ถนนถลาง
ถนนถลาง เป็นถนนในตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นถนนเชื่อมต่อระหว่างถนนเยาวราช กับถนนมนตรี มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2393[1] ในสมัยพระยาภูเก็ตโลหเกษตรารักษ์ (ทัด) ดํารงตําแหน่งเจ้าเมืองภูเก็ต
ถนนถลางถือเป็นย่านเมืองเก่าของภูเก็ต ในอดีตจะมีผู้คนหลายเชื้อชาติ หลายศาสนา เช่น คนจีน คนอินเดีย คนยุโรป มุสลิม เป็นต้น เข้ามาอาศัยอยู่และประกอบอาชีพค้าขาย และสร้างบ้านเป็นลักษณะตึกแถวในรูปแบบที่เรียกว่าชิโนโปรตุกีสซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากปีนังและสิงคโปร์[2] ตึกแถวที่อยู่บนถนนถลางมีอยู่ทั้งหมด 151 คูหาและประมาณครึ่งหนึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส[3]
อาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีส รูปแบบอาคารมีการสร้างให้ตัวบ้านติดกันและเว้นพื้นที่หน้าบ้านไว้เพื่อเป็นทางเดินเท้าเป็นช่องทางเดินมีหลังคาคลุม ความกว้าง 5 ฟุต เรียกว่า หง่อคาขี่ (arcade) ตัวอาคารสถาปัตยกรรมชิโนโปรตุกีสสร้างขึ้นในสมัยยุคของพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็ต ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[4]
ถนนถลางในปัจจุบันมีร้านค้าจำนวนมาก แต่ละบ้านทาสีสันสดใส ชั้นล่างมีร้านค้ามากมาย ทั้งร้านขายของที่ระลึก คาเฟ่ ร้านอาหาร ที่พัก นักท่องเที่ยวมักมาถ่ายรูปตามจุดต่าง ๆ ทุกวันอาทิตย์จะมีการเปิดขายของบนถนน อาคารบางหลังก็มีประวัติความเป็นมายาวนาน เช่น อาคารไชน่า อินน์ ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่าหนึ่งศตวรรษ และหงวนซุนต๋อง ร้านขายยาสมุนไพรที่เก่าแก่ที่สุดในภูเก็ต เป็นต้น[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ชม ชิม ช็อป เมืองภูเก็ต" (PDF).
- ↑ "ชุมชนย่านเมืองเก่าภูเก็ต". สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต.
- ↑ "ถนนถลาง". เทศบาลนครภูเก็ต.
- ↑ "ความเป็นมาของ "ชิโน-โปรตุกิส" เอกลักษณ์แห่งเคหสถานร่วมสมัยของภูเก็ต". ศิลปวัฒนธรรม.
- ↑ "เดินเพลิน "ย่านเมืองเก่าภูเก็ต" ชมตึกเก่าสุดคลาสสิก ผสานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตคนภูเก็ต". ผู้จัดการออนไลน์.