ข้ามไปเนื้อหา

ถนนที่เก็บค่าผ่านทาง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ด่านเก็บค่าผ่านทางบนทางหลวงรัฐหมายเลข 417 ใกล้กับนครออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นถึงวิธีการทั่วไปในการเก็บค่าผ่านทางสองวิธี ได้แก่ ด่านเก็บค่าผ่านทาง (ด้านขวา) และระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (ด้านซ้าย)
ด่านเก็บค่าผ่านทางในสหราชอาณาจักร
ด่านเก็บค่าผ่านทางในฮ่องกง

ถนนที่เก็บค่าผ่านทาง (อังกฤษ: toll road) หรือ ทางเก็บค่าผ่าน (อังกฤษ: toll way) เป็นถนนที่สร้างโดยรัฐบาลหรือเอกชน (ในปัจจุบันมักเป็นถนนประเภททางด่วน) ซึ่งผู้ใช้เส้นทางจำเป็นจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าผ่านทางนี้ทำหน้าที่เปรียบเสมือนกับภาษีที่รัฐจัดเก็บมาจากผู้ใช้ โดยนำไปก่อสร้างหรือทำนุบำรุงถนนที่เก็บค่าผ่านทาง ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องขึ้นภาษีหรือนำภาษีของผู้ที่ไม่ได้ใช้ถนนที่เก็บค่าผ่านทางมาดำเนินงาน

ในประวัติศาสตร์หรือแม้ในปัจจุบัน ถนนที่เก็บค่าผ่านทางบางแห่งเรียกเก็บค่าผ่านทางในรูปของภาษีเพื่อให้รัฐบาลท้องถิ่นหรือขุนนางใช้จ่าย นักลงทุนในพันธบัตรเองก็ลงทุนในรูปของค่าก่อสร้างและค่าบำรุงรักษาถนนที่เก็บค่าผ่านทาง โดยนักลงทุนคาดหวังว่าผลตอบแทนจะคืนแก่พวกเขาในรูปของรายได้จากค่าผ่านทาง หลังจากพันธบัตรถูกชำระคืนแก่นักลงทุนหมดแล้ว ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับถนนที่เก็บค่าผ่านทางทั้งหมดก็ตกกลับไปเป็นของรัฐ โดยรัฐจะตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบดูแลทั้งโครงสร้างถนนที่เก็บค่าผ่านทางและที่ดินที่ถูกใช้สร้างถนนที่เก็บค่าผ่านทาง เช่นเดียวกับภาษีรูปแบบอื่นของรัฐบาล การจัดเก็บค่าผ่านทางจะยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่ารัฐจะชำระพันธบัตรทั้งหมดคืนแก่นักลงทุนไปแล้ว ถนนที่เก็บค่าผ่านทางจะถูกจำกัดทางเข้าออกอย่างเป็นระบบเพื่อป้องกันผู้ที่ไม่ได้จ่ายค่าผ่านทางลักลอบใช้เส้นทาง บางครั้งการสร้างถนนที่เก็บค่าผ่านทางก็เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ต้องการจะเดินทางจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดที่ไกลกว่าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือบางครั้งก็เพื่อที่จะบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดและเพิ่มความรวดเร็วแก่ผู้เดินทางที่สามารถจะจ่ายค่าผ่านทางได้ ถนนที่เก็บค่าผ่านทางบางแห่งอาจมีเพียงแค่ช่องจราจรเดียวหรือหลายช่องตามการออกแบบ และผู้ใช้ถนนที่เก็บค่าผ่านทางจำเป็นจะต้องเสียค่าผ่านทางไม่วิธีใดก็วิธีหนึ่ง ซึ่งระบบถนนที่เก็บค่าผ่านทางนี้ไม่เคยอนุญาตให้ผู้ใช้ทางรายใดผ่านทางโดยไม่เสียค่าธรรมเนียมอย่างเด็ดขาด โดยปกติแล้ว ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างถนนที่เก็บค่าผ่านทางถูกจ่ายในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่มจากเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ ในขณะที่ผู้ใช้ทางเองก็ยังต้องเสียค่าผ่านทางเป็นการเพิ่มเติมอีกด้วย

ค่าธรรมเนียมหรือค่าผ่านทางโดยปกติจะแตกต่างกันไปตามรูปแบบของยานพาหนะ น้ำหนัก หรือจำนวนเพลา ค่าธรรมเนียมเหล่านี้จะถูกเรียกเก็บด้วยมือจากแรงงานมนุษย์ ณ ด่านเก็บค่าผ่านทาง ด่านบางแห่งไม่ได้ใช้แรงงานมนุษย์ในการจัดเก็บ โดยจะเชื่อมโยงกับจำนวนเงินหรือแต้มของผู้ผ่านทางรายนั้น ซึ่งระบบจะอนุญาตให้เข้าใช้ทางได้หากเงินหรือแต้มของผู้ผ่านทางรายนั้นเพียงพอกับค่าผ่านทาง เพื่อลดต้นทุนและเวลาที่ใช้ ณ ด่านเก็บค่าผ่านทาง ระบบถนนที่เก็บค่าผ่านทางบางแห่งจึงใช้การเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติหรือการเก็บค่าผ่านทางด้วยอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะติดตั้งระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่พาหนะของผู้ใช้ทางและที่ด่านเก็บค่าผ่านทาง อีกทั้งบางแห่งยังใช้ระบบจ่ายค่าธรรมเนียมก่อนใช้ทางที่เรียกเก็บจากบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ บางแห่งใช้การติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดเพื่อถ่ายใบหน้าและทะเบียนพาหนะของผู้ใช้ทางที่ไม่จ่ายค่าธรรมเนียม แล้วจึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าปรับในรูปของใบชำระหนี้

หนึ่งในข้อวิจารณ์เกี่ยวกับระบบถนนที่เก็บค่าผ่านทางนี้คือการที่ผู้ใช้ทางจำเป็นจะต้องชะลอความเร็วแล้วหยุด ณ ด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งจะทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง อีกทั้งการสูญเสียรายได้ให้แก่ผู้จัดเก็บค่าผ่านทาง ในบางกรณีอาจสูงถึงเกือบหนึ่งในสามของรายได้ทั้งหมด การใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติจึงช่วยย่นเวลาการจัดเก็บและปัญหารายได้ที่สูญเสียไปกับค่าจ้างการจัดเก็บไปพร้อมกัน อีกประเด็นหนึ่งคือการเสียค่าผ่านทางซ้ำซ้อนจากค่าผ่านทางและภาษีมูลค่าเพิ่มจากเชื้อเพลิง

เพิ่มเติมจากถนนที่เก็บค่าผ่านทางแล้ว หน่วยงานรัฐยังสร้างอุโมงค์ที่เก็บค่าผ่านทาง (toll tunnel) หรือสะพานที่เก็บค่าผ่านทาง (toll bridge) เพื่อหารายได้ไปใช้จ่ายในหนี้ระยะยาวของการก่อสร้างและบำรุงรักษาถนนที่เก็บค่าผ่านทาง ถนนที่เก็บค่าผ่านทางบางแห่งเก็บค่าผ่านทางไปสะสมไว้เป็นฐานะทางการเงินเพื่อที่จะไปใช้ก่อสร้างส่วนต่อขยายในอนาคตของถนน อุโมงค์ สะพาน หรือระบบคมนาคมขนส่งอื่น ๆ บางแห่งนำค่าผ่านทางที่จัดเก็บได้ไปใช้ในรูปของภาษีกับโครงการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวมันถูกห้ามหรือขัดขวางจากรัฐบาลส่วนกลาง บางครั้งใช้เพื่อลดความคับคั่งของการจราจรและลดมลพิษทางอากาศในเขตเมือง เช่น สิงคโปร์[1]

ต้นกำเนิด

[แก้]

ต้นกำเนิดของการจำกัดการผ่านทางย้อนกลับไปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยใช้แนวกำแพงหนามวางขวางถนน หากแต่มีไว้ใช้เพื่อป้องกันการโจมตีอย่างฉับพลันจากคนหรือม้า ต่อมาจึงมีการนำท่อนไม้เหลาให้แหลมคล้ายหอกแล้วนำมาประกอบเป็นแนวป้องกันในแนวนอน จากช่วงยุคกลางถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถนนที่เก็บค่าผ่านทางมากมายถูกสร้างขึ้นในทั่วทุกภาคของสหราชอาณาจักรด้วยพระราชบัญญัติที่ผ่านโดยรัฐสภา ถนนที่เก็บค่าผ่านทางเหล่านี้ถูกดำเนินการโดยบริษัททรัสต์และค่าผ่านทางถูกกำหนดให้ใช้เป็นค่าบำรุงรักษาทาง ซึ่งด่านเก็บค่าผ่านทางก็ใช้แนวป้องกันไม้ปลายแหลมกั้นถนนเช่นในอดีต [2]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Road Pricing Defined". Federal Highway Administration. สืบค้นเมื่อ 2012-05-23.
  2. http://www.worldwidewords.org/qa/qa-tur2.htm