขึ้นว่าแบ็กกิตเป็นผู้ละเลยความเป็นนักบวช และหันไปเป็นข้าราชสำนักผู้มีชีวิตอันหรูหราฟุ่มเฟือย และประจบสอพลอพระเจ้าเฮนรี แบ็กกิตเป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อผลประโยชน์ของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีอย่างเต็มที่ ซึ่งก็ไม่มีผู้ใดนอกไปจากจอห์นแห่งซอลส์บรี เท่านั้นที่จะมีความแคลงใจต่อความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของเบ็คเค็ท
พระเจ้าเฮนรีถึงกับทรงส่งพระราชโอรสเฮนรียุวกษัตริย์ไปประทับอยู่กับแบ็กกิต ตามประเพณีในขณะนั้นที่บุตรของผู้มีอำนาจมักจะถูกส่งตัวไปพำนักอยู่กับสำนักหรือบ้านเรือนของผู้มีอำนาจคนอื่น ๆ พระราชโอรสเฮนรีตรัสเองว่าเบ็คเค็ทแสดงความรักฉันท์พ่อต่อพระองค์ยิ่งไปกว่าพระราชบิดาที่แสดงตลอดพระชนม์ชีพ ความสัมพันธ์ดังกล่าวอาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เฮนรีทรงหันไปเป็นปฏิปักษ์ต่อพระราชบิดาก็เป็นได้
ความขัดแย้ง
[แก้]แบ็กกิตได้รับตำแหน่งสูงสุดตำแหน่งสุดท้ายเป็นอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีในปี ค.ศ. 1162 หลายเดือนหลังจากการเสียชีวิตของทีโอบอลด์ พระเจ้าเฮนรีมีพระราชประสงค์ขยายอิทธิพลของพระองค์ในการพยายามควบคุมการกระทำของเบ็คเค็ทผู้ที่พระองค์ทรงแต่งตั้ง และทรงพยายามลดอำนาจของสถาบันศาสนาในอังกฤษ แต่แบ็กกิตเริ่มแสดงความเปลี่ยนแปลงและหันเข้าหาความเคร่งครัดทางศาสนาในระยะเดียวกันนี้
ความเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระเจ้าเฮนรีและแบ็กกิต เมื่อเบ็คเค็ทลาออกจากการเป็นอัครมหาเสนาบดี และรวบรวมรายได้ของแคนเตอร์บรีให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของตน การกระทำดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งทางกฎหมายเช่นปัญหาเรื่องขอบเขตของอำนาจของศาลปกครองที่มีต่อนักบวชอังกฤษ ซึ่งเป็นผลที่เพิ่มความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และคริสตจักรมากยิ่งขึ้น พระเจ้าเฮนรีจึงทรงเริ่มพยายามที่จะหาเสียงสนับสนุนจากบิชอปคนอื่น ๆ อื่นๆ ในการต่อต้านเบ็คเค็ทใน เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1163 เมื่อทรงพยายามแสวงหาการอนุมัติพระราชอภิสิทธิ์ ที่นำมาซึ่งธรรมนูญแคลเร็นดอน ธรรมนูญฉบับนี้เป็นการบังคับให้เบ็คเค็ทลงนามอนุมัติพระราชอภิสิทธิ์หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องประสบกับผลอันไม่พึงประสงค์ทางการเมือง
ธรรมนูญแคลเร็นดอน
[แก้]พระเจ้าเฮนรีทรงเป็นประธานในที่ประชุมที่วังแคลเร็นดอนเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1164 ในธรรมนูญสิบหกข้อดังกล่าวพระองค์ทรงพยายามที่จะลดความเป็นอิสระของคริสตจักรในอังกฤษ และลดความผูกพันระหว่างคริสตจักรในอังกฤษกับโรม พระองค์ทรงใช้กลวิธีทุกอย่างที่ให้ได้มาซึ่งความเห็นพ้องในข้อเรียกร้องของพระองค์ และทรงประสบความสำเร็จตามที่มีพระราชประสงค์กับคณะที่ประชุมยกเว้นแต่จากผู้แทนทางศาสนา
ในที่สุดแม้แต่แบ็กกิตเองก็แสดงความเต็มใจที่จะเห็นด้วยกับสาระสำคัญของธรรมนูญแคลเร็นดอนแต่ก็ยังคงไม่ยอมลงนามในธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นผลทำให้ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองฝ่ายดำเนินมาจนถึงจุดสูงสุด พระเจ้าเฮนรีทรงเรียกตัวเบ็คเค็ทให้มาปรากฏตัวต่อหน้ามหาสภาที่ปราสาทนอร์ทแธมพ์ตันเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1164 เพื่อมาแก้ตัวในข้อกล่าวหาที่ว่าขัดขืนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และปฏิบัติหน้าที่อันไม่ชอบธรรมในขณะที่มีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี เมื่อถูกตัดสินว่าผิดตามข้อกล่าวหาแบ็กกิตก็ลุกจากการดำเนินคดีและหนีไปยังยุโรปภาคพื้นทวีป
พระเจ้าเฮนรีทรงตามตัวเบ็คเค็ทโดยการออกพระราชกฤษฎีกาต่อเนื่องกันหลายฉบับทั้งสำหรับตัวเบ็คเค็ทเอง เพื่อน และผู้สนับสนุน แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 7 แห่งฝรั่งเศสทรงต้อนรับแบ็กกิตเป็นอย่างดีและทรงสัญญาว่าจะช่วยพิทักษ์ปกป้อง เบ็คเค็ทพำนักอยู่ในฝรั่งเศสเป็นเวลาเกือบสองปีในอารามปงติญญีของคณะซิสเตอร์เชียน จนกระทั่งคำขู่ของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีต่อลัทธิซิสเตอร์เชียนทำให้เบ็คเค็ทต้องย้ายไปยังซองส์อีกครั้งหนึ่ง
เบ็คเค็ทพยายามที่จะใช้อำนาจทางศาสนาในการแก้สถานการณ์โดยเฉพาะการตัดขาดจากศาสนาและโทษต้องห้าม แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 จะทรงมีความเห็นใจต่อสถานการณ์ของแบ็กกิต แต่พระองค์ก็ทรงนิยมที่จะพยายามหาวิธีปรองดองกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเสียมากกว่า ซึ่งก็ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปากับอาร์ชบิชอปจนทางสมเด็จพระสันตะปาปาต้องส่งผู้แทนมาเจรจาปรองดองกันในปี ค.ศ. 1167
ความตั้งใจอันแน่วแน่ของแบ็กกิตเกือบดูเหมือนจะประสบความสำเร็จเมื่อในปี ค.ศ. 1170 สมเด็จพระสันตะปาปาจะทำตามคำขู่ว่าจะออกพระประกาศการบรรพาชนียกรรมต่อพระเจ้าเฮนรี ตัวสมเด็จพระเจ้าเฮนรีเองก็ทรงเริ่มหวั่นวิตกถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็ทรงหวังว่าจะทำการตกลงกันได้ และอนุญาตให้แบ็กกิตกลับมารับหน้าที่อาร์ชบิชอปตามเดิม
การลอบสังหาร
[แก้]ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1170 อาร์ชบิชอปแห่งยอร์กและบิชอปแห่งลอนดอนและซอลสบรีก็จัดพระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้าเฮนรียุวกษัตริย์พระราชโอรสในพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ที่ยอร์ก ซึ่งเป็นการขัดกับอภิสิทธิ์ของแคนเตอร์บรีในการเป็นสถานที่สำหรับทำการราชาภิเษก ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1170 แบ็กกิตจึงประกาศทั้งสามพระองค์จากคริสตจักร ขณะที่บิชอปทั้งสามองค์หนีไปยังนอร์ม็องดี แบ็กกิตก็ดำเนินการประกาศการตัดขาดจากศาสนาต่อศัตรูหลายคนทางศาสนา ในที่สุดข่าวนี้ก็ไปถึงพระกรรณของพระเจ้าเฮนรี
เมื่อรายงานต่าง ๆ ของการกระทำของแบ็กกิตมาถึงพระกรรณ กล่าวกันว่าพระเจ้าเฮนรีถึงกับทรงผงกพระเศียรจากพระแท่นที่ประชวรอยู่และทรงคำรามด้วยความอัดอั้นพระทัย แต่พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสดังกล่าวที่แท้จริงนั้นไม่มีผู้ใดทราบ แต่ตามปากคำของเรื่องที่เล่าขานกันมากล่าวว่า พระองค์ตรัสเปรยว่า "ไม่มีผู้ใดแล้วหรือที่จะกำจัดนักบวชผู้มีแต่ปัญหาองค์นี้ได้"[7] แต่ตามความเห็นของนักประวัติศาสตร์ไซมอน ชามาพระราชดำรัสดังกล่าวนี้ไม่ถูกต้อง และยอมรับว่าน่าจะเป็นบทเขียนของนักบันทึกพระราชประวัติร่วมสมัยเอ็ดเวิร์ด กริมที่เขียนเป็นภาษาละตินผู้บันทึกว่า "ไอ้คนที่ทรยศหลอกลวงทั้งหลายที่ข้าได้เลี้ยงได้ขุนขึ้นมาในราชสำนัก ทำไมจึงปล่อยให้ข้าถูกปฏิบัติด้วยอย่างน่าละอาย โดยนักบวชอันไม่มีชาติตระกูลเช่นนี้?"[8][9]
แต่ไม่ว่าจะเป็นพระราชดำรัสใด ผลของเนื้อหาของพระราชดำรัสก็ถูกตีความหมายว่าเป็นพระราชโองการ ที่ทำให้อัศวินสี่คนที่รวมทั้งเรจินาลด์ ฟิทซ์เอิร์ส ฮิวจ์เดอมอร์วิลล์ ลอร์ดแห่งเวสต์มอร์แลนด์, วิลเลียมเดอเทรซี และ ริชาร์ดเลอเบรตองเดินทางไปเผชิญหน้ากับอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม ค.ศ. 1170 อัศวินทั้งสี่ก็ไปถึงแคนเทอร์เบอรี จากบันทึกเหตุการณ์ของนักบวชเจอร์วาสแห่งแคนเทอร์เบอรีและเอ็ดเวิร์ด กริมผู้เห็นเหตุการณ์ อัศวินทั้งสี่วางอาวุธภายใต้ต้นซิคามอร์นอกมหาวิหารและคลุมเสื้อเกราะด้วยเสื้อคลุมยาวก่อนที่จะเข้าไปเผชิญหน้ากับแบ็กกิต[10] อัศวินบอกแบ็กกิตให้เดินทางไปยังวินเชสเตอร์เพื่อไปให้การเกี่ยวกับการกระทำที่ผ่านมาของตน แต่แบ็กกิตปฏิเสธ เมื่อแบ็กกิตปฏิเสธไม่ยอมทำตามพระราชประสงค์ของพระมหากษัตริย์ อัศวินจึงกลับไปนำอาวุธที่ซ่อนไว้กลับเข้ามาในมหาวิหาร[10] ขณะเดียวกันแบ็กกิตก็รีบเดินไปยังห้องโถงหลักสำหรับทำพิธี อัศวินทั้งสี่พร้อมด้วยดาบก็วิ่งตามไปทันที่ใกล้ประตูทางเข้าระเบียงฉันนบถ บันไดที่ลงไปยังคริพท์ และ บันไดที่ขึ้นไปยังบริเวณร้องเพลงสวดของมหาวิหาร ในบริเวณที่นักบวชกำลังทำพิธีสวดมนต์เย็น
คำบรรยายจากปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์ร่วมสมัยมีด้วยกันหลายกระแส โดยเฉพาะของเอ็ดเวิร์ด กริมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างเหตุการณ์กล่าวว่า:
...อัศวินผู้ชั่วร้ายกระโดดเข้ามายังแบ็กกิต ตัดยอดหมวกสูงซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาที่อุทิศให้แก่พระเจ้า จากนั้นแบ็กกิตก็ถูกฟันเป็นครั้งที่สองที่ศีรษะ แต่ก็ยังคงยืนอยู่ได้โดยไม่เคลื่อนไหว เมื่อถูกฟันเป็นครั้งที่สาม เบ็คเค็ทก็ทรุดลงบนเข่าและข้อศอก ประทานตนเป็นเครื่องสังเวย และกล่าวด้วยเสียงเบา ๆ ว่า 'ในนามของพระเยซูและการพิทักษ์คริสตจักร ข้าพร้อมที่จะยอมรับความตาย' แต่อัศวินคนที่สามฟันทำให้เกิดแผลฉกรรจ์ขณะที่แบ็กกิตนอนแผ่ การฟันครั้งนี้ทำให้หมวกหลุดออกจากศีรษะของแบ็กกิต จนเลือดที่ขาวไปด้วยสมอง และสมองที่แดงไปด้วยเลือด สาดกระจายไปบนพื้นของมหาวิหาร คนที่มาด้วยกันกับอัศวินก็เอาเท้าเหยียบคอของนักบวชผู้ศักดิ์สิทธิ์ และมรณสักขีอันมีค่า....กล่าวต่อผู้อื่นในกลุ่มว่า 'เราไปกันเถิด เจ้าคนนี้คงไม่มีวันที่จะลุกขึ้นมาอีก'[11]
หลังจากการเสียชีวิตของแล้ว นักบวชก็เตรียมร่างของแบ็กกิตเพื่อทำการฝัง จากคำให้การของพยานบางคนกล่าวว่าแบ็กกิตสวมเสื้อซิลิสซึ่งเป็นเสื้อชั้นในที่ทำด้วยขนสัตว์ภายใต้เสื้อประจำตัวอาร์ชบิชอปเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงการชดใช้บาป[12] หลังจากนั้นไม่นาน ผู้มีความศรัทธาจากทั่วยุโรปก็เริ่มเดินทางมาสักการะแบ็กกิตในฐานะมรณสักขี และในปี ค.ศ. 1173 — เพียงไม่ถึงสามปีหลังจากการเสียชีวิต — แบ็กกิตก็ได้รับการประกาศเป็นนักบุญโดยสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ที่โบสถ์นักบุญเปโตรที่เซญีในอิตาลี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ค.ศ. 1174 ท่ามกลางการปฏิวัติ ค.ศ. 1173-1174 สมเด็จพระเจ้าเฮนรีก็ทรงปวรณาพระองค์เพื่อแสดงความสำนึกผิดที่ที่บรรจุศพของแบ็กกิต
ผู้ลอบสังหารแบ็กกิตหนีไปทางตอนเหนือไปยังปราสาทแนร์สโบโรห์ที่เป็นของฮิวจ์เดอมอร์วิลล์ ลอร์ดแห่งเวสต์มอร์แลนด์ ไปอยู่ที่นั่นราวปีหนึ่ง[13] เดอมอร์วิลล์มีที่ดินอยู่ที่คัมเบรีย ซึ่งอาจจะใช้เป็นที่พักก่อนที่จะหนีกันไปอยู่ในราชอาณาจักรสกอตแลนด์ อัศวินทั้งสี่มิได้ถูกจับกุมหรือมิได้ถูกริบทรัพย์ แต่ก็มิได้ให้ความช่วยเหลือเมื่อได้รับการร้องของมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1171 สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3 ทรงประกาศการตัดขาดจากศาสนาต่อบุคคลทั้งสี่ แต่ทั้งสี่คนเดินทางไปยังกรุงโรมเพื่อที่จะทำการขอขมา สมเด็จพระสันตะปาปาจึงมีพระบัญชาให้ไปเป็นอัศวินทำการพิทักษ์แผ่นดินศักดิ์สิทธิ์เป็นเวลาสิบสี่ปี[14]
ในปี ค.ศ. 1220 ซากของแบ็กกิตก็ถูกย้ายจากที่บรรจุเดิมไปยังที่ตั้งใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จในชาเปลทรินิตี และตั้งอยู่ที่นั่นจนกระทั่งมาถูกทำลายในปี ค.ศ. 1538 ในช่วงเวลาเดียวกับการยุบอารามตามพระราชโองการของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 นอกจากนั้นแล้วพระองค์ก็ยังมีพระราชโองการให้ทำลายกระดูกของแบ็กกิต และทำหลายหลักฐานทุกอย่างที่อ้างถึงแบ็กกิตด้วย[15] พื้นที่เดิมเป็นที่ตั้งของโบสถ์น้อยในปัจจุบันมีเทียนจุดเป็นเครื่องหมาย อาร์ชบิชอปในปัจจุบันฉลองศีลมหาสนิท ณ จุดนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่การเป้นมรณสักขีของแบ็กกิตและการย้ายจากที่บรรจุเดิมไปยังที่ตั้งใหม่
ระเบียงภาพ
[แก้]-
“เครื่องหมายนักแสวงบุญ”
ของนักบุญทอมัส
ราวคริสต์ศตวรรษที่ 13 -
“นักบุญทอมัสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 3”
อะลาบาสเทอร์น็อตติงแฮมที่
พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียและอัลเบิร์ต -
หน้าต่างประดับกระจกสี
นักบุญทอมัส
มหาวิหารแคนเทอร์เบอรี -
แท่นบูชาแสดงตำแหน่งที่
นักบุญทอมัสถูกสังหาร
มหาวิหารแคนเทอร์เบอรี
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Catholic Encyclopedia: St. Thomas Becket
- ↑ Michael Walsh, ed. "Butler's Lives of the Saints." (HarperCollins Publishers: New York, 1991), p. 430.
- ↑ Barlow (1986: 11–12))
- ↑ 4.0 4.1 Barlow, Frank (2004). Oxford Dictionary of National Biography. Oxford University Press.
- ↑ Staunton (2006: 29)
- ↑ Hutton, William Holden (1910). Thomas Becket – Archbishop of Canterbury. London: Pitman and Sons Ltd. p. 4. ISBN 1409788083.
- ↑ Knowles, Elizabeth M. (1999). "Henry II". Oxford Dictionary of Quotations (5 ed.). New York: Oxford University Press. p. 370. ISBN 9780198601739.
- ↑ Schama, Simon (2002). A history of Britain: at the edge of the world? : 3000 BC-AD 1603. London: BBC Books. p. 142. ISBN 0563384972.
- ↑ Edward Grim, Vita Sancti Thomae, quoted in Robertson, James Craigie (1876). Materials for the history of Thomas Becket, archbishop of Canterbury. Vol. ii. London: Longman.
- ↑ 10.0 10.1 Stanley, Arthur Penrhyn (1855). Historical Memorials of Canterbury. London: John Murray. pp. 53 et sec.
- ↑ This Sceptred Isle 55BC – 1901 (1997) p.73 Christopher Lee
- ↑ Grim, Benedict of Peterborough and William FitzStephen are quoted in Douglas, David C. (1953). English Historical Documents 1042–1189. Vol. 2 (Second, 1981 ed.). London: Routledge. p. 821.
{{cite book}}
: ไม่รู้จักพารามิเตอร์|coauthors=
ถูกละเว้น แนะนำ (|author=
) (help) - ↑ Their stay is the subject of the 1999 play Four Knights in Knaresborough by Paul Corcoran
- ↑ Barlow, Frank (1986). "From death unto life". Thomas Becket (2000 ed.). Berkeley, CA: University of California Press. pp. 257–258. ISBN 1842124277.
- ↑ The Martyrdom of Saint Thomas Becket, Getty Museum
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ นักบุญทอมัส แบ็กกิต