ข้ามไปเนื้อหา

ตะพาบม่านลายไทย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ตะพาบม่านลายไทย
ฟอสซิลกระดอง
สถานะการอนุรักษ์
CITES Appendix I (CITES)[2]
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
โดเมน: ยูแคริโอตา
Eukaryota
อาณาจักร: สัตว์
ไฟลัม: สัตว์มีแกนสันหลัง
ชั้น: สัตว์เลื้อยคลาน
อันดับ: เต่า
อันดับย่อย: อันดับย่อยเต่า
วงศ์: วงศ์ตะพาบ
สกุล: Chitra

Nutaphand, 1986
สปีชีส์: Chitra chitra
ชื่อทวินาม
Chitra chitra
Nutaphand, 1986
ชื่อพ้อง[3]
Chitra chitra chitra
  • Chitra chitra
    Nutaphand, 1986
  • Chitra chitra chitra
    McCord & Pritchard, 2003
Chitra chitra javanensis
  • ? Chitra selenkae
    Jaekel, 1911
  • Chitra chitra javanensis
    McCord & Pritchard, 2003
  • Chitra chitra javanica
    Iskandar & Mumpuni, 2003
    (ex errore)
  • Chitra chitra javaensis
    Artner, 2003
    (ex errore)

ตะพาบม่านลายไทย (อังกฤษ: Asian narrow-headed softshell turtle, Siamese narrow-headed softshell turtle, Nutaphand's narrow headed softshell turtle; ชื่อวิทยาศาสตร์: Chitra chitra) เป็นตะพาบที่มีลวดลายสวยและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก[4]

มีรูปร่างคล้ายตะพาบทั่วไป แต่มีขนาดใหญ่กว่ามาก หัวเล็กและลำคอยาว จมูกค่อนข้างสั้นยาว เมื่อขนาดเล็กมากจะมีแถบสีเหลืองปนน้ำตาลบนส่วนหัวและกระดองอย่างชัดเจน โดยสีสันนั้นอาจปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพแวดล้อม อาจจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอมม่วงก็ได้ บนกระดองลายแถบจะพาดผ่านส่วนหัวยาวอย่างต่อเนื่องมาบนกระดอง ส่วนท้องจะมีสีขาวหรือขาวอมชมพู โดยโตเต็มที่อาจยาวได้ถึง 1.5 เมตร ความกว้างของกระดอง 1 เมตร และหนักถึง 100–120 กิโลกรัม ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมียครึ่งต่อครึ่ง เชื่อว่ามีอายุยืนยาวได้กว่า 100 ปี มีถิ่นกำเนิดที่แม่น้ำแคว จังหวัดกาญจนบุรี, แม่น้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี และแม่น้ำปิงในเขตภาคเหนือของประเทศไทยเท่านั้น และมีรายงานว่าพบที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในภาคกลาง และพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย (โดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดย่อย[3])

ตะพาบตัวเมียจะขึ้นมาวางไข่บนหาดทรายริมแหล่งน้ำ โดยขุดหลุมลึก 40–50 เซนติเมตร ออกไข่เสร็จแล้วจะปิดทรายไว้ปากหลุมทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน ไข่จะฟักออกเป็นตัว ลูกตะพาบจะวิ่งหาลงน้ำ และหาอาหาร ซึ่งได้แก่ ลูกปลา, ลูกกุ้งและสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เลี้ยงตัวจนถึงวัยเจริญพันธุ์ โดยพฤติกรรมในธรรมชาติจะฝังตัวอยู่ใต้ทรายในพื้นน้ำ โผล่มาแต่เฉพาะตาและจมูกเท่านั้น และจะหาเหยื่อด้วยวิธีการซุ่มนี้

สถานภาพปัจจุบันไม่พบรายงานในธรรมชาติมานานเป็นระยะเวลากว่า 30 ปีแล้ว จนเชื่อได้ว่าอาจสูญพันธุ์ไปแล้วจากแหล่งธรรมชาติ เนื่องจากถูกล่าเป็นอาหารและสัตว์เลี้ยงอย่างมาก รวมทั้งถูกคุกคามในเรื่องที่อยู่อาศัยในธรรมชาติด้วย และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 แต่ปัจจุบัน กรมประมงสามารถเพาะขยายพันธุ์ตะพาบม่านลายไทยได้สำเร็จในที่เลี้ยงได้แล้วในปี 2545 โดยให้ผสมพันธุ์ในน้ำและขึ้นมาวางไข่บนหาดทรายในฤดูหนาวช่วงเดือนธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ ตะพาบม่านลายไทยอัตราการเจริญเติบโตเทียบกับเต่าหรือตะพาบชนิดอื่นแล้ว นับว่ามีอัตราการเจริญเติบโตที่ช้ากว่ามาก[5]

และในต้นปี 2553 แม่พันธุ์ตะพาบม่านลายไทยของกรมประมงก็ได้วางไข่สูงสุดถึง 305 ฟอง ซึ่งนับว่ามากสุดเท่าที่เคยมีมา ใช้เวลาฟัก 61–70 วัน โดยฟักเป็นตัวทั้งหมด 92 ฟอง คิด เป็นอัตราการฟักประมาณร้อยละ 30 ซึ่งทางกรมประมงตั้งเป้าหมายจะเพาะขยายพันธุ์ให้มากขึ้นกว่านี้เพื่อจะได้ปล่อยลูกตะพาบลงสู่ธรรมชาติ เพื่อมิให้เกิดการสูญพันธุ์ [6]

นอกจากนี้แล้ว ตะพาบม่านลายไทยยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีกว่า "กริวลาย", "กราวด่าง", "ม่อมลาย", "มั่มลาย" เป็นต้น

โดยที่ตะพาบม่านลายไทยเดิมถูกจัดเป็นชนิดเดียวและใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกับ ตะพาบม่านลายอินเดีย (C. indica) ซึ่งเป็นชนิดที่พบในอินเดียและปากีสถาน แต่ทว่าได้ถูกอนุกรมวิธานใหม่จาก น.อ.(พิเศษ) วิโรจน์ นุตพันธุ์ นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย เมื่อปี ค.ศ. 1986 โดยจำแนกออกเป็นชนิดใหม่[7]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Cota, M.; Guntoro, J.; As-singkily, M.; Hamidy, A.; Kusrini, M.D. (2019). "Chitra chitra". IUCN Red List of Threatened Species. 2019: e.T4695A152049778. doi:10.2305/IUCN.UK.2019-1.RLTS.T4695A152049778.en. สืบค้นเมื่อ 15 November 2021.
  2. "Appendices | CITES". cites.org. สืบค้นเมื่อ 2022-01-14.
  3. 3.0 3.1 Fritz, Uwe; Havaš, Peter (2007). "Checklist of Chelonians of the World" (PDF). Vertebrate Zoology. 57 (2): 311–312. ISSN 1864-5755. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2010-12-17. สืบค้นเมื่อ 29 May 2012.
  4. คอลัมน์ V.I.P. ตอน กริวดาว... เสียดาย! สูญพันธุ์ตั้งแต่ยังไม่ได้เกิด โดย กิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ หน้า 108-109 นิตยสาร Aquarium Biz Vol.1 ฉบับที่ 11 ประจำเดือนพฤษภาคม 2011
  5. "ตะพาบม่านลาย". วิทยาศาสตร์กับสุราษฎร์ธานี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-10. สืบค้นเมื่อ 2 January 2014.
  6. "เพาะพันธุ์ตะพาบม่านลายได้ยอดทะลุเป้า". เดลินิวส์. 15 July 2010. สืบค้นเมื่อ 2 January 2014.
  7. "ตะพาบม่านลาย". กรมประมง. สืบค้นเมื่อ 2 January 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]