ข้ามไปเนื้อหา

ตัวรับโดปามีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โดปามีน

ตัวรับโดปามีน (อังกฤษ: dopamine receptor) สารสื่อประสาทโดปามีนออกฤทธิ์ผ่านตัวรับโดปามีนซึ่งเป็นตัวรับที่จับอยู่กับโปรตีนจี ในยุคแรกๆ ได้แบ่งตัวรับโดปามีนออกเป็น 2 กลุ่มหลักโดยใช้ความสามารถในการกระตุ้นหรือยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อดีนิลิล ไซเคลส (adenylyl cyclase) เป็นเกณฑ์ในการจัดกลุ่มซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น กลุ่มตัวรับโดปามีน 1 และ กลุ่มตัวรับโดปามีน 2

กลุ่มตัวรับโดปามีน 1 (dopamine 1 - like receptors)

[แก้]

กลุ่มตัวรับโดปามีน 1 ได้แก่ตัวรับโดปามีน 1 และตัวรับโดปามีน 5 ซึ่งสามารถกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์อดีนิลิล ไซเคลสทำให้ผลิตไซคลิกอะดีโนซีนมอนอฟอสเฟต หรือ ไซคลิกเอเอ็มพี (cyclic-adenosine monophosphate; cAMP) เพิ่มมากขึ้น ตัวรับโดปามีน 1 พบได้ที่สมองส่วนดอร์ซาลสไตรตัม (dorsal striatum) หรือที่เรียกว่าคอร์เดตและปูตาเมน (caudate-putamen), นิวเคียสแอคคิวเบน (nucleus accubens), ออลแฟกทอรี ทูเบอเคิล (olfactory tubercle), ซี รีบราลคอร์เท็กส์ (cerebral cortex) และ อมิกดาลา (amygdala) ตัวรับโดปามีน 5 พบได้ที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus), แลเทอราล แมมมิลลิลารี นิวเคลียส (lateral mammillary nucleus) และพาราฟาสสิคิวลาร์ นิวเคลียส (parafascicular nucleus) ในสมองส่วนธาลามัส (thalamus)

กลุ่มตัวรับโดปามีน 2 (dopamine 2 - like receptors)

[แก้]

สำหรับกลุ่มตัวรับโดปามีน 2 ได้แก่ ตัวรับโดปามีน 2 ตัวรับโดปามีน 3 และตัวรับโดปามีน 4 ซึ่งเมื่อถูกกระตุ้นจะให้ผลยับยั้งการทำงานของเอนไซม์อดีนิลิล ไซเคลสทำให้ผลิตไซคลิกเอเอ็มพีลดน้อยลง ตัวรับโดปามีน 2 พบได้ที่สมองส่วนดอร์ซาลสไตรตัม, ออลแฟกทอรี ทูเบอเคิล , นิวเคียสแอคคิวเบน, สับสแตนเชีย ไนกรา พา คอมแพคตา (substantia nigra pars compacta) และเวนทราล เทกเมนทาล แอเรีย (ventral tegmental area) นอกจากนี้ตัวรับโดปามีน 2 ยังพบได้ในอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ ดวงตาชั้นเรตินา, ไต, ระบบไหลเวียนเลือด และต่อมพิทูอิตารี (pituitary gland) ตัวรับโดปามีน 3 พบได้ที่สมองส่วนเกาะของแคลเลจา (islands of Calleja),ไฮโปธาลามัส (hypothalamus), ธาลามัส และซีรีเบลลัม (cerebellum) และตัวรับโดปามีน 4 พบได้ที่สมองส่วนหน้าฟรอนทาล คอร์เทกส์ frontal cortex, อมิกดาลา (amygdala),ออลแฟกตอรีบัลบ์ (olfactory bulb), ฮิปโปแคมปัส , ไฮโปธาลามัส และมีเซนเซฟาลอน (mesenchephalon)