ข้ามไปเนื้อหา

ตำนานแห่งซิลมาริล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ตำนานแห่งซิลมาริล  
ปกหนังสือ ซิลมาริลลิออน ฉบับปี 2550
(ครบรอบ 70 ปี)
ผู้ประพันธ์เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน
ชื่อเรื่องต้นฉบับSilmarillion
ผู้แปลธิดา ธัญญประเสริฐกุล
ศิลปินปกเท็ด แนสมิธ
ประเทศอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ
ชุดปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ
ประเภทนวนิยายแฟนตาซี
สำนักพิมพ์สหราชอาณาจักร สำนักพิมพ์อัลเลนแอนด์อันวิน
วันที่พิมพ์สหราชอาณาจักร พ.ศ. 2520

ตำนานแห่งซิลมาริล (อังกฤษ: The Silmarillion) นิยายจินตนิมิต แต่งโดย เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (ผู้แต่งเรื่อง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์) เริ่มประพันธ์โครงเรื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 1917 และมีการเขียนเพิ่มเติมมาโดยตลอด จนเมื่อ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน สิ้นชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1973 วรรณกรรมเรื่องนี้ก็ยังเขียนไม่เสร็จ และยังไม่ได้รับการตีพิมพ์

คริสโตเฟอร์ โทลคีน บุตรชายคนที่สามของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ได้สานต่องานประพันธ์ของพ่อ โดยรวบรวมงานเขียนที่ยังคั่งค้างอยู่ ทั้งส่วนที่เขียนรายละเอียดแล้ว และส่วนที่มีเพียงแนวคิด โครงเรื่อง มาประพันธ์ต่อจนสำเร็จสมบูรณ์ เดอะ ซิลมาริลลิออน จึงได้ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1977

เนื้อหาในตำนานแห่งซิลมาริล เกี่ยวกับตำนานการสร้างโลก และเหตุการณ์ในยุคที่หนึ่งและยุคที่สองของโลกอาร์ดา ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลายพันปีก่อนถึงยุคสมัยในเรื่อง เดอะฮอบบิท และ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ซึ่งอยู่ในยุคที่สาม

ภาพรวมของเรื่อง

[แก้]

ตำนานแห่งซิลมาริล ประกอบด้วยเนื้อเรื่องห้าส่วน ดังนี้

  1. ไอนูลินดาเล (Ainulindalë) มหาคีตาแห่งไอนัวร์ : เล่าถึงตำนานการสร้างโลก
  2. วาลาเควนตา (Valaquenta) ตำนานแห่งวาลาร์ : เล่าถึงเหล่าวาลาร์ และ ไมอาร์ ซึ่งเป็นบรรดาชนศักดิ์สิทธิ์ (คือ ไอนัวร์)
  3. เควนตา ซิลมาริลลิออน (Quenta Silmarillion) ตำนานแห่งซิลมาริล : ประวัติศาสตร์ตั้งแต่กำเนิดสิ่งมีชีวิตจนถึงสิ้นสุดยุคที่หนึ่ง เป็นเนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้
  4. อคัลลาเบธ (Akallabêth) ชื่อนี้หมายถึง การล่มสลายของนูเมนอร์ : ว่าด้วยเรื่องราวการก่อตั้งเกาะนูเมนอร์ไปจนถึงกาลสิ้นสุดของเกาะ เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงยุคที่สอง
  5. ว่าด้วยแหวนแห่งอำนาจ และยุคที่สาม (Of the Rings of Power and the Third Age) เรื่องของการสร้างแหวน และเหตุการณ์ของยุคที่สาม ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในเรื่องเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์

ที่จริงแล้วเรื่องทั้ง 5 ชุดนี้ โทลคีนได้แต่งแยกกันเป็นหลายชิ้นหลายเรื่องย่อย มิใช่เป็นเรื่องเดียวต่อเนื่องกัน และยังมีการปรับปรุงแก้ไขแต่ละเรื่องย่อยเป็นหลาย ๆ เวอร์ชัน แต่ลูกชายของเขา คริสโตเฟอร์ ได้นำมาเรียบเรียงใหม่ โดยคัดเลือกเอาเวอร์ชันที่สอดคล้องกันมากที่สุดมารวมไว้ (ไม่ใช่เวอร์ชันล่าสุดที่โทลคีนแต่งไว้ก่อนเสียชีวิต) แล้วใช้ชื่อบทที่มีเนื้อหามากที่สุด คือ เควนตา ซิลมาริลลิออน (Quenta Silmarillion) หรือ ตำนานแห่งซิลมาริล มาเป็นชื่อของเรื่องที่เขาได้เรียบเรียงขึ้นมาใหม่

เนื้อเรื่องย่อยแต่ละชิ้น และแต่ละเวอร์ชันที่โทลคีนผู้พ่อแต่งไว้ โดยเฉพาะเวอร์ชันล่าสุดก่อนเสียชีวิต คริสโตเฟอร์ โทลคีนผู้ลูก ได้รวบรวมไว้ในหนังสือ Unfinished Tales และหนังสือชุด ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ (The History of Middle Earth) ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ 12 เล่ม

โครงเรื่อง

[แก้]

ไอนูลินดาเล และวาลาเควนตา

[แก้]

ไอนูลินดาเล เป็นเนื้อหาส่วนแรกของหนังสือ ตำนานแห่งซิลมาริล เล่าถึงเหตุการณ์การสร้างโลกในลักษณะตำนาน กล่าวคือ อิลูวาทาร์ ("พระบิดาแห่งสรรพสิ่ง") ทรงสร้างไอนัวร์ขึ้นก่อนทุกสิ่ง เป็นดวงจิตที่ถือกำเนิดขึ้นจากดำริ หรือความคิดของพระองค์เอง จากนั้นอิลูวาทาร์ทรงแสดงดนตรีให้เหล่าไอนัวร์ชม แล้วโปรดให้พวกเขาบรรเลงดนตรีให้พระองค์ฟังบ้าง การบรรเลงดนตรีของเหล่าไอนัวร์นี้เรียกว่า "มหาคีตาแห่งไอนัวร์" (คำแปลของ ไอนูลินดาเล) ในระหว่างการบรรเลงนั้น เมลคอร์ ไอนัวร์องค์หนึ่งคิดอยากบรรเลงตามใจตัวเอง ทำให้เสียงดนตรีเพี้ยนผิดพลาดไปหมดจนล่มลง แต่องค์อิลูวาทาร์ทรงสำแดงฤทธิ์เป็นเสียงดนตรีไม่สิ้นสุด แล้วจากนั้นจึงแสดงภาพของโลกอาร์ดา ให้เหล่าไอนัวร์ได้เห็น โลกอาร์ดานั้นคือสิ่งที่บังเกิดขึ้นจากการบรรเลงดนตรีนั่นเอง

จากนั้นอิลูวาทาร์จึงสร้าง เออา หรือโลกอาร์ดาขึ้นให้เป็นจริง แล้วโปรดให้เหล่าไอนัวร์ที่ทรงพลังอำนาจ ลงไปสถิตอยู่ในโลกนั้น เพื่อสร้างโลกให้เป็นไปตามที่พวกเขาได้บรรเลงบทเพลงเอาไว้ เหล่าไอนัวร์ที่ลงมาในโลก กลุ่มที่มีฤทธิ์มากเรียกว่า วาลาร์ กลุ่มที่มีฤทธิ์รองลงมา เรียกว่า ไมอาร์ พวกเขาทั้งหมดพากันสร้างโลกให้พร้อมรอรับการมาถึงของเหล่าบุตรแห่งอิลูวาทาร์ โดยที่มีเมลคอร์คอยขัดขวางการก่อสร้างอยู่ตลอด

บท วาลาเควนตา เป็นเนื้อหาส่วนที่สองของหนังสือ กล่าวถึงรายละเอียดของวาลาร์ทั้ง 14 พระองค์ และรายละเอียดของไมอาร์องค์สำคัญบางองค์ สุดท้ายกล่าวถึงเทพอสูรเมลคอร์ คือไอนัวร์ที่จิตใจหันไปสู่ความชั่วร้าย กับบรรดาไมอาร์ที่ยอมเป็นสมุนของเขา เช่นเซารอน และบัลร็อก

เควนตา ซิลมาริลลิออน

[แก้]

คำว่า เควนตา (quenta) หมายถึง ตำนาน ส่วน ซิลมาริลลิออน (silmarillion) ประกอบจากคำว่า silmarilli และ -on โดยที่ silmarilli หมายถึง silmarils (คือรูปพหูพจน์ของ silmaril) ส่วน -on หมายถึง of the (ว่าด้วย) ดังนั้น Quenta Silmarillion จึงหมายถึง ตำนานว่าด้วยเรื่องของดวงมณีซิลมาริล

ซิลมาริล (หรือซิลมาริลลิในรูปพหูพจน์) คือดวงมณีสามดวงที่เฟอานอร์ เจ้าชายเอลฟ์ ชาวโนลดอร์ ประดิษฐ์ขึ้น แต่ถูกมอร์กอธขโมยไปหลังจากสังหารกษัตริย์ฟินเว บิดาของเฟอานอร์ เฟอานอร์กับโอรสทั้งเจ็ดและชาวโนลดอร์จึงติดตามไล่ล่าเพื่อล้างแค้น เรื่องราวส่วนใหญ่ในตอนนี้จะเกี่ยวกับการทำสงครามของพวกเอลฟ์กับมอร์กอธในแผ่นดินเบเลริอันด์ เพื่อชิงซิลมาริลกลับคืน

เควนตา ซิลมาริลลิออน ประกอบด้วยเนื้อเรื่อง 24 บท ในจำนวนนี้ เรื่องที่ถือว่าเป็นเอกในตำนานซิลมาริลลิออน ได้แก่

อคัลลาเบธ

[แก้]

เนื้อหาส่วนนี้กล่าวถึงการกำเนิดและการล่มสลายของอาณาจักรมนุษย์ชาวนูเมนอร์ ซึ่งเป็นเกาะแห่งหนึ่งกลางมหาสมุทรใหญ่ที่เหล่าวาลาร์สร้างประทานให้เป็นของรางวัลแก่ชาวมนุษย์สามตระกูลที่เป็นสหายเอลฟ์ และได้ช่วยเหลือการศึกต่อต้านเมลคอร์มาโดยตลอด อาณาจักรนูเมนอร์ต้องล่มสลายลงก็ด้วยความเจ้าเล่ห์ของไมอาผู้ชั่วร้ายชื่อ เซารอน ซึ่งเคยเป็นสมุนมือขวาของเมลคอร์มาก่อน เซารอนสร้างสมอำนาจของตนขึ้นใหม่ในยุคที่สอง หมายจะครองมิดเดิลเอิร์ธทั้งหมด แต่ชาวนูเมนอร์ยกทัพมาปราบปรามลงได้ เมื่อเซารอนไม่สามารถเอาชนะชาวนูเมนอร์ด้วยกำลัง เขาจึงแสร้งเป็นยอมจำนนและให้ชาวนูเมนอร์จับตัวไปเป็นเชลย เซารอนหาทางเข้าไปใกล้ชิดกษัตริย์ อาร์-ฟาราโซน แล้วทำให้พระองค์หลงเชื่อคำยุยงจนตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าที่ปรึกษา และเหิมเกริมถึงขนาดคิดยกทัพไปต่อสู้กับเหล่าวาลาร์เพื่อช่วงชิงความเป็นอมตะ ครั้นเมื่อทัพเรือของอาร์-ฟาราโซนยกไปถึงแผ่นดินอามัน อิลูวาทาร์ก็บันดาลให้มหาสมุทรใหญ่แยกเป็นเหวลึก ดูดเอาเกาะนูเมนอร์และกองเรือทั้งหมดจมหายไปในห้วงอเวจี ทว่าดวงจิตของเซารอนสามารถหนีรอดกลับมายังแผ่นดินมิดเดิลเอิร์ธได้ และชาวนูเมนอร์จำนวนหนึ่งที่ยังคงภักดีต่อวาลาร์และอิลูวาทาร์ ก็หนีรอดมายังมิดเดิลเอิร์ธได้เช่นกัน

ว่าด้วยแหวนแห่งอำนาจและยุคที่สาม

[แก้]

เนื้อหาส่วนสุดท้ายของหนังสือเป็นบทสรุปเหตุการณ์ในวงล้อประวัติศาสตร์โลกอาร์ดาของโทลคีน กล่าวถึงการปรากฏตัวของจอมมารเซารอน ที่เรืองอำนาจขึ้นมาแทนที่ เมลคอร์ นายเก่าของตน เซารอนสร้างแหวนแห่งอำนาจขึ้น และก่อสงครามกับศัตรูเก่า คือเหล่าเอลฟ์และมนุษย์ผู้เป็นสหายเอลฟ์ (ชาวนูเมนอร์) จนกระทั่งถึงสงครามแห่งพันธมิตรครั้งสุดท้ายซึ่งเป็นอันสิ้นสุดยุคที่สอง

จากนั้นเล่าถึงเหตุการณ์ในยุคที่สามที่เกี่ยวข้องกับแหวนแห่งอำนาจของเซารอน การกำเนิดสภาขาว การรุ่งเรืองและเสื่อมสลายของอาณาจักรกอนดอร์ ไปจนถึงการสูญสิ้นอำนาจของเซารอนในปลายยุคที่สาม เนื้อหาในส่วนนี้เพียง 1 ย่อหน้า ขยายเป็นเหตุการณ์ทั้งหมดที่ปรากฏในเรื่อง "เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์" ว่าด้วยความพยายามทำลายแหวนเอกของเซารอน โดยชาวเพเรียนนัธ (ฮอบบิท) ตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่ไม่มีชื่อปรากฏในประวัติศาสตร์

เบื้องหลังการประพันธ์และการตีพิมพ์

[แก้]

โทลคีนเริ่มต้นงานเขียนนิยายที่ต่อมากลายมาเป็น "ซิลมาริลลิออน" ตั้งแต่ ค.ศ. 1914[1] โดยที่เขาตั้งใจจะให้เป็นตำนานปรัมปราของประเทศอังกฤษ เพื่ออธิบายถึงกำเนิดเรื่องราวในประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม[1] เนื้อหาส่วนมากเขียนขึ้นขณะที่โทลคีนพำนักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหลังจากถูกส่งตัวกลับจากสมรภูมิแนวหน้าในฝรั่งเศสระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเนื่องจากป่วยเป็นไข้กลับ เขาเขียนนิยายเรื่องแรก คือ การล่มสลายของกอนโดลิน สำเร็จลงในราวปลายปี ค.ศ. 1916[1]

ในตอนนั้นเขาตั้งชื่อให้ชุดงานเขียนของเขาว่า The Book of Lost Tales (ประมวลตำนานอันสาบสูญ) [2] ซึ่งในเวลาต่อมาชื่อนี้ได้กลายเป็นชื่อหนังสือสองเล่มแรกในชุดหนังสือประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ เรื่องราวใน The Book of Lost Tales เป็นเรื่องที่เล่าผ่านนักเดินเรือคนหนึ่งชื่อว่า เอริโอล (ในเวอร์ชันหลัง ๆ ชื่อนี้เปลี่ยนไปเป็น อัลฟ์วีน (Ælfwine) ) ซึ่งล่องเรือไปจนกระทั่งได้พบกับเกาะโทลเอเรสเซอา พวกเอลฟ์ที่บนเกาะนั้นได้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ของพวกเขาให้เอริโอลฟัง อย่างไรก็ดีโทลคีนแต่ง The Book of Lost Tales ยังไม่จบ เขาหันไปแต่งกวีนิพนธ์ชุด "The Lay of Leithian" (ลำนำแห่งเลย์ธิอัน) และ "The Lay of the Children of Húrin" (ตำนานบุตรแห่งฮูริน) แทน[2]

ซิลมาริลลิออนฉบับแรกสุดที่เขียนจบสมบูรณ์เป็น 'โครงร่างปกรณัม' เขียนในปี ค.ศ. 1926[3] โครงร่างปกรณัมนี้มี 28 หน้า เป็นการอธิบายพื้นหลังของตำนานว่าด้วยเรื่องของ ทูริน ทูรัมบาร์ ให้แก่ อาร์.ดับเบิลยู. เรย์โนลด์ เพื่อนคนหนึ่งของโทลคีนที่เขาส่งต้นฉบับหลายเรื่องไปให้ดู[3] จาก 'โครงร่างปกรณัม' นี้ โทลคีนได้พัฒนาปรับปรุงงานเขียนเชิงบรรยายเพิ่มเติมขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นชุดที่มีชื่อว่า เควนตา โนลโดรินวา ซึ่งเป็นงานเขียน ซิลมาริลลิออน ที่สมบูรณ์ที่สุดของโทลคีน[4]

เมื่อถึง ค.ศ. 1937 โทลคีนประสบความสำเร็จอย่างมากในการตีพิมพ์ เดอะฮอบบิท เขาจึงส่งต้นฉบับ ซิลมาริลลิออน ที่ได้พัฒนาเพิ่มเติมยิ่งขึ้นไปให้สำนักพิมพ์ของเขา คือ สำนักพิมพ์อัลเลนแอนด์อันวิน แต่สำนักพิมพ์ปฏิเสธการพิมพ์โดยบอกว่าเนื้อเรื่องหม่นหมองเกินไปและยังมีความเป็น "เคลต์" มากเกินไป[5] สำนักพิมพ์ขอให้โทลคีนเขียนภาคต่อของ เดอะฮอบบิท แทน โทลคีนปรับปรุง ซิลมาริลลิออน เพิ่มเติมอีก แต่ไม่นานเขาก็ยอมเขียนภาคต่อของ เดอะฮอบบิท คือ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ซึ่งเป็นงานที่กินเวลาและความสนใจของเขาไปแทบทั้งหมด หลังจากเขียน เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ จบ เขาจึงหันมาให้ความสนใจแก้ไข ซิลมาริลลิออน อีกครั้ง[6] โทลคีนปรารถนาอย่างยิ่งจะให้สำนักพิมพ์ตีพิมพ์ทั้ง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ และ ซิลมาริลลิออน เป็นงานเขียนชุดต่อเนื่องกัน[7] แต่สำนักพิมพ์ไม่เห็นด้วย ในที่สุดเมื่อรู้แน่ว่าจะไม่ได้พิมพ์ ซิลมาริลลิออน โทลคีนจึงหันไปปรับปรุง เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ให้สมบูรณ์สำหรับการตีพิมพ์[8]

ปลายคริสต์ทศวรรษ 1950 โทลคีนหันมาปรับปรุงงานเขียนชุด ซิลมาริลลิออน อีกครั้ง งานเขียนในคราวนี้โดยมากเป็นเรื่องราวทำนองเทววิทยาและปรัชญาซึ่งเป็นพื้นฐานของเรื่องมากกว่าจะเป็นงานพรรณนาแบบนิยาย ในระหว่างเวลานี้เขามีข้อสงสัยเกี่ยวกับแนวคิดหลักของเนื้อเรื่อง ทำให้เขาย้อนไปปรับปรุงงานเขียนเวอร์ชันแรก ๆ โทลคีนรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องปรับปรุงและแก้ไขข้อขัดแย้งบางอย่างเสียก่อนจึงจะเขียนนวนิยายฉบับสมบูรณ์ได้[6] ในช่วงนี้เขาจึงประพันธ์เรื่องราวเกี่ยวกับความชั่วร้ายในอาร์ดา กำเนิดของออร์ค วัฒนธรรมของพวกเอลฟ์ ความหมายเกี่ยวกับการ "เกิดใหม่" ของพวกเอลฟ์ แนวคิดเรื่องโลกแบน และตำนานเกี่ยวกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์[6] ตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ โทลคีนบรรจงแต่งเติมงานประพันธ์ชุดนี้โดยมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ เพียงหนึ่งหรือสองเรื่องเท่านั้น[6]

การตีพิมพ์หลังเสียชีวิต

[แก้]

หลังจากโทลคีนเสียชีวิตไปแล้วหลายปี คริสโตเฟอร์ โทลคีน บุตรชายของเขาจึงได้นำงานเขียนร้อยแก้วของ ซิลมาริลลิออน มาเรียบเรียงขึ้นใหม่ ด้วยความตั้งใจจะใช้บทประพันธ์ชุดล่าที่สุดที่โทลคีนผู้พ่อได้เขียนเอาไว้ แต่คัดเลือกเนื้อหาที่สอดคล้องรับส่งต่อเนื่องกันทั้งภายในเรื่องชุดนี้และสอดคล้องกับ เดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ด้วย[9] แม้ว่าตัวเขาเองก็สารภาพเอาไว้ในบทนำของหนังสือว่า การจะทำให้สอดคล้องกันทั้งหมดแทบจะเป็นไปไม่ได้ ในหนังสือชุด ประวัติศาสตร์มิดเดิลเอิร์ธ คริสโตเฟอร์ โทลคีน ได้นำงานเขียนต้นฉบับจำนวนมากมารวบรวมเอาไว้พร้อมคำอธิบายเพิ่มเติมของเขา เพื่อชี้แจงว่าเขาเลือกใช้ต้นฉบับใดมาเป็นชุดเรียบเรียง และเพราะเหตุใด โดยในหนังสือชุดนี้มีต้นฉบับเก่าแก่ที่สุดย้อนไปถึงปี ค.ศ. 1917 คือต้นฉบับ Book of Lost Tales ที่เก่าแก่ที่สุด ใน เควนตา ซิลมาริลลิออน บทท้าย ๆ คือเรื่อง "การล่มสลายของโดริอัธ" เป็นต้นฉบับส่วนที่โทลคีนไม่ได้ปรับปรุงแก้ไขเลยตั้งแต่ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ดังนั้นคริสโตเฟอร์ จึงต้องเรียบเรียงความเรียงร้อยแก้วจำนวนหนึ่งขึ้นมาใหม่จากต้นฉบับที่กระจัดกระจายเป็นส่วน ๆ [10] จนกระทั่งได้ต้นฉบับที่เสร็จสมบูรณ์ทั้งเนื้อเรื่อง ผังตระกูล แผนที่ ดรรชนีคำ รวมถึงรายการชื่อในภาษาเอลฟ์ชุดแรกที่สุดที่เคยจัดทำขึ้น ตีพิมพ์เป็นเล่มเมื่อปี ค.ศ. 1977

กระแสตอบรับ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

ยุคสมัย

[แก้]

นิยายที่เกี่ยวข้อง

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 ฮัมฟรีย์ คาร์เพนเตอร์, ed. (1981), The Letters of J. R. R. Tolkien, บอสตัน: Houghton Mifflin, ISBN 0-395-31555-7
  2. 2.0 2.1 เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (1984), คริสโตเฟอร์ โทลคีน, เรียบเรียง, The Book of Lost Tales, บอสตัน: Houghton Mifflin, ISBN 0-395-35439-0
  3. 3.0 3.1 Tolkien, J. R. R. (1985), Christopher Tolkien, ed., The Lays of Beleriand, Boston: Houghton Mifflin, ISBN 0-395-39429-5
  4. Tolkien, J. R. R. (1986), Christopher Tolkien, ed., The Shaping of Middle-earth, Boston: Houghton Mifflin, Preface, ISBN 0-395-42501-8
  5. ฮัมฟรีย์ คาร์เพนเตอร์, จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 19
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Tolkien, J. R. R. (1993), Christopher Tolkien, ed., Morgoth's Ring, บอสตัน: Houghton Mifflin, Foreword, ISBN 0-395-68092-1
  7. ฮัมฟรีย์ คาร์เพนเตอร์, จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 124
  8. ฮัมฟรีย์ คาร์เพนเตอร์, จดหมายของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ฉบับที่ 133
  9. เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (1980), คริสโตเฟอร์ โทลคีน, เรียบเรียง, Unfinished Tales, บอสตัน: Houghton Mifflin, Introduction, ISBN 0-395-29917-9
  10. เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (1994), คริสโตเฟอร์ โทลคีน, เรียบเรียง, The War of the Jewels, บอสตัน: Houghton Mifflin, Part Three, Chapter V "The Tale of Years", ISBN 0-395-71041-3

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]