ถนนจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น
ถนนจังหวัด (ญี่ปุ่น: 都道府県道; โรมาจิ: todōfukendō; ทับศัพท์: โทโดฟูเก็นโด[a]) ในประเทศญี่ปุ่น เป็นถนนที่องค์การปกครองของจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้วางแผน กำหนดหมายเลข และบำรุงรักษา โดยไม่ขึ้นกับจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นคนละประเภทกับถนนแห่งชาติหรือทางหลวงแผ่นดิน (国道, kokudō) ซึ่งในทางกฎหมายรวมถึงทางด่วนแห่งชาติ (高速自動車国道, kōsoku jidōsha kokudō) ด้วย และคนละประเภทกับถนนเทศบาล (市町村道, shichōsondō) ในกรณีที่ถนนแห่งชาติหรือถนนจังหวัดตัดผ่านพื้นที่นครใหญ่ที่รัฐกำหนด องค์การปกครองของนครนั้นจะเป็นผู้รับผิดชอบถนนเหล่านี้เป็นบางส่วน ใน ค.ศ. 2011 ความยาวของถนนจังหวัดคิดเป็นร้อยละ 10.7 ของความยาวของถนนสาธารณะทั้งหมดในประเทศญี่ปุ่น และใน ค.ศ. 2007 ถนนจังหวัดรองรับปริมาณการจราจรคิดเป็นร้อยละ 30 ของถนนสาธารณะทั้งหมด[1]
ถนนจังหวัดจะมีป้ายบอกหมายเลขเป็นรูปหกเหลี่ยมสีน้ำเงิน และมีหมายเลขอยู่ตรงกลาง โดยปกติแล้วถนนจังหวัดมักมีจุดเริ่มต้นหรือสิ้นสุดบนถนนจังหวัดสายอื่นหรือบนถนนแห่งชาติ หรือบางครั้งอาจเริ่มต้นหรือสิ้นสุดที่สถานีรถไฟหรือบริเวณใกล้กับสถานีรถไฟ
หมายเลขของถนนจังหวัดจะใช้เพียงครั้งเดียวในแต่ละจังหวัดไม่ว่าถนนจะเริ่มต้นหรือสิ้นสุดที่ใด หากถนนจังหวัดตัดผ่านไปยังจังหวัดอื่น หมายเลขของถนนนั้นอาจจะไม่ได้ถูกนำมาใช้ซ้ำในอีกจังหวัดที่ตัดผ่านเสมอไป แต่ก็มีถนนจังหวัดที่วิ่งผ่านหลายจังหวัดหลายสายที่ใช้หมายเลขเดียวกันในจังหวัดต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น "สายฟูจู–ซางามิฮาระ" (府中相模原線, fuchuu-sagamihara-sen) ซึ่งเชื่อมต่อนครฟูจูในมหานครโตเกียวและนครซางามิฮาระในจังหวัดคานางาวะ เริ่มต้นในฐานะถนนมหานครโตเกียวหมายเลข 20 แต่ไปสิ้นสุดในฐานะถนนจังหวัดคานางาวะหมายเลข 525 ในขณะที่ "สายซาโนะ–โคงะ" (佐野古河線, sano-koga-sen) ซึ่งเชื่อมต่อนครซาโนะในจังหวัดโทจิงิ กับนครโคงะในจังหวัดอิบารากิ ได้รับการกำหนดเป็นถนนจังหวัดหมายเลข 9 ต่อเนื่องกันตลอดทั้ง 4 จังหวัดที่เส้นทางนี้วิ่งผ่าน ได้แก่ จังหวัดโทจิงิ จังหวัดกุมมะ จังหวัดไซตามะ และจังหวัดอิบารากิ
ถนนจังหวัดบางสายก็ใช้เส้นทางร่วมกันกับถนนแห่งชาติเป็นระยะทางสั้น ๆ แต่มักพบการใช้เส้นทางร่วมกันระหว่างถนนจังหวัดด้วยกันเองมากกว่า
ในจังหวัดหนึ่ง ๆ มักจะมีการกำหนดหมายเลขของถนนจังหวัดซ้ำกับหมายเลขของถนนแห่งชาติที่วิ่งผ่านจังหวัดนั้น แต่ถนนแห่งชาติกับถนนจังหวัดที่มีหมายเลขซ้ำกันดังกล่าวนี้แทบจะไม่เคยมาบรรจบหรือตัดกันเลย
ดูเพิ่ม
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ ชื่อเอกพจน์ขึ้นอยู่กับประเภทของจังหวัดนั้น ๆ ได้แก่ โทโด (都道, todō), โดโด (道道, dōdō), ฟูโด (府道, fudō), หรือ เค็นโด (県道, kendō)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ MLIT (Kokudo-kōtsū-shō), Road bureau (dōro-kyoku): Road definition & classification