ข้ามไปเนื้อหา

ตุ่นจมูกดาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตุ่นจมูกดาว
ส่วนใบหน้าของตุ่นจมูกดาว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Soricomorpha
วงศ์: Talpidae
วงศ์ย่อย: Scalopinae
เผ่า: Condylurini
Gill, 1875
สกุล: Condylura
Illiger, 1811
สปีชีส์: C.  cristata
ชื่อทวินาม
Condylura cristata
(Linnaeus, 1758)
ชนิดย่อย
  • C. c. cristata (Linnaeus, 1758)
  • C. c. nigra Smith, 1940
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของตุ่นจมูกดาว

ตุ่นจมูกดาว (อังกฤษ: Star-nosed mole, ชื่อวิทยาศาสตร์: Condylura cristata) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ในอันดับตุ่น (Soricomorpha) จัดเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Condylura แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย (ดูในตาราง)[2]

ตุ่นจมูกดาว มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับตุ่นชนิดอื่น ๆ แต่มีส่วนหางยาว โดยลักษณะเฉพาะตัวที่ดูโดดเด่น คือ เส้นขนที่จมูกที่บานออกเป็นแฉก ๆ คล้ายดาว ซึ่งทำหน้าที่เป็นประสาทสัมผัส 22 เส้นอยู่รอบรูจมูก โดยมีปลายสัมผัสที่เส้นขนเหล่านี้มากมายราวถึงหนึ่งแสนจุด

ตุ่นจมูกดาว อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มชื้นแฉะ ในบริเวณภาคตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือระหว่างแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยพบไปถึงชายฝั่งทะเลในรัฐจอร์เจีย

โตเต็มวัยจะมีความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 55 กรัม มีฟัน 44 ซี่ หากินด้วยการใช้กรงเล็บอันแข็งแรงขุดคุ้ยดินในพื้นที่ชุ่มน้ำหรือตะกอนลำธาร โดยใช้หนวดรอบจมูกคอยสอดส่องหา อันได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก ๆ เช่น แมลงน้ำและตัวอ่อนชนิดต่าง ๆ, สัตว์จำพวกหอยและปลาหมึก เป็นต้น

ซึ่งประสาทสัมผัสรอบจมูกนี้มีความว่องไวมาก ทำให้ตุ่นจมูกดาวสามารถจับเหยื่อเพื่อกินได้ในเวลาเพียง 120 มิลลิวินาทีเท่านั้น

นอกจากนี้แล้ว ตุ่นจมูกดาวยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่สามารถดมกลิ่นใต้น้ำได้อีกด้วย โดยจะใช้หนวดสำรวจหาเหยื่อตามก้นแหล่งน้ำ โดยจะพ่นฟองอากาศออกมาจากรูจมูกหลายครั้ง เพื่อให้โมเลกุลกลิ่นในน้ำผสมกับอากาศ จากนั้นก็ทำการสูดหายใจเอาฟองอากาศกลับเข้าไปอย่างรวดเร็วด้วยความถี่ประมาณ 10 ครั้งต่อวินาทีเพื่อตรวจหากลิ่นของเหยื่อในน้ำ อีกทั้งยังเป็นตุ่นที่มีพฤติกรรมชอบใช้ชีวิตและหากินบนพื้นดินมากกว่าจะขุดโพรงอยู่ใต้ดินเหมือนเช่นตุ่นชนิดอื่น ๆ อีกด้วย[3] [4] [5]

อ้างอิง

[แก้]
  1. จาก IUCN
  2. จาก itis.gov (อังกฤษ)
  3. Hutterer, Rainer (16 November 2005). Wilson, Don E., and Reeder, DeeAnn M.. ed. Mammal Species of the World (3rd ed.). Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2 vols. (2142 pp.). pp. 300–301. ISBN 978-0-8018-8221-0. OCLC 62265494. http://www.bucknell.edu/msw3.
  4. Gould, Edwin; McShea, William; Grand, Theodore (1993). "Function of the Star in the Star-Nosed Mole, Condylura cristata". Journal of Mammalogy (American Society of Mammalogists) 74 (1): 108–116. doi:10.2307/1381909. JSTOR 1381909.
  5. หน้า 37, สัตว์สวยป่างาม โดย ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล (สิงหาคม, 2518)

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Condylura cristata ที่วิกิสปีชีส์