ข้ามไปเนื้อหา

ทองใส ทับถนน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทองใส ทับถนน
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
เสียชีวิต20 มีนาคม พ.ศ. 2567 (76 ปี)
คู่สมรสประมวล ทับถนน
บุตร3 คน
อาชีพนักแต่งเพลง , นักดนตรี , นักแสดง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2513 – พ.ศ. 2567
ผลงานเด่นประยุกต์พิณไฟฟ้าคนแรกของประเทศไทย

ทองใส ทับถนน (14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 – 20 มีนาคม พ.ศ. 2567) ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีพื้นบ้าน (พิณ) ปี พ.ศ. 2555 เป็นนักดนตรี และนักแสดงและนักแต่งเพลงชาวไทยที่มีชื่อเสียง และอดีตสมาชิกวงเพชรพิณทอง

ประวัติ

[แก้]

ทองใส ทับถนน เกิดเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่บ้านหนองกินเพล ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของนายปิ่น ทับถนน กับนางหนู ทับถนน ผู้เป็นบิดานั้นมีความสามารถโดดเด่นด้านหมอลำพื้นบ้าน และการแสดงหนังบักตื้อ (หนังปราโมทัย) และนายปิ่น ทับถนนยังเป็นลูกศิษย์ของหมอลำทองคำ เพ็งดี ผู้มีชื่อเสียงด้านลำกลอนในสมัยนั้น

ทองใส ทับถนน เป็นบุตร คนที่ 1 และเป็นบุตรชายคนแรก และมีน้องร่วมกัน 5 คน เป็นชาย 2 คน เป็นหญิง 3 ได้แก่

  1. นายทองใส ทับถนน
  2. นายหอมไกร ทับถนน
  3. นางบุญซอม แผนคําลา
  4. นางถนอมศรี คูณคําผา
  5. นายพิทักษ์ ทับถนน (เสียชีวิตแล้ว)
  6. นางเพ็ญพรรณ ทับถนน

ทองใส ทับถนน เริ่มฝึกดีดพิณเมื่ออายุ 4 ปี โดยมีครูบุญ บ้านท่างอย อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้ฝึกสอนการดีดพิณเป็นคนแรก จนอายุได้ 8 ปี จึงได้เล่นพิณประกอบคณะหมอลำของนายปิ่น ทับถนน ผู้เป็นพ่อ จากนั้นจึงได้เรียนรู้ลายพิณโบราณกับครูบุญชู โนนแก้ว แห่งบ้านโนนสังข์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ศิลปินมือพิณพื้นบ้านตาพิการ  เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงได้ตระเวนเล่นดนตรีกับคณะหมอลำปิ่น ทับถนนเรื่อยมา[1]

พ.ศ. 2511 เมื่ออายุได้ 21 ปี ได้เข้าประจำการเป็นทหารเกณฑ์ที่กองพันทหารปืนใหญ่ ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จึงได้มีโอกาสเป็นนักดนตรีวงดนตรีสากลประจำกองพันทหารปืนใหญ่  ได้นำพิณมาประยุกต์กับดนตรีสากลสมัยใหม่ และเรียนรู้การเล่นดนตรีตามแบบสากลนับแต่นั้นเป็นต้นมา สมรสกับนางประมวล ทับถนน (สกุลเดิมจันไตร) มีบุตรธิดา 3 คน ได้แก่

  1. นางพิณทอง มณีเนตร
  2. พระสีแพร ทับถนน
  3. นางรัตน์นรี มณีเนตร

ทองใส ทับถนน เสียชีวิตจากโรคประจําตัวเบาหวานและความโลหิตสูงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 04.53 ที่บ้านเลขที่ 163 หมู่ที่ 8 บ้านหนองกินเพล ตําบลหนองกินเพล อําเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สิริอายุ 76 ปี[2]

คุณวุฒิ

[แก้]

เข้าสู่วงการ

[แก้]

หลังพ้นเกณฑ์ทหารในปี พ.ส. 2513 ครูทองใส ทับถนนจึงกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดและได้สมัครเข้าเป็นนักดนตรีคณะ ลูกทุ่งอีสาน ของนายนพดล ดวงพร  ภายใต้ฉายา ทองใส หัวนาค ทั้งนี้เพราะมีพิณแกะสลักเป็นรูปพญานาคเป็นเครื่องดนตรีคู่กาย

พ.ศ. 2514 นพดล ดวงพร ได้รับเชิญให้นำวงดนตรีลูกทุ่งอีสานประยุกต์ไปแสดงถวายหน้าพระที่ประทับที่เขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ครูนพดล ดวงพร ร่วมกับครูทองใส ทับถนน ได้ถวายพิณแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระองค์ทรงตรัสว่า  “เพชรนี้เป็นเพชรน้ำเอก” ของเครื่องดนตรีอีสาน ยังความปลื้มปิติแก่นพดล ดวงพร และชาวคณะเป็นอย่างมาก จึงได้เปลี่ยนชื่อวงดนตรี ลูกทุ่งอีสาน พิณประยุกต์ มาเป็นวง  เพชรพิณทอง  ซึ่งถือว่าเป็นนามมงคลอันเกิดจากการถวายพิณในครั้งนั้น

ต่อมาได้นำเอาคอนแทรกไฟฟ้ามาประกอบกับพิณ และถือว่าเป็นพิณไฟฟ้าตัวแรกของเมืองไทย และได้เล่นดนตรีกับวงดนตรีเพชรพิณทอง ตลอดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2514 จนได้ยุติวง

รางวัลศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีพื้นบ้าน (พิณ) พ.ศ. 2555 ที่สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ผลงานแสดงภาพยนตร์

[แก้]
  • YOUR MUSIC (2558)

รางวัลและการเชิดชูเกียรติ

[แก้]
  • พ.ศ. 2543 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นศิลปินดีเด่นสาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีอีสาน) จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2544 ได้รับประกาศเกียรติคุณผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมวัฒนธรรมดีเด่น จากสำนักพัฒนาการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เขตการศึกษา 10
  • พ.ศ. 2545 ได้รับการคัดเลือกให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย ด้านศิลปกรรม (ดนตรีพื้นบ้าน-พิณอีสาน) รุ่นที่ 2 ปี พ.ศ. 2545[3]
  • วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2547 ได้รับรางวัลสุดยอดศิลปินอีสาน ประเภทพิณอีสาน เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • พ.ศ. 2555 ได้รับรางวัลศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ดนตรีพื้นบ้าน (พิณ) พ.ศ. 2555 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น[4]
  • พ.ศ. 2556 ได้รับรางวัลสุกรีเจริญสุข ผู้ทำดีความดีเพื่อสังคม สาขาการส่งเสริมดนตรี
  • พ.ศ. 2558 ได้รับยกย่องเชิดชูเป็นมูนมังเมืองอุบลราชธานี สาขาศิลปะการแสดง[5]
  • พ.ศ. 2562 ได้รับรางวัลพระธาตุนาดูนทองคำ ประจำปี 2562 ประเภทบุคคลดีเด่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

ผลงาน

[แก้]

มีมากกว่า 50 ชุด อาทิ

  • ชุดปู่ป๋าหลาน
  • ชุดลำเพลินโบราณ
  • ชุดแข่งเรือยาว
  • ชุดบุญกัณฑ์หลอน
  • ชุดแห่บุญผะเหวด

อ้างอิง

[แก้]
  1. บุคคลที่มีชื่อเสียงของจังหวัดอุบลราชธานี[ลิงก์เสีย]
  2. "สิ้น "ทองใส ทับถนน" ศิลปินมรดกอีสาน อดีตสมาชิกวงเพชรพิณทอง". www.thairath.co.th. 2024-03-20.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-06-04. สืบค้นเมื่อ 2019-06-04.
  4. ทองใส ทับถนน (ดนตรีพื้นบ้าน พิณ)
  5. "ทองใส ทับถนน พ่อครูพิณ ศิลปินพื้นบ้านอีสาน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-06. สืบค้นเมื่อ 2019-06-04.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ เป็นกรณีพิเศษ, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๒๐ ข หน้า ๑๐, ๑ ธันวาคม ๒๕๔๖

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]