ข้ามไปเนื้อหา

ถั่วผี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถั่วผี
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: พืช (Plantae)
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Fabales
วงศ์: Fabaceae
สกุล: Macroptilium
สปีชีส์: M.  lathyroides
ชื่อทวินาม
Macroptilium lathyroides
(L.) Urb.[1]

ถั่วผี (ชื่อวิทยาศาสตร์: Macroptilium lathyroides (L.) Urb.) เป็นไม้ล้มลุกและ เป็นพืชฤดูเดียว (annual) เมล็ดแก่ร่วงแล้วงอกเป็นต้นใหม่ในฤดูฝนต่อไป ทรงต้นเป็นกอพุ่มตั้งปลายยอดทอดอ่อนเล็กน้อย ตามลำต้นมีขน ลำต้นกลม ใบประกอบมีใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยรูปไข่แกมรูปหอก ดอกช่อแบบติดดอกสลับ ก้านดอกสั้น ดอกแดงปนม่วง ฝักรูปทรงกระบอก ภายในมีเมล็ด 18-30 เมล็ด แตกได้ เมล็ดรูปขอบขนาน หรือสี่เหลี่ยม[2]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

[แก้]

ต้น

[แก้]

ความสูงของต้น 109.91- 136.73 เซนติเมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางลำต้น 4.0- 8.3 มิลลิเมตร ลำต้นเหนียวและกลวงสีเขียวเข้ม ผิวลำต้นเป็นเส้นตามยาวมีขนสีน้ำตาลยาวประมาณ 2 มิลลิเมตรปกคลุมหนาแน่น ลูบจะสากมือ

ใบ

[แก้]

ใบมี 3 ใบย่อย มีก้านใบ (pinnately trifoliate) ใบย่อยเป็นแบบรูปใบหอกแกมขอบขนาน (oblong lanceolate) และมีแบบรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดปะปน (rhomboidal) โคนใบสอบเป็นรูปเกือบสามเหลี่ยม แผ่นใบเรียว ปลายใบแหลม (acute) ปลายใบมีติ่งหนามสั้น (macronate) ใบบนยาว 6.7- 6.8 เซนติเมตร กว้าง 3.1- 3.5 เซนติเมตร ใบคู่ข้างยาว 5.6- 6.2 เซนติเมตร กว้าง 2.8- 2.9 เซนติเมตร เส้นกลางใบ (mid rib) ด้านหลังนูนขึ้นเล็กน้อย เส้นใบ (vein) จัดเรียงตัวแบบร่างแห (reticulate) สีใบเขียวเข้ม หน้าใบมีขนสั้นๆ หลังใบมีขนปกคลุมหนาแน่นกว่าหน้าใบ ขอบใบหยักแบบขนครุย (ciliate) ผิวใบค่อนข้างนุ่ม ก้านใบยาว 3.25-5.81 เซนติเมตรมีขนคลุมปานกลาง หูใบ (stipule) เป็นแบบหนาม (spinous) สีเขียวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร โคนใบพองออกเล็กน้อย

ดอก

[แก้]

ออกดอกช่วงเดือนเมษายน - ธันวาคม ดอกออกที่ซอกใบแบบช่อกระจะ (raceme) ช่อดอกรวม (inflorescence) ยาว 17.31- 25.25 เซนติเมตร ดอกเดี่ยวรูปดอกถั่วยาว 2.8- 3 เซนติเมตร กลีบดอกสีแดงเลือดหมู (crimson) ดอกออกจากจุดเดียวกันเป็นคู่ๆบนแกนช่อดอกรวม โคนดอกมีกลีบรองดอกรูปกรวยส่วนปลายสีแดงเข้มแยกเป็น 5 หยัก ส่วนโคนสีอ่อนกว่า

ฝัก

[แก้]

รูปฝักกลมมีรอยคอดตื้นๆ ฝักยาว 4.29- 7.5 เซนติเมตร กว้าง 0.26- 0.3 เซนติเมตร มี 4-6 ฝักต่อช่อ ในหนึ่งฝักมี 3-12

เมล็ด

[แก้]

เมล็ดรูปทรงกระบอกปลายตัดสีน้ำตาลดำ ฝักแก่แตกเป็นสองซีก

ต้นถั่วผี
ใบต้นถั่วผี

แหล่งที่พบและเก็บรวบรวมพันธุ์

[แก้]

พบขึ้นอยู่ทั่วไปในพื้นที่ว่างเปล่า ริมคูน้ำ คันนา สภาพดินเหนียว ดินเหนียวปนลูกรังและดินร่วนปนเหนียว พื้นที่มีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 31 เมตร เช่น เขตพื้นที่ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง เขื่อนลำแซะ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี (PC 029, PC 063, PC 069, PC 080, PC 248, SN 079, SN 106)

คุณค่าทางอาหาร

[แก้]

ต้นถั่วระยะมีดอก อายุประมาณ 50 วัน มีค่า โปรตีน 17.52 เปอร์เซ็นต์ เยื่อใยส่วน ADF 36.07 เปอร์เซ็นต์ NDF 48.22 เปอร์เซ็นต์ เฮมิเซลลูโลส 9.28 เปอร์เซ็นต์ เซลลูโลส 27.04 เปอร์เซ็นต์ ลิกนิน 9.01 เปอร์เซ็นต์ แทนนิน 0.49 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียม 1.71 เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัส 0.40 เปอร์เซ็นต์ โปแตสเซียม 1.60 เปอร์เซ็นต์ มีค่าการย่อยได้ของวัตถุแห้ง (DMD) 46.59 เปอร์เซ็นต์ (โดยวิธี Nylon bag Technique)

การใช้ประโยชน์

[แก้]

เป็นแหล่งอาหารสัตว์ตามธรรมชาติสำหรับแทะเล็มของโค กระบือ

รูปภาพ

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Macroptilium lathyroides ที่วิกิสปีชีส์