ข้ามไปเนื้อหา

ตะเกียงบุนเซิน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตะเกียงบุนเซิน (อังกฤษ: Bunsen burner) เป็นอุปกรณ์ให้ความร้อนด้วยแก๊สธรรมชาติ ซึ่งให้เปลวไฟเดี่ยวสีน้ำเงินหรือส้มสว่าง เพื่อใช้ในการต้ม, เผา, หรือฆ่าเชื้อในห้องทดลอง

ชื่อตะเกียง ตั้งตามชื่อโรแบร์ท บุนเซิน ผู้ออกแบบ

ประวัติ

[แก้]

ในปี พ.ศ. 2395, เมื่อโรแบร์ท บุนเซิน เข้าทำงานที่มหาวิทยาลัยไฮเดิลแบร์ค, เยอรมนี ทางมหาวิทยาลัยได้เพิ่งติดตั้งระบบจ่ายแก๊สถ่านหินสำหรับใช้ทั่วมหาวิทยาลัย และกำลังสร้างอาคารห้องปฏิบัติการใหม่ ซึ่งจะใช้แก๊สสำหรับทั้งแสงสว่างและแหล่งความร้อนในห้องทดลอง แต่ตะเกียงที่ใช้ให้ความร้อนในสมัยนั้น มีปัญหาเรื่องความซับซ้อนของอุปกรณ์และประสิทธิภาพที่ต่ำ

ระหว่างที่อาคารห้องปฏิบัติการยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2397, บุนเซินได้เสนอแนวคิดรูปแบบตะเกียงใหม่ให้ปีเตอร์ เดซาก, ช่างทำอุปกรณ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อทำการสร้างต้นแบบ, ในที่สุดการออกแบบของบุนเซิน/เดซาก ประสบความสำเร็จในการให้เปลวไฟความร้อนสูง แต่สว่างน้อยและไร้เขม่าได้ด้วยการควบคุมการผสมแก๊สกับอากาศก่อนการเผาไหม้ โดยให้มีวาล์วอากาศเข้าที่ด้านใต้ของตะเกียงรูปท่อทรงกระบอกสูง ออกเป็นเปลวไฟที่ด้านบน

เมื่ออาคารปฏิบัติการได้เปิดใช้งานช่วงต้นปี พ.ศ. 2398, เดซากได้ประกอบตะเกียงบุนเซินทั้งหมด 50 ชุด สำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการของบุนเซิน โดยบุนเซินได้ตีพิมพ์การออกแบบนั้นในอีกสองปีต่อมา และยังคงนิยมใช้ในห้องทดลองทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน