ข้ามไปเนื้อหา

ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

รองศาสตราจารย์ ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย (เกิด 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2509) เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ สาขาฟิสิกส์พอลิเมอร์ ประจำปี พ.ศ. 2543 เป็นผู้เชี่ยวชาญการวิจัยด้านพอลิเมอร์ โดยเฉพาะเส้นใยพอลิเอทิลีนความแข็งแรงสูง และการผลิตวัสดุคอมพอสิทจากเส้นใยนี้ รวมทั้งมีผลงานการประดิษฐ์คิดค้น ต้นแบบเกราะกันกระสุนที่พัฒนาเส้นใยพอลิเอทิลีนจากวัตถุดิบภายในประเทศ

การศึกษา

[แก้]

รศ.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย หรือ รศ.ดร.ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย จบปริญญาตรี สาขาเคมีอุตสาหกรรม จากคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์พอลิเมอร์ จากมหาวิทยาลัยลีดส์ Leeds ประเทศอังกฤษ

การทำงาน

[แก้]

ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

งานวิจัย

[แก้]

งานวิจัยของ รศ.ดร. ทวีชัย อมรศักดิ์ชัย เกี่ยวข้องกับเส้นใยพอลิเอทิลีนที่มีการจัดเรียงตัวสูง (highly oriented polyethylene) ซึ่งเตรียมได้จากการยืดพอลิเอทิลีนที่อุณหภูมิสูง ให้มีความยาวเป็นหลายสิบเท่าของความยาวเริ่มต้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีมอดูลัสและความแข็งแรงเพิ่มขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว โดยได้ศึกษาทั้งในด้านพื้นฐานและประยุกต์ ได้แก่ การศึกษาอิทธิพลของส่วนที่เป็นอสัณฐาน ต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีในพอลิเอทิลีนที่มีการจัดเรียงตัวสูง และพบว่าส่วนอสัณฐานที่มีการจัดเรียงตัว (oriented amorphous) มีความต้านทานต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมีสูง และในการศึกษาเดียวกันยังพบด้วยว่า ปฏิกิริยาการกราฟต์ด้วยไวนิลมอนอเมอร์ สามารถเกิดขึ้นภายในเส้นใยได้ จากมอนอเมอร์ ที่แพร่เข้าไปในส่วนอสัณฐานของเส้นใย ซึ่งได้มีการประยุกต์ความรู้ที่ได้ในการปรับปรุงสมบัติด้านความทนต่อแรงกดของเส้นใยพอลิเอทิลีน

งานวิจัยมุ่งเน้นการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างที่เกิดขึ้นระหว่างการยืดพอลิเอทิลีน จากการศึกษาเบี้องต้นพบว่า พอลิเอทิลีนที่ผ่านการยืด มีโครงสร้างที่สัมพันธ์กับโครงสร้างเริ่มต้นแม้ว่าจะถูกยืดออกไปหลายเท่าก็ตาม หรืออาจเรียกได้ว่า พอลิเอทิลีนที่ผ่านการยืดสามารถจำโครงสร้างเริ่มต้นได้ และยังพบอีกว่า พอลิเอทิลีนที่ผ่านการยืดอาจเกิดตำหนิ (defect) ที่มีโครงสร้างเฉพาะ นอกจากนี้แล้ว ยังได้ศึกษาการปรับสภาพผิวของเส้นใยพอลิเอทิลีนเพื่อให้เหมาะสมต่อการประยุกต์ในงานวัสดุคอมพอสิท

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๗, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๒๗ ข หน้า ๑๖, ๓ ธันวาคม ๒๕๕๗
  2. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ประจำปี ๒๕๕๒, เล่ม ๑๒๖ ตอนที่ ๑๖ ข หน้า ๔๖, ๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
  3. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๑๓๘ ตอนพิเศษ ๓ ข หน้า ๙๙, ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔