ข้ามไปเนื้อหา

ตัวช่วยอย่างง่ายเท่าที่หาได้

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตัวช่วยอย่างง่ายเท่าที่หาได้[1] หรือ ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่าย (ของข้อมูล) หรือ ฮิวริสติกโดยความพร้อมใช้งาน[2] (อังกฤษ: availability heuristic) เป็นทางลัดการแก้ปัญหา (ฮิวริสติก หรืออาจใช้คำว่าศึกษาสำนึกแทนคำว่าฮิวริสติกในกรณีที่ต้องการใช้คำไทย) โดยอาศัยตัวอย่างต่าง ๆ ที่นึกขึ้นได้เป็นอย่างแรก วิธีแก้ปัญหาชนิดนี้อาศัยไอเดียว่า ถ้าเราสามารถระลึกถึงอะไรได้ง่าย ๆ สิ่งนั้นจะต้องมีความสำคัญ และเพราะเหตุนั้น เรามักจะให้น้ำหนักกับข้อมูลที่ใหม่ที่สุด ทำให้มีความคิดเห็นเอนเอียงไปทางข่าวล่าสุด[3]

นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่เรานึกได้เกี่ยวกับผลของการกระทำหนึ่ง ๆ จะมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกเกี่ยวกับความสำคัญของผลนั้น ๆ กล่าวอีกอย่างก็คือ ผลของการกระทำยิ่งระลึกถึงได้ง่ายแค่ไหน เราก็จะรู้สึกว่าผลนั้นมีความสำคัญยิ่งขึ้นเท่านั้น คือ เราไม่ได้เพียงแค่พิจารณาถึงข้อมูลที่ระลึกได้เมื่อทำการตัดสินใจ แต่เรายังใช้ความยากง่ายในการนึกถึงสิ่งนั้นเป็นข้อมูลอีกอย่างหนึ่งในการตัดสินใจ ซึ่งมีผลเด่นที่สุดอย่างหนึ่งคือ เราจะใช้ข้อมูลที่ระลึกได้ในการตัดสินใจถ้าข้อมูลนั้นไม่ได้ทำให้เกิดความน่าสงสัยเพราะยากที่จะระลึกถึง[4]

มีหลักวิธีแก้ปัญหา 3 อย่างที่เราใช้เมื่อไม่แน่ใจ ซึ่งช่วยลดความซับซ้อนในการประเมินความน่าจะเป็นหรือในการพยากรณ์ผล โดยใช้กระบวนการตัดสินใจที่ง่ายกว่า (ฮิวริสติก) คือ

  1. ความเป็นตัวแทนที่ดี ใช้เมื่อต้องตัดสินความน่าจะเป็นว่าวัตถุหรือเหตุการณ์ ก เป็นแบบหนึ่งหรือเป็นกระบวนการหนึ่งของ ข หรือไม่
  2. ความเข้าถึงได้ง่ายของตัวอย่างและสถานการณ์ (บทความนี้) ใช้เมื่อต้องประเมินความชุกของสิ่ง ๆ หนึ่ง หรือความเป็นไปได้ว่าเหตุการณ์หนึ่งจะเกิดขึ้น
  3. การปรับใช้ค่าที่มีอยู่ ใช้เมื่อต้องตัดสินค่าตัวเลขเมื่อรู้จักค่าที่อาจจะเข้าประเด็นกันค่าหนึ่ง[5]

แม้ว่า การแก้ปัญหาโดยความเข้าถึงได้ง่ายของตัวอย่างและสถานการณ์บางครั้งจะได้ผลดี แต่ว่าจริง ๆ แล้ว ความง่ายต่อการคิดถึงเหตุการณ์หนึ่ง ๆ ไม่ได้เป็นตัวสะท้อนที่ดีว่าเหตุการณ์นี้มีความน่าจะเป็นจริง ๆ ในชีวิตเท่าไร[6] ยกตัวอย่างเช่น ถ้าถามนักศึกษามหาวิทยาลัยว่า มีนักศึกษามาจากจังหวัดเลยหรือจังหวัดตากมากกว่ากัน คำตอบก็มักจะอาศัยข้อมูลตัวอย่างที่นักศึกษาจะระลึกได้[7] (แต่อาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง)

สาระสำคัญและประวัติ

[แก้]

เมื่อต้องตัดสินความน่าจะเป็นหรือความชุกของสิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งเป็นงานที่ยาก เรามักจะใช้กลยุทธ์ต่าง ๆ จำนวนหนึ่งที่เรียกว่า ฮิวริสติก เพื่อที่จะทำให้การตัดสินใจนั้นง่ายขึ้น กลยุทธ์อย่างหนึ่งก็คือฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งเป็นความโน้มน้าวที่จะตัดสินความชุกของเหตุการณ์หนึ่ง ๆ โดยอาศัยว่าง่ายเท่าไรในการที่จะระลึกถึงตัวอย่างเหตุการณ์คล้าย ๆ กัน[6] ในปี ค.ศ. 1973 อะมอส ทเวอร์สกี้ และแดเนียล คาฮ์นะมัน เริ่มการศึกษาปรากฏการณ์เช่นนี้และบัญญัติคำว่า "Availability Heuristic" ซึ่งเป็นกระบวนการใต้สำนึก (คือไม่ได้อยู่ใต้อำนาจจิตใจ) ที่ทำงานโดยหลักว่า "ถ้าสามารถนึกถึงได้ จะต้องเป็นสิ่งสำคัญ"[6] กล่าวอีกอย่างก็คือ ยิ่งง่ายเท่าไรที่จะคิดถึงตัวอย่าง ความรู้สึกว่าสิ่งนี้เกิดบ่อยก็จะมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เรามักจะใช้ลักษณะหรือข้อมูลที่คิดถึงได้ง่าย ๆ เป็นฐานในการตัดสินใจในเรื่องอื่น ๆ ที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องกันน้อย[8]

ในการทดลองที่ตรวจสอบปรากฏการณ์นี้ ทเวอร์สกี้และคาฮ์นะมันให้ผู้ร่วมการทดลองศึกษารายชื่อ 4 รายการ คือ สองรายการมีชื่อของหญิงมีชื่อเสียง 19 คน และชายมีชื่อเสียงน้อยกว่า 20 คน และสองรายการมีชื่อของชายมีชื่อเสียง 19 คนและหญิงมีชื่อเสียงน้อยกว่า 20 คน มีการให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มแรกระลึกถึงชื่อให้มากที่สุดที่จะจำได้ และให้ผู้ร่วมการทดลองกลุ่มที่สองประเมินว่า มีชื่อผู้หญิงหรือผู้ชายมากกว่ากันในรายการ ผลปรากฏว่า ในกลุ่มแรก มีผู้ร่วมการทดลองถึง 57% ที่ระลึกถึงชื่อที่มีชื่อเสียงได้มากกว่า ในกลุ่มที่สอง ผู้ร่วมการทดลองถึง 80% ทำการประเมินผิดพลาดว่า มีชื่อผู้ชายหรือผู้หญิงมากกว่า คือถ้ารายการมีหญิงมีชื่อเสียง 19 คนและมีชายมีชื่อเสียงน้อยกว่า 20 คน ผู้ร่วมการทดลองก็จะประเมินผิด ๆ ว่า มีชื่อของผู้หญิงมากกว่า และในนัยตรงกันข้ามก็เช่นกัน แม้ว่า ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายอาจจะเป็นกลยุทธ์แก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพในสถานการณ์หลายอย่าง แต่ว่าเมื่อจะต้องตัดสินความน่าจะเป็น การแก้ปัญหาโดยวิธีนี้อาจนำไปสู่ความผิดพลาดอย่างเป็นระบบ[6]

งานวิจัย

[แก้]

ในงานวิจัยปี ค.ศ. 1991 ของชวอร์ซ และคณะ มีการถามผู้ร่วมการทดลองให้กล่าวถึงตัวอย่างพฤติกรรมที่แสดงความมั่นใจ (assertive) และความไม่มั่นใจ (unassertive), หรือโดยนัยตรงกันข้ามกัน หลังจากนั้น ก็จะถามผู้ร่วมการทดลองว่าตนเองเป็นคนมีบุคคลิกมั่นใจหรือไม่มั่นใจ ผลการทดลองแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองบอกว่าตนเองมีความไม่มั่นใจหลังจากกล่าวถึงพฤติกรรมไม่มั่นใจ 6 อย่าง มากว่าเมื่อต้องกล่าวถึงพฤติกรรม 12 อย่าง (ซึ่งทำได้ยากกว่า) คือจะกล่าวว่าตนเองเป็นคนมั่นใจมากกว่าถ้าต้องกล่าวถึงพฤติกรรมไม่มั่นใจ 12 อย่าง แม้ในการถามถึงพฤติกรรมโดยนัยตรงกันข้าม คือให้กล่าวถึงตัวอย่างพฤติกรรมความมั่นใจ ก็มีนัยเดียวกัน ผลงานทดลองนี้แสดงว่า ข้อสรุป (หรือการตัดสินใจ) อาศัยความรู้หรือข้อมูลที่เรามี (เช่นสรุปว่าเราเป็นคนมั่นใจหรือไม่มั่นใจ) นั้น จะได้รับอิทธิพลจากความยากง่ายในการระลึกถึงความรู้หรือข้อมูลนั้น[9]

ในงานวิจัย ปี ค.ศ. 1973 มีการถามผู้ร่วมการทดลองว่า "ถ้าเอาคำศัพท์มาจากหนังสืออังกฤษโดยสุ่ม มีโอกาสมากกว่าที่คำนั้น ๆ จะเริ่มด้วยอักษร K หรือว่ามีอักษร K เป็นอักษรที่สามของคำ" คนพูดอังกฤษได้จะสามารถนึกถึงคำต่าง ๆ มากมายที่เริ่มด้วย "K" (เช่น kangaroo, kitchen, kale) แต่ว่า ต้องอาศัยความพยายามมากกว่าในการคิดถึงคำหนึ่ง ๆ ที่มีอักษร "K" เป็นตัวที่สาม (เช่น acknowledge, ask) ผลงานวิจัยแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองประเมินความน่าจะเป็นของคำที่เริ่มต้นด้วย K เกินความจริง และประเมินคำที่มี K เป็นอักษรตัวที่สามต่ำเกินไป นักวิจัยสรุปว่า คนเราตอบคำถามเช่นนี้ด้วยการเปรียบเทียบความน่าจะเป็นของสิ่งของหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ โดยประเมินว่า สามารถระลึกถึงตัวอย่างต่าง ๆ ได้ง่ายขนาดไหน กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เพราะว่า การคิดถึงคำที่เริ่มต้นด้วยตัว K ง่ายกว่าที่จะคิดถึงคำที่มี K เป็นอักษรที่สาม ดังนั้น เราจึงตัดสินใจว่าคำที่เริ่มต้นด้วย K เป็นคำที่มีมากกว่า แต่จริง ๆ แล้ว ปรากฏว่า หนังสือโดยทั่ว ๆ ไปมีคำที่มี K เป็นอักษรที่สามมากกว่าคำที่เริ่มต้นด้วย K ถึงสามเท่า[6]

ในปี ค.ศ. 1967 แช็ปแมนได้พรรณนาถึงความเอนเอียงในการตัดสินความชุกของเหตุการณ์ 2 อย่างที่เกิดขึ้นด้วยกัน ซึ่งแสดงว่า การมีสิ่งเร้าสองอย่างเกิดขึ้นด้วยกันมีผลให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินความชุกของการเกิดขึ้นด้วยกันมากเกินไป[10] คือ มีการให้ข้อมูลสมมุติเกี่ยวกับคนไข้โรคจิตหลายคน โดยที่ข้อมูลของคนไข้แต่ละคนจะมีการวินิจฉัยทางคลินิกและรูปที่วาดโดยคนไข้ หลังจากนั้น ก็ให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินความชุกของข้อวินิจฉัยแต่ละอย่างที่มาด้วยกันกับลักษณะต่าง ๆ ของรูปวาด (เช่นความขี้ระแวงของคนไข้และรูปตาที่แปลก ๆ) ผู้ร่วมการทดลองทำการประเมินถึงความชุกของการเกิดขึ้นด้วยกันมากเกินไป ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่แช็ปแมนได้เรียกว่า illusory correlation (สหสัมพันธ์ลวง) ทเวอร์สกี้และคาฮ์นะมันเสนอว่า ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายเป็นคำอธิบายโดยธรรมชาติของปรากฏการณ์สหสัมพันธ์ลวง กำลังของความสัมพันธ์ระหว่างสองเหตุการณ์ (ที่เป็นอัตวิสัย) สามารถใช้เป็นฐานในการตัดสินใจว่าเหตุการณ์สองอย่างนี้เกิดขึ้นด้วยกันบ่อยครั้งแค่ไหนเป็นอย่างดี คือ เมื่อมีความสัมพันธ์ (โดยอัตวิสัย) ที่มีกำลัง ก็จะมีโอกาสสูงขึ้นที่จะสรุปว่า เหตุการณ์สองอย่างนี้เกิดขึ้นด้วยกันบ่อย ๆ[6]

ในงานวิจัยปี ค.ศ. 1992 มีการเปลี่ยนอารมณ์เพื่อดูผลต่อฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่าย คือมีการให้ผู้ร่วมการทดลองอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดอารมณ์เศร้า หรือมีความสุข ผู้ที่มีอารมณ์เศร้าสามารถระลึกถึงความจำได้ดีกว่าผู้ที่มีความสุข ซึ่งแสดงว่ากำลังของปรากฏการณ์นี้สามารถเปลี่ยนไปได้ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง[11]

ตัวอย่าง

[แก้]
  • ชายคนหนึ่งอ้างกับเพื่อนว่า คนที่ขับรถสีแดงได้รับใบสั่งขับรถเร็วบ่อยกว่า เพื่อน ๆ ของเขาเห็นด้วยเพราะว่า มีคนในกลุ่มนั้นที่ขับรถสีแดงและได้รับใบสั่งเหตุขับรถเร็วบ่อย ๆ แต่ความจริงอาจจะเป็นว่า เพราะว่าขับรถเร็ว ก็เลยได้รับใบสั่ง ไม่ว่าจะขับรถสีอะไร และถึงแม้ว่า จะมีสถิติจริง ๆ ที่แสดงว่ามีการให้ใบสั่งเพราะขับรถเร็วกับคนที่ขับรถสีแดงน้อยกว่าสีอื่น ๆ แต่ว่า ตัวอย่างของเพื่อนคนนั้นเป็นตัวอย่างพร้อมใช้งาน คือระลึกถึงได้ง่าย และดังนั้นก็จะทำให้คำกล่าวนั้นฟังน่าเชื่อถือกว่า[12]
  • เมื่อเรื่องเล่าเรื่องเดียว (เช่น "ผมรู้จักคนหนึ่งที่ ...") ใช้เป็นข้อพิสูจน์ประเด็นใดประเด็นหนึ่งหรือเพื่อสนับสนุนความคิดที่มีความเอนเอียง จะมีการใช้ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายปะปนอยู่ด้วย ในกรณีนี้ ความง่ายในการคิดถึงตัวอย่าง หรือความแจ่มชัดและอิทธิพลทางอารมณ์ของตัวอย่างนั้น ทำให้ตัวอย่างนั้นกลายเป็นเรื่องที่น่าเชื่อถือมากกว่าความน่าจะเป็นจริง ๆ ทางสถิติเสียอีก และเพราะว่า ตัวอย่างนั้นคิดถึงได้ง่าย คือเป็นตัวอย่างพร้อมใช้งาน เราจึงพิจารณาตัวอย่างเดียวนั้นเหมือนกับเป็นตัวแทนเรื่องนั้นทั้งหมด แทนที่จะเป็นเพียงแค่ตัวอย่างตัวอย่างเดียวในบรรดาข้อมูลทั้งหมดที่มี (ดูเรื่องการใช้ตัวอย่างเดียวเป็นหลักฐานใน "หลักฐานโดยเรื่องเล่า")[6] ตัวอย่างหนึ่งก็คือบุคคลหนึ่งอ้างว่า การสูบบุหรี่ไม่ได้ทำให้สุขภาพเสีย เพราะว่าคุณปู่ของเขาสูบบุหรี่วันละสามซองทุกวันและมีชีวิตถึง 100 ปี แต่จริง ๆ แล้ว คุณปู่ของเขาอาจจะเป็นข้อยกเว้นหนึ่งในประเด็นปัญหาสุขภาพเนื่องจากสูบบุหรี่[13]
  • บุคคลหนึ่งเห็นข่าวหลายเรื่องเกี่ยวกับแมวที่กระโดดจากต้นไม้สูงแต่ไม่ตาย ดังนั้นเขาจึงเชื่อว่าแมวนั้นไม่มีปัญหาในการตกลงจากที่สูง แต่ว่า จริง ๆ แล้ว ข่าวที่รายงานเช่นนี้อาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นน้อยกว่าที่แมวตกลงมาแล้วตาย[6]
  • คนที่เริ่มรับหนังสือพิมพ์ทุกวันอาจจะเปรียบเทียบจำนวนหนังสือพิมพ์ที่นำมาส่งกับจำนวนที่ไม่ได้นำมาส่ง เพื่อคำนวณความล้มเหลวในการส่งหนังสือพิมพ์ ในกรณีเช่นนี้ การคำนวณนั้นจะขึ้นอยู่กับเรื่องที่จำได้ แต่ว่า การนึกถึงเหตุการณ์ที่มีการส่งและไม่มีการส่งในช่วงระยะเวลายาวให้ได้ทั้งหมด เป็นเรื่องยาก[14]
  • หลังจากที่เห็นข่าวหลายเรื่องเกี่ยวกับธนาคารเข้ายึดบ้าน เราอาจจะตัดสินใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าความจริง ซึ่งอาจจะเป็นความจริงเพียงแค่ว่า เป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะนึกถึงเหตุการณ์เหล่านี้[6]

ในชีวิตจริง

[แก้]

สื่อ

[แก้]

หลังจากที่เห็นข่าวหลายเรื่องเกี่ยวกับการลักพาตัวเด็ก เราอาจจะตัดสินใจว่า เรื่องอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อยกว่าความเป็นจริง คือ สื่อสามารถช่วยทำให้เรามีคิดที่มีความเอนเอียงเพิ่มขึ้น โดยทำเหตุการณ์ที่ไม่ทั่วไปให้เป็นข่าวแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง เช่นเรื่องฆาตกรรม อุบัติเหตุเครื่องบิน และไม่ทำเรื่องที่ปกติทั่วไปแต่ไม่เร้าใจให้เป็นข่าว เช่นโรคที่สามัญและอุบัติเหตุรถยนต์ต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อถามถึงความน่าจะเป็นของเหตุต่าง ๆ ของการเสียชีวิต เรามักจะกล่าวถึงเหตุน่าสนใจพอที่จะเป็นข่าวได้ว่าเป็นไปได้มากกว่า เพราะว่า เราสามารถระลึกถึงตัวอย่างเหล่านั้นได้ดีกว่า นอกจากนั้นแล้ว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อยแต่ชัดเจนเช่น ฆาตกรรม การถูกฉลามทำร้าย หรือการถูกฟ้าผ่ามักจะรับการรายงานในสื่อ (ฝรั่ง) มากกว่าเหตุของความตายต่าง ๆ ที่สามัญแต่ไม่เร้าใจเช่นโรคสามัญธรรมดา ๆ[15]

ยกตัวอย่างเช่น หลายคนคิดว่ามีโอกาสที่จะตายเพราะถูกฉลามทำร้ายมากกว่าที่จะตายเพราะถูกชิ้นส่วนจากเครื่องบินตกใส่ แม้ว่าความจริงแล้ว จะมีคนตายเพราะถูกชิ้นส่วนจากเครื่องบินตกใส่มากกว่า เราคิดผิดอย่างนี้ก็เพราะว่า เมื่อมีคนถูกฉลามทำร้าย เหตุเสียชีวิตนั้นมักจะมีการสื่อข่าวไปอย่างกว้างขวาง แต่การเสียชีวิตเพราะถูกชิ้นส่วนจากเครื่องบินตกใส่ไม่ค่อยได้รับการออกข่าว[16]

ในงานวิจัยปี ค.ศ. 2010 เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของรายการโทรทัศน์ที่เหมือนชีวิตจริงกับการเข้าใจถึงชีวิตในสังคมพบว่า คนที่ดูรายการโทรทัศน์รุนแรงเหมือนจริงให้การประเมินว่า มีความชุกของอาชญากรรมและความไร้ศีลธรรมของพวกตำรวจในระดับที่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดู ผลงานวิจัยเช่นนี้บอกเป็นนัยว่า ความรุนแรงที่แสดงในโทรทัศน์มีผลโดยตรงต่อความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นไปในสังคม และการรับเรื่องความรุนแรงที่เหมือนจริงบ่อย ๆ นำไปสู่การประเมินถึงความชุกของอาชญากรรมและความรุนแรงในสังคมที่เพิ่มระดับขึ้น[17]

ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีงานวิจัยที่แสดงผลค้านการค้นพบเช่นนั้น คือ นักวิจัยที่ทำงานคล้าย ๆ กันอ้างว่า ความเชื่อที่มีความเอนเอียงเหล่านี้อาจเกิดจากการได้รับข้อมูลใหม่ คือ นักวิจัยได้ตรวจสอบผลของข้อมูลใหม่ โดยให้ผู้ร่วมการทดลองดูหนังที่แสดงเหตุการณ์เสี่ยงภัยที่ผาดโผน แล้ววัดการประเมินความเสี่ยงของผู้ร่วมการทดลองหลังได้ดูหนัง ผลที่พบก็คือ โดยเฉลี่ยแล้ว ไม่ปรากฏว่าผู้ร่วมการทดลองรู้สึกว่ามีความเสี่ยงสูงขึ้น แม้ว่าหนังจะแสดงภัยอันตรายที่ดูน่าจะเป็นไปได้ ดังนั้นโดยรวม ๆ แล้ว ผลงานวิจัยนี้คัดค้านงานทดลองก่อน ๆ[18]

สุขภาพ

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1991 นักวิจัยได้ทำการตรวจสอบวิธีแก้ปัญหาทางประชานในกระบวนการประเมินความเสี่ยงของโรคเอดส์ นายแพทย์ 331 คนได้รายงานว่ามีความวิตกกังวลว่าจะติดเชื้อเอชไอวีเพราะเหตุแห่งอาชีพ และเพราะทำงานกับคนไข้ที่มีเชื้อเอชไอวี โดยวิเคราะห์คำตอบที่ได้มาจากนายแพทย์ นักวิจัยสรุปว่า ข้อมูลความจริงที่มีเกี่ยวกับเอดส์ ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับความรู้สึกเกี่ยวกับความเสี่ยง[19] (คือแม้ว่าข้อมูลอาจจะบอกว่าความเสี่ยงมีในระดับต่ำ แต่แพทย์ก็ยังรู้สึกเสียวว่าจะติดโรคอยู่ดี)

ในปี ค.ศ. 1992 มีการให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านคำพรรณนาถึงคนไข้สมมุติที่มีเพศต่าง ๆ กันมีความชอบใจทางเพศต่าง ๆ กัน คนไข้สมมุติเหล่านี้แสดงอาการของโรคสองโรค ผู้ร่วมการทดลองต้องบอกว่า ตนคิดว่าคนไข้เหล่านั้นมีโรคอะไร แล้วให้คะแนนคนไข้เกี่ยวกับความเป็นผู้มีความรับผิดชอบและความน่าพึงใจทางสังคม ผลที่ได้ปรากกฏว่าเข้ากับปรากฏการณนี้ คือ ผู้ร่วมการทดลองจะเลือกถ้าไม่โรคไข้หวัดใหญ่ (ที่เกิดบ่อย ๆ) ก็โรคเอดส์ (ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลมากกว่า)[20]

ธุรกิจและเศรษฐกิจ

[แก้]

งานวิจัยหนึ่งทำการวิเคราะห์บทบาทของฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายในตลาดหลักทรัพย์ คือ นักวิจัยได้กำหนดและทดสอบแบบสองอย่างของปรากฏการณ์นี้[21]

  • ความพร้อมใช้งานของผล (outcome availability) คือผลบวกหรือผลลบในการลงทุน - โดยใช้ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์เป็นตัวแทน
  • ความพร้อมใช้งานของความเสี่ยง (risk availability) - โดยใช้ระดับความเคลื่อนไหวของดัชนีเป็นตัวแทน[21]

นักวิจัยได้พบว่า

  • ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นที่เป็นการตอบสนองต่อการยกระดับคำแนะนำหุ้น (ของนักวิเคราะห์หุ้น) มีกำลังกว่าถ้าดัชนีมีผลบวกในวันนั้น และราคาหุ้นลดลงที่เป็นการตอบสนองต่อการลดระดับคำแนะนำหุ้นมีกำลังกว่าถ้าดัชนีมีผลลบในวันนั้น ซึ่งนักวิจัยแสดงว่าเป็นผลของ outcome availability คือการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายคือดัชนีในวันนั้น
  • ในวันที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีความเปลี่ยนแปลงมาก (คือมีความเสี่ยงสูง) ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นผิดปกติที่เป็นการตอบสนองต่อการยกระดับคำแนะนำหุ้นมีกำลังอ่อน และราคาหุ้นที่ลดลงผิดปกติที่เป็นการตอบสนองต่อการลดระดับคำแนะนำหุ้นมีกำลังมากกว่า ซึ่งเป็นผลของ risk availability คือการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายคือความแปรปรวนของดัชนีในวันนั้น
  • ผลของปรากฏการณ์นี้ทั้งสองรูปแบบก็ยังมีนัยสำคัญแม้เมื่อควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ที่เฉพาะบริษัทหรือเฉพาะเหตุการณ์[21]

งานวิจัยได้ชี้ว่า เพราะเราใช้ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่าย มนุษย์อาจจะเชื่อถือไม่ได้เพราะประเมินความน่าจะเป็นโดยให้น้ำหนักต่อข้อมูลปัจจุบันหรือข้อมูลที่ระลึกถึงได้ง่าย แทนที่จะใช้ข้อมูลที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกันทั้งหมด เนื่องจากข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่หาได้ง่าย นักวิจัยกลุ่มต่าง ๆ ได้พยายามระบุคุณสมบัติต่าง ๆ ในวัฏจักรธุรกิจ เพื่อจะพยากรณ์ความเอนเอียงโดยความพร้อมใช้งานในงานพยากรณ์ธุรกิจของนักวิเคราะห์ และพบว่า มีความเอนเอียงโดยความพร้อมใช้งานในงานพยากรณ์ธุรกิจของนักวิเคราะห์ ซึ่งมีผลต่อการลงทุน[22]

โดยสาระก็คือ นักลงทุนใช้ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายเพื่อการตัดสินใจในการลงทุน และเพราะเหตุนั้น อาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพการลงทุนที่ดี เช่น ความรู้สึกที่ยืดเยื้อเกี่ยวกับสภาพของตลาดที่ไม่ดีอาจจะทำให้มองโอกาสต่าง ๆ ในการลงทุนในแง่ลบเกินไป ทำให้ไม่รู้สึกว่าควรจะเสี่ยงลงทุน ไม่ว่ากำไรที่ได้จากการลงทุนในหลักทรัพย์ที่รู้สึกว่า "ปลอดภัย" จะน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะแสดงเนื้อความนี้ มีงานสำรวจประจำปีของบริษัทลงทุน Franklin Templeton ที่ถามคนที่สำรวจว่า ตนเชื่อว่าดัชนีหุ้น S&P 500 ทำเงินได้ดีขนาดไหนในปี ค.ศ. 2009, 2010 และ 2011 66% ของผู้ตอบกล่าวว่า ตนเชื่อว่าตลาดหุ้นไม่กระเตื้อง หรือเชื่อว่าตกลงในปี ค.ศ. 2009 48% บอกอย่างเดียวกับสำหรับปี ค.ศ. 2010 และ 53% บอกอย่างเดียวกับสำหรับปี ค.ศ. 2011 แต่จริง ๆ แล้ว ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 26.5% ในปี ค.ศ. 2009 เพิ่มขึ้น 15.1% ในปี ค.ศ. 2010 และเพิ่มขึ้น 2.1% ในปี ค.ศ. 2011 ซึ่งแสดงว่า ความรู้สึกที่ยืดเยื้อที่เกิดจากเหตุการณ์รุนแรงและที่ทำให้เกิดความช้ำใจ (เช่นตลาดหลักทรัพย์ที่มีผลลบในปีก่อน ๆ) สามารถมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจแม้ว่าเหตุการณ์นั้นจะได้ยุติไปแล้ว[23]

นอกจากนั้นแล้ว งานวิจัยในปี ค.ศ. 2009 พบว่า ความยากง่ายในการระลึกถึงบุคคลอื่น ๆ ที่เชื่อว่าการกระทำหนึ่ง ๆ นั้นยอมรับได้โดยศีลธรรม มีความสัมพันธ์กับความรู้สึกทางศีลธรรมในเรื่องนั้นของบุคคลนั้น ผลงานวิจัยนี้บอกเป็นนัยว่า ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายมีอิทธิพลเกี่ยวกับความคิดและพฤติกรรมทางจริยธรรมภายในองค์กรต่าง ๆ[24] (ดังนั้น ถ้ามีตัวอย่างที่ไม่ดีให้นึกถึงได้ง่าย ก็จะมีความรู้สึกว่าเรื่องที่ไม่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ยอมรับได้โดยศีลธรรม)

การศึกษา

[แก้]

งานวิจัยในปี ค.ศ. 2006 ของเครก ฟ๊อกซ์ ให้ตัวอย่างของการใช้ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายในห้องเรียน ในงานวิจัยนี้ ฟ๊อกซ์ทดสอบว่า ความยากลำบากในการระลึกถึงมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอย่างไร โดยเฉพาะในการประเมินหลักสูตรของนักศึกษามหาวิทยาลัย คือ ฟ๊อกซ์ให้นักศึกษาสองกลุ่มกรอกใบประเมินหลักสูตร โดยให้กลุ่มแรกเขียนข้อแนะนำในการปรับปรุงหลักสูตรสองข้อ (ซึ่งทำได้ค่อนข้างง่าย) แล้วให้เขียนสิ่งที่ประทับใจสองอย่างในหลักสูตรนั้น และให้กลุ่มที่สองเขียนข้อแนะนำที่ศาสตราจารย์ผู้สอนสามารถปรับปรุงตัวสิบข้อ (ซึ่งทำได้ยาก) แล้วให้เขียนสิ่งที่ประทับใจสองอย่างในหลักสูตรนั้น ในที่สุดของการประเมิน ก็ให้นักศึกษาทั้งสองกลุ่มให้คะแนนหลักสูตรระหว่าง 1 ถึง 7 ผลงานวิจัยแสดงว่า นักศึกษาที่ต้องเขียนข้อแนะนำ 10 อย่าง ให้คะแนนหลักสูตรดีกว่าเพราะประสบความยากลำบากในการระลึกถึงข้อมูลเชิงลบ ส่วนนักศึกษาที่คิดถึงสิ่งที่ควรปรับปรุงสองอย่างสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายกว่า ดังนั้นจึงให้คะแนนหลักสูตรแย่กว่า[25]

การพิพากษาคดีอาญา

[แก้]

สื่อข่าวมักจะพุ่งความสนใจไปที่อาชญากรรมที่รุนแรงหรืออุกฉกรรจ์ ซึ่งสาธารณชนคิดถึงได้ง่าย ซึ่งอาจจะมีบทบาทต่อกระบวนการทางศาลในการประเมินและตัดสินการลงโทษที่สมควรสำหรับอาชญากร ในงานวิจัยหนึ่งในปี ค.ศ. 1993 ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนว่าเห็นด้วยกับกฎหมายหรือกับนโยบายที่สมมุติขึ้นเช่น "คุณสนับสนุนกฎหมายที่ให้ผู้ต้องโทษคดีปล้นทรัพย์โดยไม่ได้ใช้อาวุธทุกคน ต้องติดคุกเป็นเวลาสองปีหรือไม่" แล้วจึงให้ผู้ร่วมการทดลองอ่านเค้สคดีและตัดสินโทษโดยใช้คำถามหลายคำถามเกี่ยวกับการลงโทษ และผลก็ออกมาตรงตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ คือผู้ร่วมการทดลองสามารถระลึกถึงคดีอุกฉกรรจ์ต่าง ๆ ได้ง่ายกว่าจากความจำระยะยาว ซึ่งดูเหมือนจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินโทษคือทำให้ผู้ร่วมการทดลองชอบใจโทษที่หนักกว่า แต่ว่านักวิจัยสามารถลดระดับอิทธิพลนี้ได้โดยแสดงรายละเอียดที่ชัดเจนหรือแปลกเกี่ยวกับความบาดเจ็บที่ลดความสาหัสลงที่เกิดจากอาชญากรรม (คือไม่เท่ากับที่สื่อมักจะแสดง)[26]

งานวิจัยคล้าย ๆ กันอีกงานหนึ่งในปี ค.ศ. 1989 ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยเลือกการลงโทษในคดีอาชญาอุกฉกรรจ์สี่คดี ที่การลงโทษจำคุกเป็นการลงโทษที่ทำได้แต่ไม่จำเป็นต้องทำ มีการให้ผู้ร่วมการทดลองประเมินการลงโทษของศาลโดยอาศัยข้อมูลอาชญากรรมและการลงโทษที่เผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ เพราะสื่อข่าวมักจะเสนอข่าวที่เลือกสรรไม่เป็นตัวแทนที่ดีของคดีที่มีอยู่ทั่วไปจริง ๆ คือพุ่งความสนใจไปที่คดีร้ายแรงหรืออุจฉกรรจ์แทนที่จะเสนอคดีทั่ว ๆ ไป การระลึกถึงข้อมูลเช่นนี้ทำให้ผู้ร่วมการทดลองคิดว่า ศาลตัดสินเบาเกินไป แต่ว่า เมื่อให้ผู้ร่วมการทดลองเลือกการลงโทษเอง โทษที่เลือกกลับเทียบเท่าหรือเบากว่าที่ศาลให้ กล่าวอีกนัยก็คือ ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายทำให้ผู้ร่วมการทดลองเชื่อว่าศาลและลูกขุนตัดสินลงโทษเบาเกินไป แต่ผู้ร่วมการทดลองกลับให้การลงโทษที่คล้ายกับผู้พิพากศาลเอง ซึ่งบอกเป็นนัยว่า ข้อมูลที่ระลึกได้ไม่ถูกต้อง[27]

นักวิจัยในงานปี ค.ศ. 1989 พยากรณ์ว่า ลูกขุนสมมุติจะให้คะแนนพยานว่า ไม่น่าเชื่อถือถ้าพยานให้การตามความเป็นจริง ก่อนที่จะให้การเท็จ มากกว่าถ้าพยานถูกจับได้ว่าให้การเท็จ ก่อนที่จะให้การตามความเป็นจริง เพราะว่า ถ้าฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายมีบทบาทในเรื่องนี้ การให้การเท็จทีหลังก็จะยังอยู่ในใจของพวกลูกขุน (เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุด) และจะทำให้มีโอกาสจำพยานว่าให้การเท็จมากกว่าให้การจริง เพื่อที่จะทดสอบสมมุติฐานนี้ มีการให้นักศึกษามหาวิทยาลัย 312 คนเล่นเป็นลูกขุนสมมุติและดูเทปวีดิโอของพยานที่ให้การ ผลการทดลองรับรองสมมุติฐานของนักวิจัย คือลูกขุนสมมุติได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ที่เกิดล่าสุดมากกว่า[28]

ข้อวิจารณ์

[แก้]

นักวิจัยบางท่านเสนอว่า สิ่งที่เราคิดว่าเป็นเหตุผลของเหตุการณ์หนึ่ง ๆ และไม่ใช่จินตนาภาพของเหตุการณ์นั้น ๆ เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อการประเมินความน่าจะเป็นของผล[29] หลักฐานที่สนับสนุนไอเดียนี้มาจากงานวิจัยที่ให้ผู้ร่วมการทดลองจินตนาการถึงผู้ชนะการอภิปราย หรือให้คิดถึงเหตุผลว่าทำไมนายโรนัลด์ เรแกน หรือนายวอลเตอร์ มอนเดล์ จะชนะการอภิปรายเนื่องด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1984 ผลงานวิจัยนี้แสดงว่า การจินตนาการว่า นายเรแกนหรือนายมอนเดล์ชนะการอภิปราย ไม่มีผลต่อการพยากรณ์ว่าใครจะชนะการอภิปราย แต่ว่า การจินตนาการและการพิจารณาถึงเหตุผลว่าทำไมนายเรแกนหรือนายมอนเดล์จะชนะ มีอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญต่อการพยากรณ์[29]

ส่วนนักจิตวิทยาพวกอื่น ๆ เสนอว่า งานวิจัยคลาสสิกทั่ว ๆ ไปเกี่ยวกับฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายคลุมเครือและไม่ได้อธิบายถึงกระบวนการทางประชานที่เป็นฐานของการตัดสินใจ[30] ยกตัวอย่างเช่น เกี่ยวกับงานวิจัยปี ค.ศ. 1973 ที่มีชื่อเสียงของทเวอร์สกี้และคาฮ์นะมัน แว้งก์และคณะเชื่อว่า ความยากง่ายที่ไม่เหมือนกันในการระลึกถึงความจำ สามารถปรับเปลี่ยนการประเมินความสามัญของชื่อได้โดยสองวิธี ในวิธีหนึ่ง ดังที่สมมุติฐานเกี่ยวกับฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายได้แสดงแล้ว ผู้รับการทดลองจะใช้ความรู้สึกที่เป็นอัตวิสัยเกี่ยวกับความยากง่ายในการระลึกถึงชื่อเป็นฐานในการตัดสินใจ ซึ่งถ้าเป็นโดยวิธีนี้ ก็จะสามารถพยากรณ์การตัดสินใจของผู้ร่วมการทดลองว่า จะแสดงความชุกในระดับที่สูงกว่าของชื่อที่ระลึกได้ง่ายกว่า ส่วนวิธีที่สองที่ใช้เปรียบเทียบกัน นักวิจัยเสนอว่า ผู้ร่วมการทดลองอาจจะระลึกถึงชื่อแต่ละประเภทให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในเวลาที่ให้ แล้วตัดสินใจโดยใช้ชื่อที่ระลึกได้เป็นฐาน (ไม่ได้ใช้ความยากง่าย) ถ้าชื่อที่ระลึกได้ง่ายกว่าเริ่มด้วยอักษรใดอักษรหนึ่ง ก็จะระลึกถึงชื่อเช่นนั้นได้มากกว่าชื่ออื่น ๆ และก็จะสามารถพยากรณ์การตัดสินใจของผู้ร่วมการทดลองว่า จะแสดงความชุกในระดับที่สูงกว่าของชื่อเหล่านั้น แต่ว่าในกรณีที่สอง การตัดสินใจจะมีฐานเป็นสิ่งที่ระลึกถึงได้ ไม่ใช่มีฐานเป็นความรู้สึกตามอัตวิสัยของความยากง่ายในการระลึกถึงความจำ[30]

มีนักวิจัยบางพวกคิดว่า อาจมีตัวแปรสับสน (confounding variable) ในงานวิจัยดั้งเดิมของทเวอร์สกี้และคาฮ์นะมัน[9] คือนักวิจัยตั้งของสงสัยว่า ผู้ร่วมการทดลองตัดสินความสามัญของชื่อคนมีชื่อเสียงโดยมีฐานเป็นข้อมูลที่ระลึกได้ หรือว่ามีฐานเป็นความยากง่ายในการระลึกได้ ส่วนนักวิจัยบางพวกเสนอว่า แบบการทดลองในยุคต้น ๆ มีปัญหาและไม่สามารถกำหนดจริง ๆ ได้ว่า ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายมีการทำงานอย่างไร[9]

งานวิจัยในปี ค.ศ. 1995 แสดงหลักฐานว่า ฮิวริสติกโดยความเข้าถึงได้ง่ายเป็นกลยุทธ์เพียงอย่างหนึ่งในกลยุทธ์หลายอย่างที่มนุษย์ใช้ในการประเมินความสามัญของสิ่ง ๆ หนึ่ง[31] งานวิจัยในอนาคตควรที่จะพยายามทำการวิเคราะห์โดยพิจารณากลยุทธ์อื่น ๆ เหล่านี้ด้วย

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. "ศัพท์บัญญัติ ๔๐ สาขาวิชา สำนักงานราชบัณฑิตยสภา".{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์) หมวดจิตวิทยา
  2. "ศัพท์บัญญัติอังกฤษ-ไทย, ไทย-อังกฤษ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (คอมพิวเตอร์) รุ่น ๑.๑", ให้ความหมายของ availability ว่า "สภาพพร้อมใช้งาน"
  3. Phung, Albert (25 February 2009). "Behavioral Finance: Key Concept- Overreaction and Availability Bias". Investopedia. p. 10. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
  4. Schwarz, Bless, Strack, Klumpp, Rittenauer-Schatka & Simons (1991). "Ease of retrieval as information: Another look at the availability heuristic". Journal of Personality and Social Psychology 61 (2): 195-202)
  5. Kahneman, Daniel; Tversky, Amos (September 1974). "Judgment under Uncertainty: Heuristics and Biases". Science 185: 1124-1131.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 6.4 6.5 6.6 6.7 6.8 Tversky, A; Kahneman (1973). "Availability: A heuristic for judging frequency and probability" (PDF). Cognitive Psychology. 5 (1): 207–233. doi:10.1016/0010-0285(73)90033-9. สืบค้นเมื่อ 9 September 2014.[ลิงก์เสีย]
  7. Matlin, Margaret (2009). Cognition. Hoboken, NJ: John Wiley & Sons, Inc. p. 413. ISBN 978-0-470-08764-0.
  8. Kahneman, D; Tversky, A (January 1982). "The psychology of preferences". Scientific American. 246: 160–173. doi:10.1038/scientificamerican0182-160.
  9. 9.0 9.1 9.2 Schwarz, N; Strack, F.; Bless, H.; Klumpp, G.; Rittenauer-Schatka, H.; Simons, A. (1991). "Ease of retrieval as information: Another look at the availability heuristic". Journal of Personality and Social Psychology. 61 (2): 195–202. doi:10.1037/0022-3514.61.2.195.
  10. Chapman, L.J (1967). "Illusory correlation in observational report". Journal of Verbal Learning. 6: 151–155. doi:10.1016/s0022-5371(67)80066-5.
  11. MacLeod, C; Campbell, L. (1992). "Memory accessibility and probability of judgements:An experimental evaluation of the availability heuristic". Journal of Personality and Social Psychology. 63 (6): 890–902. doi:10.1037/0022-3514.63.6.890.
  12. Manis, Melvin; Shelder, J.; Jonides, J.; Nelson, N.E. (1993). "Availability Heuristic in Judgments of Set Size and Frequency of Occurrence". Journal of Personality and Social Psychology. 65 (3): 448–457. doi:10.1037/0022-3514.65.3.448.
  13. Esgate, Groome, A, D (2004). An Introduction to Applied Cognitive Psychology. Psychology Press. ISBN 1-84169-317-0.
  14. Folkes, Valerie S. (June 1988). "The Availability Heuristic and Perceived Risk". Journal of Consumer Research. 15 (1).
  15. Briñol, P; Petty, R.E; Tormala, Z.L. (2006). "The malleable meaning of subjective ease". Psychological Science. 17: 200–206. doi:10.1111/j.1467-9280.2006.01686.x.
  16. Read, J.D. (1995). "The availability heuristic in person identification: The sometimes misleading consequences of enhanced contextual information". Applied Cognitive Psychology. 9: 91–121. doi:10.1002/acp.2350090202.
  17. Riddle, Karen (2010). "Always on My Mind: Exploring How Frequent, Recent, and Vivid Television Portrayals Are Used in the Formation of Social Reality Judgments". Media Psychology. 13: 155–179. doi:10.1080/15213261003800140.
  18. Sjoberg, Lennart; Engelberg, E. (2010). "Risk Perception and Movies: A Study of Availability as a Factor in Risk Perception". Risk Analysis. 30 (1): 95–106. doi:10.1111/j.1539-6924.2009.01335.x.
  19. Heath, Linda; Acklin, M.; Wiley, K. (1991). "Cognitive heuristics and AIDS risk assessment among physicians". Journal of Applied Social Psychology. 21 (22): 1859–1867. doi:10.1111/j.1559-1816.1991.tb00509.x.
  20. Triplet, R.G (1992). "Discriminatory biases in the perception of illness: The application of availability and representativeness heuristics to the AIDS crisis". Basic and Applied Social Psychology. 13 (3): 303–322. doi:10.1207/s15324834basp1303_3.
  21. 21.0 21.1 21.2 Klinger, D; Kudryavtsev, A. (2010). "The availability heuristic and investors' reactions to company-specific events". The Journal of Behavioral Finance. 11 (50–65). doi:10.1080/15427561003591116.
  22. Lee, B; O'Brien, J.; Sivaramakrishnan, K. (2008). "An Analysis of Financial Analysts' Optimism in Long-term Growth Forecasts". The Journal of Behavioral Finance. 9: 171–184. doi:10.1080/15427560802341889.
  23. "Investors Should Beware The Role of 'Availability Bias'". Business Insider. Franklin Templeton Investments. 6 October 2012. สืบค้นเมื่อ 1 December 2013.
  24. Hayibor, S; Wasieleski, D.M. (2009). "Effects of the use of availability". Journal of Business Ethics. 84: 151–165. doi:10.1007/s10551-008-9690-7.
  25. Fox, Craig R. (July 2006). "The availability heuristic in the classroom: How soliciting more criticism can boost your course ratings" (PDF). Judgment and Decision Making. 1 (1): 86–90. สืบค้นเมื่อ 9 September 2014.
  26. Stalans, L.J (1993). "Citizens' crime stereotypes, biased recall, and punishment preferences in abstract cases". Law and Human Behavior. 17 (451–469). สืบค้นเมื่อ 9 September 2014.
  27. Diamond, S.S; Stalans, L.J (1989). "The myth of judicial leniency in sentencing". Behavioral Sciences & the Law. 7: 73–89. doi:10.1002/bsl.2370070106.
  28. DeTurck, M.A; Texter, L.A.; Harszlak, J.J. (1989). "Effects of information processing objectives on judgments of deception following perjury". Communication Research. 16 (3): 434–452. doi:10.1177/009365089016003006.
  29. 29.0 29.1 Levi, A; Pryor, J.B. (1987). "Use of the availability heuristic in probability estimates of future events: The effects of imagining outcomes versus imagining reasons". Organizational Behavior & Human Performance. 40 (2).
  30. 30.0 30.1 Wanke, M; Schwarz, N.; Bless, H. (1995). "The availability heuristic revisited: Experienced ease of retrieval in mundane frequency estimates". Acta Psychologica. 89: 83–90. doi:10.1016/0001-6918(93)e0072-a.
  31. Hulme, C; Roodenrys, S.; Brown, G.; Mercer, R. (1995). "The role of long-term memory mechanisms in memory span". British Journal of Psychology. 86 (4): 527–536. doi:10.1111/j.2044-8295.1995.tb02570.x.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]